แนวคิดของ อาร์มัน วี เฟเกนบาม (Armand V Feigenbum) /อิชิกาวา (Dr. Kaoru Ishikawa) และทากูชิ (Dr. Genichi Taguchi)


แนวคิดของ อาร์มัน วี เฟเกนบาม /อิชิกาวา และทากูชิ ด้านคุณภาพ

 

 ปรมาจารย์คุณภาพ

 อาร์มัน วี เฟเกนบาม (Armand V Feigenbum)

                            

          เฟเกนบามเกิดในปี ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เป็นผู้กำเนิดแนวคิดในการควบคุมคุณภาพทั้งองค์การเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่องการควบคุมคุณภาพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526)ได้ตีพิมพ์ใหม่ชื่อ "TotalQuality Control" ประกอบด้วยหัวข้อเด่น ๆ เช่น การจัดการคุณภาพ ระบบสำหรับคุณภาพ
ทั้งองค์การ กลยุทธ์การจัดการและคุณภาพ เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมและคุณภาพ เทคโนโลยีทางสถิติและการประยุกต์ใช้คุณภาพทั้งองค์การในบริษัท ช่วงทศวรรษ 1950 (พ.ศ.2493) เฟเกนบามทำงานเป็นผู้จัดการคุณภาพอยู่ที่บริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก ต่อมาปี ค.ศ. 1958-1968 (พ.ศ. 2401-2511) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการโรงงานของบริษัทเดียวกัน สำหรับปัจจุบันเฟเกนบามออกมาเป็นประธานบริษัทให้คำปรึกษาทางด้านวิศวกรรมมีชื่อว่า "General Systems Company" ซึ่งเป็นบริษัทที่รับออกแบบและติดตั้งระบบปฏิบัติการให้กับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก

          ในส่วนของแนวคิดในการจัดการคุณภาพ เฟเกนบาม ไม่ต้องการให้ผู้บริหารเป็นผู้สร้างระบบการจัดการคุณภาพขึ้นมาเอง เพราะเขามองการจัดการคุณภาพว่า เป็นเรื่องธรรมชาติของการบริหารที่ทุกคนในองค์การต้องมีส่วนร่วมในการสร้างด้วยกัน เงื่อนไขการสร้างจึงอยู่ที่ความเข้าใจระบบคุณภาพที่กำลังดำเนินการมากกว่า โดยต้องเปลี่ยนจากความคิดในการไล่ตามแก้ปัญหา มาเป็นวิธีการให้ทุกคนเข้าใจและผูกพันกับแนวทางการจัดการคุณภาพที่มุ่งลูกค้า แต่ตัวผู้บริหารระดับสูงเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จในการก่อตั้งระบบคุณภาพ ผู้บริหารต้องเลิกใช้วิธีแก้ปัญหาคุณภาพระยะสั้นซึ่งที่จริงไม่ได้ผล และต้องเข้าใจว่าปัญหาคุณภาพไม่ใช่จะแก้ได้ในระยะยาวที่รวดเร็ว เฟเกนบามเห็นว่าการเป็นผู้นำในด้านคุณภาพจะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในตลาดด้วยคุณภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ต้นทุนการประเมินผล (appraisal costs) ต้นทุนการป้องกัน(prevention costs) และต้นทุนความล้มเหลว (failure costs) ซึ่งรวมกันเป็นต้นทุนคุณภาพทั้งหมด (total quality cost)

          เฟเกนบามมองว่า เป้าหมายของการจัดการคุณภาพ ก็คือ การลดต้นทุนคุณภาพทั้งหมด ซึ่งปกติมากถึงร้อยละ 25-30 ของยอดขายหรือต้นทุนดำเนินการ ส่วนหัวใจของโปรแกรมจัดการคุณภาพ ก็คือการเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนคุณภาพและดำเนินการให้ต้นทุนนี้ลดลง ข้อสำคัญผู้บริหารต้องมีความผูกพัน3 ด้านด้วยกัน คือ

1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ
2. ทำให้การปรับปรุงคุณภาพกลายเป็นนิสัย
3. มองคุณภาพและต้นทุนว่าต่างก็มีผลต่อกัน

สรุปแนวคิดปรมาจารย์คุณภาพ เฟเกนบาม (Armand V Feigenbum)

          เฟเกนบาม เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์การ (Total Quality
Management) และได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการจัดการคุณภาพ 2 ประการ คือ

          ประการแรก ถือว่าคุณภาพเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในองค์การ
          ประการที่สอง เฟเกนบาม เป็นคนแรกที่เห็นความสำคัญของต้นทุนการไม่มีคุณภาพ (cost of non-quality) จึงต้องจัดโปรแกรมการปรับปรุงคุณภาพขึ้นเพื่อลดต้นทุนการควบคุมและต้นทุนความล้มเหลวให้เหลือน้อยที่สุด

 

                          อิชิกาวา (Dr. Kaoru Ishikawa)

                                  


          อิชิกาวา เกิดในปี ค.ศ. 1915 (พ.ศ. 2458) นำแนวความคิดเกี่ยวกับคุณภาพมาจากจูรานและเดมมิ่ง เขามีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นเข้าใจระบบคุณภาพมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) อิชิกาวาสำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียวและเป็นอาจารย์ที่นั่น ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เขาได้รางวัลจากสมาคมแห่งอเมริกันเพื่อการควบคุมคุณภาพ จากผลงานการเขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอิชิกาวาเสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาของกลุ่มคุณภาพหรือเครือข่ายคุณภาพ (The father of quality circles)" ของญี่ปุ่น เพราะมีบทบาทในการริเริ่มขบวนการคุณภาพในญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)  ก่อนนั้นในตอนปลาย ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) อิชิกาวาเสนอปรัชญาที่นำไปสู่การพัฒนากลุ่มคุณภาพ โดยแย้งว่าวิธีการทำงานของอเมริกัน ซึ่งถือว่า "ผู้บริหารเป็นคนบริหาร แล้วลูกน้องเป็นคนทำ (management manage and people do)" นั้น ใช้ไม่ได้ผลในญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเป็นช่างฝีมือแบบดั้งเดิม (traditional craftmanship) คล้ายกับชาวยุโรป ซึ่งมีความรักพวกพ้อง อิชิกาวาเสนอว่าควรผสมผสานสิ่งที่ดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาเข้ากับสิ่งที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น โดยรวมเอาเทคนิคการทำงานตามสายงาน (flow line) ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นช่าง ทำให้เกิดแนวความคิดในการทำงานกันเป็นกลุ่มขึ้นในโรงงาน นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้คิดแผนผังก้างปลา (fishbone diagram) เป็นเครื่องมือในการ
วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ เพื่อให้กลุ่มคุณภาพใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ แผนผังนี้บางทีก็เรียกว่า "แผนผังอิชิกาวา" เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
          แนวคิดของอิชิวาถูกนำไปใช้ครั้งแรกที่บริษัทนิปปอน เทเลกราฟและเคเบิล (Nippon Telegraphand Cable Company) ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ต่อมาขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) คุณภาพในโรงงานในญี่ปุ่นถึง 1 ล้านกลุ่มและมีคนงานอยู่ในกลุ่มคุณภาพถึง 10 ล้านคน ทุกวันนี้กลุ่มคุณภาพได้ขยายออกไปอีกประมาณเท่าตัวและขยายออกไปถึงภาคบริการด้วย ในหนังสือชื่อ "Total QualityControl" ของอิชิกาวา กล่าวว่า เครื่องมือเบื้องต้นที่ขาดไม่ได้ในการควบคุมคุณภาพมี 7 อย่าง

1. ใบตรวจสอบ (Check-sheet)
2. กราฟ (Graphs)
3. ฮีสโตรแกรม (Histrograms)
4. แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagrams)
5. แผนภูมิเหตุและผล (Cause and Effect Diagrams)
6. แผนภูมิการกระจาย (Scatter Diagrams)
7. แผนภูมิการควบคุม (Control Charts)เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้และเข้าใจได้ง่าย ๆ อิชิกาวาเห็นว่าปัญหา
ร้อยละ 95 ขององค์กรสามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือเหล่านี้

สรุปแนวคิดปรมาจารย์คุณภาพ อิชิกาวา (Dr. Kaoru Ishikawa)

          อิชิกาวา ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาของกลุ่มคุณภาพหรือเครือข่ายคุณภาพ (The fatherof quality circle) ของญี่ปุ่น เพราะมีบทบาทในการริเริ่มขบวนการคุณภาพในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1960และอิชิกาวา เป็นผู้คิดแผนผังก้างปลา (fishbone diagram) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ แผนผังนี้บางทีเรียกว่า "แผนผังอิชิกาวา" เพื่อเป็นเกียรติ
แก่เขา

                                  ทากูชิ (Dr. Genichi Taguchi)

  

          ทากูชิ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) เป็นนักสถิติและวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นนักสถิติและวิศวกรไฟฟ้า ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างระบบโทรศัพท์ของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่    เขาเป็นคนให้คำปรึกษาทางสถิติและคอยสนับสนุนในการออกแบบทดลอง ทากูชิเห็นว่าการออกแบบเดิมไม่เหมาะกับการนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ออกแบบการทดลองเป็นของตนเอง เขาเป็นผู้ประยุกต์ใช้การออกแบบทดลองที่เขาคิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้าของญี่ปุ่นนานกว่า 25 ปี
          ทากูชิ มองคุณภาพในแง่ที่เป็นการสูญเสียที่เกิดแก่สังคม เมื่อเวลาที่สินค้าถูกส่งมอบ ฉะนั้นจึงต้องมีการออกแบบสินค้าให้ดี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียที่ลูกค้าได้รับเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ความคิดของทากูชิมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การสูญเสีย (the loss function) กับการควบคุมคุณภาพให้คงที่(off-line quality control) ทากูชิมองว่าความสูญเสียจะยิ่งขยายออกไปเรื่อยเมื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า เช่น เสื้อที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อยิ่งซักหรือยิ่งรีดก็ให้การสูญเสียยิ่งมีมาก ต้องเปลืองแรงซักและรีด ต้องใช้พลังไฟฟ้ามาก ผลเสียจึงเกิดเป็นลูกโซ่หรือรถยนต์วิ่งไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องซ่อม ขณะที่ปกติวิ่งได้นานกว่า สิ่งที่สูญเสียนี้ ได้แก่ ความไม่พอใจของลูกค้า เงินค่าประกัน การเสียชื่อเสียง และที่สำคัญที่สุด คือ การสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด การสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อไม่เป็นไปตามค่านิยมเป้าหมาย (target value) คุณภาพจะบรรลุได้โดยการทำให้เกิดความแปรปรวนน้อยที่สุด มากกว่าจะเป็นการทำตามคุณสมบัติที่กำหนดแนวคิดนี้จึงนำไปสู่แนวคิดที่สองเรื่องการควบคุมคุณภาพให้คงที่ ซึ่งเขาให้หมายถึงกระบวนการผลิตที่ดีที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการผลิต
และผลการปฏิบัติงานมีความแปรปรวนน้อยที่สุด แนวคิดนี้เน้นไปที่การออกแบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นคือ
         (1) การออกแบบระบบ (system design) หมายถึง การออกแบบรูปร่างทั่วไปของระบบ
        (2) การออกแบบค่ามาตรฐานของระบบ หมายถึง การกำหนดค่าตัวเลขเพื่อแสดงว่าระบบทำงานด้วยดีและไม่มีสิ่งรบกวนและ 
        (3) การออกแบบระดับที่ยอมทน (tolerance design) หมายถึง ระดับของระบบที่ไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งแสดงออกโดยแสงไฟ ทากูชิให้ความสำคัญกับการออกแบบค่ามาตรฐานของระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าถูกกำหนดด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยควบคุม (control factors) ซึ่งสามารถควบคุมได้ กับปัจจัยเสียงรบกวน (noise factors) ซึ่งยากที่จะควบคุมหรือการควบคุมต้องใช้เงินแพงมาก วิธีการของทากูชิจะเน้นการค้นหาปัจจัยควบคุมที่ทำให้กระบวนการหรือผลผลิตไม่มีผลกระทบต่อปัจจัยเสียงรบกวน สำหรับการค้นหาค่ามาตรฐานที่ดีที่สุด กระทำโดยการทดลองเพื่อดูผลกระทบในระดับต่าง ๆ แต่ถ้าทดลองหมดทุกครั้งอาจใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก ขณะที่ผลที่ได้ก็อาจจะซ้ำ ๆ กัน ทากูชิจึงคิดวิธีการลดจำนวนการทดลอง โดยใช้ปัจจัยเป็นตัวกำหนดจำนวนการทดลองและทำการทดลองแต่ละปัจจัยเพียง 2 ระดับ เรียกว่า "การจัดเรียงลำดับการทดลองตามผลคูณของระดับที่ดีที่สุดของปัจจัย (orthogonal array)" องค์การและนักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่า วิธีการของทากูชิมีประโยชน์ต่อการออกแบบทดลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพกระบวนการผลิต

สรุปปรมาจารย์คุณภาพ ทากูชิ (Dr. Genichi Taguchi)ทากูชิ มองคุณภาพในแง่ที่เป็นการสูญเสียแก่สังคม ต้องมีการออกแบบสินค้าให้ดี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียที่ลูกค้าได้รับเมื่อมีการส่งมอบสินค้า แนวความคิดของทากูชิ มีดังนี้
        1. การสูญเสีย (The loss function)
        2. การควบคุมคุณภาพให้คงที่ (off- line quality control)

 http://uhost.rmutp.ac.th/tasanee.p/Unit%205/5-1QGuru.html

 

หมายเลขบันทึก: 454824เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท