รับแขก


จากที่ตัวเองได้เขียนเล่าประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องจัดการเรียนการสอนในGotoKnowแห่งนี้ ทำให้เมื่อไม่กี่วันก่อนมีน้องๆ 2 ท่านจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  ได้มาพบปะพูดคุยและสังเกตการสอนจริงถึงในชั้นเรียนเลย  ก่อนนั้นสักสัปดาห์หนึ่ง รับโทรศัพท์ติดต่อ  เนื่องจากโรงเรียนต้องเข้ารับการประเมินภายนอกรอบ 3 จาก สมศ. ช่วงวันที่ 8-12 ก.ค.พอดี เกรงจะไม่สะดวก กำหนดนัดหมายจึงเปลี่ยนจากวันที่ 7 ก.ค. เป็น 13 ก.ค.หรือหลังการประเมินเสร็จสิ้น

ผมมีหน้าที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพของโรงเรียนอยู่ด้วย การเตรียมเพื่อรับการประเมินจึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องดำเนินการ หัวขบวนใหญ่หรือท่านผู้อำนวยการ ตามติด จ้ำจี้จ้ำไช เร่งทุกงานทุกจุดด้วยตัวเอง เพื่อจะดึงความสำเร็จของโรงเรียนในห้วง 3 ปีออกมาอวดผู้ประเมินให้ได้ ประกอบกับผลงานของโรงเรียนมีมากมายอยู่แล้ว ผลลัพธ์จึงอยู่ในระดับดีจนถึงดีมากทุกเรื่อง เว้นแต่ผลการสอบโอเน็ตเท่านั้นที่ยังติดขัด ทุกคนต่างผิดหวังกับเกณฑ์ตัดสินลักษณะนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่วัดโรงเรียนทุกโรงทั้งประเทศ(การศึกษาขั้นพื้นฐาน) ด้วยคะแนนสอบโอเน็ตเดียวกัน

เมื่อภาระงานเป็นเช่นนี้ การเตรียมสอนของตัวเองจึงแทบไม่ได้ทำ อย่าเสียเวลาพูดถึงเตรียมสอนให้มูลนิธิฯสังเกตเลย แม้แต่การสอนปกติของตัวเองบางชั่วโมง ยังต้องสั่งให้นักเรียนทำงานแทน เพราะการจัดเตรียมเอกสารต่างๆไม่ลุล่วง ยังไม่พอจะนำเสนอ สมศ.

ก่อนหน้าวันเดียว ผมสอน ม.5/1 ห้องที่ต้องสอนจริงให้มูลนิธิฯสังเกต เพราะเวลาเรียนห้องนี้จะตรงพอดี หลังสอนเรื่องฮอร์โมนจากอวัยวะเพศเสร็จ จึงย้ำให้นักเรียนอ่านหนังสือมาล่วงหน้าสำหรับเรื่องที่จะเรียนต่อไป ซึ่งได้แก่ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ ครูจะให้แข่งตอบปัญหากัน อีกอย่างที่ผมห่วง จึงได้ซักซ้อมนักเรียนไว้ พวกเราก็เรียนกับครูอย่างปกติ อย่าตื่นเต้น คุย ถาม-ตอบเหมือนเคย หางเสียงต้องมีค่ะมีขาอย่าลืม ครูถามก็ตอบ แบบที่เราเคยตอบ ไม่ใช่ตื่น เกร็ง นั่งแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์เสียล่ะแค่นี้ครับที่ทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้า

วันรุ่งขึ้น ในที่สุดพวกเราก็ได้ต้อนรับน้องๆจากมูลนิธิฯที่น่ารัก 2 ท่าน ผู้อำนวยการให้เกียรติมาก เพราะนำแขกทั้งสองเข้าไปนั่งพักที่ห้องทำงานของท่านดัวยตัวเองเลย หลังบอกกล่าวที่มาที่ไป ประเด็นพูดคุยต่อมาส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์การจัดการศึกษาของบ้านเมืองเราเป็นหลัก(ฮา)

ถึงเวลาสอน ผมเริ่มด้วยการให้นักเรียนพิจารณาภาพผู้ป่วยโรคคอพอก เพื่อนำไปสู่ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ วันนี้วางแผนจะใช้การเรียนรู้ร่วมกัน(co-operative learning) โดยผสมผสานระหว่างร่วมกันคิด (numbered heads together) กับแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม(TGT,team games tournament) เพราะเชื่อว่านักเรียนจะสนุกกับการเรียนแน่ ผมเอ่ยกับน้องท่านหนึ่ง ครูบรรยายให้ฟัง นักเรียนตั้งใจและเข้าใจไม่กี่คน นอกนั้นเบื่อ ไม่เอาใจใส่ ในที่สุดก็ไม่ได้อะไร จึงเลือกจะสอนให้มีความสุขไว้ก่อน แต่ซ้ำเดิมบ่อยก็ไม่ได้ ต้องหาวิธีการใหม่เรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด ทำ หรือเรียนรู้เอง

ผมแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน ด้วยการคละคนเก่ง ปานกลาง และอ่อน การคัดเลือกอาศัยการยอมรับของเพื่อนๆในชั้น พอกลุ่มลงตัว จึงมอบหมายภารกิจ สมาชิกกลุ่มต้องแบ่งหน้าที่ทำกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับฮอร์โมนเหล่านี้ให้เสร็จภายใน 20-30 นาที ได้แก่ วาดภาพ เขียนผังมโนมติ(mind mapping) บันทึกสรุป และตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมด

นักเรียนแต่ละกลุ่มแบ่งและช่วยงานกันอย่างแข็งขัน จนห้องเรียนเงียบลงอีกครั้ง ผมถือโอกาสนี้แจ้งภาระงานต่อไปให้ทราบ หลังงานเสร็จ ให้สมาชิกกลุ่มอธิบายความรู้จากการอ่านมาล่วงหน้า หรือจากภาระงานที่กำลังดำเนินการ ให้แก่กันและกัน จนแน่ใจว่าทุกคนเข้าใจดี

เมื่อเห็นว่าสมาชิกแต่ละกลุ่มอธิบายความรู้กันพอสมควรแล้ว จึงแจ้งกติกาการแข่งขัน ให้สมาชิกกลุ่มกำหนดหมายเลขเป็น 1 , 2 , 3 หรือ 4 ครูจะจับฉลากหมายเลข เพื่อสุ่มให้เป็นตัวแทนกลุ่มออกมาตอบคำถาม เมื่อครบทุกข้อจะรวมคะแนน จัดอันดับ กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้โบนัส 10 แต้ม อันดับต่อๆมาจะได้โบนัส 9 , 8 , 7 , 6 หรือ 5 ลดหลั่นลงมาตามลำดับ

ผมเริ่มคำถามแรกและต่อๆไปทั้งหมด 6 ข้อ นักเรียนแย่งกันออกมาตอบสนุกสนาน เพราะกติกากำหนดไว้ ผู้ตอบถูกลำดับแรกจะได้ 2 คะแนน ผู้ตอบถูกลำดับต่อมาจะได้คะแนนเดียว การตอบปัญหาแข่งกันลักษณะนี้ เน้นให้ช่วยกันเรียนรู้ จับประเด็น วิเคราะห์ข้อมูล หรือช่วยกันสรุป ลำดับขั้นตอนจึงสำคัญมาก ได้แก่ อ่านคำถาม ให้เวลาคิด แล้วค่อยสุ่มจับฉลากเลือกตัวแทนออกมาตอบ

อใจกับผลจัดการเรียนการสอนวันนี้ครับ นักเรียนสนุก ได้ความรู้ ได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือใช้วิจารณญาณ อย่างที่หลักสูตร หรือ พ.ร.บ.การศึกษา หรือ แม้แต่เกณฑ์คุณภาพของ สมศ. ต้องการ

ครูชื่นชมนักเรียนทุกคน ที่วันนี้ตั้งใจและเอาใจใส่ต่อการเรียนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะไม่มีอาการตื่นเกร็ง จำได้มั้ย เมื่อวานครูบอกห่วงพวกเราอย่างเดียว กลัวจะตื่นเต้น..เสียงฮือฮาของนักเรียนทั้งห้องสวนขึ้นมาจนแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน

ครูเองนั่นแหละ ตื่นเต้น! ฮาๆๆ(ทั้งห้อง) 

(ภาพประกอบ/โดยงานพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี)

หมายเลขบันทึก: 449530เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ ยังคิดถึงเสมอ

๕ ๕ ๕ ตกลงประเมินผ่าน ครูก็หายตื่นเต้นแล้วนะคะ :) ส่งกำลังใจมากด้วยความคิดถึงเจ้า

สวัสดีค่ะ

ยอดเยี่ยมเลยค่ะ

"........จะใช้การเรียนรู้ร่วมกัน(co-operative learning) โดยผสมผสานระหว่างร่วมกันคิด (numbered heads together) กับแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม(TGT,team games tournament) เพราะเชื่อว่านักเรียนจะสนุกกับการเรียนแน่....."

ลำดวนเห็นภาพนี้ชัดเจนค่ะ...

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวดีๆ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

นายยินดี มีกล้องใหม่แล้ว แต่หามุมเก่งไม่เจอ พลาดโอกาสกิจกรรมเด็ด ๆ ไป เยอะ วุ่นเตรียมรับแขก สมศ. รอบ 3 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2554 นี้ของอนุบาลรัตนบุรี ส่วนท่าน เห็นผ่านแล้ว ยินดีด้วยครับ

ยินดีกับอาจารย์ด้วยค่ะที่ผ่านการประเมินจาก สมศ.แบบผ่านฉลุย

ร.ร. krupadee คงได้ต้อนรับ สมศ. ประมาณ พ.ย. นี้ค่ะ

หวั่นใจอยู่ว่า การประเมินครั้งที่ 2 ได้ระดับดีมากทุกมาตรฐาน

แต่ครั้งนี้..จะเป็นอย่างไร!!!

สวัสดีค่ะอาจารย์ มีความยินดี ชื่นชมกับความเตรียมพร้อมในครั้งนี้ค่ะ ..เย้ๆๆ..ผ่านฉลุยๆๆๆ

บันทึกนี้น่ารักตอนเฉลยก่อนจบค่ะ "... ครูเองนั่นแหละ ตื่นเต้น! ฮาๆๆ..."

ตรงนี้ทำให้พี่อมยิ้ม “พวกเราก็เรียนกับครูอย่างปกติ อย่าตื่นเต้น คุย ถาม-ตอบเหมือนเคย หางเสียงต้องมีค่ะมีขาอย่าลืม ครูถามก็ตอบ แบบที่เราเคยตอบ ไม่ใช่ตื่น เกร็ง นั่งแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์เสียล่ะ”

ตรงนี้ทำให้พี่สงสัย  "....เป็นไปได้อย่างไรที่วัดโรงเรียนทุกโรงทั้งประเทศ(การศึกษาขั้นพื้นฐาน) ด้วยคะแนนสอบโอเน็ตเดียวกัน..."   พี่สงสัยตรงนี้มานาน  แต่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า  ถ้าเราจะวัดผลระดับประเทศจะใช้วิธีไหน

หลายปีก่อนมีคนกระทรวงศึกษามาชวนพี่ไปอบรมผู้ประเมิน  เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินของสมศ. แต่พี่ปฏิเสธเพราะไม่ชอบการประเมินค่ะ  ทั้งที่ตอนนั้นก็ต้องออกประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  พี่ขอไม่บอกเหตุผลที่อยู่ลึกๆ ในใจนะคะ  บอกได้แต่เหตุผลบางส่วนว่าพี่เห็นใจโรงเรียนที่ต้องตระเตรียมอะไรต่อมิอะไรมากมายจนไม่เป็นอันสอน  เราที่เป็นผู้ประเมินเมื่อได้รับการต้อนรับที่ดีมากเกินไปเราก็เกรงใจ และเราก็เกร็งๆ นะคะ...ฮ่า..ฮ่า..

 

ไม่เห็นมีรูปกระผมบ้างเลยครับ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท