“กรมหม่อนไหม” กรมน้องใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนที่ 1


“กรมหม่อนไหม”

วิโรจน์  แก้วเรือง

         กรมหม่อนไหม จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นกรมที่ ๑๔ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒และกฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นกรมหม่อนไหมตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ต่อแต่นี้ไป ประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไรจากกรมหม่อนไหม กรมใหม่แต่ไม่ใหม่ จะเป็นอย่างไรบ้าง โปรดติดตาม

         ย้อนไปเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เราเคยมี กรมช่างไหม ด้วยสาเหตุประเทศไทยต้องสั่งซื้อผ้าไหมเป็นสินค้าเข้า การทำผ้าไหมเป็นอาชีพรองที่ทำกันเล็กๆน้อยๆในชนบท ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ในครอบครัวเท่านั้น แม้แต่โคราชซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงไหมยังต้องสั่งซื้อไหมดิบจากต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้นปริมาณการสั่งซื้อผ้าไหมและผ้าฝ้ายเข้ามาเพิ่มทุกๆปี เช่นปี ๒๔๓๖สั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนเงิน ๔,๘๖๖,๘๒๑บาท ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๔ นำเข้ามาเป็นจำนวนเงิน ๘,๙๒๑,๗๑๙ บาท เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายใน ๕ ปี รัฐบาลไทยเองก็เริ่มคิดจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการทำผ้าไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องสั่งเข้ามา

         เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๔๖ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้ง “กรมช่างไหม” ซึ่งมีเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมกองการผลิตและกองการเลี้ยงสัตว์เข้าไว้กับกองช่างไหม จัดตั้งเป็นกรมช่างไหม โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์(กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม)พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จกลับจากการศึกษาวิชาการทางการเกษตรที่ประเทศอังกฤษเป็นอธิบดีพระองค์แรก

การจัดตั้งโรงเรียนช่างไหม 

         งานหลักของกรมช่างไหมคือผการสร้างโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๔๖ ผู้ที่เข้ารับการอบรมรุ่นแรกได้แก่บรรดาสตรีในพระราชสำนัก ๑๖ คน วิชาที่ทำการอบรม ได้แก่ วิชาเกี่ยวกับการปลูกหม่อน วิธีการเลี้ยงไหม วิธีการเก็บรังไหม วิธีการสาวไหมฯลฯ ตอนเช้าเป็นทฤษฎี  ตอนบ่ายเป็นภาคปฏิบัติ ผู้ทำหน้าที่อบรมได้แก่ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นที่รัฐบาลไทยจ้างได้แก่  ดร.โทยาม่า,นายทาคาโน้และนายฮิราโน้

        เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๔๗ มีการเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวันเรียกว่าโรงเรียนกรมช่างไหมหรือ โรงเรียนช่างไหมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการสร้างผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ช่วงเวลา ๒ ปีที่ฝึกปฏิบัติอยู่จะให้เงินอุดหนุนแก่ผู้เข้ารับการอบรมคนละ ๒๐ บาท เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องรับราชการเป็นเวลา ๕ ปี โรงเรียนปทุมวัน เป็นโรงเรียนและสถานีทดลองเลี้ยงไหมมีหอพักสำหรับนักเรียนด้วย แรกเปิดมีนักเรียน ๑๓ คน โดยมีนักเรียนหญิง ๒ คนเข้ามาฝึกหัดการสาวไหม โรงเรียนจะสอนวิชาภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน ทำให้โรงเรียนของกรมช่างไหมมีมาตรฐานสูง โรงเรียนกรมคลองและโรงเรียนกรมแผนที่จึงฝากนักเรียนมาเรียนด้วย และชื่อของโรงเรียนเปลี่ยนเป็น โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก หรือ โรงเรียนเพาะปลูกนักเรียนกรมช่างไหมที่สำเร็จการศึกษาได้ไปทำงานเป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าประจำสถานีทดลองเลี้ยงไหมต่างๆในภาคอีสาน ต่อจากชาวญี่ปุ่นที่หมดสัญญาแล้ว

          ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ กรมช่างไหมย้ายไปรวมอยู่ที่เดียวกับที่ทำการกระทรวงเกษตราธิการและสถานีทดลองเลี้ยงไหมที่ปทุมวันก็ย้ายไปรวมกับสถานีทดลองเลี้ยงไหมที่โคราช โรงเรียนเพาะปลูกรวมกับโรงเรียนของกรมแผนที่และโรงเรียนกรมคลอง เรียกว่า โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ ทรงดำเนินการมาตั้งแต่โรงเรียนกรมช่างไหม และในที่สุดโรงเรียนก็ได้พัฒนามาจนกลายเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปัจจุบัน

          การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ ทำให้ขาดการสนับสนุนและดำเนินการด้านหม่อนไหมอย่างจริงจัง กอปรกับเกิดการระบาดของโรคไหม รัฐบาลจึงได้ประกาศปิดสถานีทดลองเลี้ยงไหมและสาขาทุกแห่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖

การฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในยุคปัจจุบัน

          พ.ศ.๒๔๗๘ ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอีกครั้งหนึ่ง โดยมี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิบดีกรมเกษตรและประมง จัดพิมพ์คำแนะนำการเลี้ยงไหมทำไหม ของหลวงชำนาญโกสัยศาสตร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจในการเลี้ยงไหม  พ.ศ. ๒๔๗๙ กระทรวงเศรษฐการ ได้จัดตั้งโรงงานสาวไหมที่จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงเกษตราธิการมอบหมายให้กรมเกษตรดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงไหมแก่เกษตรกร ในปี ๒๔๘๑ ได้มีการตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นที่ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาจัดตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมหนองคาย ห้วยแก้ว และพุทไธสง สังกัดกองพืชพันธุ์ กรมกสิกรรม

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้งสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมร้อยเอ็ด พ.ศ.๒๕๑๐ จอมพลผิน ชุณหะวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งเป็นสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนจากรับบาลญี่ปุ่น ดำเนินงานด้านวิจัยหม่อนไหม การผลิตไข่ไหม โรคแมลงศัตรูหม่อนไหม และการสาวไหมที่ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมาและสถานีทดลองในเครือข่าย ๔ แห่ง คือ อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหารและอุบลราชธานี สังกัดกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลิตไข่ไหมและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเส้นไหมได้ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน พร้อมขยายงานส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสู่กรมส่งเสริมการเกษตร  ก่อนดำเนินการทำให้อุตสาหกรรมการทำไหมเจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาเป็นลำดับ

          อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะสัมฤทธิ์ผลดียิ่งขึ้น ถ้าหน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงดำเนินการจัดตั้ง”สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”โดยมีลำดับการดำเนินงานดังนี้

         ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ เรื่องการอนุรักษ์หม่อนไหมไทย

          ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องขอให้จัดตั้งสถาบันหม่อนไหม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

         ๔ เมษายน ๒๕๔๖ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือเรียนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นสมควรจัดตั้งสำนักงานหม่อนไหมแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการภารกิจต่างๆที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ให้มีการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมสัมมนากับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาบทสรุปในการคุ้มครองผ้าไหมไทย

          ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

         ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเรื่องการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นส่วนราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและบริหารจัดการ ด้านหม่อนไหมให้เป็นไปอย่างเป็นระบบครบวงจร

         การดำเนินงานของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังไม่บรรลุภารกิจอย่างเป็นระบบครบวงจร จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้ง   เป็นหน่วยงานระดับกรมดังนี้

         “กรมหม่อนไหม” ได้รับการจัดตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีผลเป็นหน่วยงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา และเป็นกรมลำดับที่ ๑๔ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการจัดตั้งได้มีขั้นตอน ดังนี้

         ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งที่ ๒๘๗/๒๕๕๑ แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกรมหม่อนไหม

          ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการสมควรยกฐานะสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็น”กรมหม่อนไหม”สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อหน่วยงานว่า”กรมหม่อนไหม”โดยขอให้มีการบันทึกไว้ว่า “ตั้งโดยพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๑๐.๑/๑๐๘๘๗ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

           ๑๓ สิงหาคม  ๒๕๕๒ สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (จัดตั้งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และให้นำเสนอวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

         ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ วุฒิสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (จัดตั้งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และให้ส่งสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไป

         ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (จัดตั้งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

          ๒๖ พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๗)พ.ศ. ๒๕๕๒ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๒ ก หน้า ๑ - ๓ วันที่ ๓ ธันวาคม    พ.ศ. ๒๕๕๒ กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

          ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒ นำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาลงนามให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

         ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายกรัฐมนตรีลงนามกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๕๒ และประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๘ ก หน้า ๑๑๖-๑๑๗ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒

          ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมหม่อนไหมและกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สป.กษ เล่มที่ ๑๒๖ ตอนที่๙๘ ก หน้า๑๒๕-๑๒๖ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๘ ก หน้า ๑๑๘-๑๒๔ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 451396เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท