เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิม ตอนที่ ๓๓ เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “ราตรีประดับดาว”


เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองราตรีประดับดาวมีเพลงชื่อเดียวกันของวงสุนทราภรณ์ ซึ่งดัดแปลงทำนองมาจากเพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น
 
เพลงราตรีประดับดาว (ไทยเดิม)
 
เพลงราตรีประดับดาวเป็นเพลงไทยเดิมพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประวัติของเพลงราตรีประดับดาวนั้นมีว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังเพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เถา) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงมอญ มีบทร้องที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนชั้นเดียวท่อนสุดท้ายว่า “"ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม" พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งเพลงเถาในสำเนียงมอญอย่างนั้นบ้าง จึงทรงหารือกับครูผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยในสมัยนั้น เพลงที่ทรงเลือกมาเพื่อพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นเพลงเถานั้น คือเพลงมอญดูดาว สองชั้น ของเก่า ซึ่งเมื่อทรงพิจารณาเพลงลงไป ทรงเห็นว่า เพลงมอญดูดาวของเดิมใช้หน้าทับมอญ (เทียบได้กับประเภทหน้าทับสองไม้ของไทย) และมีอยู่เพียง ๑๑ จังหวะแต่โดยที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชนิพนธ์เพลง โดยใช้หน้าทับประเภทปรบไก่ ซึ่งความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับประเภทสองไม้ ดังนั้นหากทรงคงเนื้อเพลงของเดิม ก็จะได้จำนวนหน้าทับปรบไก่เพียง ๕ จังหวะครึ่ง จึงทรงแต่งขยายมอญดูดาว ๒ ชั้นอีกครึ่งจังหวะ ให้ครบ ๖ จังหวะหน้าทับปรบไก่ จากนั้นจึงทรงประดิษฐ์ทำนองขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องขึ้นสำหรับร้องเป็นประจำโดยเฉพาะ คำร้องในบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งในอัตราสองชั้นมีว่า “ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง” นั้น ก็เพื่อให้เป็นที่หมายรู้ว่า พระองค์เป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์ เพราะพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน (แม้ความจริงเพลงนี้ จะทรงพระราชนิพนธ์ยังวังไกลกังวล ก็ทรงใช้ว่าวังหลวงตามสัญลักษณ์) และเป็นการเลียนล้อเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ที่กล่าวมาแล้วด้วย เมื่อทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จเรียบร้อยทั้งทำนองดนตรีและบทร้องแล้ว ก็ทรงต่อเพลงนี้พระราชทานแก่ข้าราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง ครั้นซักซ้อมกันเรียบร้อยดีแล้วก็ทรงให้นำวงปี่พาทย์ไปบรรเลง ถวาย ณ วังสุโขทัย เพื่อทรงฟังตรวจแก้ไขอีก ๒-๓ ครั้งในครั้งแรกมีเจ้านายที่ทรงสามารถในการดนตรี อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ ทรงร่วมฟังอยู่ด้วย ในระหว่างนี้ยังมิได้ทรงตั้งชื่อเพลงที่ทรงแต่งขึ้นใหม่นั้นว่ากระไร เจ้านายหลายพระองค์ต่างเสนอชื่อถวายต่าง ๆ กัน เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ และอื่น ๆ ที่มีนัยเดียวกันนี้อีกหลายชื่อ แต่ก็ยังมิได้ทรงเลือกเอาชื่อไหน  ต่อมาวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้ออกร้องและบรรเลงออกอากาศ ณ สถานี ๑.๑ ที่ศาลาแดง โดยประกาศชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงราตรีประดับดาว” อันเป็นชื่อที่ทรงคิดตั้งขึ้นเอง เพลงราตรีประดับดาว เถา ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการดนตรีไทยเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นเพลงที่มีทำนองและชั้นเชิงไพเราะน่าฟังเพลงหนึ่งในบรรดาเพลงไทยทั้งหลาย
 
เนื้อร้องเพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น
เที่ยวที่ ๑
“วันนี้ แสนสุดยินดี  พระจันทร์วันเพ็ญ วันนี้ แสนสุดยินดี  พระจันทร์วันเพ็ญ ขอเชิญสายใจ เจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลีเอย หอมดอก หอมดอกราตรี  แม้ไม่สดสี  หอมดีน่าดม เหมือนงามน้ำใจ  แม้ไม่ขำคม กิริยาน่าชม  สมใจจริงเอย”
เที่ยวที่ ๒
“ชมแต่ดวงเดือน  ที่ไหนจะเหมือน  ได้ชมหน้าน้อง ชมแต่ดวงเดือน  ที่ไหนจะเหมือน  ได้ชมหน้าน้อง พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง เจ้าอย่าขุ่นข้อง จงได้เมตตาเอย หอมดอก หอมดอกชมนาด  กลิ่นไม่ฉูดฉาด  แต่หอมยวนใจ เหมือนน้ำใจดี  ปรานีปราศรัย ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย”
 
 
เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองราตรีประดับดาวมีเพลงชื่อเดียวกันของวงสุนทราภรณ์ ซึ่งดัดแปลงทำนองมาจากเพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น
 
เพลงราตรีประดับดาว (ไทยสากล)
 
เพลงราตรีประดับดาว (ไทยสากล) คำร้องโดยสมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนองโดยธนิต ผลประเสริฐ นำทำนองมาจากเพลงไทยเดิม “ราตรีประดับดาว ๓ ชั้น”  ขับร้องโดยวินัย จุลละบุษปะ-ชวลี ช่วงวิทย์ อโศก สุขศิริพรฤทธิ์-มาริษา อมาตยกุล และยรรยงค์ เสลานนท์-จิตราภรณ์ บุญญขันธ์      
                                                                                                                    
“(ชาย) ยามค่ำนี้มีจันทราผ่องเพ็ญเห็นหน้ามารศรี หอมเอยมาลีระรื่นชื่นฤดีดังกลิ่นเนื้อลาวัณย์
(หญิง) อย่ามาชมให้หลงตรมใจ หน่อยคงแหนงหน่ายไปจากกัน น้องคงรำพัน วิโยคโศกศัลย์คอยพี่นั้นคืนมา
(ชาย) เชื่อใจพี่รักดังดวงชีวี
(หญิง) แน่ะดูซิช่างไม่มียางอาย
(ชาย) ถูกนิดเป็นไฉน
(หญิง) อย่ามือไวเลยหนาคนเขานินทาว่าเรา
(ชาย) รักเอยช่างยั่วมัวเมาขอกล่าวคำเฉลย
(หญิง) รักจริง
(ชาย) รักจริง
(หญิง) ใจพี่
(ชาย) ใจพี่
(หญิง) มิเชื่อวจีพี่เลย
(ชาย) มิได้หวังเชยไม่เคยคิดทราม
(หญิง) หญิงอื่นนั้นงามมากมายไป
(ชาย) อื่นใดร้อยพันไม่เท่าไม่เทียมเจ้าทรามวัย พี่รักดวงใจนะแก้วตา
(หญิง) แม้จริงดังคำพร่ำพรรณนาขอจงอย่าแปรผัน
(ชาย) ดวงเดือนลับสิ้นแสงผ่องพรรณ
(หญิง) ดาวเจ้าเฉิดฉันแพรวพราว
(พร้อม) รักไม่รู้ห่างเช่นดาวส่องแสงสกาว เหมือนราตรีประดับดาวชั่วกาลนาน”
 
 
อนึ่ง ยังมีเพลงเพลง "ราตรีประดับดาว" ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง และเพลง “ราตรีประดับดาว” ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง-สวลี ผกาพันธ์ แต่มิใช่ทำนองราตรีประดับดาว ๓ ชั้น เพลงแรกทำนองแต่งเป็นแบบไทยสากล ส่วนเพลงหลังทำนองมอญดูดาว ๒ ชั้น (ซึ่งเป็นที่มาของเพลงราตรีประดับดาว)
 
วิพล นาคพันธ์
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔
หมายเลขบันทึก: 448946เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 02:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท