มีชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์และทำด้วยความตั้งใจจริง ... (โยชิโนริ โนงุจิ)


"... ไม่ควรเคารพคนที่ความรู้และวาจา หากแต่ความซื่อสัตย์สุจริตต่างหากที่เราควรเคารพยกย่อง ..."

อีกตอนหนึ่งที่อยากนำเสนอจากหนังสือ ชื่อ "มองด้วยใจ" ที่เขียนโดย "โยชิโนริ โนงุจิ" แปลโดย "ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ" ซึ่ง "โยชิโนริ โนงุจิ" เป็นผู้เขียนหนังสือขายดี เช่น กฎแห่งกระจก, EQ Note ความสำเร็จเริ่มต้นที่หัวใจ, กฎแห่งกระจก ฉบับการ์ตูน ฯลฯ

 

 

มีชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์และทำด้วยความตั้งใจจริง

 

คุณโยชิโนริ โนงุจิ ได้เล่าให้ฟังในตอนต้น ๆ ของหนังสือว่า ...

 

คุณทสึรึทาโร คาทาโอกะ เป็นนักแสดงและยังเป็นจิตรกรชื่อดัง เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาสได้กินข้าวกับเขา จึงได้ทราบว่าคุณทสึรึทาโรเพิ่งเริ่มชื่นชอบการวาดภาพเมื่ออายุย่าง 40 ปีแล้ว

ก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยสัมผัสกับการวาดภาพเลย และไม่เคยแม้แต่จะไปหอศิลป์ จนกระทั่งช่วงแรกที่เขาเริ่มรู้จักการวาดภาพ และได้พบกับอาจารย์ยูทากะ มูราคามิ จิตรกรชื่อดัง อาจารย์ยูทากะบอกกับเขาว่า

"เราไม่ต้องวาดภาพให้งดงาม วาดแบบไม่ช่ำชองก็ได้ แต่ขอให้วาดภาพตามความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา"

 

คุณทสึรึทาโรเล่าว่า ในเวลานั้นคำพูดนี้เป็นกำลังใจสำคัญให้เขาซึ่งกำลังไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองเป็นอย่างมาก

เมื่อเราทำสิ่งใด เรามักจะพยายามทำให้ดีที่สุด ทำอย่างฉลาดและสง่างาม แต่เราก็ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ จนกระทั่งเมื่อเราคิดว่า "ไม่ต้องทำให้ดีก็ได้ แค่ทำตามสิ่งที่เรารู้สึกเท่านั้นก็พอ" กลับจะทำให้เรามีกำลังใจขึ้นไป

 


ผมขอเล่าเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วคุณทสึรึทาโรเป็นคนถนัดขวา ใช้มือขวาจับตะเกียบและปากกา แต่ขณะที่วาดภาพเท่านั้นที่จะใช้มือซ้ายจับพู่กัน เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าใช้มือขวา เขาจะพยายามวาดให้สวยจนทำให้มือที่จับพู่กันนั้นคล่องแคล่วเกินความจำเป็น

ทว่าการใช้มือซ้ายกลับทำให้เขาค่อย ๆ วาดภาพที่เห็นด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ และเพราะคุณทสึรึทาโรตั้งใจวาดภาพด้วยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเองนี่เอง จึงทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นและพลังที่มีอยู่ในภาพและผลงานของเขา

(รู้สึกเหมือนการเขียนบันทึกสักบันทึกหนึ่งไหมครับ อย่างที่ผมเคยเขียนเป็นบทกวีไว้ว่า การเขียนไม่จำเป็นต้องมีไวยากรณ์ก็เขียนได้)

 


สังคมในทุกวันนี้ ผู้คนมักให้ความสำคัญกับผลที่เกิดขึ้นซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ "ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาด"  แน่นอนว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งการเรียนรู้กลยุทธ์ วิธีการ และทักษะก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

อย่างไรก็ตาม เราควรคำนึงว่า การให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและประสิทธิภาพมากจนเกินไปจะทำให้เรามองข้าม "ความเป็นตัวเอง" ตัวอย่างเช่น หากเรามุ่งเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ วิธีการ และทักษะเพียงอย่างเดียว ย่อมลืมนึกถึงความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง พูดได้ว่าเรากำลังพลาดโอกาสสำคัญที่จะเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง

(นับวันที่เราเติบโตขึ้น เราก็มักจะคิดแต่ผลที่เกิดขึ้นมากกว่าประสบการณ์ระหว่างทาง)

 


ในหนังสือ "วัฏจักรของจิตใจ" เขียนโดย ชินอิจิ นาคาซาวะ สำนักพิมพ์โคดังฉะ ชินโช กล่าวไว้ว่า

"คนฉลาดมักแสวงหาความสบาย ทำให้จมอยู่กับความเกียจคร้านในที่สุด การเป็นคนฉลาด หมายความว่า การทำตัวให้เหนือกว่าคนรอบข้างเล็กน้อย อาจยืนล้ำหน้ากว่าผู้อื่นสัก 2 - 3 ก้าว แล้วใช้ความฉลาดเป็นต้นทุนในการสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้ตนเอง"

 

"การเป็นคนฉลาด" ที่คุณชินอิจิ กล่าวถึง อาจตีความได้ว่า "การมีชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาความรู้และภูมิปัญญา"

การที่คนเราพึ่งพาความรู้และภูมิปัญญาจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวและคิดแต่เพียงว่า "ทำอย่างไรจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างเฉลียวฉลาดและสบาย" แล้วในที่สุดชีวิตก็จะดำเนินไปเพื่อค้นหาแต่ความสบาย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วชีวิตของเราก็จะยิ่งห่างไกลจาก "การเติบโตในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง" และ "ความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว"

(ผมอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแต่ Professional ทั้งนั้นเลย ดังนั้นหลายคนที่ผมเห็น เขาเป็นแบบนี้เลย)

 

ในวรรณคดีจีนเล่มหนึ่ง ชื่อ หานเฟยจื่อ มีคำกล่าวว่า "เล่ห์กลไม่เสมอเหมือนความสัตย์" ซึ่งหมายถึง "หากมองในช่วงเวลาอันสั้น เล่ห์กล (วิธีการที่ใช้ความสามารถพิเศษและแผนการต่าง ๆ) อาจเป็นวิธีที่ให้ผลรวดเร็ว แต่ถ้าหากมองในระยะยาว ความสัตย์ (วิธีการที่ใช้ความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมา แม้จะดูไม่เชี่ยวชาญ) ต่างหากที่จะมีชัยในที่สุด"

 

นอกจากนี้ ในคัมภีร์ไช่เกินถาน ยังมีคำกล่าวว่า "เขียนด้วยความไม่ชำนาญ ฝึกฝนด้วยความไม่ชำนาญ คำว่าความไม่ชำนาญหนึ่งคำนี้มีความหมายมากมายนับไม่ถ้วน" ซึ่งหมายความว่า "วิธีการเขียนหนังสือนั้น ใช่ว่าต้องพยายามเขียนให้ดีด้วยเทคนิค แค่เขียนอย่างคนไม่ชำนาญ (อย่างไม่เชี่ยวชาญและไม่เติมแต่ง) ก็เพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม คนที่ไม่ชำนาญมักจะฝึกฝนได้ผลดีมากกว่า ดังนั้น คำว่า "ไม่ชำนาญ" หนึ่งคำนี้จึงมีความหมายอันลึกซึ้งมากมายนับไม่ถ้วน"

(กระบวนการคิดของคัมภีร์ไช่เกินถานประเด็นนี้ อาจจะเปลี่ยนมุมมองของใครหลายคนได้)

 

ไคชู คัตสึ วีรบุรุษของญี่ปุ่นกล่าวไว้ว่า

"คนที่จะทำการใหญ่ได้สำเร็จต้องเป็นคนซื่อตรง หากใช้ความรู้ความสามารถอย่างเดียวย่อมไม่ประสบความสำเร็จ"

 

และซงโทคุ นิโนะมิยะ ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า

"ไม่ควรเคารพคนที่ความรู้และวาจา หากแต่ความซื่อสัตย์สุจริตต่างหากที่เราควรเคารพยกย่อง"

(คนมีความรู้และพูดดี แต่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ควรนับถือใด ๆ เลย คุณเคยเจอคนแบบนี้หรือยังครับ ผมเจอแล้วนะ)

 

เรียวคัง พระสงฆ์ลัทธิเซนได้ตั้งชื่อตัวเองว่า "เรียวคัง ผู้โง่เขลา" หรือเรียกตัวเองว่าเป็น "คนโง่เง่าเต่าตุ่น" ท่านได้ปล่อยวางจากการยึดติดในการมีชีวิตอยู่บนความเห็นแก่ตัว ความโลภ แต่ตั้งมั่นอยู่บนความซื่อตรงตลอดชีวิตของท่านเอง

 


หากเราปฏิบัติตามวิธีการดำเนินชีวิตตามที่วรรณคดีและวีรบุรุษในอดีตสอนไว้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับผลลัพธ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจมองเห็นความวิเศษของคำสอนเหล่านั้นได้ยากในระยะเวลาอันสั้น

ทว่าหากมองในระยะยาวแล้ว คำสอนเหล่านั้นเปรียบเสมือนป้ายบอกทางที่ช่วยชี้แนะให้เรามีชีวิตที่มีคุณค่าได้อย่างแท้จริง

ถึงเวลานี้ คุณคงพร้อมที่จะตั้งใจและทุ่มเททำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจอย่างที่สุดกันนะครับ

 

................................................................................................................................................

 

ผมอยากจะบอกอย่างนี้นะครับว่า "ความซื่อสัตย์" เป็นเรื่องที่สำคัญมากเหลือเกิน

ใครไม่มีสิ่งนี้ เห็นควรจะหนีไปให้ไกล ๆ เพราะเขาสามารถแทงคุณจากข้างหลังได้เสมอ เปรียบดังคนไม่มีความกตัญญูใด ๆ ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความพอใจของตนเองเท่านั้น

 

ผมตั้งใจนำเสนอเป็นตอนสุดท้ายแล้วนะครับ หนังสือเล่มนี้ยังมีข้อคิดดี ๆ อีกเยอะแยะเลย ใครสนใจลองหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือได้นะครับ

 

บุญรักษา ผู้รักความซื่อสัตย์ทุกท่านนะครับ ;)...

 

................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือดี ๆ

โนงุจิ, โยชิโนริ (ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ แปล).  มองด้วยใจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ How-To, 2553.

 

หมายเลขบันทึก: 455956เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ

Ico64

ขอบคุณสำหรับการปริทรรศน์หนังสือ ในมุมมองที่ลึกซึ้งมาก ซึ่งไม่ธรรมดา...ชอบมาก "ไม่ควรเคารพคนที่ความรู้และวาจา หากแต่ความซื่อสัตย์สุจริตต่างหากที่เราควรเคารพยกย่อง"ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

ขอบคุณท่านอาจารย์ ดร. พจนา - แย้มนัยนา เช่นกันครับ

สำหรับการมาเยี่ยมเยียนบันทึกสม่ำเสมอ ;)...

ซื่อสัตย์อย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องกอร์ปด้วยคุณธรรมคะ : )

ก็มีคำว่า "สุจริต" ต่อท้ายด้วยครับ คุณ ธิดา ;)...

คุณธรรมเล็กในคุณธรรมใหญ่

"ซื่อสัตย์สุจริต"

ขอบคุณมากครับ ;)...

"ไม่ต้องทำให้ดีก็ได้ แค่ทำตามสิ่งที่เรารู้สึกเท่านั้นก็พอ"

ไม่ได้แวะเข้ามาหลายวัน....ตามไม่ทันเลยค่ะ....

ไม่เป็นไรครับ นางฟ้า ชาดา ;)...

เพียงแค่คิดถึงกันก็พอแล้ว

  • น่าสนใจมาก
  • ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ต้องขอบคุณที่อาจารย์เอามาแนะนำ
  • ผมพบคนเก่งๆบางคนเอาตัวรอดไปวันๆๆ
  • แต่ผมทำตรงกันข้าม ผมไม่เก่ง แต่จะช่วยสังคมให้ได้มากที่สุดครับ
  • เอาคุณนีน่ามาฝาก
  • เย้ๆๆๆ

ถ้าท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ไม่เก่งแล้วไซร้ ผมคงแย่สุด ๆ เลยครับ ;)...

คุณนีน่าน่ารักเนาะ อาจารย์ ;)...

อ่านบทความนี้ ลึกซึ้งจนยังตีความไม่ชัดนัก ขอรบกวนอาจารย์ขยายความนี้ เป็นวิทยาทานนะคะ

"วิธีการเขียนหนังสือนั้น ใช่ว่าต้องพยายามเขียนให้ดีด้วยเทคนิค แค่เขียนอย่างคนไม่ชำนาญ (อย่างไม่เชี่ยวชาญและไม่เติมแต่ง) ก็เพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม คนที่ไม่ชำนาญมักจะฝึกฝนได้ผลดีมากกว่า

ตามทัศนะที่ไม่ลุ่มลึกของผม ...

ผมคิดว่า "การเขียนหนังสือ (หรือเขียนอะไรก็แล้วแต่) ให้เขียนด้วยความสุขมากกว่าคิดคำนึงถึงกรอบโน้นกรอบนี้" อย่างที่ผมเคยเล่าให้คุณหมอบางเวลาฟังไง มันสอดคล้องกันตรงจุดนี้

กรอบทำให้เกิดความกังวลใจและความคาดหว้งให้เป็นไปตามกรอบที่ตั้งไว้ ยิ่งทำยิ่งทุกข์ เหมือนกิเลสมายึดติดกลายเป็นสนิมหัวใจ

เหมือนเด็กไทยจะสื่อสารภาษาอังกฤษก็กังวลใจว่า เราจะพูดถูกไวยากรณ์ตามที่ครูสอนมาหรือไม่ หากไม่ ครูจะว่าเราไหมหนอ หากตัดความกังวลใจในเรื่องไวยากรณ์ พูดไปเรื่อย ในระหว่างการลองผิดลองถูก มนุษย์จะปรับตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติเอง เค้าเรียกอะไรน้า มีพัฒนาการ ...

หากทำอะไรก็ตามอย่างที่คนไม่รู้มาก่อน คือ การปล่อย ละ วาง แต่ลงมือทำด้วยความสุข เพราะไม่มีเส้นชัยมาขีดให้เห็นว่าต้องไปให้ถึง กำหนดเส้นชัยก็คือ ยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ลูกเดียว หากถึง ก็ยังไม่พอ ต้องขีดให้ยาวกว่านี้อีก ไปไม่มีวันสิ้นสุด

สรุป เขียนตามสไตล์คุณหมอบางเวลาแหละครับ สนุกสุดแล้ว ;)...

ความจริงมีนัยค่อนข้างเยอะมาก เพียงแค่ ๒ บรรทัดที่กล่าวมาเท่านั้นนะเนี่ย

เขียนไปก็งงไป ไม่เอาแหละ ไปดีกว่า ;)...

  • เห็นอาจารย์บอกว่าน่ารัก
  • เลยเอาภาพเธอสอนภาษาอังกฤษมาให้ดู
  • ถ่ายยากมาก
  • เธอเดินไปเดินมา คนถ่ายแบบผมตาลาย
  • ฮ่าๆๆ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/455773

ได้อ่านหนังสือแปลจากผู้เขียนที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาหลายเล่มค่ะ รู้สึกว่าชาวญี่ปุ่นเค้ามีแนวคิดและมุมมองที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้เยอะมากนะค่ะ

หนังสือเล่มนี้คงเป็นอีกเล่ม ที่น่าจะหามาอ่าน

ขอบคุณค่ะ

Large_mahachulalanguage7 

น่ารักนะครับ ...

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ;)...

น้อง มะปรางเปรี้ยว ลองหาอ่านดูนะครับ

เป็นมุมมองของชาวตะวันออกอย่างเรา ๆ ครับ

ลึกซื้งมากพอสมควรเลย ;)...

อย่างตรงไปตรงมา...ไม่ต้องชำนาญการใด..ๆ

ผมว่านี่แหละคือศิลปะที่แท้จริง

จริงใจ บริสุทธิ์...งดงามด้วยตัวของมันเอง..

และที่สำคัญ

คือการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง...

ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากครับ คุณ แผ่นดิน ;)...

ไม่ต้องเน้นชำนาญการ หรือ เทคนิคใด ๆ เกินหัวใจที่โหยหาการเขียน ;)...

หากเพียง "ความสุข" อยู่ใกล้ ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท