ไปสอนวิชา critical thinking แบบไม่สอนที่ มวล.



วันที่ ๑๓ มิ.ย. ๕๔ ผมไปสอนวิชานี้เป็นครั้งที่ ๔ และใช้วิธีให้ นศ. (แพทย์ปี ๑) เรียนรู้เอง โดยการเรียนรู้แบบ PBL ในเวลา ๒ ๑/๒ ชั่วโมง

เริ่มจากผมส่งเอกสารชุดนี้ ไปให้ นศ. อ่านล่วงหน้า และในชั้นเรียนผมกล่าวนำประมาณ ๒๐ นาทีด้วย Ppt ชุดนี้ โดยบอกตรงๆ ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากสัมผัสจริง เรียนรู้จากการงอกงามจากภายในของตน (ไม่ใช่มีคนมาบอก) และเรียนรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นทีม จากกระบวนการกลุ่ม

เริ่มด้วยการหาอาสาสมัครมาพูดให้เพื่อนฟังว่า แนวคิดแบบหมวก ๖ ใบเป็นอย่างไร ปรากฏว่าไม่มีคนสมัคร จึงต้องชี้ตัว นศ. ชายคนที่นั่งหลังสุดที่ถูกชี้ตัวสารภาพว่าไม่ได้อ่านมา จึงชี้คนนั่งแถวถัดมา พูดได้เพียงไม่กี่ประโยค ชี้คนที่ ๒ แถวที่ ๒ จากหน้า ก็มาพูดได้เพียงสั้นๆ

กระบวนการเริ่มจากการแบ่งกลุ่มเป็น ๔ กลุ่ม โดยนับ ๑ ถึง ๔ วนไปจนครบ ๔๘ คน นศ. เข้าชั้นเรียน ๑๐๐% น่าชื่นชมมาก แล้วให้เวลา ๔๐ นาทีไปทำกระบวนการประชุมกลุ่มโดยใช้หมวก ๖ ใบ สวมหมวกทีละใบ ตามที่ระบุใน Ppt (และแช่ สไลด์ นี้ไว้ให้ นศ. ตรวจสอบได้) โดยให้เลือกหัวข้อเอาเอง และจัดโต๊ะประชุมกลุ่มเป็น ๔ กลุ่มกันเองอย่างรวดเร็ว

ใช้เวลา ๔๐ นาทีทุกกลุ่มก็ทำงานเสร็จ และจัดโต๊ะกลับมาอย่างเดิม มีการนำเสนอโดยผู้เสนอทีละกลุ่ม คนละ ๕ นาที ตามด้วยผู้สังเกตการณ์ของกลุ่ม ๑ นาที

กลุ่มที่ ๑ เรียนรู้ critical thinking จากการประชุมกลุ่มเรื่อง การใช้รถใช้ถนนในมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ ๒ เรื่อง การสวมหมวกกันน็อคในการขับขี่รถมอเตอร์ไซคล์ กลุ่มที่ ๓ เรื่อง เรียนอย่างไรให้มีความสุข กลุ่มที่ ๔ เรื่อง การเรียนจากการฟังเล็กเช่อร์

หลังจากนั้น ขออาสาสมัครจาก นศ. ฝั่งซ้าย ๑ คน จากฝั่งขวา ๑ คน ผลัดกันมาสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) จากกระบวนการทั้งหมด ปรากฏว่า นศ. บอกว่าเคยประชุมกลุ่มแล้วเปะปะ ไม่สามารถทำให้การระดมความคิดเป็นระบบได้ แต่เมื่อใช้วิธีหมวก ๖ ใบ ทำให้การประชุมมีระบบ เปิดช่องให้คิดทีละแบบ รวมแล้วคิดได้ทุกแบบ ได้เห็นว่าเพื่อนคิดไม่เหมืออนเรา และมีความคิดที่หลักแหลมสร้างสรรค์อย่างไม่น่าเชื่อ เพื่อนบางคนเป็นคนเงียบๆ แต่เมื่อได้โอกาสก็แสดงความเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การเรียนรู้จากประสบการณ์สั้นๆ ในวันนี้ จะเอาไปใช้ได้ตลอดชีวิต แม้ในการคิดคนเดียว นี่คือข้อสะท้อนการเรียนรู้ของนักศึกษา

ผมบอกกับอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ มวล. ๒ ท่าน ที่มานั่งสังเกตการณ์การสอนแบบไม่สอนนี้ ว่าปีต่อไปน่าจะสอนเองได้ แต่ต้องอ่านหนังสือ The Six Thinking Hats ให้เข้าใจถ่องแท้ และศึกษาวิธี facilitate การเรียนรู้แบบ PBL โดยเฉพาะวิธีให้กลุ่มทำ reflection หรือ AAR เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่เรียนในระดับลึก และสามารถช่วยเติมความรู้เชิงทฤษฎีเรื่องนั้นๆ (ในกรณ๊นี้คือ critical thinking) ที่สำคัญๆ สั้นๆ อย่างที่ผมทำให้ดู

อ่านบันทึกการไปสอนปีก่อนๆ ได้ที่นี่

วิจารณ์ พานิช
๑๓ มิ.ย. ๕๔
สนามบินนครศรีธรรมราช
ปรับปรุง ๑๕ มิ.ย. ๕๔

บรรยากาศในห้องเรียนตอนประชุมกลุ่ม


นศ. กลุ่มหนึ่งขอ โพสต์ ท่าถ่ายรูป


ถ่ายจากด้านหลังห้อง


หมายเลขบันทึก: 448964เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาอ่านกำลังทำกิจกรรมกับครูอยู่เลยครับ

ชอบอ่านวิธีสอนของอาจารย์หมอครับ ;)...

ชอบวิธีการสอนของอาจารย์ค่ะ

ขอตั้งข้อสังเกตเชิงวิพากษ์นิดหนึ่งครับ

หลายครั้งที่ผมได้ฟังเพื่อนๆ อภิปรายกันถึง ความเคารพน้อมน้อม มีสัมมาคารวะ ที่ท่านอาจารย์หมอได้สรุปไว้ใน ppt บทสรุปของการสนทนาเรื่อง อาชีพใดที่ไม่ค่อยจะยกมือไหว้ใครเลย คำตอบคือ หมอ ไม่ว่าพวกเขาจะยังเด็ก ยังเป็นหมออินเทิร์นอยู่ก็ตาม จะยากมากเลยที่พวกเขายกมือไหว้คนไข้ ไม่ว่าคนไข้จะมีอายุคราว พ่อ แม่ ลุง ป้า ตา ยาย ปู่ทวดของพวกเขา

แสดงว่าโรงเรียนหมอไม่ได้สอนแบบนี้ทั้งหมด

หากคนเก่ง เป็นคนดี มีสัมมาคารวะ กราบไหว้ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นผู้ที่ไม่มีความยึดมั่นว่าเป็น "ตัวกู ของกู" ตามที่ท่านพุทธทาสท่านสอน ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ จากการยกมือไหว้ คนที่ควรไหว้

ชาวบ้าน ชาวประชา คงจะมีความสุขมากกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท