หลังจากที่ผู้เขียนไม่ได้เข้าฟาร์มเป็นเวลา 3 อาทิตย์กว่าๆ เพราะงานยุ่ง ก็มีโอกาสเข้าฟาร์มในคืนวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 และมีเวลาอยู่ที่ฟาร์มแค่ถึงเช้าวันที่ 17 กรกฎาคม 2554 เพราะ เวลา 09.30 น. มีนัดพูดคุยรอบสองกับทีมวิทยากรอบรมครูแนะแนว (อบรมครูแนะแนวจำนวนประมาณ 900 คน จากจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยจัดเป็น 10 รุ่น รุ่นละ 3 วัน รุ่นแรกเริ่ม 19 กรกฎาคม 2554)
ในช่วงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ก่อนเข้าฟาร์ม ผู้เขียนได้โทรศัพท์ถามพ่อใหญ่สอว่า ที่วัดมีพระจำวัดอยู่กี่รูป (พระจะอยู่จำวัดไม่แน่นอน โดยจะมี 1-5 รูปในแต่ละช่วงเวลา เพราะต้องไปพบท่านเจ้าอาวาสที่วัดใหญ่เป็นระยะๆ และไปช่วยงานที่วัดใหญ่และวัดสาขาอื่นๆ เวลามีงานบุญ) พ่อใหญ่สอซึ่งกำลังเดินทางเข้าเมืองไปขายแก้วมังกรตอบว่ไม่มี ผู้เขียนแย้งว่า พรุ่งนี้ก็เป็นวันอาสาฬหบูชาและมะรืนนี้ก็เป็นวันเข้าพรรษา จะไม่มีพระอยู่ที่วัดได้อย่างไร แกเลยโทรฯ ถามผู้ใหญ่บ้าน ได้คำตอบว่า มีพระ 2 รูป ก่อนเข้าฟาร์มผู้เขียนจึงได้แวะซื้อเครื่องไทยธรรมถวายพระ 2 ชุด ... เดิมทีนั้นบ้านหนองฝางซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีแค่ 50 หลังคาเรือน ไม่มีวัด พ่อใหญ่สอเห็นว่าเมื่อมีบ้านก็ต้องมีวัด จึงได้เสนอแนวคิดการสร้างวัดในที่ประชุมหมู่บ้าน และก็ได้รับการขานรับเป็นอย่างดี พ่อใหญ่สอจึงได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินจำนวน 7 ไร่ และเจ้าของที่ร่วมบริจาคที่ดินสมทบอีก 7 ไร่ รวมเป็น 14 ไร่เพื่อสร้างวัด ที่สำหรับสร้างวัดอยู่ตรงกันข้ามกับสวนยางของพ่อใหญ่สอ ดังภาพล่างซ้าย ที่มองเห็นต้นไม้หนาแน่นฝั่งซ้ายของถนนคือที่สำหรับสร้างวัด ฝั่งขวาของถนนคือสวนยางของพ่อใหญ่สอ ภาพกลางเป็น "ป้ายวัด" ซึ่งหลวงปู่เณรคำเจ้าอาวาสวัดป่าขันติธรรม ได้อนุญาตให้สร้างเป็นวัดสาขาโดยให้ชื่อว่า "วัดป่าขันติบารมี สาขาที่ 6" ภาพขวาคือกุฏิหลวงปู่เณรคำ วัดและสวนยางห่างจากโรงเรียนประมาณ 200 เมตร และห่างจาก "ฟาร์มไอดิน-กลิ่น ไม้"ประมาณ 400 เมตร พิธีขึ้นเสาเอกศาลาวัดมีขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 และหลวงปู่เณรคำได้เดินทางไปปลูกต้นโพธิ์ที่วัดในวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 จากนั้นชาวบ้านได้สร้างและพัฒนาวัดไปตามลำดับ ขณะนี้ที่วัดมีศาลา 1 หลัง กุฏิพระ 5 หลัง ห้องสุขาพระ 3 ห้อง ห้องสุขาโยม 10 ห้อง และตอนนี้กำลังสร้างโรงครัวใหม่อีก 1 หลัง
ผู้เขียนและพ่อใหญ่สอขับรถเข้าฟาร์มคนละคัน โดยแวะทานข้าวเย็นก่อน ถึงฟาร์มประมาณ 21.30 น. เช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ผู้เขียนลุกจากที่นอนสายกว่าปกติคือประมาณ 05.00 น. สิ่งแรกที่ทำคือเปิดประตูออกไปสำรวจสวนแก้วมังกร พบว่า มีดอกสีขาวบานกระจายเต็มสวน จึงรีบคว้ากล้องเข้าไปเลือกถ่ายรูปในมุมต่างๆ ถ้าอยากได้ภาพดอกแก้วมังกรที่บานเต็มที่อย่างภาพล่างกลางต้องถ่ายในเวลาไม่เกิน 05.45 น. (เพราะพอพระอาทิตย์ขึ้น ดอกแก้วมังกรก็จะเริ่มหุบ อย่างเช่นภาพซ้ายมือที่ถ่ายในเวลาประมาณ 06.30 น.) ภาพขวาลูกแก้วมังกรอย่างที่เห็น ต้องรออีก 2-3 วันถึงจะเก็บได้ ไม่เช่นนั้นจะหวานน้อยเพราะยังสุกไม่เต็มที่ ซึ่งถ้าสุกเต็มที่เปลือกจะเป็นสีแดงเข้ม ส่วนภาพถัดไปได้จากการปีนบันไดอลูมิเนียมขึ้นไปถ่ายให้ได้รูปมุมสูง (โชคดีที่วันนั้นมีดอกแก้วมังกรบานเป็นจำนวนมาก ส่วนวันที่ 16 และ 17 จะบานน้อยกว่ามาก) ถามพ่อใหญ่สอได้ข้อมูลว่า ดอกแก้วมังกรจะบานชุดใหญ่อาทิตย์ละครั้ง รุ่นนี้จะออกดอกออกผลไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยทั่วไปจะออกดอกออกผลประมาณ 5 เดือน แล้วพักต้นประมาณ 7 เดือน
เสร็จจากถ่ายภาพสวนแก้วมังกร ได้เก็บแก้วมังกรจากต้น 2 ลูกเพื่อให้พ่อใหญ่สอนำไปจังหันพระที่วัดพร้อมด้วยห่อหมกปลา ดอกไม้หอมที่นำส่วนหนึ่งไปบูชาพระ ประกอบด้วย ดอกนางแย้ม ลีลาวดี (คัทลียา) บุหงาส่าหรี บุหงาแต่งงาน และดอกพุด 3 ชนิด ก่อนไปวัดได้ถามพ่อใหญ่สอว่า "เครื่องไทยธรรมเขากำหนดถวายวันนี้หรือพรุ่งนี้ และถวายเวลาไหน" พ่อใหญ่สอบอก "ไม่รู้ ที่นี่เขาไม่มีรูปแบบ..." แต่หลังจากออกไปวัดครู่ใหญ่ พ่อใหญ่สอก็กลับไปที่ฟาร์มและตะโกนถามจากรถว่า เตรียมอะไรถวายพระอยู่ใช่ไหม เขากำลังจะถวายกันแล้ว เกือบไม่ได้ถวายนะนี่...พูดราวกับว่าเป็นความบกพร่องของเรา ผู้เขียนใช้เวลาประมาณ 3 นาทีในการแกะซองพลาสติกที่หุ้มกล่องเครื่องไทยธรรมอีกกล่องที่ยังไม่ได้แกะ และเขียนข้อความบนกล่อง ตามที่มีข้อความระบุไว้ว่า ใครถวาย และอุทิศให้ใคร ยังไม่เสร็จแกก็บีบแตรและตะโกนถามว่าเสร็จแล้วยัง
พอคล้อยหลังพ่อใหญ่สอ ผู้เขียนก็เตรียมต้มน้ำชงกาแฟ เคยบอกย้ำพ่อใหญ่สอทุกครั้งก่อนกลับเข้าเมืองให้ใส่่ใบเตยในกระติกน้ำร้อนด้วยเวลาต้มน้ำชงกาแฟ เพราะใบเตยมีอยู่มากมายและเป็นผลดีต่อสุขภาพ แกก็ไม่เคยทำตาม โดยบอกว่าไม่มีเวลา ก็ดูสิใบเตยอยู่ข้างครัวแค่นี้เอง ใช่ว่าจะต้องเดินไกลไปเก็บซะที่ไหน อีกอย่างบอกแกว่า ผักปลอดสารพิษ ซึ่งมีทั้งผักกินสดๆ เช่นผักหูปลาช่อนที่เกิดเองในกระถางต้นไม้รอบบ้าน ผักติ้ว (แต้ว) จิก ผักเสม็ดและก้างปลาเขาที่ปลูกไว้รอบขอบสระชั้นสอง และผักที่ใช้ลวก-นึ่งจิ้ม เช่น ผักยอดตอง บุษบาริมทาง ช่อดอกเอื้องหมายนา และผักตำลึงทอง (ผักสองชนิดหลังเกิดเองตามธรรมชาติ และสองชนิดแรกใช้แกงอ่อมหรือแกงคั่วก็ได้ อร่อยมาก) ก็รู้จักเก็บไปกินบ้าง อย่าซื้อแต่กะหล่ำปลีที่ห่อสารพิษเอาไว้มากมายไปกิน ปลีกล้วยถ้าไม่กิน เวลาเข้าเมืองก็ตัดแล้วเอาไปให้ด้วย และกล้วยก็ดูหน่อยถ้ามันสุกก็ตัดไปกินอย่าปล่อยให้สุกจนเน่า...ทุกอย่างที่พูดไปเหมือนเป็นเสียงนกเสียงกา แกไม่เคยใส่ใจ พอต่อว่า แกก็พูดอยู่อย่างเดียว ..."ไม่มีเวลา"...นี่แหละคือเขาละ...พ่อใหญ่สอแห่งฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ ผู้ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ผู้เขียนเลยได้ข้อสรุปว่า "สรรพสิ่ง...เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ที่มั่นคง ยืนนาน คือ ปฏิบัติการของพ่อใหญ่สอ" (ภาพผักในจานทั้งหมดเป็นผักที่ผู้เขียนเก็บไปรับประทานในวันที่ 16 ก.ค. 54)
ผักยอดตอง ผักบุษบาริมทางและเอื้งหมายนา (ดอกขาว) ผักตำลึงทอง
หลังต้มน้ำชงกาแฟ ผู้เขียนได้ออกไปสำรวจถนนหน้าฟาร์มเพื่อดูว่ามีเศษขยะไหม และก็ไม่ผิดคาด เพราะมีกล่องนม ถุงขนม ขวด-กระป๋องเครื่องดื่มให้เก็บตามเคย ซึ่งเป็นฝีมือของทั้งเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่ (บอกพ่อใหญ่สอให้พูดคุยขอความร่วมมือเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา และเป็นที่ปรึกษาหลายคณะกรรมการของหมู่บ้าน แต่แกบอกว่า พูดไม่ได้ ก็ไม่ทราบเพราะอะไรถึงไม่ได้ เพราะเรื่องการดำเนินชีวิตให้ถูกสุขลักษณะก็อยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว และอบต.ก็มีโครงการบ้านน่าอยู่ที่มีเรื่องความสะอาดเป็นระเบียบ ถูกสุขลักษณะเป็นองค์ประกอบเช่นกัน) เก็บเสร็จก็ไปถ่ายภาพนาข้าวของเพื่อนบ้านติดรั้วด้านทิศตะวันออก และสะเดาแนวรั้วด้านในของฟาร์ม (ดังภาพข้างล่าง) ที่ปลูกเพื่อเป็นด่านแรกในการป้องกันแมลงศัตรูพืช ลูกสะเดาพ่อใหญ่สอจะนำไปทำส่วนผสมของสารชีวภาพกำจัดแมลงศัตรูพืช ส่วนผู้เขียนเก็บดอกไปกินและเป็นของฝาก
ถ่ายภาพนอกฟาร์มเสร็จแล้วก็กลับเข้าฟาร์มและถ่ายภาพ "ภูมิทัศน์ทางเข้าฟาร์มด้านซ้าย" ซึ่งมีต้นหมากเตี้ย (ออกลูกปีนี้เป็นปีแรก ปลูกไว้หลายต้นแต่เหลือรอดสองต้น) ชมพูพันธุ์ทิพย์ (ต้นใหญ่สุด ที่มีดอกสีชมพูอ่อน) พู่จอมพล (ที่มีดอกสีชมพูเข้ม) และหูกระจง ตามลำดับ สังเกตว่า "หน้าฝนฟาร์มจะออกโทนสีเขียว ไม่มีสีสันหลากหลายของดอกไม้เหมือนหน้าหนาว"
ประมาณ 08.00 น. พ่อใหญ่สอกลับจากวัดไปทานกาแฟเช้า ผู้เขียนถามต่อว่า "กิจกรรมทางศาสนาเย็นวันนี้และพรุ่งนี้มีอะไรบ้าง พ่อใหญ่สอตอบว่า "ไม่รู้" ผู้เขียนพูดว่า "ไม่รู้ทำไมไม่ถามคนที่รู้" แกก็ตอบ "ไม่รู้จะถามใคร" ผู้เขียนก็บอกว่า พ่อใหญ่ทองที่เป็นมรรคทายกไม่อยู่หรือ ผู้ใหญ่บ้านไม่อยู่หรือ แกก็บอกว่าอยู่ ถ้าถามเดี๋ยวเขาจะหาว่า ทำไมไม่รู้อะไรเลย พฤติกรรมของแกทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดที่ว่า "ถ้ากลัวถูกหาว่าโง่ ก็จะโง่ตลอดไป ถ้าไม่กลัวใครว่าโง่ ความโง่ก็จะหมดไป" และคิดถึงนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ควรเป็นพวกช่างสงสัย ชอบซักถาม กล้าคิดกล้าแสดงเหตุผล แต่กลับกลายเป็นตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับนักศึกษาสาขาวิชาอื่น พอถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นักศึกษาก็บอกว่า อาจารย์วิทยาศาสตร์สอนว่า ถ้าไม่รู้จริงก็ไม่ต้องตอบ ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์จึงสอนเช่นนั้น และได้ยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต ที่ตั้งสมมุติฐานผิดแล้วผิดอีก บางคนต้องใช้เวลานับสิบยี่สิบปีกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง (ผู้เขียนเคยเรียนวิชาโทวิทยาศาสตร์ และวิชาจิตวิทยาที่สอนอยู่ก็เป็นวิชาที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสร์ในการศึกษา อีกทั้งยังชอบอ่านประวัตินักวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบการสอนเรื่องการคิดสร้างสรรค์ และการคิดแก้ปัญหา ส่วนพ่อใหญ่สอเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ในคณะวิทยาศาสตร์มานาน และย้ายไปอยู่คณะครุศาสตร์ ในภายหลัง โดยรับผิดชอบสอนวิชา "พฤติกรรมการสอนวิทยาศาสตร์" เป็นหลัก)
หลังจากทานกาแฟและซักผ้าเสร็จ ผู้เขียนได้ไปนั่งเข้า Web. GotoKnow.org ที่ระเบียงหน้าบ้าน ต้องหมุน Notebook รอบ 4 ทิศให้เจอคลื่น เมื่อเจอแล้วก็พบว่ามีปัญหาเหมือนทุกครั้งที่ใช้ Internet ที่ฟาร์ม คือ ใช้ได้ไม่นานก็เจอปัญหา "No Service" จึงต้องใช้งานอื่น คืองานเตรียมการอบรมครู ในวันที่ 15 ก.ค. 54 นั้น พอสายๆ ฝนเริ่มตก และตกเป็นระยะประเภทเดี๋ยวตกเดี๋ยวหยุดทั้งวัน เลยออกไปทำงานภาคสนามไม่ได้ ผ้าก็ต้องตากในร่ม และในวันที่ 16 ก.ค. 54 ซึ่งเป็นวันงานประเพณีแห่เทียนของอุบลฯ ก็ได้ดูงานแห่เทียนที่ฟาร์มจากการถ่ายทอดทาง TV เหมือนทุกปี (พ่อใหญ่สอเอาใจโดยยก TV เครื่องที่อยู่ในห้องครัวไปบริการ)
เช้าวันที่ 16 ก.ค. 54 ได้ไปแอบถ่ายภาพ 2 หนุ่มตัดหญ้า (ภาพซ้าย) อีกคนเก็บกวาดเศษหญ้าที่ถูกตัดใส่รถเข็นไปเทที่คอกทำปุ๋ยหมัก (เวลาทำงานของคนงานคือ 06.30-10.30 น.) เสร็จแล้วก็ไปถ่ายภาพผลงานการตัดหญ้าดังภาพล่างกลางซึ่งมองเห็นกอตะไคร้หอมกันยุงตามแนวคอกวัวและเล้าไก่แจ้ ตอนนี้ยังไม่ได้เลี้ยงวัว ใช้คอกวัวเป็นที่เก็บปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเอง เมื่อเสร็จงาน 3 หนุ่มก็ไปรอรับค่าแรงจากพ่อใหญ่สอที่เรือนไทย ในแต่ละวันที่มาทำงาน นอกจากจะได้ค่าแรงคนละร้อยบาทต่อการทำงาน 1 ครั้งแล้ว แต่ละคนยังจะได้มะนาวบ้าง แก้วมังกรบ้าง มะม่วงบ้าง ลำไยบ้าง ไปฝากลูกฝากเมีย ฝากแม่และกินเอง (แล้วแต่ว่าช่วงไหนที่ฟาร์มจะมีผลผลิตอะไร ช่วงนี้ก็มีแก้วมังกร ลำไย และมะนาว) เช้าวันที่ 17 พ่อใหญ่สอได้เก็บมะนาวให้ผู้เขียนนำไปจำหน่าย 2 เข่งใหญ่ (มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ เปลือกบางมาก น้ำเยอะ ตั้งแต่ใช้มะนาวมาผู้เขียนถูกใจมะนาวเจ้านี้ที่สุด...ไม่ได้ลำเอียงเพราะเป็นของตนเอง) ผู้เขียนเลยประเดิมด้วยการเอาไปฝากลูกศิษย์ที่เป็นทีมวิทยากร และเธอยังขอไปทำบุญที่วัดด้วย ซึ่งผู้เขียนบอกให้เอาไปได้โดยไม่จำกัดจำนวน พร้อมทั้งให้ใบเตยกอใหญ่ที่แตกกอย่อยนับสิบกอไปปลูกด้วย สำหรับมะเดื่อหน้าอาคารอเนกประสงค์ผู้เขียนกินเองและเอาไปฝากคนที่กินเป็น รวมทั้งร้านขายเมี่ยงไทย ซึ่งเขาก็ตอบแทนด้วยการลดราคาเมี่ยงให้
ผู้เขียนได้รวบรวมพันธุ์กล้วยด้วย จากการซื้อตำรา "กล้วย" ของม.เกษตรศาสตร์บางเขนไปศึกษา พบว่ากล้วยมีอยู่นับพันชนิด ภาพล่างซ้าย ผู้เขียนได้ซื้อหน่อกล้วยเทพพนมและงาช้างหน่อละ 350 บาท หน่อกล้วยพระตะบะและน้ำว้าดำหน่อละ 150 จากตลาดนัดต้นไม้สวนจตุจักรในวันที่ 30 มี.ค. 54 แล้วขนขึ้นรถไฟ ภาพกลางพ่อใหญ่สอนำหน่อกล้วยทั้ง 4 ที่ชำไว้ไปปลูกในวันที่ 31 พ.ค. 54 และภาพขวาที่ถ่าย 16 ก.ค. 54 กล้วยต้นแรกคือ กล้วยเทพพนม ถัดไปเป็นกล้วยงาช้าง ทั้งสองต้นงอกงามดีแต่วัชพืชหนาแน่น ผู้เขียนมีเวลาถอนวัชพืชออกนิดหน่อยเฉพาะรอบโคนต้น ส่วนกล้วยพระตะบะและกล้วยน้ำว้าดำ เน่าตายไปแล้ว (สำหรับกล้วยนากลูกสีน้ำตาลดังภาพซ้ายที่ฟาร์มมีปลูกอยู่แล้ว)
ผู้เขียนไม่เคยแนะนำสัตว์เลี้ยงฟาร์มไอดินฯ คราวนี้ขอแนะนำก่อนที่จะไม่เหลือให้เห็น เพราะพ่อใหญ่สอได้ให้ผู้ใหญ่บ้านจับไก่แจ้ทั้งหมดจากเล้าไปเลี้ยง (ฟรีๆ เพราะไม่พอใจที่มันคุ้ยเขี่ยปุ๋ยที่แกใส่โคนต้นไม้ที่ปลูก) เท่าที่ผู้เขียนเห็นตอนกลับไปฟาร์ม ผู้ใหญ่บ้านได้จับไก่แจ้ไปแล้ว 3 ครั้ง ยังมีหลงเหลือที่หนีภัยมาอาศัยอยู่แถวบ้าน คือ ไก่แจ้สองคู่ชู้ชื่น ห่านเพื่อนคู่หู และไก่แจ้หนุ่มผู้โดดเดี่ยว ดังภาพ (และมีเหลือที่เล้าอีกนิดหน่อย)
ที่ผู้เขียนรักมาก คือ "ข้าวเหนียว" ซึ่งเคยเป็นลูกสุนัขที่พ่อใหญ่สอบอกไม่ให้เลี้ยงไว้เพราะเป็นตัวที่เล็กที่สุดในจำนวน 7 ตัวที่ออกมาในครอกเดียวกัน แต่ผู้เขียนเลี้ยงไว้เองที่บ้านเรือนขวัญและชอบเธอที่สุดจึงตั้งชื่อให้ว่า "ข้าวเหนียว" เพราะผู้เขียนชอบทานข้าวเหนียว ส่วนตัวอื่นๆ ที่พ่อใหญ่สอชอบและนำไปเลี้ยงที่ฟาร์มเป็นตัวผู้ทั้งหมด มีข้าวต้ม ข้าวตัง ข้าวคั่ว ตอนหลังข้าวเหล่านั้นเกเรไปไล่ไก่ชาวบ้านจึงถูกอัปเปหิออกไปหมด ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องยกข้าวเหนียวให้พ่อใหญ่ไปเลี้ยงแทน ซึ่งข้าวเหนียวก็จงรักภักดีต่อพ่อใหญ่สอมาก จะคอยติดตามและนอนเฝ้าเวลาพ่อใหญ่สอทำงาน ภาพนอนรอที่จักรยานถ่ายวันที่พ่อใหญ่สอปลูกกล้วย (31 พ.ค.) ส่วนภาพที่เฝ้ารถยนต์ ถ่าย 16 ก.ค.
และที่ผ่านมายังไม่เคยแนะนำสวนยางโดยตรง ก็ขอถือโอกาสแนะนำในบันทึกนี้ ภาพซ้าย (ภาพ 2 เดือนที่ผ่านมา) พ่อใหญ่สอรดน้ำต้นไม้ที่ป้ายวัด โดยมีข้าวเหนียวนั่งให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ (ต้นไม้ที่ป้ายวัดอยู่ไกลคน เลยไม่ค่อยมีใครรดน้ำ ไม่เหมือนต้นไม้รอบศาลา) อีกฟากถนนตรงกันข้ามวัดเป็นสวนยางจำนวนเกือบ 30 ไร่ (ภาพกลาง) และภาพขวาเป็นป้ายสวนยางที่มุมฟาร์ม (เป็นแนวคิดและการสั่งทำของผู้เขียนเอง เพราะเวลาคนไปทำบุญที่วัดซึ่งมาจากทั่วสารทิศเพราะบารมีหลวงปู่เณรคำ ก็จะถามว่า สวนยางเป็นของใคร จึงติดป้ายบอกชื่อเจ้าของและเบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วยเพื่อจะได้ไม่ต้องคอยตอบคำถาม พ่อใหญ่สอให้ใส่ชื่อผู้เขียนลงไปด้วย แต่ผู้เขียนไม่ใส่ แค่มีชื่อเป็นเจ้าของคนเดียวในโฉนดที่ดินทุกใบก็พอ...จริงๆ แล้วผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องต้องการอะไร แต่เมื่อพ่อใหญ่สออยากให้เป็นเช่นนั้นก็เลยปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของแก) ภาพกลางและขวาถ่ายเมื่อ 16 ก.ค. 54 เวลา 18.30 น. ตอนที่นำแคร่ไม้ไผ่ไปตั้งวางที่เถียงนา (ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นพ่อใหญ่สอนั่งอยู่ที่แคร่เถียงนาใต้ "ต้นชีขาดเพล" ต้นไม้ที่ผู้เขียนยื่นคำขาดให้อนุรักษ์ไว้ เพราะพ่อใหญ่สอจะตัดทิ้งท่าเดียวโดยอ้างเหตุผลว่าบดบังต้นยางของแก)
ภาพล่างซ้ายและภาพกลาง ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 54 วันที่ร่ำลาฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ หลังจากไปพักอยู่ที่ฟาร์มยาวในช่วงปิดภาคเรียน เพราะวันที่ 1 มิ.ย. เป็นวันเปิดภาคเรียน ก่อนจากจึงถ่ายภาพสวนหย่อมที่นำรั้วสีขาวไปตกแต่งให้ (20 พ.ค. 54) กลับไปคราวนี้หญ้าท่วมจนมองไม่เห็นรั้วแต่ไม่มีเวลาถอน เจ้าวอกที่เห็นห้อยโหนอยู่ชายคาศาลาไทยเป็นสัญลักษณ์ของพ่อใหญ่สอที่เกิดปีลิง ส่วนโมบายช้างซื้อจากเกาะช้าง (16 พ.ค. 54) และภาพขวา ดอกเอื้องหมายนาที่เกิดเองตามธรรมชาติ นอกจากช่อดอกจะกินได้ ยังใช้เป็นดอกไม้ปักแจกันได้ด้วย จึงเก็บปักแจกันในเช้าวันที่ 17 ก.ค. 54 ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองในตอนสายๆ
เข้ามาแวะเยี่ยม "ฟาร์มไอดิน-กลิิ่นไม้" แล้วไม่มีดอกไม้ให้ชม ดูจะผิดปกติไปหน่อย เลยมี 3 ชนิดมาให้ดูเป็นภาพปิดท้ายบันทึก...ดอกไม้ใน "ฟาร์มยามวสันตฤดู" นอกจาก ชวนชม โป๊ยเซียน ชะบา บานเช้า บานเย็น บานบุรีสีเหลือง (ทุกชนิดที่กล่าวมา ออกดอกตลอดปี) กล้วยไม้ป่าบางชนิด และไม้หอม (ที่นำมาให้ดูบางชนิดตอนที่กล่าวถึงดอกไม้บูชาพระ) แล้ว ก็มี (ภาพซ้าย) ดอกบานบุรีสีนวลเหลือบน้ำตาลที่ออกดอกตลอดปีซึ่งปลูกที่ป้ายสวนสมุนไพรแต่มองไม่เห็นป้ายแล้วเพราะบานบุรีบดบังหมด (ภาพกลาง) ดอกมะเขือต้นที่ออกดอกตลอดปี ดอกจะเริ่มด้วยสีม่วงเข้มเมื่อบานใหม่ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อน และสุดท้ายเป็นสีขาวก่อนที่จะร่วงโรยไป แบบเดียวกันกับดอกพุดสามสี ต้นนี้ปลูกใกล้บานบุรีสีนวล (เป็นไม้ต้นประดับดอกที่ผู้เขียนเห็นครั้งแรกที่ Resort ในจังหวัดเชียงรายในปี 2539 สูงประมาณ 12 เมตรแล้วชอบใจอยากหาไปปลูกบ้าง) และ (ภาพขวา) ดอกยี่เข่งสีชมพูข้างทางเดินเข้าฟาร์ม ปลูกต่อจากต้นหูกระจง ต้นนี้ก็ออกดอกตลอดปีเช่นกัน
หนึ่งเดือนต่อจากนี้ ผู้เขียนคิดว่า ตนเองคงไม่มีเวลาเขียนบันทึก เพราะภาระการอบรมครู การสอน และงานนิเทศทั้งนักศึกษาภาคปกติ (หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 5 ปี) และนักศึกษาป.บัณฑิตวิชาชีพครู ที่ซ้อนกันอยู่ จึงขอฝากบันทึกนี้ไว้ "ด้วยความรัก-คิดถึงฟาร์มและความผูกพันกับกัลยาณมิตรชาว GotoKnow" แต่ก็จะพยายามติดตามตอบทุกท่านที่เข้ามาให้กำลังใจและแสดงความเห็น
ขอส่งความรักและความปรารถนาดีมายัง "กัลยาณมิตรชาว GotoKnow" ทุกท่านค่ะ
มาเยี่ยมคุณโยม ด้วยความระลึกถึง ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
แวบมาครับอาจารย์แม่ โอโหที่ไร่ต้นไม้เต็มเลย ชอบเจ้าข้าวเหนียว พันธุ์ thousand way ใช่ไหม ฮ่าๆๆ ที่บ้านมีเอื้องนาแบบในภาพ แต่ไม่ได้กินดอก ผมเก็บต้นอ่อนๆมาจิ้มน้ำพริกครับ อาจารย์แม่ทำงานหนักมาก พักผ่อนบ้างนะครับ...
ลืมบอกว่า ต้นอ่อนเอื้องกินอร่อยมาก ต้นมะเดื่อหน้าลานเอนกประสงค์ ลูกมันเอามาใส่ยำปลากระป๋องได้ครับ
สงสัยน้องเอ๋ ต้องเป็นรุ่นน้องผมแน่ๆ เพราะผมอายุมากแล้ว เห้นไหมว่าชื่อคล้ายกันเลยน้องเอ๋กับพี่แอ๊ด 555 ที่บ้านผม อ๊อด แอ๊ด อี๊ด โอ้ ครับ...
สวัสดีครับ อาจารย์
มาแจ้งข่าว และชวนอาจารย์ไป งานเกษตรที่ม.สุรนารี วันที่ 2 ส.ค.54 นี้ครับ
พบกันได้ที่งาน Go green Go organic
รวมพลคนหัวใจอินทรีย์ >>> รักษ์เรา...รักษ์โลก
http://technopolis.sut.ac.th/2009/index.php?option=com_content&view=article&id=988&limitstart=1
มาสารภาพกับอาจารย์แม่ว่า ได้แต่ "Academic English"เหมือนกัน กลัวทำ"Business English" ผิดครับ
• วันนี้อาจารย์แม่มาอยูที่ฟาร์มค่ะ เลยมีปัญหาการใช้ Internet เข้ามาตอบลูกขจิตแล้วครั้งหนึ่งประมาณห้าโมงเย็น แต่ตอนบันทึก เน็ตหลุดค่ะ หลังจากนั้นก็พยายามหลายช่วงเวลาแต่ก็ไม่สำเร็จค่ะ
• อาจารย์แม่รับรู้คำสารภาพเรื่อง "Business English" ของลูกขจิตแล้ว...เข้าใจและยอมรับค่ะ แต่ยังไงอาจารย์แม่ก็เชื่อมั่นว่าลูกขจิตต้องรู้ดีกว่าอาจารย์แม่หลายสิบขุมแน่นอน ซึ่งเป็นผลจากทั้งการศึกษาในสถานศึกษา ประสบการณ์ในการสอน การจัดค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เป็นเวลานานพอสมควร
• อาจารย์แม่เข้าฟาร์มเพื่อปลูกต้นไม้ที่ซื้อจากม.เทคโนโลยีสุรนารีเสาร์ที่แล้วค่ะ จะปลูกพรุ่งนี้เช้าแล้วบ่ายก็จะเข้าไปเคลียร์บ้านในเมืองค่ะ เพราะวันนี้ไม่มีผู้ช่วย พ่อใหญ่สอไปปลูกต้นไม้ที่วัดกับลูกน้อง อาจารย์แม่ยังไม่หายป่วยเลยไปไม่ได้ ได้แค่เตรียมอาหารให้พ่อใหญ่ไปจังหัน และอยู่ทำงานบ้าน
• อาจารย์แม่เปลี่ยนรูปเพราะใกล้วันแม่แต่ไม่มีแม่อยู่ด้วย...คิดถึงลูกๆ เลยเอารูปที่พวกเขากลับไปเยี่ยมแม่ที่อุบลฯ (ช่วงเดียวกับที่ลูกขจิตเขียนบันทึกที่ฝากให้อาจารย์แม่เที่ยวนี้) มาเป็นรูปประจำตัว หนูดีที่อาจารย์แม่และลูกเอ๋ผลัดกันอุ้มเป็นลูกของน้องตั้มค่ะ
• ปลา Suckers อาจารย์แม่เคยเลี้ยงไว้ 2 ตัวเพื่อให้ช่วยดูดตะไคร่น้ำที่เกาะตู้ปลา แต่ไม่ใช่สองตัวที่ลูกขจิตพบในบ่อ เพราะเขาตายเอง อาจารย์แม่ไม่ได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำ
• วันแม่ได้กลับไปเยี่ยมคุณแม่ที่ไร่พนมทวนหรือเปล่าคะ
• ขอบคุณนะคะที่มาให้อาจารย์แม่เห็นหน้าพอได้ชื่นใจในวันแม่
สวัสดีค่ะ
แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ
พร้อมกับมาชมภาพประกอบนะคะ
เป็นบันทึกที่น่าสนใจมากค่ะ
ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ
ขอบคุณค่ะ^^
สวัสดีค่ะ
แวะมา 'เยือนฟาร์ม...ยามวสันตฤดู' เป็นบันทึกที่สวยงามมากค่ะ มีครบถ้วนประเพณี ธรรมชาติสวยงาม สูดไอดิน...กลิ่นหญ้า...กลิ่นฟาง...ได้บรรยายกาศมากนะ มีความสุขนะคะท่านผศ.ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ
สวัสดีค่ะท่านอาจารย์
มาชมฟาร์มยามหน้าฝน สดชื่น ธรรมชาติอุดมฯ มากๆค่ะ
ข้าวเหนียว หน้าตาดีนะคะเนี่ย สุขสันต์กับบ้านสวนค่ะ
คุณพี่เล่นเขียนเป็นตำราเรียนเลยครับ อ่านเสียเหนื่อย
เสียดายรูปเล็กไปหน่อย เลยชมความงามไม่จุใจ
สาธุอนุโมทนากับการสร้างวัดของคุณพ่อใหญ่สอของคุณพี่ ที่สร้างวัดได้สำเร็จ
ทั้งอนุโมทนาในการทำบุญทำกุศลของคุณพี่
ไม่ได้คุยกับคุณพี่เสียนาน ผมกับภรรยาถือศิลแปดตลอดพรรษานี้ครับ
อยากจะเห็นรูปดอกแก้วมงกร ชัดๆ คุณพี่ช่วยจัดให้ชมหน่อยได้มั้ย
เขามีเอาไว้ทำเพื่อประโยชน์อันใด
ฝากดอกมะเขื่อเทศที่ภรรยาปลูกมาให้ชมครับ
สวัสดีค่ะ
ชมสวนเต็มอิ่มตา อิ่มใจไปด้วย ดีจังค่ะ อาจารย์เล่า-เขียนเก่งมากๆนึกภาพ อมยิ้มไปด้วยกับ ผู้ใหญ่สอ ตอบไม่รู้....ไม่ว่าง.....ขอบคุณมากนะคะ ตอบไว้ที่บันทึกไม่ได้มาเยี่ยมเลย ดอกชบาที่ทราบมา ทานได้คือ สีขาวกับสีแดงนะคะ
สวัสดีค่ะ
สุขใจทุกครั้งที่ได้มาบ้านคุณพี่ค่ะ เพราะธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต(จิตใจ)ของเรา
ทุ่งนาผืนนี้เป็นของที่บ้านค่ะ ถ่ายเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ เป็นฤดูทำนาปรัง..เห็นต้นข้าวเขียวสดงดงาม กำลังออกรวงบ้างก็ยืนเด่นเป็นสง่า..บ้างก็ล้มเลื้อยแต่ไม่ได้ตายลงไป ยังคงออกรวงได้อยู่ และให้ผลผลิตแก่เราได้เช่นเดียวกัน..
เปรียบดั่งชีวิตเรา..ยามใดที่แข็งแรง...ยามใดที่เหนื่อยล้า..ก็เช่นเดียวกัน..
อีกอย่าง..คิดถึงคุณพี่ค่ะ..ก็ห่วงนะคะเห็นบอกไม่ค่อยได้ทานอะไร..งาน..และงาน..
เอา..พลังมาเพิ่มให้ค่ะ..
ส่วนรูปประจำตัวถ่ายไว้หลายปีแล้วค่ะ
เมื่อครั้งอบรมที่ศูนย์ Eric.ที่โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณีค่ะ