บ้านจำรุง "ชุมชนพึ่งตนเอง"


พึ่งตนเอง

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา  (บ้านจำรุง หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ)

                   ชาวบ้านจำรุง หมู่ที่ 7  ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้นำหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังนี้

  1. ความพอประมาณ คือ ความพอดี ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื้น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ เช่น ทุกครัวเรือนปลูกผักพื้นบ้านรับประทาน อาทิ ขิง ข่า ตะไคร้ ดอกอัญชัน ยอดมะระ ขมิ้นชัน ฯลฯ มีการจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ (1) กลุ่มผู้สูงอายุ ผลิตข้าวซ้อมมือไว้รับประทานกันเองในชุมชน เหลือใส่ถุงแบ่งขายในร้านค้าหมู่บ้าน  (2) กลุ่มครัวจำรุง นำพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้มาทำอาหารต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นำผลไม้ตามฤดูกาลไว้บริการอย่างเป็นกันเอง  เน้นสะอาด ปลอดภัย ได้คุณประโยชน์ (3) ร้านค้าหมู่บ้าน เป็นการระดมทุนกันเองในหมู่บ้าน อย่างน้อยบ้านละ 1 หุ้น รวบรวมทุนได้จำนวนหนึ่งนำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค มาจำหน่ายให้สมาชิก ใครซื้อมากได้เฉลี่ยคืนผู้ซื้อมาก ลงหุ้นมาก ได้ปันผลมาก ในแต่ละปีมียอดซื้อสินค้าในร้าน ประมาณ 4-5 ล้าน กำไรในแต่ละปี หักไว้ 30 % เป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน (4) กลุ่มรวบรวมผลผลิตยางพารา ก่อตั้งเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 มีสมาชิก 133 คน  เงินลงหุ้นทั้งสิ้น 290,600 บาท ผลการดำเนินงานในรอบ 7 เดือน มีเงินหมุนเวียนในการซื้อ-ขายน้ำยางพารา ราว 12 ล้านเศษ มีผลกำไรแล้ว 90,000 บาท สมาชิกมีพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำยางพาราให้ได้มาตรฐาน ทำให้สมาชิกขายได้ราคา บริหารงานในรูปกลุ่ม ต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้เป็นอย่างดี   ณ เวลานี้ไม่มีอะไรทำรายได้เท่ากับยาพาราอีกแล้ว
  2. ความมีเหตุผล คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ  เฉกเช่น ที่บ้านจำรุงมีการประชุมเวทีชาวบ้านทุกวันที่ 10 ของเดือน และมีการกำหนดแผนการทำงานของชุมชนว่าควรจะดำเนินการไปในแนวทางใด เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำท้องที่ ตัวแทนกลุ่มกิจกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุมจะใช้เหตุผล ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตัว
  3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว พอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก หมายถึง การเตรียมตัวรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตในแต่ละช่วง  บ้านจำรุงมุ้งเน้นการพัฒนาตนเองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 มีการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจากรุ่นสู่รุ่น จนสืบทอดเจตนารมณ์มาถึงผู้นำรุ่นที่ 5  คือ ผู้ใหญ่ชาตรี  ก่อเกื้อ (ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28  สิงหาคม พ.ศ. 2552) ในปัจจุบัน และเป็นแกนหลักในการพัฒนา มีภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ทุกเรื่องที่นำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้รับการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน โดยผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน และใช้วิทยุชุมชนบ้านจำรุงสื่อสาร สร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสาร มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านจำรุงเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพของสมาชิกในหมู่บ้านการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัย 2 ประการ คือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ดังนี้

"เงื่อนไขความรู้" หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่นำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและการตัดสินใจ บ้านจำรุงได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ มีการจัดการความรู้ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต เชื่อมโยงวางแผน และตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลมาโดยตลอด เช่น ข้อมูล จปฐ. ข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลครัวเรือน ฯลฯ

"เงื่อนไขคุณธรรม" หมายถึง ความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต ความอดทนและมีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต คนบ้านจำรุงมีคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ คือ การเสียสละ ซื่อสัตย์ โปร่งใส เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งจากผลการดำเนินงาน โดยการอบรมและลงมือปฏิบัติ จนมีผลผลิตทางอาหาร เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน กะปิ น้ำปลา เป็นต้น กิจกรรมร้านค้าชุมชนดำเนินกิจกรรมเข้าสู่ปีที่ 25 ผลประกอบการมีกำไรเกือบทุกปี และในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ชาวบ้านจำรุงจึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 มีสมาชิก 109 คน มีเงินสัจจะสะสม เป็นเงิน 40,000 บาท สมาชิกทุกคนสัญญาว่าจะเก็บออมเงินไว้เพื่อการผลิตในชุมชนต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 451542เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ยินชื่อหมู่บ้านแห่งนี้มานานครับ

เห็นความสามัคคีของชาวบ้านจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท