ศิลปะอินเดียลุ่มแม่น้ำสินธุ โมเฮนโจดาโร-ฮารัปปา


          ศิลปะในประเทศอินเดีย มีมาอย่างยาวนานมากกว่า 4,500 ปี นับว่าเป็นศิลปะที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ศิลปะใด ๆ ในโลกนี้ อีกทั้งยังมีอิทธิพลมากมายให้กับประเทศหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาศิลปะอินเดียจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการศึกษาศิลปะในภูมิภาคนี้และประเทศไทย สำหรับประเทศไทยรับรับอิทธิพของศิลปะอินเดีย ทั้งใน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม รวมถึงคติความเชื่อของการสร้างงานศิลปะด้วย

ภูมิหลังอินเดีย 

          ประเทศอินเดียเป็นดินแดนอารยธรรมแห่งหนึ่งของโลกที่มีการรับอารยธรรมจากภายนอกและเผยแพร่อารยธรรมไปสู่ดินแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินเดียได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากต่างประเทศ 4 ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่ง ประมาณ 2,000 ปีก่อนพุทธศักราช อิทธิพลจากประเทศเมโสโปเตเมียได้แพร่เข้ามาในลุ่มแม่น้ำสินธุจนถึงประมาณ 1,000 ปีก่อนพุทธศักราช เมื่อชาวอารยันได้บุกรุกอินเดียและทำลายอารยธรรมดั้งเดิม ครั้งที่สอง ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ได้รับอิทธิพลศิลปะจากอิหร่านและกรีก ครั้งที่สามพุทธศตวรรษที่ 6 ได้รับอิทธิพลของกรีกและโรมันเข้ามามีบทบาทต่อศิลปอินเดียและครั้งที่สี่พุทธศตวรรษที่ 16 กลุ่มมุสลิมซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้รุกรานอินเดียและพุทธศตวรรษที่ 21 ราชวงศ์โมกุลเข้าครอบครองอินเดีย ศิลปะอินเดียระยะต่อมาก็ได้รับอิทธิพลของอิหร่าน

          อินเดียเป็นประเทศที่มีศาสนาหลายศาสนา ศาสนาดั้งเดิม คือ ศาสนาพระเวท ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นศาสนาพราหมณ์ และในช่วงต้นพุทธศักราชได้เกิดศาสนาไชนะ และพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศตวรรษที่ 6 พุทธศาสนาได้เกิดลัทธิขึ้นใหม่คือ ลัทธิมหายาน ซึ่งได้รับเอาความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปน พุทธศตวรรษที่ 10 ศาสนาพรามหณ์ ได้ปรับปรุงเพื่อต่อต้านพุทธศาสนาลัทธิมหายาน จึงเป็นศาสนาฮินดู ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลัทธิใหญ่ คือ ไศวนิกายซึ่งนับถือ พระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่ และไวษณพนิกายซึ่งนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ต่อมาพุทธศาสนาก็เกิดลัทธิตันตระ ก่อนที่ชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ศาตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล  ทรงแบ่งศิลปะอินเดียออกเป็น 2 สมัยโดยกว้างคือ สมัยก่อนอินเดีย และศิลปะอินเดียแท้ซึ่งมีรายละเอียดของพัฒนาการดังนี้คือ ศิลปะสมัยก่อนอินเดีย และ ศิลปะศิลปะสมัยอินเดียแท้ 

ศิลปะสมัยก่อนอินเดีย

          รากฐานศิลปะก่อนอินเดียคือวัฒนธรรมที่ใช้ภาษาสันสกฤต มีศิลปะที่เมืองหะรัปปา (Harappa) และโมเหนโช-ดาโร (Mohenjo-daro) ทางแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อ 1,500 ปีก่อนพุทธศักราช อารยธรรมบนลุ่มแม่น้ำสินธุ

 

เมืองโมเฮนโจดาโร

จากการเรียนในวิชาประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง

          แม้ว่าอารยธรรมอินเดียจะเจริญรุ่งเรืองมาแล้วแต่ครั้งโบราณ แต่ตราบจนปลายศตวรรษที่สิบแปดก็ยังไมมีการริเริ่มศึกษาและค้นคว้ากันอย่างจริงจัง จนมาถึงในศตวรรษที่สิบเก้า การค้นคว้าเกี่ยวกับอารยธรรมของอินเดียโบราณ ก็ยังคงเป็นไปทางวรรฑคดีและภาษาเป็นส่วนใหญ่จากหลักฐานที่มีอยู่จนกระทั่ง ค.ศ. 1862 รัฐบาลอินเดียจึงได้เริ่มตั้งสมาคมทางโบราณคดีขึ้น การค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญในอินเดียภายใต้การนำของเซอร์ จอห์น มาร์แชล (Sir John Marshall) คือการค้นพบอารยธรรมแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization) ใกล้กับเมืองฮารัปปา (Harappa) แถบแคว้นปัญจาบ ใน ค.ศ. 1912 และต่อมาอีกหนึ่งปีก็ได้มีการขุดพบซากเมืองโมเฮ็นโจดาโร ( Johenjo Daro) ในแคว้นซินด์ (Sindh) พิสูจน์กันว่าคงเป็นซากของอารยธรรมของพวกดราวิเดียน (Dravidians) ซึ่งเป็นพวกแรกที่เจริญมากในอินเดีย อาจสันนิษฐานว่าเมืองเหล่านี้รุ่งเรืองอยู่ระหว่างประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล และเจริญมาถึง 2,000 ปีก่อนคริสต์กาล

ประติมากรรมชายมีเครา


ประติมากรรมหญิงสำริด

ภาพแกะสลักบนหินสบู่รูปคนและสัตว์ต่าง ๆ 


ภาพแกะสลักบนหินสบู่รููปคนสวดเครื่องสวมหัวมีเขา


ภาพแกะสลักบนหินสบู่รูปคนและสัตว์

จากการเรียนในวิชาประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง

          ทั้งเมืองโมเฮ็นโจดาโร และฮารัปปานี้มีผังเมืองอย่างเดียวกัน จากการขุดค้นพบซากเมืองเก่าพบว่ามีบ้านเล็ก และบ้านใหญ่เป็นจำนวนมาก มีประตู หน้าต่าง พื้นบ่อ ท่อระบายน้ำและยังมีสถานที่สาธารณะ เช่น ที่อาบน้ำใหญ่ ซึ่งมีบ่อน้ำล้อมรอบด้วยห้องอาบน้ำเล็ก ๆ และระเบียง มีถนนกว้าง มีทางระบายน้ำอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้สร้างต้องเป็นผู้ชำนาญการในการออกแบบก่อสร้างดีมากด้วยสิ่งที่น่าทึ่งในการขุดพบครั้งนี้ คือการขุดพบตึกหลายชั้นที่เมืองโมเฮ็นโจดาโร สันนิษฐานว่าเมื่อเมืองชั้นหนึ่งถูกทับถมขึ้นมาด้วยการพอกพูนของแผ่นดินหรือน้ำท่วม ก็มีการสร้างเมืองใหม่ลงบนที่เก่าตามแผนผังเมืองเก่า การค้นพบเมืองเก่านี้ทำให้แลเห็นชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของคนด้วย เมื่อพวกอินโดอารยันเข้ามาหลังสมัยโมเฮ็นโจดาโรแล้ว ก็พบว่าพวกดราวิเดียนเชื่อภูตผีปีศาจ และเทพที่สถิตตามต้นไม้ ลำธาร ภูเขา ซึ่งมีโชคลางแอบแฝงอยู่ทั่วไป พวกดราวิเดียนบูชางูต่าง ๆ โดยเฉพาะงูเห่าด้วยถือเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

           อารยธรรมในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนี้ค่อย ๆ เสื่อมลงก่อนสูญหายไป สังเกตจากมีการก่อสร้างบ้านเรือนธรรมดาลงบนฐานของคฤหาสน์ใหญ่ ๆ และแผนผังเมืองก็มิได้เป็นระเบียบดังเช่นในสมัยที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ แต่อย่างไรก็ตามอารยธรรมแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีคุณลักษณะพิเศษ และเป็นของตนเองโดยแท้จริงแม้ว่าจะมีการติดต่อกับแถบเมโสโปเตเมีย แต่ความเป็นอยู่ของผู้คนและการปฎิบัติทางศาสนาก็แตกต่างกันไปบ้านเรือนผู้คนแถบนี้สร้างใหญ่โตอยู่สบาย มีที่อาบน้ำประกอบอยู่ด้วย แต่มิได้มีการสร้างโบสถ์ววิหารอันใหญ่โตปรากฎอยู่ เมื่อพวกอินโดอารยันมารุกรานแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนี้ สิ่งที่เป็นอารยธรรมของเมืองโมเฮ็นโจดาโรและฮารัปปาแต่เดิม ก็ยังคงเหลืออยู่เป็นมาตรฐานส่วนใหญ่ของอารยธรรมอินเดีย ตราบเท่าทุกวันนี้

          พวกอินโดอารยัน สืบเชื้อสายมาจากพวกอารยันหรืออินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) ซึ่งสันนิษฐานว่า เดิมมีภุมิลำเนาอยู่ทางภาคกลางของทวีปเอเชีย บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบแคสเปียน (Caspian Sea) ได้อพยพออกจากบริเวณดังกล่าว และได้กระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ พวกหนึ่งไปทางทิศตะวันตกและกระจายไปเป็นพลเมืองของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป พวกนี้เรียกว่า พวกอินโด-ยูโรเปียน พวกที่สองไปทางทิสตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปในอัฟกานิสถาน และหลังจากได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ระยะหนึ่งพวกนี้ก็ขยับขยายไปทางทิศตะวันตกเข้าไปในเปอร์เซีย พวกนี้เรียกว่า พวกเปอร์เซียนหรืออิเรเนียน (Iranian) พวกที่สามไปทางตะวันออกผ่านช่องเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าไปในอินเดีย เรียกว่าพวกอินโดอารยัน (Indo-Arayans) ซึ่งเข้ามารุกรานอินเดียประมาณตั้งแต่ 2000-1500 ปีก่อนคริสต์กาล

          พวกอินโดอารยัน เป็นคนผิวขาวผ่อง มีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรง มีรูปศีรษะยาว จมูกโด่งและร่างกายได้สัดส่วน เป็นพวกที่ชอบดื่มและบริโภคอาหาร และพร้อมที่จะจับอาวุธขึ้นรบ เมื่อเข้ามาในอินเดียพวกอินโดอารยันดำรงชีวิตอยู่อย่างมีทรัพย์สมบัติคือปศุสัตว์ อาหารของพวกนี้คือ นม เนย ข้าว และยังไม่ห้ามการบริโภคเนื้อวัว บิดาเป็นประมุขของบ้าน และเป็นผู้ประกอบพิธีทางศาสนา มีกษัตริย์หรือราชาเปนหัวหน้าหมู่ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยหลายครอบครัว เป็นผู้ให้ความยุติธรรมและเป็นแม่ทัพ ชายที่มีอายุพอสมควรทำหน้าที่เป็นนักรบช่วยเหลือหัวหน้าหมู่ ในระยะนี้วรรณะยังไม่มีขึ้นในอินเดีย อีกทั้งมีความสามารถเหนือพวกดราวิเดียนในทางการรบ การขับไล่พวกดราวิเยนให้ถอยร่นไป ถือเป็นหน้าที่อันสำคัญของพวกอินโดอารยัน พวกนี้ได้ปะปนสายโลหิตกับพวกดราวิเดียนและรับเอาขนบธรรมเนียม นาน ๆ เข้าพวกอินโดอารยันก็เกรงว่าจะถูกกลืนโดยพวกดราวิเดียน และต้องการรักษาสีผิวของพวกอารยันไว้ จึงเกิดมีการแบ่งชั้นวรรณะขึ้น (Caste System) ในชั้นต้นจุดประสงค์สำคัญเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดอารยันไว้มากกว่าเป็นการแบ่งชั้นทางสังคม

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

หนังสือประกอบการเขียน

กำจร สุนพงษ์ศรี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกาณ์มหาวิทยาลัย. 2553.

พรพรรณ จันทโรนานนท์, รศ. ศิลปะวิจักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2544.

สุภัทรดิส ดิสกุล, ศ.ดร. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง อินเดีย ลังกา ชวา ขอม พม่า ลาว.พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ศิลปะวัฒนธรรม. 2553.

หมายเลขบันทึก: 449840เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ ได้ไปเขียนรายงานพอดีเลยค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท