ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ชายรักชายในคืนฟ้าสีรุ้ง : ตอน 5 พัฒนาคน ต้องหัวใจนำ หลักสูตรหนุน


กิจกรรมสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้แกนนำทำ คือ ส่งเสริมให้แกนนำทำกิจกรรมกับเพื่อน MSM ที่มีความเสี่ยง ให้ลดพฤติกรรมเสี่ยงของตนเอง

-

-

-

พัฒนาคน ต้องหัวใจนำ หลักสูตรหนุน 

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการมีความรู้ 

มีทัศนคติที่ถูกต้อง แต่จะเปลี่ยนได้จริงๆ

ก็เป็นเพราะเรื่องนั้นๆ มันกระทบกับความรู้สึก

ดังนั้น การสื่อสารแบบเพื่อน

โดยเฉพาะระหว่างเพื่อนที่เป็นห่วงเป็นไยกัน 

จึงเป็นรูปแบบการสื่อสารแนวราบ

ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ดีที่สุด

ณัฐเสกข์ น้อยสมบูรณ์

ผู้จัดการโครงการเครือข่าย MSM ชาติ (ปีต่อเนื่อง)

 

 

องค์กรหลักโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมกันพัฒนาการทำงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการ การสร้างแนวทางการติดตามประเมินผล จนเข้มแข็งขึ้น โดยมีการพัฒนาสื่อที่ใช้อบรม เพราะต้องจัดทำเป็นหลักสูตรกลาง  ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมี เป็นเพียงการจัดโปรแกรมโดยใช้เอกสารและสื่อที่มีมาอยู่แล้ว  โดยมากนำมาจากกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคเอกชน  ซึ่งวิทยากรเคยรับการอบรมและเห็นว่าดี จึงนำมาปรับใช้และพบว่าได้ผล 

 

จนเมื่อสิ้นสุดโครงการปีแรก   สามารถพัฒนาหลักสูตรอบรมฯ เฉพาะเรื่อง ได้ 6  หลักสูตร เพื่อสนับสนุนองค์กรปฏิบัติงาน จำนวน 6 เล่ม อันประกอบด้วย

1) หลักสูตรอบรมแกนนำ  

2) หลักสูตรอบรมอาสาสมัครลงพื้นที่  

3) หลักสูตรการอบรมวิทยากร  

4) หลักสูตรการให้คำปรึกษา  

5) หลักสูตรการเขียนโครงการและการบริหารจัดการ และ  

6) หลักสูตรการลงพื้นที่ และการทำงานเอดส์ในชุมชน


และนอกจากนั้น ยังมีการออกแบบแบบบันทึก (form)

เพื่อใช้ในการบันทึกผลการดำเนินงานเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

และใช้ในการติดตามตามการดำเนินงานของอาสาสมัครภาคสนาม

รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครภาคสนามโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและนำประเด็น ความสามารถของบุคลากรที่แตกต่างกัน มาแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความจำเป็น และความสำคัญในการพัฒนาตนเอง

.

ในโครงการปีต่อเนื่อง

โครงการได้นำหลักสูตรเดิม คือหลักสูตรที่

1) หลักสูตรอบรมแกนนำ          

3) หลักสูตรการอบรมวิทยากร  และ

6) หลักสูตรการลงพื้นที่ และการทำงานเอดส์ในชุมชน

.

มาปรับใช้ในการอบรมแกนนำ จนเกิดแกนนำที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการทำงานและการถ่ายทอดต่อแบบตัวต่อตัว 

.โดยในหลักสูตรที่ 1 มีเนื้อหาอบรมแกนนำ ให้มีความเป็นแกนนำเรื่องความรู้ความรู้ ความตระหนักในการป้องกันเอดส์ มีทักษะปฏิเสธต่อรอง การประเมินความเสี่ยง การใช้ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น  และมีข้อมูลบริการด้านเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  

.

หลักสูตรที่ 3 ได้เน้นเรื่องการเป็นวิทยากรภาคสนาม และการเป็นวิทยากรฝึกอบรมหน้าห้อง ทำให้แกนนำมีความมั่นใจ และกล้าแสดงออกในเวลาที่ต้องออกไปสอนเพื่อนๆ เยาวชนหน้าชั้นเรียน หรือเมื่อได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร

.

และหลักสูตรที่ 6 ได้เน้นให้แกนนำสามารถทำงานลงพื้นที่ มีทักษะในการลงปฏิบัติงานภาคสนาม รู้วิธีการเข้าถึง พูดคุยกับ MSM ตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงมีการศึกษาดูงานการลงพื้นที่ของสมาคมฟ้าสีรุ้ง สำนักงานกรุงเทพมหานคร และมีการฝึกปฏิบัติการจริงใน ไนท์คลับ บาร์เกย์และซาวน่า

 

 

ด้วยการพัฒนาเครื่องมือในปีแรก ทำให้ในปีต่อเนื่องมีการที่อบรมที่เข้มข้น และสามารถเชื่อได้ว่า การอบรมและฝึกฝนที่รอบด้านสามารถทำให้ MSM ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ลุกขึ้นมาเป็นวิทยกรเรื่องการป้องกันเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ * 

(ข้อมูลจากโครงการ MSM ชาติปีที่ 2 มีการวัดผลก่อนและหลังการอบรม

ตลอดจนการวัดผลระหว่างการทำกิจกรรมทุกกิจกรรม

และมีการติดตามการทำกิจกรรมของแกนนำที่ผ่านอบรมอย่างเข้มข้น) 

 

 

ดังนั้น หากใครก็ตามที่จะทำงานป้องกันเอดส์

ควรที่จะต้องมีแนวทางการพัฒนาศักยภาพให้อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ภาคสนามในพื้นที่ชุมชนให้มีความสามารถในการเป็นแกนนำและสามารถทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนได้

.

เพราะหากสามารถทำให้ MSM ในพื้นที่มีศักยภาพและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันเอดส์ก็จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

.

โดยกิจกรรมสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้แกนนำทำ คือ ส่งเสริมให้แกนนำทำกิจกรรมกับเพื่อน MSM ที่มีความเสี่ยง ให้ลดพฤติกรรมเสี่ยงของตนเอง ทั้งนี้ ควรที่จะสนับสนุนให้มีถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นเพียงพอต่อความต้องการ สนับสนุนทักษะและข้อมูลให้อาสาสมัครมีข้อมูลสามารถให้คำปรึกษาแก่ MSM ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าไปรับบริการตรวจเลือดโดยสมัครใจ (VCT) หรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และต้องเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง หรือถ้าไม่เสี่ยงมากก็ควรไปตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

และจากหลักสูตรต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด มีเรื่องเล่าเล็กๆ จากแกนนำที่อยากให้ทุกคนได้รับรู้

 

.

เรื่องที่  1 ชื่อเรื่อง “รู้จักตัวเองและเห็นคุณค่าในความเป็นตัวเอง

“ก่อนผมจะมาเป็นแกนนำ ผมก็เป็นแค่วัยรุ่นธรรมดาคนนึง ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่ได้สนใจกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษ แล้วเพื่อนก็ชวนผมเข้าค่าย มาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ พอผ่านการอบรมที่มีเพื่อนๆ ที่เป็นเหมือนเรา มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น และยิ่งเราได้เป็นแกนนำ ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากเลย และโครงการนี้ได้ทำให้ผมในฐานะแกนนำได้รู้ว่าคนที่เป็นแบบผมมีมากมาย เราไม่ใช่คนที่แปลกประหลาด เราอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ และผมเองก็สามารถทำประโยชน์ให้คนอื่นได้  พอได้ทำกิจกรรมไปสักพัก เพื่อน ๆ ครู รวมทั้งแม่ผมก็รู้สึกดีขึ้นกับการที่ผมเลือกที่จะเป็นแบบนี้ มันคงจะดีเพราะผมเลือกที่จะทำสิ่งดี” เรื่องเล่าจากแกนนำ จ. สมุทรสาคร

 

.

เรื่องที่  2 ชื่อเรื่อง  “ต้นแบบของผมคือ พี่ที่ฟ้าสีรุ้ง

“ผมไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตเท่าไหร่หรอก อยู่ไปวันๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรวางตัวยังไงในสังคม ผมรู้สึกว่าสังคมไม่ได้ให้โอกาส และไม่ได้ให้การยอมรับคนแบบพวกผม(MSM) โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด แต่ก็นั่นแหละครับ แล้ววันนึงผมก้ได้เข้ามาร่วมกับโครงการ พี่ๆ เค้าก็อบรมผมหลายเรื่องนะ ทั้งเรื่องการป้องกันเอดส์ เรื่องการเป็นวิทยากร มันทำให้ผมกล้าขึ้นมากๆ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการนี้มันก็ทำให้ผมได้รู้จัก สนิทสนมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ทำให้มีสังคมที่กว้างขึ้น ผมได้ค้นพบว่าตัวเองมีพลังที่จะอะไรได้ตั้งหลายอย่าง จากที่ไม่เคยไปพูดกับใคร ไม่รู้จะเริ่มยังไง ผมก็ทำได้ มั่นใจขึ้นเยอะเลย แล้วที่ผมเป็นแบบนี้ได้ ก็เพราะผมมีต้นแบบที่ดีผมอยากเป็น อยากตามเขา นั่นคือ พี่คนหนึ่งที่ฟ้าสีรุ้ง พี่เขามีบุคลิกที่ดี ฉลาด มีอัธยาศัยดี น่ารัก ดูเป็นคนมีความรู้ ความสามารถอยู่ในตัว ทำให้ผมปลื้มพี่เค้ามาก และรู้ตัวเองว่า ต่อไปโตขึ้นผมอยากเป็นแบบไหน มีอนาคตไปในทางทิศไหนครับ และทิศทางที่ผมจะเป็นทิศทางที่ช่วยให้คนอื่นๆ มีความรู้ปลอดภัยจากโรค ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ความรู้ที่ผมมีผมสามารถบอกเพื่อนๆ และคนใกล้ชิดผมได้ ถึงว่าโครงการมันจะมีอยู่แค่ช่วงสั้นๆ ก็เถอะ” เรื่องเล่าจากแกนนำ จ.สมุทรสงคราม  

 

.

เรื่องที่  3 ชื่อเรื่อง  “ผมกลายเป็นกูรูเรื่องเอดส์

“ผมไม่รู้อะไรมาก่อนเลย ป้องกันก็ไม่ค่อยจะป้องกัน ถุงยางก็ใช้บ้าง ไม่ใช้บ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ใช้ชีวิตสนุกมาก ก็ไม่คิดถึงสุขภาพของตัวเองเท่าไหร่ เห็นว่าจะได้(ผู้ชาย) ก้เอาไว้ก่อน แต่พอเข้าโครงการนี้แล้วมันทำให้ผมตระหนักว่า “เฮ้ย ไม่ป้องกันไม่ได้แล้วว่ะ” จากไม่มีข้อมูลมาก่อน พี่ๆ เขาก็มาช่วยทำให้เรามีความรู้ที่ชัดเจน แม่นยำขึ้นในเรื่องการป้องกันเอดส์ พอผมเป็นแกนนำมาอบรมและกลับไปให้ความรู้เพื่อนๆในห้องเรียน เท่านั้นแหละ ไม่ใช่แค่เพื่อน ๆ ที่เป็น(เกย์)แบบผมนะ แต่ว่า มีทั้งเพื่อนผู้หญิงและผู้ชายก็เข้ามาปรึกษาผม บางคนมันมีเพศสัมพันธ์กันมันไม่เคยป้องกัน ไม่รู้เรื่องเอดส์ (หรือไม่เคยสนใจเลย) หรือบางก็ไม่รู้วิธีการใช้ถุงยาง แบบนี้ไม่ต้องไปพูดถึงเจลหล่อลื่นเลยครับ บางคนที่รู้ก็รู้มาแบบผิดๆถูกๆ ผมรู้สึกดีใจนะที่ตัวเองเป็นเหมือนหนังสือให้พวกเขาได้ แต่เป็นหนังสือที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยนะ พอคุยไปคุยมา เราก็เลยสนิทใจที่พูดคุยเรื่องการป้องกันเอดส์ รวมถึงปัญหาต่างๆ ในชีวิตด้วย  เมื่อก่อนผมเองก็เคยรู้เรื่องการป้องกันเอดส์มาบ้าง แต่โครงการนี้ให้ผมรู้กว้างขึ้นถึงวิธีการป้องกันอื่นๆ เช่น การใช้เจลหล่อลื่นชนิดน้ำ การปฏิเสธต่อรอง  การประเมินความเสี่ยง การตรวจเชื้อโดยสมัครใจ เรื่องอะไรทำนองนี้ และที่สำคัญผมใช้ตัวเองเพื่อทดลองใช้ความรู้ที่ได้รับมากับแฟนของผม และคิดว่าจะรวมถึงแฟนในอนาคตของผมด้วยครับ อิอิ” จากแกนนำ อ.หัวหิน 

 
หมายเลขบันทึก: 462152เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท