สภามหาวิทยาลัย : การทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการ


           วันที่ ๘ สค. ๔๙ สภามหาวิทยาลัยทดลองทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการในรูปแบบหนึ่ง     คือการไปเยี่ยมชื่นชมความสำเร็จของหน่วยงาน     คณะแรกที่ไปคือคณะพยาบาลศาสตร์
          ที่ว่าเป็นการทำงานแบบไม่เป็นทางการคือไม่บังคับว่าทุกคนต้องไป    เป็นการไปแบบสมัครใจ    ใครว่างและสนใจก็ไป    ถ้าไม่ว่างก็ไม่เป็นไร    และประชุมกันแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการ
          คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รศ. ดร. กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล  บอกว่ากิจกรรมนี้ก่อผลดีต่อคณะ     จึงขอนำสรุปเหตุการณ์นี้มาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้     โดยขอย้ำว่าการเยี่ยมชมนี้ใช้หลักการและวิธีการ Appreciative Inquiry, Storytelling, และ Dialogue

 

สรุป MU Visit ครั้งที่ ๑
การเยี่ยมชมคณะพยาบาลศาสตร์
เมื่อวันอังคารที่ ๘ สิงหาคม  ๒๕๔๙ 
ณ ห้องเพชรรัตน์ และห้องประชุม ๓๐๑ ชั้น ๓ อาคารพระศรีพัชรินทรา คณะพยาบาลศาสตร์
...........................

รายชื่อผู้เข้าร่วมเยี่ยมชมคณะฯ


๑. ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช         นายกสภามหาวิทยาลัย 
๒. ดร.กิตติพงษ์  กิตยารักษ์                                 กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ 
๓. รองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล      กรรมการสภาฯ ผู้บริหาร/ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์
๔. ศาสตราจารย์จิรพันธ์  พันธ์วุฒิกร                   กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ฯ 
๕. ศาสตราจารย์ชุมพล  ผลประมูล                     กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ฯ 
๖. รองศาสตราจารย์สมคิด  โพธิ์ชนะพันธุ์          กรรมการสภาฯ จากคณาจารย์ฯ 
๗. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์      ประธานสภาคณาจารย์ 
๘. ศาสตราจารย์ศรีประสิทธิ์  บุญวิสุทธิ์              รองอธิการบดีฯ ฝ่ายพัฒนานักศึกษา 
๙. รองศาสตราจารย์วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล  รองอธิการบดีฯ ฝ่ายนโยบายและแผน 
๑๐. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงหพันธุ์ ทองสวัสดิ์     รองอธิการบดีฯ ฝ่ายพัฒนากฎหมายฯ/ เลขานุการสภาฯ
๑๑. นางสาวคนึงนิจ  พิบูลย์สวัสดิ์                      ผู้อำนวยการกองแผนงาน ผู้เข้าร่วมประชุม
๑๒. นางสายฝน  บุญญานุสาสน์                         ผู้อำนวยการกองกลาง ผู้เข้าร่วมประชุม
๑๓. นางสาวมยุรี  แย้มศรี                                   หัวหน้างานการประชุมและพิธีการ  ฝ่ายเลขานุการฯ
๑๔. นายชัยโรจน์  รอดเกลี้ยง                            จนท.งานการประชุมและพิธีการ ฝ่ายเลขานุการฯ
๑๕. นายภาณุมาศ  ทองสุขศรี                           จนท.งานการประชุมและพิธีการ ฝ่ายเลขานุการฯ
๑๖. นายศุภโชค  อินทจักร์                                 จนท.งานการประชุมและพิธีการ ฝ่ายเลขานุการฯ


เริ่มเวลา ๑๒.๐๐ น.
การแนะนำหน่วยงาน
 

          รองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมรองคณบดี หัวหน้าภาควิชา และคณะกรรมการประจำคณะฯ ให้การต้อนรับศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย  ผู้บริหารและคณะผู้เยี่ยมชม  โดยได้แสดง Presentation แนะนำคณะพยาบาลศาสตร์  เพื่อให้คณะ   ผู้เยี่ยมชมได้ทราบประวัติความเป็นมาและข้อมูลด้านต่างๆ ของคณะฯ  โดยมีรายละเอียดดังนี้

          คณะพยาบาลศาสตร์มีวิวัฒนาการจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล (ศิริราช) เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๙  ปัจจุบันมีอายุรวม ๑๑๐ ปี  ได้ยึดถือพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ผู้วางรากฐานการพยาบาลไทย ซึ่งพระราชทานพระราโชวาทแก่นักเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ฯ ผู้สำเร็จการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ว่า “...การพยาบาลนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีประโยชน์แต่การพยาบาลอย่างเดียว ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับบำรุงชาติและบ้านเมืองของเราด้วย..” เป็นปณิธานประจำคณะฯ ทั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ พันธกิจ สรุปจุดเด่น จุดอ่อนของคณะฯ โครงสร้างองค์กรและการบริหารงาน  ในปี ๒๕๔๘  มีจำนวนอาจารย์ประจำ ๑๗๘ คน สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับจำนวนอาจารย์ในสถาบันการศึกษาพยาบาลสังกัด สกอ. โดยมีวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ๖๐ คน (๓๔.๖๘%)ปริญญาโท ๑๑๒ คน (๖๔.๗๔%) และปริญญาตรี ๑ คน (๐.๕๘%) แยกเป็นตำแหน่งทางวิชาการ ระดับรองศาสตราจารย์ ๕๐ คน (๒๘.๙๐%) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ๗๔ คน (๔๒.๗๘%) และอาจารย์ ๔๙ คน (๒๘.๓๒%)


          ในด้านจัดการศึกษา ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์ มีนักศึกษาจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๒๖๒ คน จำแนกเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ๙๐๓ คน (๗๑.๕๕%) หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ๒๖๙ คน (๒๑.๓๒%)  หลักสูตรพยาบาล  ศาสตรดุษฎีบัณฑิต ๕๓ คน (๔.๒๐%) และหลักสูตรเฉพาะทาง ๓๗ คน (๒.๙๓%) คณะฯ ยังได้มีหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาการพยาบาล ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  ทั้งนี้ ในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ได้รับความนิยมเป็นอันดับ ๒ (จำนวน ๒๐๕ คน) รองจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ (๒๙๙ คน)  โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้สมัครระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์กับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๙ นอกจากนี้ ได้เปรียบเทียบคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด ระบบแอดมิชันกลาง ของผู้สมัครสอบหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ สังกัด สกอ.   ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๙  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีคะแนนสูงสุด ๖,๙๖๒.๕๖ คะแนน เป็นอันดับที่ ๑ และคะแนนต่ำสุด ๕,๓๓๐.๓๕ คะแนน  


          นอกจากนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ยังมีการบริการวิชาการ มีโครงการสร้างเสริมสุขภาพ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การสร้างเสริมสุขภาวะของนักศึกษา มีการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบัน เครือข่ายความร่วมมือภายในประเทศ และต่างประเทศ  มีการพัฒนาองค์กรและการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่การจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา งาน/คน/คลังความรู้

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวขอบคุณคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายต่างๆ และคณาจารย์ของคณะฯ  โดยได้กล่าวว่าคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่คณะกรรมการสภาฯได้มาเยี่ยมชม เป็นแนวคิดการจัดการสมัยใหม่ ในการทดลองทำหน้าที่แบบใหม่ของสภามหาวิทยาลัยมหิดล   คือทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการ  ไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพลังภายใน จะทำให้เกิดประโยชน์แก่คณะฯ และขอให้มีการแสดงความคิดเห็นกลับ เพื่อจะได้ทราบว่าการทดลองได้ผลอย่างไร

          หลังจากการนำเสนอเรื่องราวของคณะฯ ดังกล่าวแล้ว คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดช่วงเสวนา โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับคณะฯ ได้มาเล่า Story telling เกี่ยวกับ Achievements ในแต่ละด้าน ดังนี้


          ๑. นางสาวศิริจรรยา จรรยาธรรม นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๔ ล่าความประทับใจในการเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ ที่คณาจารย์เอาใจใส่การอบรมจิตวิญญาณของการเป็นพยาบาลอย่างใกล้ชิด จนเปลี่ยนใจจากไม่ชอบวิชาชีพพยาบาล เป็นชอบ และตั้งใจจะเป็นอาจารย์พยาบาลในที่สุด   และได้นำเสนอประสบการณ์การไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น


          ๒. นางสาวอัมพา  กิตติอุดมเดช นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ เล่าความประทับใจในการเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ที่เน้นการฝึกฝน พัฒนาความสามารถในการคิดเชิง concept จากการปฏิบัติงาน     ทำให้ตนสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตการทำงานที่ รพ. พนมทวน  กาญจนบุรี ได้เป็นอย่างดี


          ๓. นางสาวมยุรี  นิรัติธราดร  นักศึกษาปริญญาเอก เล่าความประทับใจในการเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์  ที่มีการไปทำวิจัยในต่างประเทศ     และได้รับการยอมรับจากสถาบันด้านการพยาบาลในต่างประเทศสูงมาก


          ๔. รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ  สิทธิมงคล เล่าความประทับใจเรื่องการเป็นแกนนำของแผนงานพัฒนาสถาบันการศึกษาพยาบาลให้เป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งประสบผลสำเร็จ มี ๙ แผนงาน ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยมี ๑๕ สถาบันได้ร่วมกันดำเนินการ


          ๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งนภา  ผาณิตรัตน์  เล่าความประทับใจในการทำวิจัยของคณะพยาบาลศาสตร์ ได้พยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมการวิจัยขึ้น จากการให้ความหมายของคำว่า “SUCCESS”


          ๖. รองศาสตราจารย์วิไลวรรณ ทองเจริญ เล่าความประทับใจเรื่อง โครงการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นองค์กรผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้บริหารให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี มีการกำหนดนโยบายชัดเจน สามารถทำให้คณะฯ มีการดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และสามารถขยายไปสู่ชุมชนและองค์กรโดยรอบ


          ๗. รองศาสตราจารย์จันทนา  รณฤทธิวิชัย เล่าความประทับใจในการดำเนินการโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งทำมาเป็นปีที่ ๑๘ มีผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนจำนวน ๑,๒๐๐ คน  ซึ่งทุกปีจะมีการประเมินผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ ในเรื่องความสุข การมีศักยภาพความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ เช่น กีฬา, เต้นรำ ฯลฯ ซึ่งสมาชิกจะมีความร่วมมือกันทำประโยชน์  เป็นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กยากจน นักศึกษาของคณะฯ ก็ได้เรียนรู้โดยตรง และใช้ประโยชน์จาก Case Study นี้

          นอกจากนี้  ได้มีคณาจารย์และรองคณบดีได้ร่วมเล่าเรื่องราวการเป็นเครือข่ายของคณะฯ และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพิ่มเติมอีก คือ


          ๑.  รองศาสตราจารย์พรศรี  ศรีอัษฎาพร  เล่าเรื่องความร่วมมือในลักษณะ hospital-based  ระหว่างคณะแพทยศาสตร์  ศิริราชกับคณะพยาบาลศาสตร์ที่ทำงานต่อเนื่องยั่งยืน  ซึ่งเป็นทีมร่วมมือดูแลผู้ป่วยเบาหวานเด็ก ที่ศาสตราจารย์ชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ริเริ่มขึ้น   ขยายออกไปเป็นทีมเบาหวานผู้ใหญ่และศูนย์เบาหวานของศิริราช   นอกจากนี้ ก็ยังมีทีมดูแลผู้ป่วยหอบหืดในเด็ก  ซึ่งมีการเข้าอบรม เป็นทีมที่เข้มแข็ง จึงอยากฝากให้รุ่นน้องได้มีการสานต่อการทำงานต่อไป


          ๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์  อาปณกะพันธุ์  รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน เล่าเรื่องการฝึกอบรม LO (Learning Organization) ๙  รุ่น  ครอบคลุมบุคลากร ๙๗% ของคณะ    และต้องการพัฒนา KM ของคณะเพิ่มเติมจากเรื่อง LO


          ๓. รองศาสตราจารย์ ดร. ชื่นชม เจริญยุทธ  รองคณบดี  ได้เล่าเรื่องการทำงานร่วมเป็นเครือข่ายในโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง  กับคณาจารย์หลายคณะในมหาวิทยาลัยมหิดล  สถาบันอุดมศึกษาอื่น  หน่วยราชการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  และผู้นำชุมชน    ทำให้ได้เรียนรู้ศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย   และทำให้มองเห็นคุณค่าของการเตรียมนักศึกษาเพื่อให้เข้า Multi Displinary team จะทำให้ทุกคนเป็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีมต่างสาขาอาชีพ ลด ego ของตัวเอง

          นายกสภาฯและกรรมการสภาฯ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แง่มุมที่ต่างกันไป ดังนี้


          ๑. ในเรื่องการทำงานวิจัย ควรต้องมีการตั้งโจทย์วิจัยให้คมและครอบคลุม  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก   เดิมเรามักตั้งโจทย์วิจัยเล็กๆ เท่าที่คนๆ เดียวหรือทีมเล็กๆ สามารถสร้างผลวิจัยได้    แต่ในชีวิตจริงโจทย์วิจัยที่มีความหมาย มีประโยชน์อย่างแท้จริง จะมีความซับซ้อนมาก ต้องมองหลายมิติ และประกอบด้วยคำถามวิจัยเล็กๆ จำนวนมากประกอบเข้าด้วยกัน   โจทย์วิจัยแบบนี้มักถูกละเลย เพราะเกินความสามารถของนักวิจัยคนเดียว หรือทีมวิจัยเล็กๆ    ถ้าคณะพยาบาลศาสตร์ต้องการสร้างผลงานวิจัยที่มีความหมาย มีคุณภาพและผลกระทบสูง ต้องมีการบริหารจัดการจากส่วนกลางของคณะ    ให้เกิดการตั้งโจทย์วิจัยเป็นชุดโครงการ    และติดต่อประสานงานหาทุนวิจัยมาดำเนินการ     นอกจากนั้นงานวิจัยแนวใหม่นี้ มักเผชิญปัญหานักวิจัยไม่มีเครื่องมือวิจัยที่จะใช้ได้ผล      ต้องแก้ปัญหาเชิงรุก โดยการสนับสนุนให้ไปเรียนเทคนิควิธีการวิจัยนั้นจากแหล่งที่มีความรู้      คณะพยาบาลศาสตร์น่าจะพิจารณาการเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนการวิจัยในระดับที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ดังกล่าว


          ๒. การทำวิจัย ต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก   เมื่อมีการนำเสนอเรื่องเล่าความสำเร็จของคณะ/หน่วยงานต่างๆ   ก็จะเห็นโจทย์วิจัยที่มีคุณค่าต่อบ้านเมือง     ที่มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถดำเนินการได้หากมีการระดมความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน     รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยน่าจะเป็นผู้ Organized การพูดคุยระหว่างนักวิจัยหลากหลายคณะเพื่อร่วมกันตั้งโจทย์วิจัย และพัฒนาชุดโครงการวิจัยร่วมกัน     แล้วฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยหาทุนสนับสนุน


          ๓. งานวิชาชีพพยาบาลเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ผู้ที่จะมาทำอาชีพนี้ ต้องมีใจรักจริงๆ  และผู้ที่ได้รับการฝึกฝนในระดับ Advanced แล้ว จะสามารถช่วยแพทย์ได้อย่างมาก จะมีนโยบายอย่างไรที่จะพัฒนาวิชาชีพนี้ให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น


          ๔. คณะพยาบาลศาสตร์ในปัจจุบันเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ มีหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี-โท และเอก  ซึ่งฟังจากประวัติ การที่สามารถก้าวกระโดดมาจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกได้   ก็เพราะใช้ยุทธศาสตร์ Networking     จัดหลักสูตรปริญญาเอกร่วมกัน ๕ สถาบัน   คณะฯ น่าจะได้พิจารณาใช้ยุทธศาสตร์ networking ในอีกรูปแบบหนึ่ง    คือ networking ระหว่างสาขาวิชาชีพ     คณะพยาบาลศาสตร์หาทางพัฒนาคณะในลักษณะก้าวกระโดดโดยการทำงานร่วมมือเป็นเครือข่ายกับวิชาชีพอื่นๆ


          ๕. ควรเน้นการพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่ ให้อาจารย์เหล่านี้ ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้  รู้จักการทำงานเป็นทีม กับสาขาวิชาอื่นๆ มากขึ้น ได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน


          ๖. มหาวิทยาลัยมหิดลควรพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันหลายๆ หน่วยงาน เป็นเครือข่าย ที่จะทำให้เกิดสายสัมพันธ์ สมัครสมานและเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน      เป็นแนวทางพัฒนาองค์กร  พัฒนาบุคลากร  และพัฒนาผลงาน  ไปพร้อมๆ กัน


          ๗. ควรมีการสร้างระบบการยอมรับผลงานหลากหลายรูปแบบ     สำหรับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง     และเป็นบันไดวิชาชีพ

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยได้กล่าวขอบคุณคณะพยาบาลศาสตร์ และกรรมการสภาฯ ทุกท่าน และกล่าวว่าการเยี่ยมชมคณะฯ ในวันนี้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นกระจกสะท้อนการทำงาน  และสภามหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยสนับสนุนนโยบาย  ซึ่งการเยี่ยมชมในวันนี้  น่าจะได้ผลในเชิงสร้างสรรค์  และกระตุ้นให้ผู้บริหารและคณาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ได้เกิดการตื่นตัว  สามารถมองเห็นศักยภาพของคณะฯ และเห็นโอกาสที่จะทำงานที่จะทำให้เกิดผลกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

 

 

......................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 46146เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท