ปัวชัย...ชัยชนะของชุมชนจัดการสุขภาพ


เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมเรียนรู้กระบวนการชาวบ้านต้านยาเสพติด เมื่อปี ๒๕๔๓ กับเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ร่มของมูลนิธิฮักเมืองน่าน โดยการสนับสนุนของสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค ๕ เชียงใหม่ ในการที่จะสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มองค์กรชาวบ้านในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในขณะนั้นมีเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอยู่ ๑๒ เครือข่าย ที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน หนึ่งในนั้นมีเครือข่ายมิตรภาพภูเพียง ซึ่งมีกลุ่มแกนนำของเครือข่ายได้แก่ กลุ่มบ้านน้ำเกี๋ยน กลุ่มบ้านม่วงใหม่ กลุ่มน้ำแก่น และกลุ่มบ้านปัวชัย ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายชาวบ้านนี่เอง ทำให้ผู้เขียนได้รู้จัก ดต.ประสงค์ เขื่อนคำ แกนนำกลุ่มบ้านปัวชัย (ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดมวลชนสัมพันธ์ สภ.ภูเพียง) และคุณประนอม ภิมอญ แกนนำกลุ่มองค์กรชาวบ้านเรียกว่า “องค์กรปัวชัยร่วมใจสามัคคี" เป็นองค์กรหลักในหมู่บ้านที่ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านและแก้ไขปัญหายาเสพติด

และในปี ๒๕๕๕ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับบ้านปัวชัย อย่างเป็นทางการครั้งแรก ด้วยภารกิจการถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในครั้งนั้นได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาของหมู่บ้านและการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้เห็นความคิดความอ่านของกลุ่มแกนนำต่างๆ หลากหลาย ที่มีอุดมคติร่วมกันในการที่จะพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด สร้างสำนึกรักบ้านเกิด นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปเดินสำรวจป่าชุมชนของหมู่บ้านที่ได้รักษาไว้เป็นอย่างดี นับเป็นป่าชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดน่าน ครั้งนั้นเราได้ชุดความรู้ของกระบวนการชาวบ้านต้านยาเสพติดมาชุดหนึ่งเป็นชุดความรู้ที่เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ของชาวบ้านในการจัดการตนเอง นำมาเป็นตัวอย่างในการให้พื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้ต่อ

หลังจากนั้นการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบ้านปัวชัยก็ยังคงมีอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนแม่ของแผ่นดิน สวัสดิการชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชน และอื่นๆ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

และในครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ได้เข้าไปเรียนรู้เชิงลึกในการถอดบทเรียน “ตำบลจัดการสุขภาพ" ร่วมกับทีมศูนย์ฝึกอบรมสุขภาพภาคประชาชนนครสวรรค์ และทีมงานจากสสจ.ลพบุรี เป้าหมายครั้งนี้คือไปเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ในการจัดการสุขภาพของตำบลฝายแก้ว โดยมีบ้านปัวชัยเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการถอดกระบวนจัดการสุขภาพในเชิงลึก

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของมุมมอง ความคิด และกระบวนการจัดการสุขภาพของบ้านปัวชัย ที่ได้เรียนรู้

..............................................................

“ปัวชัย" จากประวัติศาสตร์การเล่าขานตำนานของหมู่บ้านว่า ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ได้ยกทัพไปรบกับพม่าได้รับชัยชนะกลับมา ได้พาทัพเดินทางกลับผ่านมาทางหมู่บ้าน ชาวบ้านซึ่งได้รับทราบข่าวว่าเจ้าเมืองได้รับชัยชนะกลับมาและผ่านมาทางหมู่บ้าน จึงพากันไปต้อนรับปรนนิบัติดูแลเจ้าเมืองและเหล่ากองทัพเป็นอย่างดี การดูแลนี้ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ปั๋ว" เจ้ามหาพรหมก็ถามว่าหมู่บ้านนี้ชื่อว่าอะไร ชาวบ้านก็ตอบว่ายังไม่ได้เป็นหมู่บ้าน ยังไม่มีชื่อ จึงทรงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ปั๋วชัย" นับแต่นั้นมา (ปั๋ว หมายถึงการเฝ้าปรนนิบัติ ชัย หมายถึงชัยชนะต่อข้าศึกสงคราม) พอนานเข้าก็เรียกชื่อเพี้ยนไปมาเป็น “ปัวชัย" จนทุกวันนี้

“บ้านปัวชัย" ตั้งอยู่ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านชนบท มีจำนวน ๒๑๔ หลังคาเรือน ประชากร ๗๘๑ คน บ้านปัวชัยอยู่ห่างจากตัวเมืองน่านราว ๓ กิโลเมตร ลักษณะหมู่บ้านยังคงความเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมอยู่ค่อนข้างมาก มีทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้าน ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีป่าชุมชนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า อันเป็นแหล่งอาหารและป่าใช้สอยของหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพุทธ และมีความเชื่อเรื่องผีตามความเชื่อของคนล้านนา มีความเป็นอยู่กันแบบเครือญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเป็นชุมชนที่ชาวบ้านมักพูดกันว่า “พริกบ้านเหนือมะเขือบ้านใต้" สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งปันกันได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านปัวชัยมีสิ่งที่เป็นศูนย์รวมความรักและความเชื่อของคนในชุมชนคือ “ผีเจ้าหลวง" ซึ่งในเดือนมกราคมของทุกปี ชาวบ้านจะมีการจัดพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ทุกปี เป็นการขอบคุณเจ้าหลวงที่ช่วยดูแลปกปักรักษาให้คนในชุมชนได้มีความเป็นอยู่ร่มเย็น ทำมาหากินได้ข้าวปลาบริบูรณ์ การเลี้ยงผีเจ้าหลวงประจำปี จึงเป็นการเชื่อมร้อยจิตวิญญาณของคนปัวชัยให้มาอยู่รวมกัน ช่วยกันรักและหวงแหนแผ่นดินถิ่นเกิดแห่งนี้ ร่วมกันพัฒนาชุมชนไปสู่เป้าหมาย

นอกจากนี้วัดปัวชัย ก็เป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน กระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาของชุมชนก็ใช้วัดเป็นสถานที่ของการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน

นอกจากนี้สิ่งที่ชาวบ้านได้ช่วยกันปกปักรักษามาหลายชั่วอายุคนคือ “ป่าชุมชน" ที่มีพื้นที่กว่า ๗๒ ไร่ เป็นป่าที่ยังความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและต้นไม้นานาพันธุ์ มีต้นมะค่าหลวงที่มีอายุหลายร้อยปี ขนาดหลายคนโอบ เป็นป่าใช้สอยของหมู่บ้านในการไปเก็บผักเก็บหน่อไม้ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และในปี ๒๕๕๔ เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดน่าน มูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านมีการจัดการดูแลป่าชุมชนอย่างเป็นระบบ ภายใต้โครงการ SIF มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน การจัดทำกฎระเบียบป่าชุมชนเป็นลายลักษณ์อักษร มีการสำรวจป่า ทำแนวกันไฟ และปลูกป่าทดแทน ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และพัฒนากระบวนการจัดการป่าชุมชนมากขึ้น

จากการที่ชุมชนมีป่าใช้สอยของหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมคือการจักสาน ทำกระติ๊บข้าวเหนียว และเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงได้มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็น “กลุ่มจักสาน" ขึ้น โดยมีองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน อบต. เข้ามาสนับสนุนกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด จนทำให้สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๔ ดาว สร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่เหนืออื่นใดคือการทำให้ผลิตภัณฑ์จักสานของบ้านปัวชัยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สร้างความภาคภูมิใจให้คนในชุมชน เป็นการหนุนเสริมใช้ชาวบ้านยิ่งหวงแหนรักษาป่าชุมชนเอาไว้ เพื่อให้มีไม้ไผ่ไว้ใช้สอยและการทำตอกสำหรับจักสาน

.................................................................

กระบวนการพัฒนาชุมชนบ้านปัวชัยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดที่ได้ดำเนินการมาอย่างเป็นรูปธรรม จนหมู่บ้านได้รับพระราชทานเงินขวัญถุงจากกองทุนแม่ของแผ่นดินในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๔๙ อันเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนเป็นอันมาก ทำให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาเยาวชน กิจกรรมการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด และได้มีกิจกรรมเทิดทูนแม่ของแผ่นดินในวันแม่ทุกปี มีการระดมทุนจัดผ้าป่าเข้ากองทุนแม่นำมาพัฒนาชุมชน ยกย่องเชิดชูเกียรติแม่ดีเด่นของหมู่บ้านทุกปี ทำให้ชุมชนมีกิจกรรมการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

โครงการสำคัญอันหนึ่งอันเป็นผลจากกองทุนแม่ของแผ่นดิน คือ “โครงการต้นกล้าคุณธรรมปัวชัย" ที่มุ่งเน้นปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน

ดต.ประสงค์ เขื่อนคำ ได้เล่าเค้าความคิดโครงการไว้ว่า “...แต่เดิมเราพยายามแก้ไขปัญหาเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีการอบรม ใช้มาตรการสุ่มตรวจปัสสวะ เฝ้าระวัง ทำมาหลายปี ก็คิดว่า มันได้ผลระดับหนึ่ง แต่เราก็ต้องตามไปแก้อยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เราไม่ทำแล้ว คิดว่าเรามาปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กได้เรียนรู้ มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดดีกว่า พอดีได้ไปฟัง อ.ภูวนาถ ผอ.รร.บ้านม่วงตึ๊ด อบรมเด็กเยาวชนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ก็เลยมีความคิดชวนอาจารย์มาเป็นวิทยากรอบรมให้เด็กบ้านปัวชัย โดยทำทุกวันเสาร์ตอนเย็น ซึ่งมีกิจกรรมการสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ สนทนาธรรม และการจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ซึ่งก็ทำให้เด็กเข้ามาวัดมากขึ้น มีความเป็นระเบียบวินัยมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็ลดลง..."

ประนอม ภิมอญ ผู้ใหญ่บ้านปัวชัย ผู้ที่อยู่ในเส้นทางของกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านมาตลอด ตั้งแต่เป็นอสม. แกนนำกลุ่มแม่บ้าน สมาชิกอบต. จนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา กล่าวเสริมว่า “....จากการที่ได้ไปเป็นวิทยากรเรื่องการพัฒนาชุมชนให้แก่บ้านฝายแก้ว ร่วมดต.ประสงค์ ได้เห็นบ้านฝายแก้วได้มีกิจกรรมพาเด็กเข้าวัด ซึ่งลูกหลานที่ไปด้วยก็ถามว่าบ้านเราทำไมไม่มีกิจกรรมดีดีอย่างนี้ จึงเอาความคิดและแนวทางนี้มาปรึกษากับแกนนำหมู่บ้าน เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา...."

ชุติมา สมาชิกอบต. แกนนำหลักอีกคนหนึ่งเสริมว่า “....กิจกรรมที่ทำขึ้นก็ทำด้วยความตั้งใจ โดยไม่คิดถึงเรื่องเงิน วิทยากร อ.ภูวนาถ ก็ไม่ได้คิดเรื่องค่าตอบแทน วัสดุอุปกรณ์ก็เอามาเอง เป็นการเสียสละ เพื่อเด็กอย่างแท้จริง...."

อ.ภูวนารถ ทาการ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม่วงตึ๊ด เสริมว่า “...เราสอนเด็กให้เขารู้และคิดได้เอง จะบอกเขาอยู่เสมอว่าเขาเหมือนกับต้นกล้าข้าว ที่รอวันที่จะเติบโตเป็นต้นข้าวที่แข็งแรง ออกรวงมาเป็นเม็ดข้าวให้เราได้กิน ถ้าเราไม่ดูแลต้นกล้าในวันนี้ จะเติบโตเป็นต้นข้าวที่แข็งแรงได้อย่างไร....ครูก็มีหน้าที่ในการปลูกฝังความรู้คุณธรรมให้เด็กอยู่แล้ว จึงอาสามาช่วยให้กับบ้านปัวชัย แม้จะไม่ใช่คนที่นี่ หรือสอนที่นี่ก็ตาม..."

กิจกรรมสร้างต้นกล้าเยาวชนนับเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนรู้จักคุณค่าในตัวเอง สำนึกรักบ้านเกิด มิเพียงเกิดผลต่อเยาวชนเท่านั้น หากแต่เชื่อมร้อยเอาพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ และคนในชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรมได้หันหาเข้าวัด มาสร้างสิ่งดีดีร่วมกัน นี่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาที่จะมีคนสืบสานปณิธานของแกนนำให้คงอยู่ไปรุ่นต่อรุ่น

..................................................................

นอกจากนี้ในหมู่บ้านได้มีการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อปลูกฝังการออม และเป็นแหล่งทุนของชุมชนในลงทุนการดำเนินการประกอบอาชีพ และต่อมา ดต.ประสงค์ เขื่อนคำ แกนนำบ้านปัวชัย ได้ชักชวนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลฝายแก้วรวมกันเป็น กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลฝายแก้ว" ตามนโยบายสวัสดิการชุมชนที่ส่งเสริมให้ชุมชนออมเงินวันละบาท โดยมีรูปแบบการออมแบบ ๓ ขา คือ ชาวบ้านออม ๑ บ้าน รัฐให้ ๑ บาท อปท.ให้ ๑ บาท โดยจัดให้มีสวัสดิการช่วยเหลือในด้านการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 1,100 คน มีเงินหมุนเวียน จำนวน 685,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุตำบลฝายแก้ว และกองทุนสวัสดิการอสม.ตำบลฝายแก้ว ที่อบต.ฝายแก้วได้ให้การสนับสนุนในการเป็นกองทุนสวัสดิการดูแลช่วยกันในกลุ่มสมาชิกกรณีป่วย ตาย

กระบวนการพัฒนาเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาชุมชน ที่ได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ ได้มีกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ สร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ได้ก่อให้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย และทำให้เกิดการรวมใจของคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชน

ประนอม ภิมอญ ผู้ใหญ่บ้านปัวชัย ซึ่งเป็นหญิงเหล็กคนรุ่นใหม่ไฟแรง ได้เล่าถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดว่า “...จากการที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีต่างๆ เวลาเวลานำตัวเองว่ามาจากบ้านปัวชัย คนมักคิดว่าอยู่อำเภอปัว เพราะคนไม่รู้จักบ้านปัวชัย ก็คิดในใจว่าบ้านเราอยู่ใกล้เมืองแค่นี้ทำไมไม่มีใครรู้จัก ก็เลยอยากพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นที่รู้จัก..."

ชุติมา สมาชิกอบต. กล่าวว่า “....โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ชุมชนมีความสุข ความสุขก็คือทุกๆ เรื่อง เริ่มจากใจที่มุ่งมั่นจะทำลงไปสู่ครอบครัวตนเองแล้วขยายไปยังชุมชน เสียงส่วนน้อยเราก็ต้องฟัง เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องฟัง บางครั้งแกนนำประชุมกันก็มีการทะเลาะถกเถียงกันได้ แต่ออกไปเราก็ต้องยิ้ม ยอมรับกันและกัน...เราใช้ความอ่อนน้อม ความเป็นผู้หญิงขอความร่วมมือ..."

ประนอม ภิมอญ ผู้ใหญ่บ้านปัวชัย ได้เล่ากระบวนการพัฒนาว่า “...เริ่มจากเมื่อมีความคิดที่จะทำอะไร ที่คำเมืองว่า “กำกึ๊ด" แล้วก็นำมาคุยกลุ่มแกนนำก่อน เมื่อกลุ่มแกนนำเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็จะนำไปสร้างความเข้าใจกับชุมชน ถ้าชุมชนบอกว่าเอาก็ทำ ถ้าชุมชนบอกว่าไม่เราก็ไม่ เรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่มีปัญหา แต่ความเข้าใจต้องมาก่อน...การบริหารจัดการก็จะมี ๖ ทหารเสือ ที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในด้านต่างๆ และมีหัวหน้าคุ้มอีก ๖ คุ้ม ที่มาจากการคัดเลือกของคนในคุ้ม รวมไปถึงมีแกนนำจากกลุ่มต่างๆ อีกรวม ๔๕ คน ที่เราเรียก ๔๕ ขุนศึก ที่จะคอยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน...การทำงานเนื่องจากหนูอายุยังน้อยก็ต้องอาศัยการขอความร่วมมือจากน้าจากลุงป้าทั้งหลายที่เป็นผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มาก่อนมาช่วยกัน ไม่ได้สั่ง แต่ขอความร่วมมือ..."

...........................................................

หมู่บ้านจัดการสุขภาพ

อบต.ฝายแก้ว ได้ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพของคนตำบลฝายแก้วผ่านโครงการตำบลสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส. มีการจัดตั้งแกนนำขับเคลื่อนระดับตำบลที่มาจากทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันสอบต. อสม. ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาร่วมวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน จัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM) กำหนดเป็นแผน และมาตรการของตำบลและหมู่บ้าน ลงไปสู่การขับเคลื่อนในระดับหมู่บ้าน มีการสำรวจทุนทางสังคมและภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน แล้วนำมาพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีการจัดการพัฒนาตนเองตามสภาพปัญหาและบริบทของชุมชนเอง มีการจัดทีมไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาต่อยอดต่อไป

กระบวนการพัฒนาสุขภาพของคนบ้านปัวชัยก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยทุนฐานเดิมที่เป็นภูมิปัญญาการดูแลตนเองของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร การนวด ประคบ อบต่างๆ ที่มีหมอพื้นบ้านในหมู่บ้านที่สืบสานกันมา มีอสม.ค่อยเชื่อมต่อองค์ความรู้ด้านการสาธารณสุขใหม่ๆ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบการดูแลตนเองแบบดั้งเดิม โดยการสนับสนุนของหมออนามัยในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน ที่เป็นสถานที่บริการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของคนในชุมชน ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันอาทิตย์ ๓ โมง – ๖ โมงเย็น โดยมีบริการอบนวดประคบสมุนไพร บริการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เจาะเลือดหาเบาหวาน และเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ อสม. ในการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน

เกิดการรวมกลุ่มออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เช่น เต้นแอโรบิค ฮูล่าฮูป รำไม้พลอง ปั่นจักรยาน เดิน และชักกะลา (ชักกะลาไปเรียนรู้มาจากตำบลสุขภาวะจังหวัดเชียงใหม่)

เกิดกลุ่มแม่บ้านในการดูแลการประกอบการอาหารในงานเลี้ยงของชุมชนให้ปลอดภัย ตามแนวทางสารวัตรอาหารของอำเภอบ้านหลวง

การรวมกลุ่มทำปุ๋ยหมัก เพื่อให้ชาวบ้านได้ลดการใช้สารเคมี เป็นการนำเอาขยะเปียกมาทำเป็นปุ๋ยหมักไปใช้ในการเกษตรลดขยะ ได้ปุ๋ย ลดการใช้สารเคมี

ในปี ๒๕๕๓ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายการดำเนินงาน “โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยประชาชน" ขึ้น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอภูเพียง พร้อมเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันลงนามสัญญาประชาคมในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกัน

หลังจากนั้นแต่ละหน่วยบริการก็ได้นำเอาสัญญาประชาคมระดับอำเภอนั้นมาสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ

รพ.สต.บ้านบุปผาราม ก็ได้มาดำเนินการในหมู่บ้านเขตรับผิดชอบ รวมถึงหมู่บ้านปัวชัยด้วย ด้วยการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในโครงการกับชุมชน ร่วมกับอสม.คัดกรองผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป แล้วนำมาแยกเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อได้ผลการคัดกรองแล้วก็คืนข้อมูลให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้มาคัดกรองทราบว่าตนเองมีผลการคัดกรองสุขภาพเป็นอย่างไร อยู่ในกลุ่มไหน นำเอาข้อมูลมาพูดคุยกันและหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน หาจุดดีดีและจุดที่ต้องพัฒนา เอาความต้องการของชาวบ้านเป็นหลักในการพัฒนา

ประกอบกับทางแกนนำตำบลฝายแก้วได้ไปอบรมการสร้างและใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM) จากศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ และจากจังหวัด จึงมาปรึกษาหารือกับอบต.ฝายแก้ว ให้อบต.เป้นแกนหลักในการขับเคลื่อน SRM ที่จะเชื่อมกับแผนของกองทุนสุขภาพตำบล โดยดำเนินการเหมือนกันทุกหมู่บ้าน โดยกำหนดว่าโครงการที่จะขอจากองทุนสุขภาพตำบลต้องมาจาก SRM ดังนั้นมีการขับเคลื่อนทุกหมู่บ้านเหมือนกัน

สำหรับบ้านปัวชัยก็ได้ดำเนินการวิเคราะห์ชุมชน คืนข้อมูลการคัดกรองสุขภาพ แล้วนำเอาปัญหาความต้องการของชุมชนมาจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์โดยอาศัยต้นทุนเดิมที่ชุมชนได้ดำเนินการมาแล้วมาเป็นทุนฐานต่อยอดการพัฒนา กำหนดฐานราก กระบวนการ ภาคีเครือข่าย บทบาทประชาชนให้ชัดเจน แล้วกำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละกล่องในแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน แล้วนำเอาแผน SRM มาทำเป็นแผนชุดปฏิบัติการ(SLM) แล้วนำไปเขียนโครงการขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลหรือแหล่งอื่นๆ

สำหรับกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบ้านปัวชัยในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ได้นำมาเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ๓ อ. ๒ ส.โดยจัดส่งเสริมการออกกำลังกาย เช่น รำไม้พลอง ฮูล่าฮูป ชักกะลา เดิน ได้มีการอบรมเรื่องอาหารในการลดหวานมันเค็ม ส่งเสริมการกินผักให้มากขึ้น ส่งเสริมการคลายเครียด เช่น หัวเราะคลายเครียด การเข้าวัดฟังธรรมะ เป็นต้น

ได้กำหนดมาตรการของชุมชนในการงดเหล้าในงานศพ งานบุญในวัด กำหนดเขตห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในชุมชน และควบคุมการขายเหล้า บุหรี่ ตามพรบ.

จัดอบรม “การสุขาภิบาลอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย"ให้แม่บ้านทุกคน และจัดตั้งกลุ่ม “ผู้พิทักษ์อาหาร" ร่วมกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบอาหารเพื่อจัดเลี้ยงในงานประเพณีต่างๆ ของชุมชน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินอาหาร และลดการปรุงอาหารที่หวานมันเค็ม ใช้วัตถุดิบปลอดภัยจากสารพิษ สารปนเปื้อนต่างๆ

กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ มีความหลากหลาย มีทั้งกิจกรรมที่ทำในภาพรวมของชุมชน และกลุ่มสนใจ

สำหรับกลุ่มป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง และกลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนนั้น รพ.สต.บ้านบุปผาราม ได้จัดอบรมพยาบาลประจำบ้านครบทุกหลังเรือนๆ ละ ๑ คน โดยให้คนในครอบครัวมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย เสมือนเป็น “พยาบาลประจำครอบครัว" ซึ่งปกติคนในครอบครัวก็มีหน้าที่ดูแลกันด้วยความรักอยู่แล้ว เมื่อเติมความรู้ลงไปยิ่งทำให้สามารถทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ผลพวงของการพัฒนาสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพมาต่อเนื่อง โดยมีอสม.เป็นกำลังหลักในชุมชนที่คอยให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ดำเนินงานคัดกรองสุขภาพ ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพรายบุคคล รายกลุ่ม และกำหนดมาตรการในชุมชนให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อสม. แต่เดิมมีคำล้อเลียนอสม.ว่า “อสม.ก็อาศัยหมู่" หมายความว่า อสม.ไม่มีความรู้จริง แนะนำอะไรชาวบ้านเขาก็ไม่เชื่อ ตัวเองก็ปฏิบัติไม่ได้ แม้จะมีคำค่อนขอดอย่างไร อสม.ก็ไม่ท้อ มีการพัฒนาการเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่อง ได้รับการอบรมฟื้นฟูความรู้จากรพ.สต.อย่างต่อเนื่อง และจากโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยฯ ทางรพ.สต.บ้านบุปผาราม ก็ได้มีการจัดอบรมอสม.ทุกคนให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านโรคความดันเบาหวาน สามารถคัดกรองโรคความดันเบาหวานได้ ให้ความรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลัก ๓อ. ๒ส. อสม.จึงนำเอาความรู้เหล่านี้มาลงมือปฏิบัติเริ่มจากตนเองและคนในครอบครัวจนได้ผลดี ก็ขยายไปยังญาติพี่น้อง และคนในละแวกคุ้ม

จากความมุ่งมั่นตั้งใจของอสม.ที่เสียสละทำเพื่อคนในชุมชน และเกิดผลในทางปฏิบัติ เกิดบุคคลต้นแบบที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยหลายคนสามารถควบคุมระดับความดัน น้ำตาลในเลือดได้ ลดการกินยาลง และแพทย์ไม่ต้องนัดถี่ ทำให้ลูกหลานเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ส่วนพยาบาลประจำบ้านก็สามารถดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนได้จนเห็นผลชัดเจน ทำให้อสม.ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีบทบาทสำคัญในชุมชนในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนมากขึ้น

จากการดำเนินงานที่ต่อเนื่องทำให้ชุมชนสามารถจัดการสุขภาพของตนเองได้ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ของกลุ่ม และของชุมชน กลุ่มเสี่ยงก็ลดลง กลุ่มป่วยก็ได้รับการดูแลไม่มีภาวะแทรกซ้อน กลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนก็ได้รับการฟื้นฟูสภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญชุมชนมีความสุขมากขึ้น

คุณกนวรรณ นิลคง นักวิชาการสาธารณสุข ประจำรพ.สต.บ้านบุปผาราม ได้เล่าว่า “....แต่เดิมเราทำงานเราจะเป็นคนคิดแล้ววิธีเรียกชาวบ้านมาอบรม มาประชุม มาทำกิจกรรมกับเรา แต่ตอนนี้กลับกัน ชาวบ้านจะจัดการเองแล้วเรียกเรามาให้ความรู้ มาร่วมกิจกรรมที่ชุมชนคิดและดำเนินการ ซึ่งบางทีจัดตอนกลางคืนเราก็ต้องมา ตอนเช้าเราก็ต้องมา....การทำงานเราก็ยึดเอาวิถีชาวบ้านเป็นหลัก ชาวบ้านว่างตอนกลางคืน เราก็ไปตอนกลางคืน....การประสานงานก็ใช้การประสานไม่เป็นทางการก่อน หนังสือตามไป บางทีก็ยกหูโทรศัพท์บอกกัน บางทีก็คุยกันผ่าย Facebook ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและแกนนำหลายคนก็เล่น Facebook ก็ใช้ช่องทางนี้ติดต่อต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน..."

ประนอม ภิมอญ บอกว่า “...ถามว่าปัวชัยเข้มแข็งหรือยัง ประสบความสำเร็จหรือยัง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังต้องพัฒนาอีกมาก ความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นบันไดอีกขั้นไปสู่การพัฒนาแก้ไขปัญหาอีกเรื่อง เราจึงต้องเรียนรู้และพัฒนาอีกมาก..."

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

จากการฟังเรื่องเล่าการพัฒนาหมู่บ้านและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มแกนนำบ้านปัวชัย และตำบลฝายแก้ว จะเห็นว่ามีปัจจัยเงื่อนไขหลายอย่างที่มีส่วนสัมพันธ์กัน มิได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บ้านปัวชัยมีการพัฒนาต่อเนื่อง สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

๑. ผู้นำ ผู้นำที่นี้หมายถึงผู้นำทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งกลุ่มแกนนำปัจจุบันและกลุ่มแกนนำในอดีตที่ได้วางรากฐานการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีภาวะผู้นำสูง นำเอากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมาใช้ขับเคลื่อนเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และที่สำคัญแกนนำหลักของชุมชนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน สอบต. ข้าราชการในหมู่บ้าน อสม. สารวัตร คนเหล่านี้ส่ววนใหญ่มีประสบการณ์การเรียนรู้กับกระบวนการขององค์กรชาวบ้าน ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศ จึงได้เห็นรูปแบบการพัฒนา ได้วิธีคิดเชิงขบถที่แตกต่างไปจากกระบวนการคิดทั่วไป นั่นคือกระบวนคิดเชิง “จัดการตนเอง" “การสำนึกฮักแผ่นดินถิ่นเกิด" ทำให้กล้าคิดและกล้าทำในสิ่งแตกต่างออกไป นำมาทุนฐานเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด สามารถประสานการจัดการกับภาคีเครือข่ายภายนอกเข้ามาหนุนเสริมกลุ่มแกนภายในชุมชนได้ สามารถระดมทุน และความช่วยเหลือจากกลุ่มองค์กรหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนกระบวนการคิดและทำของชุมชนได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญความใจอาสา เสียสละที่สูงของแกนนำ และทำตนเป็นแบบอย่าง เป็นหัวใจหลักของการเป็นภาวะผู้นำที่ทำให้คนอื่นศรัทธา เชื่อถือ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

๒. ความเป็นชุมชนดั้งเดิม จากสภาพความเป็นอยู่ทั้งภูมิศาสตร์และวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านปัวชัยที่แม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ชานเมือง แต่ยังคงความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่ค่อนข้าง ความเป็นพี่เป็นน้อง ถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีผีเจ้าหลวงเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนในชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้านการจักสานไว้ สิ่งเหล่านี้เหล่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนได้มาปฏิสัมพันธ์ผ่านสายป่านความเชื่อเรื่องผี เรื่องป่า และเรื่องภูมิปัญญา นำไปสู่การจัดการแบบมีส่วนร่วม การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

๓. ความร่วมมือ จากความเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ไม่ได้นิ่งดูดายต่อเรื่องสาธารณะ ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งเดียว ร่วมด้วยช่วยกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้การทำงานต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็สามารถจัดการด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน

๔. กระบวนการเรียนรู้ การคิดพัฒนาต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง การรู้จักใช้เครื่องมือการเรียนรู้ต่างๆ และนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ มาปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้กิจกรรมงอกเงย เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น

๕. ภาคีเครือข่ายหนุนเสริม ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงหลักอย่างเช่น รพ.สต.บ้านบุปผาราม, อบต.ฝายแก้ว, สสอ.ภูเพียง, พัฒนาชุมชน อ.ภูเพียง, ครู และเครือข่ายระดับที่กว้างออกไปอย่าง ฮักเมืองน่าน, สำนักงานป.ป.ส.ภาค ๕ เชียงใหม่, สำนักงานยุติธรรมชุมชน, เหล่ากาชาดจังหวัดน่าน, ธนาคารออมสิน และอื่นๆ องค์กรเหล่านี้ล้วนเข้ามาสนับสนุนในด้านกระบวนการเรียนรู้ วิชาการ และทุนในการจัดการ การที่มีภาคีสนับสนุนหลากหลายทำให้เกิดกิจกรรมแตกออกไปหลากหลายตาม ทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

กระบวนการขับเคลื่อนและพัฒนาหมู่บ้านไปสู่การจัดการตนเองของชุมชนมิได้ตั้งอยู่ที่การจัดการสุขภาพเท่านั้น หากแต่ “มุ่งจัดการตนเองไปสู่ความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี" การจัดการจึงมุ่งไปที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนได้คิดและคิดได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพากันเองในชุมชนและเครือข่ายได้

หมายเลขบันทึก: 458652เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีการจัดอบรมอสม.ทุกคนให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านโรคความดันเบาหวาน สามารถคัดกรองโรคความดันเบาหวานได้

ชื่นชม แนวคิดนี้คะ พัฒนาคนเพื่อพัฒนางาน :-)

 ขอชื่นชมมากๆค่ะ  เป็นหมู่บ้านแบบอย่างหลายอย่างที่ดีมากๆค่ะ รักษาประเพณี ไหว้ผีเจ้าหลวง  สุขภาพก็ยิ่งสำคัญ  เมื่อส่วนใหญ่ทุกคนสุขภาพดี ความสุข ความสบายใจของทุกคนก็เกิดขึ้นได้ทั้งหมู่บ้าน  ขอบคุณประวัติของหมู่บ้านปัวชัยมากนะคะ

 

 

 ชวนน้องซอมพอทำให้คุณย่า-คุณยายทานด้วยนะคะ

 

 

 

เอาฮูป  กุ้งสาน  พัดสาน  กบสาน  ลงฮื้อดู  จิ่ม


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท