ไปจ่ายตลาด


ขาไปเหมือนไก่จะบิน ขามาเหมือน(โรค)ห่าจะกิน

       ไปตลาดนัดความรู้ ที่พะโต๊ะ

   คืนวันที่ 22 สิงหาคม 49 เตรียมตัว เตรียมใจ ว่าพรุ่งนี้จะไปตลาดนัดความรู้ การผลิตผลไม้ดี ที่เหมาะสม ที่อำเภอพะโต๊ะ ดินแดนแห่งขุนเขา และสายน้ำของจังหวัดชุมพร อุดมไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด ผมมีความคาดหวังว่าจะได้เดินซื้อ หรือเก็บเกี่ยวผลไม้คุณภาพดี ปลอดภัย คาดว่าจะได้พบเทคนิควิธีใหม่ๆของกระบวนการจัดการความรู้ และคาดว่าจะได้พบเห็นผลไม้จริงๆ หรือสวนผลไม้

  ตอนเช้าของวันที่ 23 ผมได้เตรียมเงิน เตรียมตะกร้าสำหรับบรรจุสินค้า ที่จะใส่ของกลับบ้าน มีความตื่นเต้นพอสมควร แต่ไม่ถึงขนาด ขาไปเหมือนไก่จะบิน เพราะได้รับข่าวสารจากสำนักงานจว.ชุมพร ว่าจะมีตลาดนัดความรู้ ชื่อมันแปลกๆดี ถ้าในแง่การตลาดถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง คือสะดุดใจเล็กๆ

  ถึงตลาดนัด ได้เดินชม ได้เลือกซื้อสินค้าตลาดนัดดังกล่าว พบว่า เป้ามายที่1 การจัดการความรู้ผลไม้ปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องลองกอง ได้ผลเกินคาดหมาย ส่วนเรื่องทุเรียนพื้นๆ ถึงแผงมังคุดเดินซื้อไม่ไหว เพราะง่วงนอนเสียก่อน มีอาการเหมือน   ขามาเหมือนห่าจะกิน ทำให้นึกถึงอาการที่เขาเรียก นกฮูกถูกแดด อย่างไรก็อย่างนั้น เพราะอากาศค่อนข้างร้อน

  เป้าหมายที่2 ได้เลือกซื้อเทคนิควิธีกระบวนการจัดการความรู้ใหม่ๆ ที่อาจารย์ไอศูรย์ได้รับมาจากท่านศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กูรูแห่ง KM ได้ขออาจารย์ไอศูรย์คัดลอกใส่แฮนดี้ไดร้ฟ์ เมื่อกลับถึงบ้านสมาชิกในครอบครัวจะได้อ่านด้วย เพราะในตลาดฟังไม่รู้เรื่อง อ่านก็ไม่เห็น ก็เหมือนกับการเลือกซื้ออาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ขนส่งเคลื่อนย้ายได้ เก็บรักษาได้นาน เปิดรับประทานได้หลายครั้ง

  ส่วนเป้าหมายที่3 คือการไปดูสวนจริงๆผลไม้จริงๆ และเทคนิควิธีจริงๆไม่ได้ดู ทั้งนี้อาจจะเกิดจากข้อจำกัดหลายๆอย่าง เช่นเวลา และสถานที่ หรืออื่นๆ

  คิดว่าหากจะเปิดตลาดนัดครั้งต่อไป เจ้าของตลาดอาจจะต้องปรับปรุงในบางเรื่อง เช่นสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์     ทำให้นึกถึงการออกแบบละครเวที ที่เรียกว่า Drama Turgie (แอบจำเอามานานแล้วไม่ทราบว่าเป็นภาษาเยอรมันหรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่าไม่แน่ใจ) จะต้องมีการออกแบบฉาก ผู้แสดง ผู้กำกับเวที คอสตูมดีไซนิ่ง แสง เสียง กล้อง และอื่นๆสารพัด แต่ในตลาดนัดวันนี้สิ่งที่พบเห็นคือ ความตั้งใจอันสูงส่ง ของเจ้าของตลาดในการซื้อใจของลูกค้า

  สุดท้าย เมื่อกลับถึงบ้าน เอาข้าวของที่ซื้อมาเก็บเข้าที่เข้าทาง บางส่วนก็ปรุงรับประทานกันในครอบครัว เก็บรักษาในส่วนที่กินใช้ไม่หมด  คิดว่าในวันต่อๆไป จะต้องทำในบางสิ่งบางอย่าง เช่น

 1 จัดระบบองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพผลไม้ ไว้ที่สำนักงานให้ทุกคนได้เข้าไปใช้ประโยชน์

 2 สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทุกคนไปเข้ารับการอบรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ(ซึ่งจริงๆแล้วข้าราชการระดับ5 ขึ้นไปจะต้องมีทักษะทางด้านนี้ ตามมติ คร.ม.มาหลายปีแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาหลายคนไม่กล้าจี้ไช อาจจะกลัวลูกน้องเกลียดเพราะอนาคตอาจจะสมัครส.ส.)

 3 จัดอบรมพิเศษให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ในการเข้าถึงเรื่องการจัดการความรู้ เพราะได้วางระบบ LAN เรียบร้อยแล้ว

 4 นำเกษตรกรชาวสวนลองกองอำเภอท่าแซะ ไปทัศนศึกษาสวนลองกองอำเภอสวี และพะโต๊ะ เพราะคนฉลาดเขาพูดว่า เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น ประหยัดกว่า

                                             ไชยยงค์ บันทึก

                                            

 

หมายเลขบันทึก: 46206เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • บรรยายได้เห็นภาพของ "พญาน้อยชมตลาด" ชัดเจนดีมาก
  • ยินดีให้การสนับสนุนเรื่องของ IT เพื่อให้สนง.เกษตรอำเภอท่าแซะ ได้ก้าวไกลอย่างที่ใจหวัง...ครับ.
อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นพี่ไชยยงค์ ซึ่งใช้การเปรียบเทียบที่ได้อรรถรสมาก ขออาหารแบบนี้ในมื้อต่อ ๆ ไป อีกน่ะคะ
  • เมื่อมีความตั้งใจย่อมประสบผลสำเร็จ
  • เราเรียนรู้ร่วมกัน คงต้องปรับปรุงร่วมกัน พัฒนาร่วมกันเพื่อองค์กร
  • คิดถึงหลาย ๆ คน ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดครับ
  • คิดถึงเกษตรกรที่จะเดินหน้าเข้าสู่ระบบการรับรองสวนการรับรองตนเอง(GAPพืช)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท