การยึดติดปิดกั้นความสำเร็จ


การปิดกั้นความรู้ใหม่ๆ เพียงเพราะว่าใช้ประสบการณ์เดิมๆ มาตีค่าต่อสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ เรียกอาการนี้ว่า “การยึดติด” หรือ “อาการไขว้เขว”

 



การปิดกั้นความรู้ใหม่ๆ เพียงเพราะว่าใช้ประสบการณ์เดิมๆ มาตีค่าต่อสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ เรียกอาการนี้ว่า “การยึดติด” หรือ “อาการไขว้เขว”

เนื้อหาจากหนังสือ Sway โดย Ori & Rom Frafman (ชื่อภาษาไทย “เขว” แปลและเรียบเรียง โดย พรเลิศ อิฐฐ์ และ พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ) ได้นำเสนอให้เห็นถึงผลเสียอย่างมหาศาลถึงพลังของการตีค่าว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลง หรือหยุดนิ่งการพัฒนา

แนวความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก จะถูกตีค่าทันทีที่มีการนำเสนอ ไม่ว่าเวทีของการนำเสนอจะเล็กหรือใหญ่ แต่ถ้าหากเป็นเวทีใหญ่ แรงเสียดทานจากการตีค่าและอุปสรรคต่อการ “ผ่าน” ย่อมสูงเป็นธรรมดา โดยปกติการตีค่ามักจะเกิดขึ้น 2 รูปแบบคือ
1. ตัวบุคคล
2. ความน่าจะเป็น


1. ตัวบุคคล
การคาดหวังและความเชื่อมั่นในสังคมที่มีต่อบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือที่มักเรียกกันว่า “เซเลบ” (มาจาก Celebrity) มีค่อนข้างสูง อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคม ไม่ว่าจะประกอบกิจกรรมใดๆ ล้วนเป็นข่าวคราวให้ได้พูดคุยและจับมองตลอดเวลา จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจต่อรองทางสังคมสูง ทั้งด้านความคิด คำพูด การกระทำ เป็นผู้นำกระแส เพราะสังคมให้ความคาดหวังจากบุคคลมีชื่อเสียง

ในขณะที่บุคคลไร้นาม ไม่เป็นที่รู้จักทางสังคม หรือไม่มีบทบาททางสังคมที่โดดเด่น ไม่เว้นแม้กระทั่งที่ทำงาน เมื่อคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาและนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ มักจะถูกตีความอย่างไม่แน่ใจ ไม่เชื่อมั่นกับแนวคิดหรือสิ่งใหม่ๆ ที่บุคคลไร้นามค้นพบ จนบางครั้งบุคคลไร้นามต้องหาช่องทางเพื่อ Promote ตัวเองให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับทางสังคม

กรณีตัวอย่างจากหนังสือ Sway ได้กล่าวถึง โจชัว เบลล์ นักไวโอลีนชื่อดัง กับการทดสอบ 2 สถานการณ์ คือ
1. โจชัว เบลล์ ในชุดเต็มยศ สีไวโอลีนในหอแสดงดนตรี
2. โจชัว เบลล์ ในชุดธรรมดา สีไวโอลีนที่สถานีรถไฟใต้ดิน

คุณคิดว่าทั้งสองสถานการณ์นี้ จะเป็นเช่นไร?

แน่นอนว่าสังคมตีค่าของโจชัว เบลล์ต่างกันทันที
ในสถานการณ์ที่หนึ่ง โจชัว เบลล์ ได้รับเกียรติและชื่นชมอย่างเต็มเปี่ยมเป็นที่สุด

สถานการณ์ที่สอง ไม่มีใครรู้จักว่า เขาคือ นักสีไวโอลีนชื่อดัง โจชัว เบลล์ แต่กลับเห็นเป็นเพียงนักสีไวโอลีนพเนจรที่หารายได้แถวสถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น ใครจะคาดคิดว่า นักสีไวโอลีนชื่อก้อง จะกล้ามาเสี่ยงกับสถานที่สาธารณะเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้คนจึงพากันละเลย ไม่มองถึงความสามารถ

ทั้งๆ ที่ทั้งสองสถานการณ์ เป็นการบรรเลงเพลงเดียวกัน แต่คุณค่าของสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน จึงทำให้การตีค่า ตีความหมายและยึดติดมีอยู่อย่างจำกัด เพราะไปตั้งใจกำหนดสภาพแวดล้อมภายนอกเพียงอย่างเดียว

สังคมได้กำหนด “บุคลิกภาพภายนอก” โดยไม่ได้ตัดสินที่คุณภาพหรือความละเอียดของงานนั้นๆ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากพื้นฐานของสังคมที่ว่า “ราคาแพงคือของดี ของไม่ดีราคาถูก” เมื่อพบเจอ “ของดีราคาถูก” ก็ต้องเกิดการลังเล ไขว้เขว ไม่น่าเชื่อว่าของจะดีจริง

2. ความน่าจะเป็น
ความน่าจะเป็นในที่นี้ คือ สิ่งใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ที่รับรู้ข้อมูลดังกล่าวเกิดความคิดว่า “ไม่มีทางเกิดขึ้นได้” โดยใช้ความน่าจะเป็น เหตุผลและทฤษฎีที่ตัวเองได้รับรู้มากำหนดชี้วัดของใหม่ๆ

กรณีเช่นนี้ มักจะเกิดขึ้นเสมอในแวดวงของนักวิจัย นักวิชาการ นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ เพราะแต่ละคนได้ค้นคว้าศึกษาในศาสตร์ของตนเองอย่างลึกซึ้ง เฉพาะในด้านที่ตัวเองมอง จึงเกิดการตีค่าตามที่ตัวเองสะสมเรียนรู้มา

ต่างคนต่างคิดว่า ความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด เพราะได้ศึกษา อ่านงานวิจัย เอกสารอ้างอิงมากมาย นำมาหักล้างสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

ก็ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งใหม่ เหตุใดจึงต้องมีหลักฐานอ้างอิงด้วย อย่าลืมว่าปัจจุบันข่าวสารข้อมูลต่างๆ มีความรวดเร็ว สิ่งที่เคยจินตนาการไว้ในอดีต อาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยียังไม่ดีพอ

แต่เมื่อจินตนาการเดิม ถูกส่งผ่านมาในยุคสมัยที่พร้อม “จินตนาการในอดีต” ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นจริงและพัฒนาต่อยอดให้มีความร่วมสมัยจนปรากฏเป็นของจริงสัมผัสได้ ไม่ใช่แค่ในกระดาษหรือแนวความคิดเพียงอย่างเดียว

การตัดความรู้สึกหรือหยุดตีค่าต่อสิ่งต่างๆ เมื่อแรกเห็น คือ วิธีการเปิดความคิดและมองเห็นโลกทัศน์ใหม่ๆ เพราะมนุษย์ดำรงชีวิตได้ด้วยการพัฒนา

โลกต้องการสิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้ในโลกยังมีมากมายมหาศาล ไม่มีศาสตร์ใดๆ ในโลกนี้ที่คนเพียงคนเดียวจะศึกษาได้ทั้งหมด ต่อให้ใช้เวลาศึกษาตลอดชีวิตก็ตาม จึงจำเป็นที่ต้องรับรู้และเรียนรู้จากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการยึดติดที่เป็นตัวปิดความสำเร็จตั้งแต่เดี๋ยวนี้
หมายเลขบันทึก: 452729เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท