ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๒๐. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๒๖. ทักษะการจัดการสอบ


          การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อเตรียมมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้   จากเน้นเพียงให้รู้วิชา เป็นรู้วิชาและมีการพัฒนาทักษะที่ซับซ้อน ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) ควบคู่กัน
 
          การมี Learning Outcome สองด้านคู่ขนาน คือ มีทั้งวิชาและทักษะ นี้ เป็นเรื่องท้าทายมาก   และจะไม่มีทางบรรลุได้ หากวงการศึกษายังสมาทานความเชื่อและวัฒนธรรมว่าด้วยการสอบแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน   คือเน้นสอบเพื่อตัดสินได้-ตก
 
          วัฒนธรรมนี้ทำให้การสอบเป็นเรื่องทุกข์ยากของนักเรียน   เพราะการสอบภายใต้วัฒนธรรมได้-ตกนั้น ไม่ใช่เป็นแค่ผลประโยชน์ของนักเรียน   แต่เป็นผลประโยชน์ของครู โรงเรียน และผู้บริหารการศึกษาระดับต่างๆ ด้วย
 
         ภายใต้วัฒนธรรมนี้ ผลการสอบ NT ที่บางโรงเรียนได้คะแนนสูงก็อาจเชื่อถือไม่ได้   เพราะมีผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้เล่าให้ผมฟังว่า   บางโรงเรียนครูคุมสอบทำหน้าที่คอยบอกคำตอบแก่นักเรียน   เพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน
 
          เมื่อครูให้นักเรียนไปค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำรายงานมาส่ง   แทนที่นักเรียนจะเขียนเองตามความเข้าใจของตน   ก็ใช้วิธีตัดแปะเอาจากแหล่งที่ค้นมาได้   ครูก็หลับตาเสีย และให้คะแนนสูง เพราะรายงานมีคุณภาพ   เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานคุณภาพของการสอนได้   โดยนักเรียนได้เรียนรู้น้อย เข้าใจไม่แจ่มแจ้ง ครูไม่สนใจ   เท่ากับสมรู้ร่วมคิดกันทั้งครูและนักเรียน ที่จะทำให้ Learning Outcome ต่ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
          นอกจากวัฒนธรรมสอบได้-ตกแล้ว ยังมีวัฒนธรรมสอบแข่งขัน เพื่อเก็บผลงานเป็นหลักฐานชื่อเสียงของโรงเรียน   เด็กเก่งจะโดนครูแย่งกันจองตัว ไปเป็นตัวแทนโรงเรียนในการประกวดหรือแข่งขันชิงรางวัล เพื่อสร้างชื่อเสียงแก่โรงเรียน สาระวิชา และครู   นักเรียนโดยติวเข้มเพื่อการสอบชิงรางวัลเป็นหลัก   แทนที่จะได้เรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะที่ซับซ้อน   กลับได้เรียนเพียงความรู้วิชาตื้นๆ 
 
          และที่เสียหายหนัก คือเป็นการเพาะนิสัยหรือวัฒนธรรมหลอกลวงปลิ้นปล้อน 
 
          ครูเพื่อศิษย์ต้องใช้การสอบเป็นเครื่องมือกระตุ้น หรือส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์   นั่นคือต้องจัดการสอบชนิดที่เรียกว่า Formative Assessment   เพื่อช่วยให้ทั้งครูและศิษย์ความก้าวหน้าในการเรียนรู้   ที่ทั้งครูก็รู้ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ สำหรับเอามาใช้ปรับการจัดการเรียนการสอน   และตัวศิษย์เองก็รู้ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเอง สำหรับเอามาปรับวิธีการเรียนรู้ของตน 
 
          ในการเรียนรู้เพื่อทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งศิษย์และครู ต้องมองการสอบเป็น “ตัวช่วย” ต่อการเรียนรู้   ไม่ใช่เป็นตัวตัดสินชตาชีวิต
 
          ครูต้องใช้การสอบเป็นตัวช่วยการเรียนรู้ของศิษย์   ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงหลอกๆ ของตนเอง หรือของโรงเรียน
 
          ทักษะในการออกข้อสอบ และจัดการสอบ ในบรรยากาศของการสอบเพื่อให้ศิษย์รู้ความก้าวหน้าของตนเอง รู้ว่ายังบกพร่องหรืออ่อนด้านไหน   สำหรับใช้ปรับปรุงการเรียนของตนเอง   เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับครูเพื่อศิษย์
 
          หลักการคือ สอบบ่อยๆ   ใช้เวลาไม่มาก ข้อสอบไม่กี่ข้อ   และให้ศิษย์รู้คำตอบทันทีหรือเกือบทันที  ให้มีทั้งที่คิดคะแนนสะสม และไม่คิดคะแนน   มีการสอบที่ข้อสอบเน้นความคิด ไม่มีคำตอบถูก-ผิด อยู่ด้วย   ทั้งหมดนั้นเพื่อสะท้อนให้ศิษย์รู้ว่าตนรู้และไม่รู้อะไรบ้าง ให้มีความมั่นใจตนเอง และหมั่นปรับปรุงตนเอง
 
          ต้องเปลี่ยนการสอบให้วัดการเรียนรู้ที่แท้จริงของศิษย์ เพื่อประโยชน์ของศิษย์   ไม่ใช่วัดการเรียนรู้ปลอมๆ เพื่อประโยชน์ของครู โรงเรียน หรือวงการศึกษา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ก.ค. ๕๔
      
                
        
        
         
         
หมายเลขบันทึก: 456921เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    ทุกวันนี้ที่กระผมมองเห็นอยู่ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ระบบการศึกษาเรามุ่งตามแต่ความประสงค์ของกิเลส การศึกษาที่มีเป้าหมายสู่การพัฒนาตน การพัฒนาออกจากความไม่รู้ กลายเป็นการศึกษาเพื่อจมในกองของกิเลส ผู้เรียนจึงรู้สึกทุกข์กับการศึกษา ยิ่งเรียนยิ่งแบกโลก ยิ่งเรียนยิ่งทุกข์ หนักเข้า กลายเป็นยิ่งเรียนก็ยิ่งบ้า บ้าวิชา บ้าสาระ บ้าอัตตาตนเอง ว่ามันคือ ที่พึ่ง "เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต" เป็นการเรียนเพื่อนำไปสู่ความเป็น "ทาส" แทบทุกมิติ ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าทั้งหมดไม่ดี มันมีส่วนดี และส่วนไม่ดี ถ้าดูให้ดีมันก็มีประโยชน์ ถ้าดูให้ดีมันก็ได้ ทั้งนี้ ความคับแคบ ความตื้นเขินทางความคิด ขาดความเชื่อมโยง การไกลออกไปจากโลกของความเป็นจริง บนฐานทางสังคม ฐานทรัพยากร เศรษฐกิจ ภูมิปัญญา ความเชื่อ หรืออื่นๆ ผลของการศึกษาทำให้ นศ.ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักความซับซ้อน ไม่ทราบถึงความเป็นไปแห่งธรรมชาติ/หลักการ/กฏ หรือสัจธรรม นำไปสู่ความตื้นเขินทางความคิดแทบทุกเรื่อง และนำพาชีวิตไปสู่ความตกต่ำ ผิดพลาด เป็นห่วงว่าสังคมจะตกต่ำและทุกข์เพราะระบบการศึกษา ช่วยกันตรองดูและพัฒนาให้ถูกทางด้วยเถิด

    ด้วยความเคารพครับผม

        นิสิต

  • กระจ่างขึ้นครับ
  • ขอบคุณความรู้ครับ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท