ด้วย "ภาษาอังกฤษ" มีความสำคัญสำหรับคนไทยมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งในการใช้ประโยชน์ด้านการสืบค้นทาง Internet (เพราะข้อมูลข่าวสารวิทยาการจากทั่วโลก 80 % จะเผยแแพร่เป็นภาษาอังกฤษ) การใช้ประโยชน์ในการสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก (เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล) การใช้ประโยชน์ในการสมัครงาน (ผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านการใช้ภาษาอังกฤษจะมีโอกาสมากกว่าในการได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน) การใช้ประโยชน์ในการทำงาน (บุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษจะสามารถทำงานได้กว้างกว่า และทำรายได้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถดังกล่าว) และล่าสุด คุณนิติ นวรัตน์ (2554 : 15) ได้กล่าวไว้ในคอลัมน์ "เปิดฟ้าภาษาโลก" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554 สรุปความได้ว่า กลุ่มประเทศ ASEAN 10 ประเทศ (ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ) ได้ทำความตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement : MRA) เพื่อความสะดวกในการยอมรับคุณสมบัติของนักวิชาชีพที่สำคัญ และการถ่ายเทแรงงานฝีมือระหว่างกัน จึงได้ลงนามร่วมกันใน "MRA 7 สาขาวิชาชีพ" ได้แก่ วิศวกร นักสำรวจ สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักบัญชี ซึ่งจะส่งผลให้นับจากวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป บุคลากรใน 7 สาขาอาชีพดังกล่าวของแต่ละประเทศ จะไปทำงานในประเทศไหนก็ได้ในกลุ่ม ASEAN เพื่อเป็นการทบทวนความจำของท่านผู้อ่านเกี่ยวกับ "กลุ่มประเทศ ASEAN (The Association of Southeast Asia Nations)" จึงขอแสดงแผนที่ ชื่อประเทศ และธงชาติของประเทศสมาชิก ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ ดังภาพล่าง
(http://thaibusinessbox.com/business/aec-information-center/)
สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของความสำคัญของภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับของไทยกลับตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว และกำหนดเป้าหมายให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาไทย และคนไทยเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้เขียนมองว่า ความพยายามใดๆ ก็จะยังคงได้ผลไม่แตกต่างจากความพยายามที่ผ่านมาอย่างยาวนานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ประสบแต่ความล้มเหลว ตราบเท่าที่วิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ยังไม่ตรงจุด หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า "เป็นการเกาที่ยังไม่ถูกที่คัน"
คำถามต่อไปก็คือ "แล้วที่คันมันอยู่ตรงไหนล่ะ" คำตอบอาจจะอยู่ในบทความเรื่อง "จิตวิทยากับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ" ซึ่งกล่าวว่า "According to the research, most English students struggle and fail because of psychology, not because of methods, not because of teachers. Those things are important, but Tony Robbins talks about the fact that psychology is 80% of success. Psychology is 80% of success, so 20% are the methods you use to study, the schools you go to, the teachers you have, the books you use. Those are important, but the other 80% is psychology, your motivation, your emotions, how you manage your time. All of these things are in fact much, much more important. You must love what you learn. (Mareq. 2011 : Online)" ซึ่งสรุปความได้ว่า ผลการวิจัยชี้ว่า นักเรียนนักศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะประสบกับความล้มเหลวเพราะปัจจัยทางจิตวิทยา ไม่ใช่ปัจจัยด้านวิธีการเรียนและด้านตัวครู ซึ่งแม้สองปัจจัยหลังจะมีความสำคัญ แต่ โทนี่ ร็อบบินส์ชี้ว่า ปัจจัยด้านจิตวิทยาสำคัญมากกว่ามาก เพราะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ถึง 80 % ที่เหลือ 20 % จะอยู่ที่สถานศึกษา ครูอาจารย์ หนังสือเรียนและวิธีการเรียนรู้ ปัจจัยทางจิตวิทยา หมายถึง แรงจูงใจและอารมณ์ของผู้เรียนซึ่งจะต้องรักในสิ่งที่ตนเรียน รวมไปถึงการจัดการเรื่องเวลาในการเรียนรู้"
จากที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงขอเสนอ "หลักการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ : เกาให้ถูกที่คัน" โดยประยุกต์จากหลักปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของโรงเรียนสอนภาษาของเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ดังภาพข้างล่าง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตรงจุดและครอบคลุม โดยมุ่งหวังว่า ผู้เกี่ยวข้องจะได้นำไปปรับใช้ เพื่อหาทางช่วยให้ผลการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาไทยในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งคนวัยทำงาน กระเตื้องขึ้นตามความคาดหวังของทุกฝ่าย โดยผู้เขียนขอเรียงลำดับหลักการแต่ละอย่างใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับลำดับในการปฏิบัติ และได้เพิ่มคำอธิบายขยายความจากข้อความที่ระบุใภาพ ดังนี้
(http://lesuhorve.com/language/?page_id=150)
หลักการที่ 1 More Motivation "แรงจูงใจ (Motivation)" เป็นแรงที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมไปสู่เป้าหมาย ในทางจิตวิทยาถือว่า แรงจูงใจเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการเรียนรู้ และครูอาจารย์ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ก็เท่ากับประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจึงควรเริ่มด้วยการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียน ซึ่งทำได้โดยการแสดงให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นผู้มีทักษะภาษาอังกฤษ และการช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถตั้งเป้าหมายในการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องรู้ระดับพื้นฐานของตนก่อน ในการวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ (Learning Copetencies) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ ซึ่งสมรรถภาพด้านการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหนึ่งในสมรรถภาพที่พัฒนานั้น ผู้เขียนได้เริ่มต้นจากการวัดแรงจูงใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน (วัด 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ [Value/ Usefulness] ของภาษาอังกฤษ (2) ความสนุกและน่าสนใจ [Joyfulness/Interesting] ในการเรียนภาษาอังกฤษ และ (3) ความเชื่อว่าตนจะสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ [Self-efficacy Belief]) ผลการวัด พบว่า นักศึกษาทุกคนได้คะแนนด้านการเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของภาษาอังกฤษในระดับมากถึงมากที่สุด ได้คะแนนความสนุกและน่าสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษที่ผ่านมาในระดับน้อย และได้คะแนนความเชื่อว่าตนจะสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้สำเร็จในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ต่อจากนั้นได้ทดสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษของผู้เรียนแต่ละคนในแต่ละทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) แล้วกำหนดเส้นฐาน (Based Line) แต่ละทักษะของแต่ละคนตามผลการทดสอบ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่จะมีเส้นฐานทุกทักษะอยู่ในระดับต้องปรับปรุง (Poor) มีไม่กี่คนที่มีบางทักษะอยู่ในระดับระดับพอใช้ (Fair) แล้วให้ผู้เรียนกำหนดระดับเป้าหมายในการพัฒนาในแต่ละทักษะด้วยตนเอง โดยมีเกณฑ์ว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้จะต้องสูงกว่าเส้นฐานอย่างน้อยหนึ่งระดับ ระดับของทักษะภาษาอังกฤษกำหนดไว้ 5 ระดับดังภาพข้างล่าง กระบวนการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเริ่มจากการเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษทั้ง 3 องค์ประกอบแต่เน้นการสร้างความเชื่อว่าตนจะสามารถทำได้ มากที่สุด เพราะเป็นองค์ประกอบที่นักศึกษามีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับองค์ประกอบอื่น (ใช้สื่อกรณีตัวอย่างนักศึกษาที่มี IQ ระดับ ปัญญาอ่อน แต่เรียนจบปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฏสวนดุสิตและเป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ ที่มี IQ ปกติ ในการเรียนภาษาอังกฤษ เป็นสื่อวีดิทัศน์ที่ผู้เขียนบันทึกจาก "รายการตีสิบ" สถานีโทรทัศน์ช่อง 3)
หลักการที่ 2 Positive Attitude มีผลการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ที่แสดงว่า "เจตคติ (Attitude)" มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ทุกวิชา ของผู้เรียนในทุกระดับการศึกษา ผู้ที่มีเจตคติที่ดี (Positive Attitude) ต่อวิชาที่เรียน และต่อครูอาจารย์ผู้สอน เช่น ชอบวิชา ชอบเรียน ชอบผู้สอน จะมีโอกาสเรียนรู้ได้ดีกว่าผู้ที่มีเจตคติไม่ดี (Negative Attitude) เช่น ไม่ชอบวิชา ไม่ชอบเรียน และ/หรือไม่ชอบผู้สอน ผู้เรียนส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ที่ทำให้มีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเรียนแล้วไม่เข้าใจ เรียนไม่สนุก ทำข้อสอบไม่ได้ ผลการเรียนไม่ดี วิธีการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนทำได้โดยการทำให้การเรียนสนุก น่าสนใจ บทเรียนมีความหมายคือสัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมแบบตื่นตัว (Active Learning) ในการวิจัยของผู้เขียนนั้น การพัฒนาทุกทักษะในชั้นเรียน จะใช้เนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันทุกทักษะ และสัมพันธ์กับสถานการณ์จริง เช่น ในภาคเรียนที่ 1 จะใช้เนื้อหาเกี่ยวกับ "งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่จังหวัดอุบลฯ" (เดือนกรกฎาคม) และ "วันแม่" (เดือนสิงหาคม) เช่น ทักษะการฟัง-พูด (สนทนา) ภาษาอังกฤษ ได้ใช้วีดิทัศน์ที่บันทึกจากรายการ "English Minute" ซึ่งดำเนินรายการโดย Andrew Biggs เป็นรายการที่นำเสนอบทสนทนาภาษาอังกฤษที่ดูสนุก (ตัวอย่างบทสนทนา เช่น "What did you do for your mother on the Mother's Day?...) ให้นักศึกษาแต่ละคู่ ฝึกสนทนาตามบทสนทนาที่ได้ชม แล้วในสัปดาห์ต่อไปสนทนาตามที่ตนได้ปฏิบัติจริง การพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน ให้อ่านเอกสารจริงที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ "แม่" "วันแม่" และให้เขียนบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองได้ทำในวันแม่ ภาคเรียนที่สองจะใช้เนื้อหาเกี่ยวกับ "งานประเพณีลอยกระทง" (เดือนพฤศจิกายน) "วันพ่อ" (เดือนธันวาคม) "วันขึ้นปีใหม่" (เดือนมกราคม) ท่านที่ต้องการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้สนุกน่าสนใจในลักษณะดังกล่าว สามารถศึกษาเทคนิคและวิธีการจัดกิจกรรมในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้จากบันทึกต่างๆ ของ ดร.ขจิต ฝอยทอง ใน "Khajit's Blog" ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้ด้วยเพลง และเกมต่างๆ อย่างหลากหลาย ที่ใช้ได้กับทุกระดับการศึกษา รวมทั้งระดับการศึกษาผู้ใหญ่
หลักการที่ 3 Your Learning Style ผู้เรียนแต่ละคนมี "แบบการเรียนรู้ (Learning Style)" ของตนเองที่อาจจะเหมือนกับหรือต่างจากคนอื่น แบบการเรียนรู้เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแต่ละคนชอบใช้และจะเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการเรียนรู้ในแบบนั้นๆ ครูควรศึกษาแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนและหาทางให้แต่ละคนได้เรียนรู้ในแบบของตน เพื่อให้การเรียนรู้เป็นเรื่องง่ายและได้ผลมากขึ้น ทฤษฎีที่กล่าวถึงแบบการเรียนรู้มีอยู่หลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ว่าเป็นทฤษฎีพื้นฐานและนิยมใช้ในการเรียนภาษา คือ ทฤษฎีที่แบ่งผู้เรียนเป็น 3 ประเภทดังภาพข้างล่าง ซึ่ง Haynes (2009 : Online) ได้อธิบายว่า "Auditory Learners" คือ ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการฟัง และสามารถจำสิ่งที่ฟังได้ ผู้เรียนประเภทนี้จะสนุกกับการพูดคุย สัมภาษณ์ การอ่านออกเสียง กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ : interviewing, debating, participating on a panel, giving oral reports, participating in oral discussions of written material "Visual learners" คือ ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการดู และสามารถจำสิ่งที่ได้ดูได้ ผู้เรียนประเภทนี้จะชอบการอ่านในใจ และการสังเกต กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ : computer graphics, maps, graphs, charts, cartoons, posters, diagrams, graphic organizers and text with a lot of pictures และ "Tactile Learners" คือ ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัส พวกเขาจะเข้าใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือเขียน และเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำ กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ ได้แก่ : drawing, playing board game, making dioramas, making models, following instructions to make something การสอนอ่านกับผู้เรียนกลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้ "The Language Experience Approach (LEA)" และ "The Whole Language Approaches"
(http://www.everythingesl.net/inservices/learningstyle.php)
หลักการที่ 4 More Knowledge and More Skill คือ เพิ่มพูน "ความรู้ (Knowledge)" และพัฒนา "ทักษะ (Skills)" ให้ครอบคลุมทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาได้อย่าง "ถูกต้อง ( Accuracy)"และ "คล่องแคล่ว (Fluency)" สถาบันการศึกษาและชุมชนควรจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองของผู้เรียน (ตัวอย่างเช่น ในภาพล่าง บนต้นไม้บริเวณที่นั่งทำงานของนักศึกษา หลังอาคารคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ติดป้ายคำพังเพยของไทยเทียบกับคำพังเพยภาษาอังกฤษเอาไว้ ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองได้) และกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว ในการวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถภาพด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียน ผู้เขียนได้กระตุ้นและกำหนดให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแหล่งเรียนรู้รอบตัว เช่น จากบุคคล จากป้ายต่างๆ จากกล่องผลิตภัณฑ์ จากรายการโทรทัศน์ จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร จากแบบฟอร์ม และ Brochure ที่หน่วยงาน สถานประกอบการต่างๆ จัดทำขึ้น และจากการสืบค้นทาง Internet ฯลฯ โดยให้บันทึกการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าวเป็นเวลา 2 เดือน
หลักการที่ 5 More Confidence เพิ่ม "ความมั่นใจ (Confidence)" ในการใช้ภาษาอังกฤษ โดยการให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกปฏิบัติการใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง (Real Life Situations) ดังภาพล่างที่ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทำกิจกรรมพัฒนาการฟัง-พูดภาษาอังกฤษโดยการออกไปสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวตะวันตก (The Westerners : คำสุภาพของคำว่าฝรั่ง) ที่ไปเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนที่อุบลฯ ตอนที่ลูกชายไปเยี่ยมผู้เขียนที่เมือง Perth, เมืองหลวงของรัฐ Western Australia ผู้เขียนได้ให้เขาเรียนรู้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง โดยให้เขาสื่อสารกับชาว Aussies ด้วยตนเอง (สำเนียง Aussie จะฟังยากกว่าสำเนียงของชาวอังกฤษและอเมริกันมาก แต่ส่วนใหญ่อาจารย์ที่สอนจะเป็นชาวอังกฤษ และที่ออสเตรเลียจะใช้ "ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ [British English]) เวลาไปซื้ออาหารแบบใส่ถุงกลับบ้าน (Take Away) ผู้เขียนก็จะบอกประโยคสื่อสารให้ลูก แล้วให้เขาเข้าไปซื้อโดยผู้เขียนจะคอยอยู่นอกร้าน แรกๆ ก็ได้อาหารไม่ตรงกับที่ต้องการ ตอนหลังเขาก็ทำได้ มีครั้งหนึ่งลูกต้องการใช้ Mobile Phone ที่นำไปจากเมืองไทย ซึ่งก็ต้องโทรศัพท์ไปลงทะเบียนก่อน ผู้เขียนได้ให้ลูกโทรฯ สมัครเอง ปรากฏว่าเขาก็กล้าที่จะสื่อสาร แต่ปรากฏว่าครั้งแรกไม่สำเร็จเพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ลูกเขียน "Opened Diary" เกี่ยวกับประสบการณ์ดังกล่าวไว้ จำข้อความตอนท้ายได้ติดตาว่า "...เสียความมั่นใจไปเยอะเลย" ผู้เขียนรู้สึกสงสารลูก แต่เขาเองก็ไม่ยอมแพ้ วันหลังเขาลองใหม่และก็ทำได้สำเร็จ การพูดภาษาอังกฤษนี่มีสูตรสำคัญข้อแรก คือ "ต้องกล้าและไม่กลัวผิด" เวลาชาวต่างชาติพูดภาษาไทยผิด เราเห็นเป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูฉันใด เวลาเราพูดภาษาอังกฤษผิด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูในสายตาของชาวตะวันตกฉันนั้น
และขอเพิ่มหลักการที่ 6 Doing Classroom Action Research to Promote Students' Learning English คือ การทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษา พอพูดถึงคำว่า "วิจัย" เรื่องแรกที่อยากจะพูดถึง คือ "ปัจจัยทางจิตวิทยา" ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มักจะมีเจตคติทางลบต่อการวิจัย เช่น ไม่ชอบการวิจัย เห็นว่าการวิจัยเป็นเรื่องยาก คิดว่าตนเองจะทำวิจัยไม่ได้ ซึ่งความคิดหลังสุดสำคัญมาก เพราะผลการวิจัยชี้ว่าคนที่ทำอะไรได้สำเร็จ คือ ผู้ที่เชื่อว่าตนจะสามารถทำได้สำเร็จ จึงขอเริ่มด้วยการบอกว่า "Doing classroom action research to promote students' learning English : We can do it!" หรือ "การทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษานั้น พวกเรา (ครูอาจารย์ภาษาอังกฤษทุกคน) สามารถทำได้"
จริงๆ แล้ว แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกนี้ มาจาก "ท่าน ผศ.โสภณ เปียสนิท" ที่เข้าไปเขียนความเห็นในบันทึกหนึ่งของผู้เขียนในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่า "กลับมาติดตามผลครับและเจรจาเพิ่มเรื่องวิจัยด้านภาษาอังกฤษ มีทางไหนแนะกันบ้างครับ ผมไม่มีใจรักทางด้านนี้เท่าใดเลย แต่สภาพแวดล้อมเคล้นคลึงผมจนจะน่วมแล้ว" แต่บันทึกนี้ต้องการให้ทุกท่านได้ประโยชน์ ทั้งคนทำงานและนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตน ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานของตนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และครูอาจารย์ที่รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ รวมถึงศึกษานิเทศก์ที่มีบทบาทในการแนะนำให้คำปรึกษาครูด้านการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
สำหรับครูอาจารย์ภาษาอังกฤษที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ และสนใจจะทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาที่ตนรับผิดชอบ ลองใช้ "กรอบหลักการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (หลักการที่ 1-5)" และใช้ "วงจรการทำวิจัยชั้นเรียน" ดังภาพล่าง สำหรับเป็นกรอบแนวคิดในการวางแผนการวิจัย ดู โดยเริ่มจาก 1) Plan on what youknow คือ การวางแผนจะเริ่มจากความรู้ของท่านเกี่ยวกับสภาพปัญหาในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนในชั้นที่ท่านสอน และ ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (หลักการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (หลักการที่ 1-5)" 2) Fine meaningful questions คือ ตั้งคำถามวิจัยไว้ว่า การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยประยุกต์หลักการที่ 1-5 จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจ-เจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาของท่านได้หรือไม่ 3) Formulate plan ก็คือ เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามหลักการที่ 1-5 4) Implement & Collect data คือ นำแผนไปใช้ในการจัดการเรียนรู้และเขียนบันทึกสิ่งที่สังเกตพบในขณะจัดการเรียนรู้ (บันทึกหลังสอน) โดยควรให้กัลยาณมิตรสังเกตการสอนและบันทึกข้อสังเกตให้ด้วย 5) Share what you learned การทำวิจัยควรมีกัลยาณมิตรร่วมทำซึ่งผู้ที่ร่วมทำก็สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในขั้นที่ 4 กันได้ 6) Evaluate plan & data นำข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 4-5 มาใช้ในการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ และ 7) Take action to make change คือ นำผลการประเมินมาใช้ในการปรับเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ของตนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และอย่าลืมว่า เพื่อตอบคำถามวิจัยในข้อที่ 2 ต้องมีเครื่องมือวัดแรงจูงใจ-เจตคติ ทักษะภาษาอังกฤษที่ต้องการพัฒนา ที่ต้องนำไปใช้ในการวัดก่อนและหลัง Implement เพื่อนำผลการวัดมาเปรียบเทียบกันจึงจะตอบคำถามได้ (ควรศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการวิจัย และตัวอย่างการวิจัยที่มีคุณภาพประกอบ)
ถ้าท่านใดมีข้อชี้แนะ มีตัวอย่างการวิจัยชั้นเรียนที่ตนเองทำ และหรือท่านใดต้องการคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมก็พูดคุยแลกเปลี่ยนเข้ามาได้นะคะ ขอบคุณค่ะ
(http://vheejhe.blogspot.com/2011/07/classroom-action-research-car.html)
คุณนิติ นวรัตน์ (2554, 31 สิงหาคม). เปิดฟ้าภาษาโลก. ไทยรัฐ. หน้า 15.
วิไล แพงศรี. (2553). การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. รายงานการวิจัย.
อุบลราชธานี: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
Haynes, Judie. (2009). Teach to Students' Learning Styles. Retrieved August 30, 2011 from
http://www.everythingesl.net/inservices/learningstyle.php.
Mareq [Pen Name]. (2011). The Psychology in English Learning. Retrieved August 30,
2011 from http://mareq22.hubpages.com/hub/The-psychology-in-English-learning.
จะติดตามต่อคะ
ชอบในหลักการที่ 3 มาก แต่ละคนมี learning skill ต่างกัน
สำหรับตัวเอง..คิดว่าเป็นพวกเรียนรู้จากการทำ (tactic) คะ พูดผิด เขียนผิด แล้วได้รับ feedback ถึงจะจำดี
คนใกล้ตัวคอย feedback ประจำ แต่ถ้าไม่นุ่มนวล จะงอนแทน :-)
ตาดู หูฟังแล้วก็เอามือคลำใช่ไหมคะอาจารย์ขา
ตาดูก็สวยดี หูฟังก็ไพเราะเข้าที แต่เอามือคลำ...นี่สิคะ ?...อาจึ๋ย!!!อุ๊ยสงสัยจัง?????55555
ขอบคุณค่ะ เป็นการให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมาก หากเรียนและหมั่นฝึกฝนในทักษะภาษาอย่างสม่ำเสมอและมีความสุข การพัฒนาย่อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนะคะ
กราบเรียนท่านอาจารย์แม่ หนูลูกศิษย์ ค.บ.ภาษาอังกฤษ ปี 47 ดีใจมากที่ได้เข้ามาเจอท่านอาจารย์ แถมท่านยังมีความรู้ดีๆมาฝากอีกต่างหาก ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงนะคะ
หนูจะตั้งใจทำหน้าที่ครูสอนภาษาอังกฤษที่ดี จะดำเนินรอยตามแบบอย่างที่ดีดั่งเช่นท่านอาจารย์มอบให้ศิษย์คนนี้
รักและเคารพท่านอาจารย์เสมอ
กราบเรียนท่านอาจารย์แม่ที่เคารพ
หนูจบรุ่นเดียวกับนายศรศิลป์ โล่ห์คำ ค.บ.4 ปี รุ่นหนูมีเพื่อนๆได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง 2 คน (แต่หนูไม่ได้กับเขา ^^) ซึ่งเพื่อนหนูคนนี้เดิมสอนที่ ร.ร. ศรีคูนฯ ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตแล้วเมื่อต้นปีนี้ เป็นที่น่าเสียใจแก่เพื่อนๆรุ่นหนูมาก น่าเสียดายความรู้ของเขาจัง..............
สำหรับการเรียนการสอนของหนูพบปัญหาหลายอย่าง เพราะที่โรงเรียนของหนูเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง ประจำตำบลในจังหวัดศรีสะเกษ มีเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เยอะมาก เพราะบางคนท่อง A-Z ยังไม่จบเลยก็มี แต่หนูก็ไม่ละความพยายามและไม่เคยท้อที่จะหยุดสอน วันหนึ่งๆ ได้สัก 1 คำ 1 ประโยค หนูก็ดีใจมากแล้ว เพราะถ้าสอนให้เขารู้และสามารถนำไปใช้ได้ หนูจะมีความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในวิชาชีพครูแล้ว แต่ถ้าสักแต่จะสอนให้วันหนึ่งๆหมดคาบไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของเด็กว่าได้รับสิ่งที่เราถ่ายทอดไปหรือเปล่า ถ้าหนูทำแบบนั้นหนูคงรู้สึกแย่มากเลยทีเดียว......
หนูจะเข้ามารับความรู้และรับเทคนิคดีๆจากท่านอาจารย์แม่บ่อยๆนะคะ คิดถึงท่านอาจารย์แม่จัง ^^
โอโห อาจารยืแม่ลูกศิษย์เยอะมาก แอบมาดูอีก กำลังอยู่กับคุณครู
อาจารย์ขจิต ก็เหมือนอาจารย์หนูเหมือนกันค่ะ ^^ (เวลาทำ IS ชอบค้นหาความรู้จากท่านเช่นกันค่ะ)
กราบเรียนท่านอาจารย์แม่ที่เคารพ
หนูทราบข่าวการเสียชีวิตของท่านอาจารย์กาญจนาอยู่เหมือนกันค่ะ คุยกับน้องที่จบจาก มรภ.อุบลว่าอยากไปเคารพศพท่าน แต่ช่วงนั้นมีลูกศิษย์รุ่นพี่ที่เรียนมหาวิทยาลัยแต่ละสถาบันมาจัดค่ายวิชาการให้น้องๆที่โรงเรียน เลยไม่ได้ไปไหนเลยค่ะ
ขอขอบคุณอาจารย์แม่ที่นำความรู้ดีๆมาฝากนะคะ หนูจะติดตามทุกๆความรู้ของท่านอาจารย์และท่านอาจารย์ขจิตค่ะ
^_^ ได้เวลาไปสอนลูกๆม.4/1 แล้ว หนูขออนุญาตไปสอนลูกๆก่อนนะคะ แล้วจะเข้ามาอ่าน blog ของท่านอาจารย์ใหม่ค่ะ
รักและคิดถึงท่านอาจารย์แม่เสมอ
สวัสดีค่ะ
ตามมาจากข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ยิ่งเรื่อง อาเซี่ยน จากอาจารย์ค่ะ
พอมาได้อ่านเรื่องข้อแนะนำการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แบบเกาให้ถูกที่คัน
นับเป็นประโยชน์มากค่ะ
ขออนุญาตก๊อปไปฝากคุณครูที่สอนภาษาอังกฤษนะคะ
ขอบคุณมากๆค่ะ
สวัสดีค่ะดิฉัน ชื่อนางสาวศริวรรณ ทำนุ S.02-CS1.6-34
ดิฉันได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ในสิ่งที่ไม่รู้และสิ่งที่รู้แล้วไม่ละเอียด
แต่ดิฉันยังมีปัญหาด้านการอ่านภาษาอังกฤษ ช่วยแนะนำให้ด้วยนะค่ะ
ต้องอย่างนี้ซิครับถึงจะเป็นบันทึกของผู้อยู่วงในที่จริงจังและ active จริงๆ ขอบคุณมากครับ
คุณครูตาแว่น จากโรงเรียนวังน้ำเย็นวิทยาคม คุณ nana
จ.สระแก้ว จากศูนย์อนามัยที่ 8 จ.นครสวรรค์
เรียน ผศ.วิไล
ตามอ่านไม่ทันต้องขออนุญาค save ไว้อ่านเพื่อประหยัดแอร์การ์ดนะครับ
ขอบคุณครับ
เรียน ผศ.วิไล ตอนนี้อยู่ยโสบ้านเราแล้วครับ....
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง
ขอขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ให้กำลังใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่จะทำให้เกิดความสนใจมากขึ้นและมีผลที่น่าจะพัฒนากว่าเดิมมากขึ้นนะคะ