504 สิ่งที่ผมอยากจะทำที่หมู่บ้านไทผาเก ก่อนไปเยี่ยมและค้างคืนวันที่ 25 กย.


สำรวจข้อมูล เรียยรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน

(นี่คืออาหารที่ไทผาเกนำมาเลี้ยงในการไปสำรวจหมู่บ้านครั้งแรก มีหมูปิ้ง ปลาและผักพร้อมข้างเหนียวในห่อใบตอง)

จากบันทึกที่ 500  http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/460065  ผมคิดถึงสิ่งที่ผม"อยาก" จะทำที่หมู่บ้านไทผาเก ในช่วงวันที่ 25 กันยายน ที่จะถึงนี้

สำรวจหมู่บ้านเพื่อจัดทำภาพแผนที่หมู่บ้านคร่าวๆ ซึ่งทราบว่าหมู่บ้านยังไม่เคยมีแผนที่

สำรวจครัวเรือน โดยมีรายละเอียดเท่าที่จะทำได้ ทราบว่าเคยมีการสำรวจมาแล้วโดยคนของมหาวิทยาลัยของอัสสัม ก็คงจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นพื้นฐาน

สำรวจวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน การไปค้างคืน 1 คืน จะทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ผมได้แจ้งผู้ประสานงานหมู่บ้านไปว่า ผมอยากจะลงมือช่วยทำอาหารเย็นเองเพื่อจะได้เรียนรู้วิธีการของคนที่นั่นด้วย ผู้ประสานงานหัวเราะด้วยความยินดี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนหมุ่บ้านจะโชคดีหรือโชคร้ายเพราะคณะของเราเป็นผู้ชายทั้งหมด 3 คน ไม่รู้จะทำอาหารออกมาอย่างไร

สำรวจวัดพุทธของหมู่บ้านรวมทั้งประสานงานหากในอนาคตจะมีพระสงฆ์ไทยอาสามาจำวัด จำพรรษาและชวยงานศาสนาที่นั่น

จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ไปเผยแพร่กับคนในหมู่บ้าน อย่างน้อยให้ทราบถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขและรูปแบบการจัดการที่ดิน รวมทั้งประโยชน์ของการปลูกสวนเชิงวนเกษตร

จะไปสำรวจเพื่อแนะนำการจัดทำโฮมเสตย์ ซึ่งยังไม่มีในหมู่บ้าน ซึ่งหากคนในหมู่บ้านเห็นชอบ ก็จะได้แนะนำวิธีการตามแบบโฮมเสตย์ของไทย และเพื่อรองรับคนไทยที่สนใจจะไปโฮมเสตย์ที่หมู่บ้านในอนาคต

และเพื่อเป็นการฝึกเยาวชนของหมู่บ้าน ผมได้ขอให้ผู้ประสานงานหมุ่บ้านเตรียมเยาวชนทำหน้าที่เป็นไกด์ให้กับคณะเราด้วยเพราะผมต้องการฝึกเด็กเหล่านี้และอยากทราบมุมมองของเด็กเกี่ยวกับชีวิตและวิถีของชุมชนตัวเองด้วย

จะนำหนังสือเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงไปมอบให้หมู่บ้าน รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยส่วนหนึ่งเพื่อให้คนได้เรียนรู้

จะไปสำรวจเรื่องสุขอนามัยพื้นฐานด้วยเผื่อหมออนามัยที่สนใจจะอาสาไปเรียนรู้ชีวิตที่นั่น (มีคนยกมือ 1 คนแล้ว)

อื่นๆ ที่ยังคิดไม่ออก แต่ยินดีรับฟังคำแนะนำ ข้อคิดจากกัลยาณมิตรในโกทูนโนครับ

 

หมายเลขบันทึก: 462079เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

เป็นกำลังใจในการทำงานให้อาจารย์ด้วยคนนะครับ

ด้วยความเคารพ

Ico48

คุณแสงแห่งความดีครับ

ผมไปปูทางก่อนครับ อยากให้พวกเรา ชาวโกทูโน ได้ไปเยือนหมู่บ้านในอนาคต จะได้ช่วยกันร่วมพัฒนา ญาติของเราที่ห่างหายกันไปนาน

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจและข้อคิดเห็นครับ 

 

  • สนใจเรื่องการศึกษาและการเกษตร
  • ผมพอจะช่วยอะไรได้บ้างครับ
  • เอาอันนี้มาฝาก
  • กลุ่มคนปลูกผักกินได้
  • ขอบคุณครับ
Ico48

 

อจ.ขจิตครับ

หากสนใจ และอยากไปเยือนหมู่บ้านนี้ จะประสานให้ครับ

หมู่บ้านมีโรงเรียนประถมอยู่ในหมู่บ้านครับ  เล็กๆ

ส่วนเรื่องเกษตร ผมจะไปสำรวจให้ครับ และจะนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปแนะนำชาวบ้านด้วย

เมื่อได้ข้อมูลจากการไปสำรวจแล้ว ก็จะนำมาให้ทราบกันต่อไปเพื่อช่วยกันต่อยอดครับ

สวัสดีค่ะ

โอ้โห! ราวกับนักพัฒนาระดับยอดเยี่ยมเลยค่ะ

เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทั้งสิ้น

การได้เรียนรู้ชีวิตจริงจะทำให้เราเกิดข้อติดขึ้นมาเอง

งานสาธารณสุขเป็นองค์รวมของทุกๆงาน

ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข ระดับปฐมภูมิเลยค่ะ

ฝากแอบสำรวจเรื่องความเชื่อเรื่งสุขภาพมาด้วยนะคะ

เช่นการดูแลคนท้อง คลอด แม่ และเด็กเป็นต้น

เอาแค่เรื่องหมออนามัยทำได้ก็พอค่ะ

ยกมือแล้ว จะไปแน่นอน

ขอให้ความบริสุทธิ์ใจ ที่มีต่อชาวไทพาเก

จงดลบันดาลให้พี่โยคี ประสบความสำเร็จ ปลอดภัย

จงเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาตลอดไปค่ะ

มาชม

มาตามทางที่ ท่าน ดร.ขจิต บอกแจ้งไว้...

น่าสนใจเรียนรู้ครับผม...

ขอบคุณมากครับ รอข้อมูลครับ...

Ico48

โยคีน้อย

นักการทูต ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยรู้เรื่องงานพัฒนาชุนชนนักหรอก แต่อาศัยความรู้ในโกทูโนนี่ละ บวกกับที่เคยไปเห็นในต่างประเทศ กับความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือหมู่บ้านไท ญาติเรา

โอเค เรื่องการดูแลสุขภาพพื้นฐาน จะสำรวจมาให้ด้วย

แล้วค่อยมาคิดกันต่อว่า จะต่อยอดกันอย่างไร

สาธุนะ ขอให้ความปรารถนาดีที่ตั้งใจเอาไว้จงเป้นผลดี ได้ทำบุญใหญ่ต่อไป

 

Ico48
Ico48

อจ.ทั้งสองท่านครับ

สิ่งที่ผมมองเห็นและอยากจะสนับสนุนและผลักดันคือ การสร้างบุคคลากรของหมู่บ้านให้มีความรู้ สามารถพัฒนาหมู่บ้านตัวเองได้ ตามแนวทางที่ยั่งยืน

ก็มองว่า คงจะเป็นการดี หากจะพิจารณาสนับสนุนให้ทุนการศึกษาคนรุ่นใหม่ของไทผาเกไปอบรมในประเทศไทย เพื่อเป็นทายาทในการพัฒนาหมู่บ้าน

หรือไม่ก็ส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญของไทยไปเยือนและไปสอนการพัฒนาหมู่บ้านพอเพียง

ให้ ก็หวังว่าผู้รู้ในโกทูโนจะช่วยกันคิดต่อนะครับ....ผลดีนั้น น่าจะมีหลายประการแต่ยังไม่คิดตอนนี้ครับ จะขอลงมือทำทันทีในเรื่องสำรวจข้อมูลก่อน

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ

  • ท่านทูตค่ะ
  • ในมุมมองด้านสุขภาพ
  • หากได้ข้อมูล 3 หลักเหล่านี้มา
  • จะช่วยให้มองเห็น
  • สิ่งที่ควรพัฒนาที่ซ่อนลึกอยู่ได้
  • .......
  • 3 หลักที่ว่าเป็นข้อมูลทั่วไป
  • หลักแรกคือ "คน" 
  • จำนวนมากน้อย
  • ความต่างของจำนวน 2 เพศ
  • ความต่างของจำนวนวัย
  • ปรากฎการณ์ของสถานะสมรส
  • ความต่างของรายได้
  • ขนาดเฉลี่ยของครัวเรือน
  • อาชีพ
  • อายุสูงสุดของคนที่ยังมีชีวิต
  • อายุน้อยที่สุดของผู้ใหญ่ที่เสียชีวิต
  • เรื่องของสุขภาพที่มักต้องหาที่พึ่งพา
  • สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
  • .......
  • หลัก 2 คือ สิ่งแวดล้อม
  • แหล่งน้ำบริโภค วิธีได้มา วิธีการใช้
  • ความไกล-ใกล้ ของแหล่งน้ำทิ้งจากครัวเรือน
  • ความไกล-ใกล้ของขยะจากครัวเรือน
  • วิธีจัดการของเสียจากคนและสัตว์เลี้ยง
  • ความใกล้-ไกลของที่อยู่สัตว์เลี้ยงกับคน
  • .......
  • หลัก 3  คือ ความสัมพันธ์
  • ระหว่างคนในครัวเรือน
  • ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง
  • ระหว่างคนกับน้ำบริโภค อุปโภค
  • ระหว่างคนกับตลาดสินค้า
  • และอื่นๆ ระหว่างหลักแรกกับหลัก 2
  • .......
  • ได้ข้อมูลทั้ง 3 หลักมา
  • จากสิ่งที่ท่านได้เห็นกับตา
  • จะสามารถแปลความเพื่อ
  • ทำความเข้าใจ "ส่วนขาด" ของชุมชน
  • และนำความช่วยเหลือเข้าไปเติมให้
  • ตรงความต้องการที่ซ่อนลึกอยู่
  • ที่ชุมชนเองอาจจะมองไม่เห็น
  • และเตรียมความพร้อมให้ชุมชนได้ค่ะ
Ico48

ขอบคุณมากๆ หมอเจ้ครับ นี่ละช่วยได้มากเลย

หลังจากเยือนแล้วจะได้นำข้อมูลทั้ง 3 หลักมาบอกต่อกันครับ

 

  • ท่านทูตค่ะ
  • ลืมบอกเรื่องหลัก 2 อีกเรื่องค่ะ
  • "แหล่งพลังงาน" ที่ครัวเรือนใช้
  • พึ่งพาจากแหล่งใด
  • ......
  • ส่วนหลัก 1 
  • ท่านช่วยเจาะเรื่องต่อไปนี้ให้ด้วยค่ะ
  • อาชีพ "ช่าง"
  • สาเหตุเสียชีวิตของเด็ก 3 ลำดับแรก
  • อายุที่น้อยที่สุดและมากที่สุดของเด็กที่เสียชีวิต
  • ความต่างด้านศาสนาในชุมชน
  • และความต่างของสัดส่วนเมื่อเทียบกับระดับรัฐค่ะ
  • .......
  • คราวก่อนที่ได้มาเยี่ยมท่าน
  • คนอินดียเล่ากระบวนการหนึ่ง
  • ของชุมชนให้ฟัง
  • หมอเห็นภาพที่ท่านนำมาฝากแล้ว
  • เชื่อว่าที่ชุมชนนี้ก็น่าจะมีพลังแฝงนี้อยู่
  • .......
  • ตัวแทนของกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์และศาสนา
  • มีเวทีสนทนาแลกเปลี่ยน
  • จนเกิดข้อสรุปของชุมชนในสิ่งที่จำเป็นร่วมกัน
  • นี่คือจุดแข็งที่หมอได้ทราบจากคราวก่อน
  • ถ้าที่นี่มีอยู่แล้ว นี่คือต้นทุนที่งดงามสำหรับสานต่อ
  • ในประเด็นของหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้
  • ......
  • ขอบคุณที่ท่านรับความเห็นไปใช้ค่ะ
Ico48

หมอเจ้ครับ

รับทราบครับ หลายข้อที่บอกมา ตอบได้เลย แต่ขอยังไม่ตอบเพราะต้องการไปยืนยันให้ชัดเจนจากการไปครั้งนี้อีกที รวมทั้งไปหาข้อมูลเพิ่ม

ขอบคุณทุกคำแนะนำครับ มีประโยชน์มากจริงๆ

หมอเจ้น่าจะหาโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้ด้วยนะครับ ในอนาคต

แวะมาอีกครั้งค่ะ

มาให้กำลังใจ เวลาคงมีไม่มากนักสำหรับการหาข้อมูลครั้งนี้

และขอให้พบแต่สิ่งที่มีคุณค่า ที่เราจะนำมาเรียนรู้ด้วยค่ะ

เชื่อในศักยภาพของเผ่าไทพาเก

ที่ต้องมีดี และความเป็นอยู่ที่ดีตรงตามวิถีของเขา

ถ้าโยคีน้อยไป ก็คงจะไปศึกษา เรียนรู้จากเขามากกว่า

เพราะที่จริงการศึกษาประวัติศาสตร์ของเขาเป็นเรื่องน่าสนใจ

บางที เราอาจพบว่า เราด้อยกว่าเขามากมายเลยก็ได้

นักการทูต มองอะไรเชิงลึกอยู่แล้ว

เชื่อถือ เชื่อถือ

กัลยาณมิตรทุกท่านครับ

กลับมาแล้วครับจากอัสสัม ขอเวลาวันสองวันจะเล่าเรื่องและภาพยือนหมู่บ้านนำผาเกครั้งที่ 3 นี้ให้พวกเราฟัง น่าสนใจแน่นอนครับ

 

  • น่าสนใจวิถีชีวิตดั้งเดิม
  • ขอบพระคุณเรื่องราวดี ๆ ที่แบ่งปันพร้อมเป็นกำลังใจให้นักพัฒนาค่ะ
Ico48

คุณธรรมทิพย์ครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายกัน หมู่บ้านไทผาเกมีเรื่องราวของวิถีชีวิตดั่งเดิมที่น่าสนใจมาก การไปค้างคืนจึงทำให้ผมได้รู้อะไรอีกขึ้นมาก ติดตามอ่านต่อไปครับ

มาให้กำลังใจคะ

ชื่นชมความตั้งใจจริง ทำจริง ของคุณพลเดชมากคะ

ขออนุญาต แสดงความเห็นแผนจัดเก็บข้อมูลที่ท่านสำรวจ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่า จะมีประโยชน์ในอนาคต

ไม่ทราบเก็บในไฟล์รูปแบบใดคะ

หากเก็บในรูปแบบ exel จะคล่องในการใช้มาก เพราะแปลงเป็นไฟล์มาตรฐานใช้งานได้กับหลายโปรแกรมคะ

Ico48

คุณหมอครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ แหม ออกตัวก่อนว่า exel ผมไม่ค่อยได้ใช้เลย ไม่ถนัดเลย แต่คิดว่าคงเรียนรู้โดยพลันน่าจะได้:)

ไปคราวนี้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตมากขึ้นครับ แม้จะไม่ได้หมด ด้วยเวลาที่สั้นครึ่งวันและการต้อนรับของชาวไทผาเกที่น่าจริงใจราวกับเป็นญาติพี่น้องกัน

กำลังเรียบเรียงท่ามกลางงานที่กระหน่ำเข้ามาในช่วงนี้ครับ

เป็นความฝันของผมที่จะเห็นหมู่บ้านไทผาเกสืบทอดวิถีและวัฒนธรรมของตน(ไท) ต่อไปให้นานที่สุด

ของคุณครับคุณหมอ

 

...มามอบกำลังใจให้อาจารย์อีกคนครับ ผมขอสารภาพตามตรงว่าผมหลงทางมาที่ 'Gotoknow' แรกเริ่มหมายใจเอาไว้ ว่าอยากจะหาพื้นที่ซักแห่งเอาไว้เขียนเขี่ยอะไรต่อมิอะไรพอเพลินๆ แค่นั้นจริงๆ พอได้แวะเข้ามาโกทูโน ก็ได้เห็น ก็ได้รู้อะไรต่อมิอะไรมากมาย มากกว่าที่ตัวผมอยากเขียนเขี่ยเสียอีก อะไรต่อมิอะไรที่ว่าคือคนดีๆ น้ำใจงามๆ(เหมือนอาจารย์พลเดช วรฉัตร) ผมว่าผมไม่หลงทางแล้วล่ะครับอาจารย์ วันหนึ่งข้างหน้า ผมอยากทำงานเพื่อสังคมเหมือนอาจารย์บ้าง มันไม่ใช่ความฝันของผมหรอกครับ แต่ผมรู้สึกว่าผมอยากทำ และผมก็อยากทำมันจริงๆ(ทำเพื่อสังคม)ครับ แต่ตอนนี้ขอแค่แวะมาเป็นกำลังใจให้อาจารย์(และคนดีของสังคมในโกทูโนท่านอื่นๆ)ก่อนนะครับ

Ico48

ขอบคุณมากคุณเขียบ

การหลงมาในโกทูโน ถือว่าเป้นหารหลงที่ดีครับ ขอให้กำลังใจให้ซึมซับการต่อยอดความรู้ในโกทูโนให้มากๆ เพราะนี่คือการเรียนชีวิตที่ดีและเป็นสีขาว

ในแง่ของเว็บสีขาว ผมยกให้โกทูโนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ความรู้มีแล้วอยู่ในตัว พยายามก้าวข้ามความรู้สึกส่วนตัวที่อาจเป็นอุปสรรคในการเผยแพร่ประสบการณ์ของตนเอง

ประสบการณ์ของชีวิตแต่ละคนมีคุณค่าต่อเมื่อได้รับการเล่าออกมา เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก วิธีการนี้ใช้มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ก็นำวิธีการนี้มาเผยแพร่ต่อ เป็นที่มาของการเล่าเรื่องต่างๆ จนกลายเป็นชาดก

การเล่าเรนื่องก็หมายความว่าเราพร้อมที่จะให้ผู้คนมองในมุมมองต่างๆ ต่างจากที่เรามอง เพื่อจะได้ต่อยอดความคิด ผู้เล่าก็ได้มุมมองมุมอื่นมากขึ้นไปอีก ผู้วิจารณ์หรือมองมุมต่างก็ได้เกิดความคิดต่อยอดออกไปอีก สรุปแล้วทุกคนได้ครับจากการจัดการความรู้นี้

เราสามารถทำงานเพื่อสังคมได้แน่นอนครับ ตั้งใจแล้วต้องนำพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ คือ "ทำทันที" ให้ความรู้กระจายออกไปไม่มีขอบเขตและขีดจำกัด

ขอให้โชคดีครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท