พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓


 
          ปี ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๓   ในวันที่ ๔ ก.ค. ๕๔ หลังวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓   ตามมาด้วยจุฬาฯตามเคยในวันที่ ๗ และ ๘   นี่คือประเพณีของการจัดลำดับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
 
          ผมได้บันทึกพิธีประจำปี ๒๕๕๒ ไว้ที่นี่   จึงจะไม่บันทึกส่วนที่ซ้ำ   เพราะพิธีของแต่ละ มหาวิทยาลัยจัดเป็นประเพณีต่อเนื่องกันมายาวนาน   เช่นการตกแต่งสถานที่  จะเป็นฝีมือของฝ่าย การพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำมากว่า ๓๐ ปี   การตกแต่งจะเหมือนปีก่อนๆ เพราะต้องการสื่อความหมายเดียวกัน   ผมจะเล่าเฉพาะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เพื่อเสริมจากที่เคย บันทึกไว้แล้ว
 
          ส่วนที่พิเศษแตกต่างออกไปคือ ปีนี้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ   เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (การออกแบบนิเทศศิลป์)   นับเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างยิ่ง  เสด็จมากับเจ้าพี่คือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์   และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเหมือนกับบัณฑิตทั่วไป   โดยทางมหาวิทยาลัยได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ
 
          เนื่องจากปีที่แล้วผมไปถึงบริเวณพิธีที่หอประชุมกองทัพเรืออย่างฉุกละหุกจวนแจ  ปีนี้คุณชูชาติ โชเฟอร์ประจำตัวผมกำหนดให้ออกจากบ้านผมเวลา ๕.๒๐ น.  และเวลา ๕.๐๐ น. คุณชูชาติก็ขับรถมารอที่หน้าบ้านแล้ว   ทำให้ผมถึงบริเวณพิธีตั้งแต่ ๖.๐๐ น.  มีเวลาไปนั่งรับประทานอาหารเช้า   และคุยกับคณาจารย์ และท่านที่มารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์
 
          ปีนี้ (๒๕๕๓) มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ๘,๒๓๗ คน  เป็นของสถาบันสมทบ ๒,๓๑๙ คน  และของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยตรง ๕,๙๑๘ คน (ป. เอก ๑๖๗, ป. โท ๑,๗๒๒)   มารับพระราชทานปริญญาบัตร ๕,๗๘๓ ราย  และมีผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๕ ราย   รวมทั้งมีผู้รับเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ  ผู้ได้รับรางวัลมหิดล   และผู้ได้รับทุนภูมิพล ๑ ราย
 
          ผมมีหน้าที่หลักๆ ๔ อย่าง  คือรับเสด็จและส่งเสด็จ (หลายช่วง), อ่านคำกราบบังคมทูล, นั่งร่วมในพิธีอย่างสำรวม, และร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยง   ตอนนั่งร่วมพิธีอยู่บนเวทีข้างที่ประทับนั้น  อธิการรับคำสั่งจากฝ่ายพิธีการมาบอกผมและตัวท่านเองว่า   ระหว่างพิธีห้ามควัก สมาร์ทโฟนออกมาเป็นอันขาด  คืออ่าน อี-เมล์ก็ไม่ได้ ถ่ายรูปก็ไม่ได้ (ผู้ใหญ่ไม่สำรวม)   ดังนั้น ปีนี้ผมจึงไม่มีรูปจากบนเวทีมาให้ดูอย่างปีที่แล้ว   แต่หากได้ถ่าย ท่านผู้อ่านก็จะได้เห็นว่า การประดับตกแต่งดอกไม้เหมือนของปีที่แล้วไม่มีผิดเพี้ยน   แต่ผมก็ได้ภาพถ่ายด้วย iPhone 4 จากด้านหลังห้องประชุม ระหว่างเตรียมให้บัณฑิตเข้านั่งประจำที่  และได้รูปถ่ายจากประตูหน้าด้านข้าง ระหว่างที่ท่านอธิการบดี ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวแสดงความยินดีต่อบัณฑิตใหม่   และ อ. ธัชชะ จุลชาต อธิบายความหมายของการตกแต่งเวที
 
          ระหว่างนั่งบนเวที ท่านอธิการบดีกับผมคุยกันว่า ปีนี้ร้อยละ ๓๒ ของบัณฑิตส่วนที่จบจากมหาวิทยาลัยมหิดลจริงๆ จบระดับบัณฑิตศึกษา   ท่านอธิการบดีบอกว่าอยากให้ขึ้นไปเป็นร้อยละ ๔๐ 
 
          สิ่งที่แตกต่างไปจากปีที่แล้วคือการปรบมือ  ปีก่อนๆ ไม่มีการปรบมือเลย  ปีนี้ตกลงกันใหม่ว่าระหว่างที่บัณฑิตที่ได้เกียรตินิยมเข้ารับ ให้ปรบมือตลอดเวลา   บรรยากาศครึกครื้นขึ้นมาก   และระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอฯ รับปริญญาบัตร ก็มีการปรบมือแสดงความยินดีกันกึกก้อง
 
          ผมมีข้อสังเกตว่า เวลานี้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลมีความหลากหลายมากกว่าเมื่อตอนที่ผมเรียนจบ (พ.ศ. ๒๕๐๙) อย่างเทียบกันไม่ได้เลย   และมีคนต่างชาติจบจำนวนไม่น้อย   ผมแนะนำต่อท่านอธิการบดีว่า น่าจะรวบรวมจำนวนบัณฑิตที่เป็นคนต่างชาติไว้ด้วย  เป็นดัชนีชี้ความเป็นนานาชาติอย่างหนึ่ง 
 
          ผมสังเกตว่า คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในงาน ทำงานกันด้วยความปลื้มปิติยินดีต่อบัณฑิต   และพยายามทำให้งานงดงามและพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  เพื่อบัณฑิตทั้งหลาย   คณะผู้จัดงานถือว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิตของบัณฑิต 
 
          เวลาที่ใช้ในพิธีก็พอๆ กับปีที่แล้ว คือ ช่วงเช้า ๒ ชั่วโมง  ช่วงบ่าย ๒ ชั่วโมง
 
          ผู้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยงมี ๔ คน   คือท่านอธิการบดี,  ศ. นพ. สุพัฒน์ วาณิชย์การ, นายทหารเรือ, และผม   คราวนี้ท่านอธิการบดีปิยะสกล เป็นคนชวนคุย เพราะท่านเพิ่งตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ไป Innsbruck ประเทศออสเตรีย เพิ่งกลับมาเมื่อวาน   จึงคุยเรื่องความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินน์สบรุค และความร่วมมือด้านวิชาการกับต่างประเทศในยุโรป  ท่านรับสั่งย้ำหลายครั้งว่า   ในที่ประชุมสำคัญๆ สำหรับฝึกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ท่านจัดส่งไปนั้น  ทางฝรั่งบอกว่า นศ. ไทยมีขีดความสามารถสูงกว่า นศ. จากที่อื่น  ผมสัมผัสได้ว่า ทรงมีความภูมิพระทัยมาก ที่ได้ไปแสวงหาโอกาสเรียนต่อ และฝึกฝนความสามารถให้แก่นักวิชาการไทย 
 
          เรื่องคุยลามไปเรื่องโรคไข้เลือดออก  และที่ยุโรปมียุงและแมลงวันมาก  มีคนโจ๊กว่าแมลงวันมาจากสเปน  จึงโยงไปหาการกล่าวหาของเยอรมันว่าเชื้อ อี โคไล ต้นเหตุท้องร่วงอย่างแรงมาจากสเปน  และตอนหลังมีหลักฐานยืนยันว่ามาจากเยอรมันเอง   ผมกราบบังคมทูลว่ามาจากถั่วงอก ออร์แกนิก  จึงทรงรับสั่งว่านั่นไง ปลูกผักแบบออร์แกนิก ก็ต้องใช้ปุ๋ยจากออนเหวง   จึงทรงรับสั่งเล่าเรื่องบริษัทออนเหวงรับบริการเก็บอุจจาระจากส้วมถัง ที่ทรงได้ยินมาจากคนเก่าแก่   แต่คนรุ่นพวกเราเกิดไม่ทัน  รับสั่งว่ากินกันอิ่มแล้วคุยเรื่องนี้ได้
 
          แต่ก็รับสั่งหลายครั้งว่า ไปยุโรปไม่รู้ว่ากี่ครั้งแล้วไม่เคยกินถั่วงอกเลย   ทำให้ผมเอะใจว่าข่าวจาก เว็บไซต์เขาว่าอย่างไรแน่  กลับมาบ้านจึงเปิดข่าวนี้   จึงรู้ว่าผมพลาดเสียแล้ว   ข่าวบอกว่ามาจาก sprouts  และมีหมายเหตุบอกว่าเป็น sprouts in general ไม่ใช่เฉพาะ bean sprouts   และดูรูปซึ่งไม่ค่อยชัด ก็ไม่น่าจะใช่ถั่วงอก   คงจะเป็นหน่อไม้แบบที่ฝรั่งเขากินกัน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ค. ๕๔

 

ห้องพิธี ถ่ายจากด้านหลังห้อง

 


 

เวทีพิธี ถ่ายซูมจากหลังห้อง

 


 

เวทีอันงดงาน และแถวแขกผู้มีเกียรติ

 


 

เวทีอันงดงาม กับ อ. ธัชชะ จุลชาต ผู้อธิบายความหมาย

 


 

แขกผู้มีเกียรติและบัณฑิต


 

      
         
        

หมายเลขบันทึก: 452951เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2011 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท