การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๑. บูรณาการเวทีคนหนองบัวกับเครือข่ายโรงเรียนในฝันนครสวรรค์


โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน สมาชิกของศูนย์ประกอบด้วยเครือข่ายครูและโรงเรียนในฝันในจังหวัดนครสวรรค์ ทางโรงเรียนต้องการขับเคลื่อนเครือข่าย โดยเชื่อมโยงกับเวทีคนหนองบัวและนำเอาทรัพยากรความรู้จำนวนมากที่เครือข่ายคนหนองบัวได้ใช้สื่ออนไลน์ในเว็บบล๊อก gotoknow.org สร้างสะสมไว้ในบันทึกเวทีคนหนองบัว ครอบคลุมทั้งองค์ความรู้ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน ตลอดจนสื่อ ภาพถ่าย รูปวาด และบันทึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองบัว มาเรียนรู้และหาแนวทางพัฒนาให้เป็นทรัพยากรทางความรู้ ในอันที่จะขยายผลสืบเนื่องไปสู่การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น (Local Wisdom Curriculum)  โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้น ๒ วัน เมื่อวันจันทร์ ๒๕-อังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ห้องประชุมปุณฑริก โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

   ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่นและการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน  

หลักสูตรท้องถิ่นนี้  มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับประชาชนพลเมืองที่ได้รับการให้ความสำคัญมากทั้งในสังคมไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก เนื่องจากจะช่วยลดช่องว่างของผลกระทบจากการศึกษาในกระแสหลักซึ่งทำให้ผู้เรียนถูกแยกส่วนออกจากชุมชนและเรื่องราวของตนเอง และในปฏิญญาสากลของเครือข่ายสหประชาชาติเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม หรือ ยูเนสโก UNESCO ในการประชุมผู้นำสูงสุดทางด้านการศึกษาของโลก (World Summit Conferrence in Education) ครั้งที่ ๑๐ ที่หาดจอมเทียน พัทยา ประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคมปี ๒๕๕๓ ก็ถือเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ในอันที่จะระดมสรรพกำลังเพื่อการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแด่คนทั้งมวล

   การระดมพลังเพื่อการศึกษา All for Education, and Edcaution for All 

เวทีเครือข่ายของหนองบัว-นครสวรรค์ในครั้งนี้ นับว่าได้บูรณาการความจำเป็นของท้องถิ่นเข้ากับประเด็นอนาคตทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก ที่สามารถริเริ่มออกจากต้นทุนและศักยภาพที่คนท้องถิ่นได้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบหนึ่งของการประสานความร่วมมือกันกับโรงเรียนและชุมชนเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของสังคม

นอกจากนี้ ก็ถือเป็นโอกาสนำการเคลื่อนไหว ระดมสรรพกำลังเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน ให้ผู้เรียนและประชาชนพลเมืองมีการเรียนรู้อย่างตลอดชีวิต เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสืบสานวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของตนเอง มีความงอกงามในวัฒนธรรมทางจิตใจ มีกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองสู่วิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนและการรวมกลุ่มของกลุ่มประชาสังคมทางการศึกษาในท้องถิ่น มีความเป็นหน่วยทางวิชาการและแหล่งเคลื่อนไหวทางความรู้ ส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

   กลุ่มผู้เข้าร่วมมีพื้นทักษะการทำงานแนวราบและมุ่งเป็นเครือข่ายกับผู้อื่น  

กลุ่มคุณครูที่เป็นทีมทำงานสำหรับเวทีนี้ เป็นคุณครูจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัว ผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ ๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นครูผู้สอน จากโรงเรียนต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์และโดยรอบอำเภอหนองบัว เช่น โรงเรียนธารทหาร โรงเรียนท่าตะโก โรงเรียนตากฟ้า โรงเรียนวังบ่อ โรงเรียนบ้านหนองดู่ โรงเรียนบ้านห้วยด้วน โรงเรียนเกาะแก้วเทพสถาพร โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) โรงเรียนบ้านปากดง โรงเรียนสหชาติเศรษฐกิจ กลุ่มครูที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม เป็นกลุ่มครูที่ทีมวิทยากรและคณะผู้ดำเนินการโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ให้แนวในการพิจารณาแก่ต้นสังกัด และส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มครูที่มีความสนใจ ขอเข้าร่วมด้วยตนเองเพื่อนำกลับไปทำงาน

   กลุ่มวิทยากรเชื่อมโยงสหวิทยาการผ่านชุมชนออนไลน์  

กลุ่มวิทยากรและแหล่งวิทยาการ ประกอบด้วยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กับคณะนักวิจัยและนักวิชาการจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ประกอบด้วย คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร คุณกานต์ จันทวงษ์ และคุณณัฐพัชร์ ทองคำ อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนดีประจำตำบลและโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอหนองบัว พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) วัดศรีโสภณ และพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก

   จุดหมายสำคัญเพื่อการศึกษาและเพื่อสุขภาวะปัญญาของสังคม  

จุดหมายสำคัญของการอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาเครือข่ายในครั้งนี้คือ การบูรณาการทรัพยากรความรู้และระดมทรัพยากรวิชาการต่างๆจากเวทีคนหนองบัว คลังข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ รวมทั้งชุดสื่อนิทรรศการ ชุดหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นจากพลังของจิตอาสา เข้าสู่การเป็นปัจจัยเสริมกำลังเครือข่ายครูและเครือข่ายโรงเรียนในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในโรงเรียน

กล่าวได้ว่า เป็นการสร้างโอกาสในการร่วมกันระดมสรรพกำลังเพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้การศึกษาไม่แยกส่วนจากความเป็นตัวของตัวเองและร่วมกันเป็นเครือข่ายทางวิชาการให้กับชุมชนเพื่อเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานศักยภาพและภูมิปัญญาที่พอเพียงของตนเอง.

หมายเลขบันทึก: 451403เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • เมื่อวานไปสอนศิลปากร
  • อยู่ดีๆก็คิดถึงอาจารย์
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/451196
  • ชอบการทำงานของทีมอาจารย์
  • ดูแล้วมีความสุข
  • ตั้งใจครั้งหน้ามีเกี่ยวกับการศึกษา
  • นัดพี่ครูต้อย ท่านรอง smallman ไปร่วมนะครับ
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
พรรคพวกที่ไปทำงานกันครั้งนี้ก็กล่าวถึงอาจารย์อยู่มิได้ขาดนะครับ ยิ่งตอนทดลองให้ผู้ร่วมอบรมลงมือเปิดบล๊อกและเขียนบันทึกของตนเอง แล้วได้เห็นอาจารย์เข้าไปสนทนาด้วย ก็ให้ตื่นเต้นและได้ความประทับใจกันอย่างทั่วหน้า

ผมกลับมาแล้วก็เป็นไข้หวัดเสียงอมแงม เพิ่งจะฟื้นไข้วันนี้เองแหละครับ รู้สึกเพลียๆตั้งแต่ไปแพร่แล้ว พอต่อเนื่องมาที่หนองบัวได้อีกสองวัน กลับไปแล้วก็ไข้งอมเลย

อาจารย์ครับ ขอให้หายป่วยไวๆนะครับ...

เห็นผอ.พนม แห่งรร.บ้านหนองไผ่ เข้าไปมีบทบาทด้วยเช่นนี้..ชื่นชมค่ะ

อยากแนะนำสมุนไพร"ฟ้าทะลายโจร" ที่ออกฤทธิ์แก้หวัดได้ดีมากๆ..พี่ใหญ่ใช้เสมอค่ะ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ขจิตครับ
ตอนนี้ค่อยยังชั่วมากแล้วครับ

ขอบพระคุณครับพี่ใหญ่ครับ

ตอนนี้ต้องเอายาหอมมาดมเลยทีเดียวละครับ สมุนไพรฟ้าทะลายโจรนี่เคยใช้ครับ ใช้ได้ดีเลยละครับ อาจารย์พนมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นวิทยากรที่ทำให้เรื่องราวต่างๆดูใกล้ชิดกับการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและบทบาทของโรงเรียนได้เป็นอย่างดีที่สุดเลยละครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

มีวาสนาได้พบพระคุณเจ้า มหาแล และพระคุณเจ้าพระอธิการโชคชัย ได้สนทนาธรรมปราศัยในการเดินทาง

แลกเปลี่ยนกันตลอดร่วมเดินทาง

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ อันที่จริงนั้น งานนี้จะมีหนานเกียรติ คุณเอก และคุณครูคิม เป็นวิทยากรด้วยครับ แต่พอมาเกิดอุบัติเหตุกับหนานเกียรติ และหลายท่านก็อยู่ในบรรยากาศความเสียใจ ผมก็เลยปรับแต่งกระบวนการให้ย่นย่อลง แต่ก็ได้ขอให้ทางโรงเรียนทำหนังสือเชิญหนานเกียรติด้วย

ท่านพระอาจารย์มหาและและท่านพระอธิการโชคชัย หลังจากเสร็จจากร่วมงานฌาปนกิจของหนานเกียรติที่ตากแล้ว ก็เดินทางไปกันเองที่หนองบัว พระคุณเจ้าทั้งสองนั่งเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาวัฒนธรรมด้านจิตใจโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ท่านพระอาจารย์มหาแลนั้น ครั้งนี้ท่านแสดงทรรศนะจับใจเวทีหลายอย่าง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท