ทฤษฎีพหุกำเนิด (Polygenesis Theory)
ทฤษฎีนี้ได้เสนอความคิดเห็นว่านิทานมีจุดกำเนิดหลาย ๆ สถานที่ ความหมายก็คือ นิทานเกิดขึ้นได้ในหลาย แหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก และเกิดขึ้นได้หลายครั้ง นอกจากนี้แนวคิดนี้ยังเสนอด้วยว่า มนุษย์เรามีความคิดพื้นฐานร่วมกัน คือมีความคิดพื้นฐานทางจิตใจแบบเดียวกัน ดังนั้นนิทาน หรือคติชนซึ่งเป็นผลผลิตจากพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ ก็จะเป็นแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน
นิทานพื้นบ้านเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ สังคม และนิทานเหล่านี้มีโอกาสที่จะพ้องกันได้ทั้งเนื้อหา สาระ แนวคิด เค้าโครงเรื่อง แม้ว่าสังคมเหล่านั้นจะไม่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนเลยตั่งแต่สมัยโบราณ แนวคิดแบบนี้มีผู้นำเสนอที่สำคัญคือกลุ่มนักมานุษยวิทยาอังกฤษซึ่งเป็นความเห็นที่แพร่หลาย และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในตอนปลายศตวรรษที่ 19 แอนดรูว์ แลง ได้ข้อคิดมาจากความเห็นของไทเลอร์ แล้วนำมาพิจารณาค้นคว้าอย่าละเอียด เขาคัดค้นทฤษฎี Monogenesis ด้วยเหตุผลว่า นิทานที่มีเนื้อเรื่องและรายละเอียดคล้ายกันนั้น ควรจะมีจุดกำเนิดอย่างอิสระในส่วนต่าง ๆ ของโลก เพราะว่ามนุษย์ในสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ จะเกิดมาในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน และผ่านขั้นตอนของวัฒนธรรมมาเหมือน ๆ กัน นั่นคือวิวัฒนาการทางสังคมจะทำให้คนมีภูมิหลังในทางวัฒนธรรมคล้ายกัน ความคิดในการสร้างนิทานก็จะคล้ายกันไปด้วย (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 224)
แลง ค้านประเด็นที่ว่าอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดของนิทานและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของนิทานมาก่อน เขาพิสูจน์ความเห็นข้อนี้โดยการนำอนุภาคของนิทานยุโรปกับนิทานอารยันมาเปรียบเทียบกัน และเปรียบเทียบกับเรื่องปรัมปราของกรีกและละตินด้วย ตลอดจนนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของคนในสังคมบรรพชน แลงมีความเห็นว่า วิวัฒนาการของนิทานจะเริ่มขึ้นจากนิทานเรื่องแรกซึ่งประกอบด้วยอนุภาคเป็นจำนวนมาก มีเกิดขึ้นในท่ามกลางคนอารยะ และเจริญขึ้นมาเป็นนิทานที่แพร่หลายในกลุ่มคนพื้นบ้าน และอาจจะมีวิวัฒนาการการต่อไปเป็น 2 ทางคือ นิทานของวีรบุรุษที่เป็นกึ่งเรื่องจริง เช่นเรี่อง Perseus ทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งคือวรรณกรรมลายลักษณ์ที่รู้ตัวผู้เขียนเช่น นิทานของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ และ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน จะเห็นได้ว่านักวิชาการกลุ่มนี้เพ่งเล็งความสนใจไปที่สังคมสมัยดึกดำบรรพ์ คือยุคอารยะ หรือ Savagery และเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ พวกเขารวบรวมคติชนขึ้นมาเพื่อนำมาสร้างรูปแบบวัฒนธรรมแบบอย่างขึ้นใหม่เช่น เทพนิยายเก่า ๆ เป็นต้น และถือว่าคติชนเป็นสิ่งที่ตกทอดจากอดีต แลงเสนอลายละเอียดว่า มนุษย์ในสังคมต่าง ๆ จะผ่านขั้นตอนของวัฒนธรรมมาในลักษณะเดียวกัน คือขั้นตอนในด้านกายภาพ มนุษย์จะมีพัฒนาการของการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมือน ๆ กัน ส่วนในด้านสติปัญญา มนุษย์ก็จะพัฒนาการมีจิตใจป่าเถื่อนไปสู่อารยะธรรม เช่นเดียวกับสังคมทุกสังคมซึ่งก็จะมีวิวัฒนาการแบบเดียวกัน ในสังคมทุกแห่งจะมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อเป็นของตน นิทานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเชื่อเหล่านี้ (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 224 - 225) โดยเฉพาะนิทานที่มีเนื้อหาสาระอธิบายพิธีกรรม อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ฟ้าผ่า ไฟไหม้ ฯลฯ โดยวิธีการสร้างตำนานเทพเจ้าเพื่อสอนให้คนเคารพต่อธรรมชาติ สถานที่ ชุมชน วัตถุ โดยอ้างว่าสถานที่หรือสิ่งของต่าง ๆ มีเทพเจ้าสิงสถิตคุ้มครอง หากมนุษย์ไม่ยำเกรง ไม่เคารพธรรมชาติ เทพเจ้าจะบันดาลให้สังคมมนุษย์เกิดภัยพิบัติเป็นต้น ผู้รู้หัวหน้าเผ่า จะเป็นผู้จดจำเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้น สร้างจิตนาการ ผูกเรื่องราวเพื่อเล่าประสบการณ์ให้ลูกหลานฟัง ในเชิงความรู้บ้างสนุกสนานบ้าง ฉะนั้นนิทานที่ผูกเรื่องขึ้นจากประสบการณ์บ้าง จากเหตุการณ์สำคัญที่สังคมมนุษย์ประสบบ้าง ย่อมมีเค้าโครงเหมือน ๆ กัน เพราะขั้นตอนในการพัฒนาสังคมมนุษย์ย่อมผ่านยุคผ่านสมัยมาคล้ายคลึงกัน (ธวัช ปุญโณทก, 2546 : 20 - 23) นิทานอธิบายเหตุของไทยที่มีความคล้ายคลึงกันเช่น ตำนานหนองสะเรียม จ. เชียงใหม่ ตำนานจามเทวีวงศ์ จ. ลำพูน ตำนานผาแดงนางไอ่ ของภาคอีสาน ซึ่งทั้งสามเรื่องที่กล่าวมามีโครงเรื่องคล้ายกันคือ ประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ได้ร่วมกันกินสัตว์พิเศษ (มีบุญ เจ้าที่) จนเกิดอาเพศ ผู้คนล้มตาย แผ่นดินถล่มกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ แต่จะมีอยู่หนึ่งคนที่ไม่ได้กิน บุคคลนั้นจะรอดชีวิตและมีส่วนสร้างเมืองใหม่และได้ครองเมืองต่อไป ซึ่งทั้งสามแหล่งนั้นก็มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่เช่นกัน โครงเรื่องของนิทานจึงได้สอดคล้องและคล้ายคลึงกันตามทฤษฎีที่ได้กล่าวไป
ดังนั้นนิทานแต่ละเรื่องจะมีการสร้างสรรค์อย่างอิสระ ไม่ว่านิทานนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด แลง จึงสรุปว่า นิทานเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากวัฒนธรรมในสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเขาเรียกว่า “สิ่งตกทอดในวัฒนธรรม” หรือ “Survivals in culture” เช่นเดียวกับ เซอร์เจมส์ จอร์จ เฟร์เซอร์ ศึกษาคติชนและลัทธิศาสนาในสมัยโบราณ และสรุปว่ามนุษย์ทุกคนได้ผ่านขั้นตอนเดียวกันของวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาคล้ายคลึงกัน และในขั้นตอนสุดท้าย จะมีสิ่ง “ตกทอด” จากขั้นตอนเดิมหลงเหลืออยู่ และมนุษย์แต่ละคนก็จะมีวิวัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ของตนเอง และวัฒนธรรมของตนเองด้วย (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 225)
กลุ่มนักมานุษยวิทยาอังกฤษสรุปความคิดของพวกเขาว่า นิทานมาจากการปฏิบัติของคนในสังคมสมัยแรกเริ่ม เพราะนิทานคือแหล่งอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่ถูกละทิ้งไปเป็นเวลานาน และพวกเขาได้รับการยอมรับนับถือและมีชื่อเสียงมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วง ค.ศ. 1880 – 1900 เป็นช่วงเวลาที่แลงกับมึลเลอร์โต้แย้งกันโดยต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาเหตุผลมาหักล้างซึ่งกันและกัน และทั้ง 2 ทฤษฎีก็มีผู้สนใจและผู้สนับสนุนกันอย่างกว้างขวาง แต่ทฤษฎีที่ตกทอดหรือแนวคิดแบบ Polygenesis ก็มีจุดอ่อนเช่นเดียวกับทฤษฎีของมึลเลอร์ หรือ Monogenesis กล่าวคือทฤษฎี Polygenesis อิงอยู่กับความคาดคะเนในเรื่องวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมทุกแห่ง และความคล้ายคลึงกันนี้จะปรากฏอยู่ในนิทาน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว นิทานแต่ละประเภทอาจจะเกิดขึ้นในวัฒนธรรมเฉพาะแห่ง การสรุปว่านิทานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันจำกัดจำเพาะในวิวัฒนาการของมนุษย์จะเป็นการมองข้ามกรณีนี้ไป นักคติชนวิทยาโดยทั่วไป ก็ไม่ยอมรับทฤษฎี Polygenesis จะสามารถอธิบายความคล้ายคลึงในนิทานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาทฤษฎีอื่นเลย นักวิชาการบางคนพยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างความคิดแบบ เอกกำเนิด (Monogenesis) กับ พหุกำเนิด (Polygenesis) และเสนอความเห็นว่า จุดนั้นนั่นเองที่เป็นจุดศูนย์กลางของการแพร่กระจายของส่วนประกอบย่อยในนิทาน เช่น อนุภาค และต่อมาอนุภาคเหล่านี้จะกลายเป็นโครงสร้างของนิทานที่เกิดขึ้นอย่างอิสระในวัฒนธรรมต่าง ๆ และนั่นคือการนำเอาความคิดทั้งสองแบบนี้มาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายถึงกำเนิดและการแพร่กระจายของนิทานพื้นบ้านได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2548 : 225 – 233)
บทสรุป
นิทานหมายถึงผลผลิตทางภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ผู้รู้พื้นบ้าน สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งบันเทิง สาระความรู้ คติสอนใจ มีทั้ง 1) วรรณกรรมมุขปาฐะ ถ่ายทอดผ่านรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจนแพร่หลายในสังคมจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่นนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย 2). วรรณลายลักษณ์ คือวรรณกรรม ตำนาน นิทาน คำสอนที่ปราชญ์บันทึกไว้เป็นต้นบทในการ ขับ อ่าน แสดง วรรณกรรมท้องถิ่นย่อมสัมพันธ์กับฉันทลักษณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมของทิ้งถิ่นนั้น ๆ และส่งต่ออิทธิพลให้กับสังคมรุ่นต่อ ๆ ไป
การแพร่กระจายของนิทานหมายถึง นิทานเรื่องหนึ่งเคยนิยมเล่าสืบเนื่องในท้องถิ่นหนึ่ง ภายหลังมีการเล่าผ่านคนท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง จากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งโดยผ่านบุคคลอาชีพต่าง ๆ จนแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง แต่ละท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา ชื่อตัวละคร สถานที่ไปตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ การเคลื่อนย้ายของนิทานจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายของนิทานนี้ นักคติชนวิทยาได้อธิบายความหมายไว้ 2 แนวทางด้วยกันคือ 1). ทฤษฎีเอกกำเนิด เชื่อว่านิทานเกิดขึ้นจากแหล่งเดียวแล้วแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง และ 2). ทฤษฎีพหุกำเนิด เชื่อว่า นิทานสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ชุมชน และสามารถมีโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกันกับชุมชนอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันมาก่อน
อย่างไรก็ตาม การกำเนิดและการแพร่กระจายของนิทานทั้งสองทฤษฎีนี้ไม่มีข้อใดที่จะนำมาอธิบายถึงคามคล้ายคลึงกันของนิทานได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่สามารถหาต้นกำเนิดของนิทานได้อย่างแน่ชัด และไม่สามารถอธิบายการแพร่กระจายของนิทานได้อย่างเป็นระบบ
วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง
อ้างอิง
กิ่งแก้ว อัตถากร. คติชนวิทยา. เอกสารนิเทศการศึกษา ฉบับที่ 184. กรุงเทพมหานคร : หน่วยศึกษานิเทศก์. 2510.
กุหลาบ มัลลิกะมาส. คติชาวบ้าน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2518.
เจือ สตะเวทิน. คติชาวบ้านไทย. กรุงเทพฯ : สุทธิสารการพิมพ์. 2517.
ธวัช ปุณโณทก, ศ. วิเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่นเชิงเปรียบเทียบ : COMPARATIVE ANALYSIS
OF REGIONAL LITERATURE. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง .2546.
ประคอง นิมมานเหมินทร์. นิทานพื้นบ้านศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำรา และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2543.
เสาวลักษณ์ อนันตศานติ์, รศ. นิทานพื้นบ้าน. THE FOLKTALE. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2548.