นาโยน,บอกรักแม่ : ห้องเรียนในแปลงนาและศาลาวัด


กระบวนการ “ทำและเรียนรู้” อย่างจริงจัง ผนึกเข้ากับการ “ถอดบทเรียน” ที่เป็นรูปธรรม จะค้นพบได้ว่าเพียงแปลงนาเล็กๆ แปลงเดียวนี้ อาจเป็น “คลังความรู้” และ “จุดเปลี่ยน” ในการสร้างชุมชน และปั้นแต่งลูกหลานในหมู่บ้านได้เติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน

๙ สิงหาคม ๒๕๕๔  ผมไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปร่วมกิจกรรมกับทีมงานและน้องนิสิต เพราะสู้รบกับอาการป่วยไข้ของตัวเองไม่ไหว  จึงจำต้องนอนคุยกับสังขารยามป่วยไข้อย่างเงียบๆ  จึงกลายเป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานจะได้ทำอะไรๆ ด้วยตัวเองอย่างเต็มสูบ -

อีกทั้งหลังการก้าวพ้นจากตำแหน่งเดิม  ผมก็พยายามไม่ก้าวเข้าไปในงานต่างๆ มากนัก เพื่อเปิดพื้นที่ให้หัวหน้าคนใหม่และทีมงานได้ทำอะไรๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรู้สึกเคอะเขินกับการที่มีผมอยู่ตรงนั้น

 

 

ก่อนนั้นไม่นาน – ผมหิ้วคุณสมปอง  มูลมณีลงบ้านใคร่นุ่นเพื่อพบปะพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใคร่นุ่น (อาจารย์ณตวรรษ อินทะ) 

 

เรื่องหลักๆ ที่เราพูดคุยกันก็คือการร่วมวางแผนการดำเนินงานและออกแบบกิจกรรมร่วมกัน  ซึ่งโครงการที่ว่านั้นก็คือ “เรียนนอกห้องเรียน ปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่จิตสำนึกสาธารณะ ครั้งที่ ๘” (ตอน พาน้องเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เยาวชนไทยทำความดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินี)

 

 

การพูดคุยกันวันนั้น  เราต่างออกแบบกิจกรรมร่วมกันแบบเป็นกันเอง  เรียกได้ว่าชักอะไรออกจากตัวตนของเราก็ล้วนกลายเป็น “อาวุธ” ได้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า “ประสบการณ์” จะเป็น “ทุน” อันยิ่งใหญ่ในการปรับแต่ง “ปัญหา” ให้กลายมาเป็น “ปัญญา”

 

และโครงการครั้งนี้  ก็มุ่งให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ในทิศทางการบ่มเพาะเรื่อง "คุณธรรม จริยธรรม" ของการเป็นนิสิต รวมถึง "อัตลักษณ์ของนิสิต" ที่ต้องเป็นผู้มี "จิตสำนึกสาธารณะ" อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของปรัชญามหาวิทยาลัยว่า "ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"

 

 

 

บ้านหลังเรียน สู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ “บ้านเกิด”  

 

 

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการต่อยอดความคิดจากกิจกรรม “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” (หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน)  ซึ่งในช่วงที่จัดกิจกรรมในหมู่บ้านนั้น  ผมได้เสนอให้ชุมชนสร้างสรรค์พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลานให้ได้มากที่สุด ผ่านวาทกรรมหลักคือ “บ้านหลังเรียน” ...

 

คำว่าบ้านหลังเรียนมุมของผมก็คือการรังสรรค์ให้ทุกพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลาน  มีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเป็นครูนำพาการเรียนรู้  มีมหาวิทยาลัยเป็นผู้เชื่อมประสานและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อันหลากหลายร่วมกัน

 

 

วิธีคิดดังกล่าวจึงมีการขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดยมอบหมายคณะบางคณะลงจัดกิจกรรมในหมู่บ้าน  ประสานงานบริการหอพักลงไปสอนหนังสือเด็กๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงการจัดกิจกรรมให้คนแก่คนเฒ่ามาเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง หรือไม่ก็ให้เด็กๆ พาพี่ๆ นิสิตท่องเที่ยวในหมู่บ้าน  ทั้งแปลงนา ดอนปู่ตา คลองประปา ...

กิจกรรมทั้งปวงนั้น ล้วนแฝงนัยสำคัญของการสร้างสำนึกรักบ้านเกิดทั้งสิ้น !

 

ครั้งนั้น  ผมได้สะท้อนแนวคิดกว้างๆ กับบรรดาแกนนำชุมชนเพิ่มเติมประมาณว่า  “...หากมีพื้นที่เล็กๆ ให้นักเรียน หรือลูกหลานของชาวบ้านได้ฝึกการ “ทำนา” ด้วยตนเองจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ  ไม่ว่าการทำนาที่ว่านั้น จะทำกันแบบดั้งเดิม หรือแบบประยุกต์ในทฤษฎีใหม่ก็ดีทั้งนั้น...”

 

เรื่องนี้เงียบไปครู่ใหญ่  แต่เมื่อมีโอกาสได้คุยกับผู้อำนวยการฯ ณตวรรษฯ แบบบังเอิญๆ  (ขอย้ำว่าบังเอิญจริงๆ) ความคิดฝันของผมก็เป็นรูปร่างอย่างน่าทึ่ง

ผู้อำนวยการฯ ณตวรรษ ยืนยันหนักแน่นว่า “ความฝันของผม ก็เป็นความฝันเดียวกับที่ท่านฝันมาอย่างยาวนาน”  

 

Large_dsc_0918
ผู้อำนวยการฯ ณตวรรษ อินทะ : ร่วมเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในแปลงนา

 

 

สิ่งที่ผู้อำนวยการฯ ณตรรษ บอกเล่ากับผมนั้น ยืนยันได้ว่าสิ่งที่ผมกำลังอยากจะทำนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงความปรารถนาของผมแต่เพียงฝ่ายเดียว  แต่เป็นความปรารถนาของคนในชุมชน ดังนั้นประเด็นของการ “มีส่วนร่วม” จึงเริ่มถูกถักทอขึ้น

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นอะไรๆ ก็ง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  เป็นการขยับจากโรงเรียนออกสู่วัดและทะลุไปยังหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว  จนในที่สุดก็ได้แปลงนาเล็กๆ มาหนึ่งแปลงเพื่อเป็น “ห้องเรียน” ให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

 

และที่สำคัญแปลงนาเล็กๆ แปลงนั้นก็อยู่ติดกับ “วัด”  กลายเป็นเส้นทางสายการเรียนรู้ที่ยึดโยงหากันอย่างหลากมิติ  ซึ่งเรื่องนี้ผมเองก็ฝากประเด็นให้นิสิตและชุมชนได้คิดต่อไปว่าจะสร้าง “โจทย์” การเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง ?

 

 

 

แปลงนาโยน, บอกรักแม่ : ห้องเรียนในแปลงนาและศาลาวัด

 

ในวันที่ผมไปลงดูพื้นที่  เราต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า จะใช้แปลงนาเล็กๆ แปลงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำ “นาโยน” ของนักเรียน  เมื่อประเมินแล้วก็ยิ่งรู้ว่าชาวบ้านหลายท่านก็กำลังสนใจใคร่รู้ในเรื่องนายโยนเป็นอย่างมาก  แต่ยังไม่ได้ลงมือทำจริงๆ จังๆ ก็เพราะขาดความรู้เท่านั้นเอง

 

และนั่นคือจุดบุกเบิกที่มาที่ไปของการเรียนรู้เรื่อง “นาโยน” ...

 

กรณีดังกล่าวผู้อำนวยการณตวรรษ ขันอาสาเป็นผู้เชิญพ่อบุญเที่ยง พลกองสถิต จากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดขอนแก่นมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน นิสิตและชาวบ้าน  เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานให้กว้างไกลมากขึ้น และเครือข่ายที่ว่านั้นก็เป็นเครือข่ายทางใจระหว่างอาจารย์ณตวรรษกับพ่อบุญเที่ยงฯ

 


พ่อบุญเที่ยง พลกองสถิต กำลังบรรยายให้ความรู้เรื่อง "นาโยน"

 

เมื่อวันงานเดินทางมาถึง กิจกรรมก็เปิดตัวขึ้นที่ศาลาวัดประจำหมู่บ้าน พ่อบุญเที่ยงฯ  บอกเล่าประสบการณ์อันเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” เกี่ยวกับ “นาโยน” พร้อมๆ กับการฉายวีดีทัศน์เทิดพระเกียรติพระกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ กับการทำนา  สร้างความรักและความซาบซึ้งให้กับผู้คนในศาลาวัดอย่างยิ่ง จนเห็นได้ชัดว่าหลายต่อหลายคนตื่นเต้น  และมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง

 

นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องนาโยนแล้ว  ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เสริมการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น มอบหนังสืออ่านนอกเวลาให้นักเรียนได้อ่านเล่น  นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์สอนทักษะการวาดรูปและใช้สีให้กับนักเรียน  ชวนน้องนักเรียนวาดรูปเนื่องในวันแม่ (ผู้หญิงในดวงใจ) เพื่อมอบให้กับคุณแม่ของตัวเอง  รวมถึงกิจกรรมมุทิตาจิตเชิดชู “แม่ดีเด่น” และมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่มีแม่ดีเด่นไปพร้อมๆ กัน  โดยมีพระครูสังวาล ปภสังโร เจ้าอาวาสฯ เป็นพระประธานในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว 

 

Large_dsc_0929
ผศ.ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ : รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตนำทีมลุย "โยนกล้า"

 

ครับ, นั่นคือการสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นร่วมกัน  ด้วยการยึดโยงเอาพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นห้องเรียน  หรือฐานการเรียนรู้  นำพาไปสู่การปลุกกระแสจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับคนทุกเพศทุกวัย   โดยใช้ฐานทาง "การศึกษา ไปสู่วัดและขับเคลื่อนไปสู่หมู่บ้าน"  ซึ่งจากประสบการณ์ลงชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง  ก็เห็นร่วมกันว่า  วิธีการเช่นนี้น่าจะเหมาะกว่าการขับเคลื่อนจาก “หมู่บ้าน >วัด >โรงเรียน”

 

และทั้งปวงนั้น  ก็เป็นจริงตามนั้น  พอเปลี่ยนวิธีการ อะไรๆ ก็ขับเคลื่อนขึ้นได้ง่ายและคล่องตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

Large_dsc_0855

 

 

ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง...แต่ทุกอย่างก็คือการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ 

 

 

แน่นอนครับ กิจกรรมนี้ในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก  สะท้อนภาพการร่วมมือของความเป็น “บวร” อย่างชัดแจ้ง  สื่อให้เห็นภาพของมหาวิทยาลัยในฐานะของผู้เรียนรู้และคุณอำนวยที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ให้เปล่งประกายเป็นแสงขึ้นรำไรๆ

 

แต่ก็ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่เราไม่สามารถจัดขึ้นได้  เช่น ทาสีรั้วโรงเรียน  ติดตามดูแล “กล้วย ๙ หน่อ มะละกอ ๙ ต้น” ในโรงเรียน  เพราะติดขัดกับสายฝนที่ตกมาอย่างไม่ขาดสาย  จึงจำต้องปรับไปสู่กระบวนการหลักด้วยการเน้นเรื่อง “แปลงนาโยน” ร่วมกัน

 

ส่วนกิจกรรมที่ไม่ได้ทำนั้น  ก็ยืนยันชัดเจนว่ายังต้องทำกันต่อเนื่อง  จะมีการลงพื้นที่ร่วมกันเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ต้องมีการติดตามและร่วมดูแลแปลงนาผืนเล็กๆ นี้ร่วมกัน 

 

Large_dsc_0940
บุคลากรกองกิจการนิสิต ไม่รีรอที่จะเรียนรู้ร่วมกัน

 


ผมมองว่าหากมีกระบวนการ “ทำและเรียนรู้” อย่างจริงจัง  ผนึกเข้ากับการ “ถอดบทเรียน” ที่เป็นรูปธรรม  จะค้นพบได้ว่าเพียงแปลงนาเล็กๆ แปลงเดียวนี้  อาจเป็น “คลังความรู้”  และ “จุดเปลี่ยน”  ในการสร้างชุมชน และปั้นแต่งลูกหลานในหมู่บ้านได้เติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน

 

สำคัญคือคนในชุมชนต้องลงแรงเรียนรู้ด้วยตนเอง  สนธิพลังเครือข่ายหลากส่วนมาเสริมหนุนเป็นระยะๆ  มีความศรัทธาต่อบ้านเกิด  ถอดบทเรียนร่วมกันอย่างจริงใจ  อดทนและไม่ย่อท้อต่อปัญหา  
      ถ้าตระหนักในแนวทางเช่นนั้น  บางทีแปลงนาเล็กๆ เพียงแปลงเดียว  อาจเป็นแปลงนาที่เปลี่ยนชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมหัศจรรย์ก็เป็นได้

 

แต่สำหรับผมนั้น  ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่า  การเรียนรู้จากการทำนาเป็นกระบวนการของการสร้างชีวิตอย่างแท้จริง  เพราะกว่าจะเป็นเมล็ดข้าวให้บริโภคได้นั้น  ต้องผ่านกระบวนการมากมาย   และทุกกระบวนการจากการทำนานั่นแหละ  คือการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความหมาย

เพราะ ณ วันนี้  ไม่ว่าบ้านเมืองจะก้าวไปสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากแค่ไหนก็ตาม  คนส่วนใหญ่ก็ยังเป็น “ชาวนา” อยู่วันยังค่ำ

ครับ, ทั้งผมและทีมงาน หรือแม้แต่นิสิต ยังต้องลงสู่ชุมชนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันต่อไป ...

กว่าข้าวกล้าจะแตกใบเป็นต้นๆ  สู่รวงข้าวให้เก็บเกี่ยว ก็คงได้เรียนรู้อีกหลายกระบวนยุทธ !

เพราะยิ่งทำยิ่งเรียนรู้ว่าในโลกใบนี้  ช่างเต็มไปด้วยสีสันของการเรียนรู้  ยิ่งเรียนรู้ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรให้ทำมากมายจริงๆ

 

Large_dsc_0959
ลงลุยติดตามดูผลงานของ "ทีม"

 

 

ไม่มีใครสมบูรณ์ไปทุกอย่าง ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้และแบ่งปันร่วมกัน

 

 

ถึงแม้กิจกรรมในครั้งนี้จะไม่ใช่กิจกรรมที่ใช้เวลายาวนานและหยั่งรากลึกอย่างที่ควรจะเป็น  เพราะติดขัดเรื่องเวลาอันน้อยนิดและรูปแบบกิจกรรมก็ถูกออกแบบเป็น “กิจกรรมบูรณาการ” ที่เน้นต่างฝ่ายต่าง “เรียนรู้ร่วมกัน”  เรียนรู้อย่างละนิดอย่างละหน่อย  และที่สำคัญก็คือการ “เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง” เป็นสำคัญ

 

ที่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ค้นพบเหมือนหลายเวทีก็คือ  ในความเป็นจริงของชีวิต  ไม่มีใครสมบูรณ์แบบในทุกๆ เรื่อง  กระนั้นในแต่ละเรื่องก็ย่อมมีใครสำคัญสุดในเรื่องนั้นๆ อยู่เสมอ  สำคัญที่ว่าใครจะมี “บารมี” มากพอที่จะเชื่อมโยงสู่ “เครือข่าย”  เพื่อดึงเอาความแกร่งและความหลากหลายทางศักยภาพจากภาคส่วนต่างๆ มาผนึกให้เกิดเป็นพลังต่องานนั้นได้มากไปกว่ากัน

 

Large_dsc_0932

 

ครับ,....
นิสิต อาจมีความรู้ภาคทฤษฎี แต่ก็ขาดทักษะและประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง
นักเรียน อาจมีแรงบันดาลใจ แต่ขาดต้นแบบและโอกาสในการที่จะเรียนรู้
โรงเรียน  อาจมีพื้นที่ แต่ขาดทุนและกำลังคนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้
ชาวบ้าน
อาจมีพื้นที่มากมาย มีความเข้าใจบริบทชุมชน  แต่ขาดความรู้ หรือวิทยาการใหม่ๆ
ปราชญ์ชาวบ้าน  อาจมากมายไปด้วยความรู้ แต่ขาดโอกาสในการเป็นผู้ถ่ายทอดในเวทีสาธารณะ
นักวิชาการ  อาจมีความรู้และวิทยากรใหม่ๆ  แต่ไม่มีเวลาและขาดกำลังในการลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้


 

เวทีครั้งนี้จึงน่าจะสะท้อนภาพในทำนองข้างต้นได้บ้างกระมัง อีกทั้งยังจะช่วยยืนยันได้อย่างหนักแน่นว่าเราล้วนเกิดมาเพื่อเรียนรู้ และเติมเต็มกันและกัน  
     เติมในส่วนที่ขาด เสริมในส่วนที่แกร่ง 
     นี่คือพลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันมหัศจรรย์ของความเป็นมนุษย์

 

...

หมายเหตุ
ภาพโดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
กองกิจการนิสิต มมส

 

 

หมายเลขบันทึก: 453381เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

มาร่วมชื่นชมกิจกรรมดีๆมีความสุข สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายค่ะ..รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

เสียดาย ที่ไม่ได้ไปร่วมด้วยเลยครั้งนี้ด้วยภาระกิจที่ต้องจัดการหลายอย่าง แต่กิจกรรมนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับคนทำกิจกรรมมากๆ สร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก ดูแลกันและกัน มหาลัยร่วมใจกับชุมชน เสริมแรงให้นิสิตมีจิตอาสา เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ

เด้กหลายคนมีโอกาสเพราะมีผู้หยิบยื่น....โอกาส

เป็นกำลังใจให้สานงานดีดีต่อไปค่ะ

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมเองก็อยู่ในสถานะของการร่วมเรียนรู้ครับ ถึงแม้ในบางโอกาสจะนำร่องด้วยการเป็นผู้คิดริเริ่มก็เถอะ  แต่ก็ต้องนำทุกๆ ส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เพราะถือว่านั่นคือโจทย์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ละทิ้งไม่ได้จริงๆ ครับ

สวัสดีครับ นุ้ยcsmsu

พี่ถือว่าเราเดินทางมาถูกทิศถูกทางแล้วนะ การจัดกิจกรรมรอบๆ มหาวิทยาลัยถือเป็นกลไกสำคัญยิ่งของการเรียนรู้ของนิสิต  ก่อเกิดประโยชน์ทั้งการสานสัมพันธ์ชุมชน บริการวิชาการ และสร้างเสริมให้ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิตร่วมกัน  ถึงแม้งานของนิสิต จะยังไม่เต็มร้อยของการบริการวิชาการ แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีความเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ...แล้วนะครับ

 

สวัสดีครับ Oraphan

สำคัญที่สุดคือโอาสยืนตระห่านอยู่ตรงหน้า เราต่างก็คงเรียนรู้ที่จะเข้าสู่โอกาสนั้นให้ดีที่สุด เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่า เมื่อวันนี้ผ่านไป โอกาสเช่นนั้น จะกลับมาทักทายและเชื้อเชิญให้เราได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้อีกหรือไม่

นั่นคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้และมีสติ หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นๆ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านและชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ...

  • สวัสดีค่ะอ.แผ่นดิน
  • สองสามวันก่อนก็มีการเปิดเทศกาลท่องเที่ยวที่ อ.ปาย
  • มีกิจกรรมนาโยนด้วยค่ะ เพื่อนมาเล่าให้ฟังน่าสนุก
  •  เป็นการพัฒนาการดำนาแนวใหม่(ทำและเรียนรู้อย่างจริงจัง)ก็ว่าได้ใช่ไหมคะ?
  • ขอบคุณที่เผยแพร่ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ เป็นเรื่องราวที่มีความสุขกับการดำนา แบบโยนข้าวค่ะ มีหลายแห่งที่สาธิตให้ชม กำลังเป็นที่น่าสนใจเพราะรวดเร็วกว่าการปลูกกล้าโตนะคะ ชื่นชมมากค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ แผ่นดิน

(โครงการครั้งนี้ ก็มุ่งให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ในทิศทางการบ่มเพาะเรื่อง "คุณธรรม จริยธรรม" ของการเป็นนิสิต รวมถึง "อัตลักษณ์ของนิสิต" ที่ต้องเป็นผู้มี "จิตสำนึกสาธารณะ" อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของปรัชญามหาวิทยาลัยว่า "ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน")

อบ- รม -บ่ม - เพาะ -เรียน -รู้ ครูชาวบ้าน เป็นการกลับคืนสู่รากเหง้า ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

(หลังจากปลดพันธนาการ ไม่เอาฝันไปพันธนาการ อาจารย์ก็ได้ทำในสิ่งต้องการ ฝันอยากเห็น)เป็นพื้นที่เรียนรู้ ที่ปลอดภัย

สวัสดีค่ะ น้องอาจารย์

  • มาชมกิจกรรม  นาโยน  ไม่เคยเห็นค่ะ  เพราะในหมู่บ้านมีแต่นาดำ  อาจเป็นเพราะพื้นที่ในการทำนามีน้อย  ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านเขาจะทำสวน  โดยเฉพาะสวนสมรม  มีมากค่ะ
  • ชอบที่สรุปตรงนี้  ตรงใจค่ะ

      นิสิต อาจมีความรู้ภาคทฤษฎี แต่ก็ขาดทักษะและประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง
      นักเรียน อาจมีแรงบันดาลใจ แต่ขาดต้นแบบและโอกาสในการที่จะเรียนรู้
     โรงเรียน  อาจมีพื้นที่ แต่ขาดทุนและกำลังคนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้
     ชาวบ้าน
อาจมีพื้นที่มากมาย มีความเข้าใจบริบทชุมชน  แต่ขาดความรู้ หรือวิทยาการใหม่ๆ
     ปราชญ์ชาวบ้าน  อาจมากมายไปด้วยความรู้ แต่ขาดโอกาสในการเป็นผู้ถ่ายทอดในเวทีสาธารณะ
  นักวิชาการ  อาจมีความรู้และวิทยากรใหม่ๆ  แต่ไม่มีเวลาและขาดกำลังในการลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้

ขอบคุณค่ะ

มาชมเห็นภาพกิจกรรมทำดีมีสาระน่าสนใจนะครับผม

มาชมชื่นผืนนาไทยใส่ใจรัก

ร่วมสมัครพักพวกพ้องน้องพี่ใหม่

หลอมรวมสร้างภูมิปัญญาชาวนาไทย

ให้ก้าวไกลใจรู้รักสามัคคี...

เสาร์สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

เป็นไงบ้างคะ ไม่ได้ติดตามข่าวคราวสองหนุ่มน้อยนานๆ หลายเด้อค่า

มาควันหลงเทศกาลวันแม่ ชื่นชมส่งกำลังใจการงาน และขอให้มีวันเวลาดีๆ ที่บ้านเช่นกันนะคะ

สวัสดีค่ะ..คุณแผ่นดิน

เวทีแห่งนี้ G2K มีอะไรให้เรียนรู้เยอะแยะมากมาย

มาชื่นชมกิจกรรมดีๆ ไม่เคยเห็นเช่นกัน..นาโยน

เห็นตัวอย่างของจริง

การเรียนรู้ร่วมกันจากการทำจริง

เห็นด้วย...บารมีในการเชื่อมศักยภาพแกร่งของต่างภาคส่วน...สู่การเป็น "เครือข่าย"

อย่างอื่นก็...ความจริงใจ ความอึด..ต่อเนื่อง ศิลปะในการจัดการความขัดแย้ง

และเชื่อมโยงความรู้...รู้ว่าอยู่ส่วนไหนของชีวิต ของสังคม

กำลังเรียนรู้เช่นกันค่ะ

ขอบคุณนะคะ ที่เขียนแบ่งปัน...ให้คิดต่อเรื่อย ๆ

บทเรียนในครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่า

  • ทำนาไม่ใช่แค่การค้า  แต่คือภูมิปัญญาที่น่าบูชายิ่ง
  • ทำนาไม่ได้ทำให้เหนื่อย แต่นั่นคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกและองค์ความรู้
  • แม่...ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย ไม่ว่าจะเวลาไหน และแม่ก็คือผู้หญิงที่หลั่งน้ำตาให้เราได้ทั้งเห็นเราสุขและเราทุกข์
  • สิ่งสำคัญของการให้ไม่ต้องมากมายทางมูลค่า แต่ทว่ามากมายทางความรู้สึก
  • ห้องเรียนที่ให้ผลทางความคิดและทรงคุณค่าที่สุด คือธรรมชาติ
  • ความน่ารักที่บริสุทธิ์เปล่งพลังออกมาอย่างมหาศาลเมื่อบุคคลหนึ่งคนยอมถอดความรู้สึกบอกรักแม่ด้วยหัวใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท