ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๔๐. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๒


          ผู้สำเร็จการศึกษาที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติปริญญาหรือประกาศนียบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ มีทั้งสิ้น ๗,๔๐๔ คน   เป็นของสถาบันสมทบ ๑,๘๖๐ คน   ของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยตรง ๕,๕๔๔ คน

          ท่านเหล่านี้มารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ ๕ ก.ค. ๕๓ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทน   โดยปีนี้จัดที่หอประชุมกองทัพเรือเหมือน ๒ ปีที่แล้ว   และเป็นช่วงที่พยากรณ์อากาศในกรุงเทพจะมีฝนตกฟ้าคะนอง   แต่ในบริเวณพิธีฝนไม่ตก 

          ในวันนี้มีบัณฑิตมารับพระราชทานปริญญาบัตร ๕,๓๙๔ คน   และผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๖ คน   แถมด้วยพระราชทานโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ๕ คน   และศาตราจารย์เกียรติคุณ ๖ คน

          ทั้งหมดนั้น ใช้เวลาช่วงเช้า ๒ ชั่วโมง   และช่วงบ่าย ๒ ชั่วโมง   เป็นพิธีที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์มาก   คณะกรรมการจัดงานทำงานกันอย่างเข้มแข็ง   ผมมองแววตาของท่านเหล่านี้แล้วก็เข้าใจได้ว่าทำไมงานจึงดีถึงขนาดนี้   ทุกคนที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยใจ   ทำงานเพื่อให้บัณฑิตได้มีความสุขความภูมิใจในความสำเร็จด้านการศึกษาเบื้องต้นของตน เพื่อออกไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม   เราต้องการให้บัณฑิตมหิดลได้ซาบซึ้งกับวันนี้   สำหรับไว้เตือนใจ ว่าได้กล่าวคำปฏิญญาณไว้ว่า

          “จะประกอบอาชีพโดยใช้ศิลปวิทยาซึ่งได้รับประสิทธิ์ประสาทจากมหาวิทยาลัยมหิดลนี้   โดยยึดมั่นในความจงรักภักดี ต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   ให้ความเคารพสักการะ แด่ครูบาอาจารย์   จะใช้ศิลปวิทยาการแต่ในทางที่เป็นคุณประโยชน์   ไม่เกลือกกลั้วในโทษ อกุศลกรรมชั่วร้าย   จะแผ่ขยายเกียรติคุณแห่งหมู่คณะ และวิชาชีพให้ไพศาล   จะสมานสามัคคี พลีประโยชน์ตนเพื่อส่วนรวม   จะยึดมั่นในคำปฏิญญาณนี้ไว้ยิ่งกว่าชีวิต”

          ผมคิดว่าคำปฏิญญาณนี้ศักดิ์สิทธิ์   เพราะเป็นการปฏิญญาณต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ และชุมนุมของผู้ทรงคุณงามความดีจำนวนมาก   ผู้ที่รักษาคำปฏิญญาณนี้ไว้อย่างมีสติ จะได้รับความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต   ประสบการณ์ชีวิตของผมสอนว่าอย่างนั้น
 

          เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมโต๊ะเสวยอย่างใกล้ชิด ในตอนเที่ยง   คือมีเพียง ๓ คนที่ร่วมโต๊ะเสวย คือ ศ. นพ. สุพัฒน์ วาณิชย์การ (ผู้ใกล้ชิดกับในวัง)   ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดี  และผม   คนอื่นๆ นั่งโต๊ะใกล้ๆ   อาหารมากเสียจนผมง่วงในตอนบ่าย หลับไปหลายงีบ   เป็นอาหารฝรั่งผสมไทย   ได้แก่ สลัด  ซุป สเต๊กเนื้อ  ขนมปัง   ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า   และข้าวหน้าเป็ด   ตามด้วยผลไม้และกาแฟ   ผมกินไม่ถึงครึ่งของที่เขาเสิร์ฟ

          สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงรับสั่งเรื่องต่างๆ มากมายในช่วงเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง   ที่สะท้อนให้เห็นความเอาพระทัยใส่ต่อการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาคนของประเทศ   การเสด็จต่างประเทศของพระองค์มีเป้าหมายหลักเพื่อหาช่องทางความร่วมมือในการส่งนักศึกษาไทยไปเรียนในที่ๆ เขารับยาก   เช่นที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง   มหาวิทยาลัยชั้นดี (ผมฟังไม่ชัดจึงไม่ได้ชื่อ) ที่เยอรมัน  

          ทรงเริ่มด้วยเรื่องโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์   ทำให้ผมได้ทราบพัฒนาการตั้งแต่ต้น   ว่าที่ รร. นี้เป็นอย่างในปัจจุบันก็ด้วยพระกรุณาของพระองค์   และหนังสือที่ถูกเผาเรียบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นหนังสือเรียนของประเทศต่างๆ ที่ดีๆ   เวลาเสด็จประเทศต่างๆ ก็ทรงเสาะหามาพระราชทานไว้ในห้องสมุดของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นี้   ทรงรับสั่งว่า ต้องหามาให้ใหม่

          ผมกลับมาไตร่ตรองที่บ้านว่า เจ้าฟ้าพระองค์นี้ไม่ทรงมีครอบครัว   แต่ทรงมี “ลูก” อยู่ทั่วประเทศ   เป็นลูกจากความรักความเอาพระทัยใส่ของพระองค์ท่าน   จึงทรงได้รับความรักความเทอดทูนจากผู้คนทั่วประเทศ

          ทรงย้ำถึงคุณค่าที่แท้จริงของวิชาคณิตศาสตร์ ที่ครูไทยสอนไปไม่ถึงระดับคุณค่านี้   คือเป็น “ภาษา” อย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาที่ abstract   หรือเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดที่ abstract มาก   เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของวงการคณิตศาสตร์ไทย ที่จะหาทางปฏิวัติการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ไทยให้ไปถึงระดับ abstraction ให้ได้   วิธีที่ง่ายคือศึกษาจากประเทศอินเดีย   นี่ผมคิดเอง 

          อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงย้ำคือเรื่องการเรียนประวิติศาสตร์ของชาติ   ทรงเล่าว่านักศึกษาไทยที่ทรงให้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่ปักกิ่ง    นักศึกษาปริญญาเอกต้องเรียนประวัติศาสตร์จีนด้วย   เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปหรือรากเหง้าของสังคม   เป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพของสังคมอย่างหนึ่ง

          ก่อนเริ่มพิธี ระหว่างรอมีวงดนตรี และนักร้อง ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มาบรรเลงและร้องเพลงที่เป็นมงคลต่อบัณฑิต เช่นเพลงความฝันอันสูงสุด   เป็นที่ประทับใจแก่ทุกคน   ทำให้การรอไม่น่าเบื่อ   แต่ผมมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของพิธี เพื่อกระตุ้นสมองซีกขวาของบัณฑิต ให้ออกไปทำคุณประโยชน์แก่สังคมทั้งด้วยสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา   และเป็นการสร้างชื่อเสียงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ค. ๕๓

 

บรรยากาศระหว่างพิธี ถ่ายจากบนเวทีด้านข้างตรงที่ผมนั่งอยู่

ถ่ายด้วย Blackberry

 

บรรยากาศในห้องประชุม ระหว่างพระราชทานพระบรมราโชวาท

 

รับพระราชทานเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ 

ในภาพ ศ. นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร กำลังรับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 377345เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2010 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท