โรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี


"จึงไม่แปลกที่แต่ละวันจะมีทั้งรถตู้ รถบัส นำนักเรียนรู้จากองค์กรต่างมุ่งหน้าสู่ พื้นที่ต่างๆของโรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี อย่างไม่ขาดสาย"

             ถ้าจะพูดถึงคำว่า โรงเรียน คงจะนึกถึงแต่ภาพ สถานที่ที่มีอาคาร   มีสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น มีครู  มีนักเรียนที่หอบตำรามานั่งเรียน อยู่ใน ห้องสี่เหลี่ยม  ที่มีกระดานดำ  มีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือ  ภาพของครูที่ถือชอล์กเขียนกระดานดำถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กนักเรียน ที่ตั้งใจเรียนบ้างไม่ตั้งใจเรียนบ้าง                 

         แต่ โรงเรียนชาวนา ไม่ได้เป็นอย่างที่เรานึกภาพกัน โรงเรียนชาวนาไม่มีครูสอน ไม่มีห้องเรียน แล้วใครเขาเรียนกันอย่างไรล่ะ  ลองตามผมมาแล้วไปดูกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา  ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครับ                    

          โรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี  ที่มูลนิธิข้าวขวัญ เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมามีทุ่งนาเป็นห้องเรียน ไม่มีโต๊ะ  ไม่มีเก้าอี้  มีแต่ท้องทุ่งนาในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง  อำเภอบางปลาม้า อำเภออู่ทอง และอำเภอดอนเจดีย์  ที่มีระบบการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอนที่พอสรุปได้ดังนี้ครับ

1.       เริ่มจากการศึกษาปัญหาของชาวนาเพื่อเป็นโจทย์สำหรับการเรียนรู้

2.       ทบทวนความรู้เดิม หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน

3.       หาความรู้ใหม่เพิ่มเติม

4.       ตั้งเป้าหมายและกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน

           สำหรับเครื่องมือการเรียนรู้นั้น มูลนิธิข้าวขวัญได้ออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชาวนาโดยแบ่งเป็น 3 หลักสูตรคือ

1.       การควบคุมแมลงในนาข้าวโดยชีววิธี

2.       การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี

3.       การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

        นักเรียนชาวนาเรียนรู้ด้วย  การลงมือทำจริง  ผ่านกระบวนการ  สังเกต บันทึก วิเคราะห์  แก้ไข  ทำใหม่  ทำซ้ำๆ ที่สำคัญมีการรวมตัวเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และลงมือทำจริง  ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ทาง  มูลนิธิข้าวขวัญ   ที่ได้ดำเนินการต่อโรงเรียนชาวนานั้น ณ วันนี้ ทำให้ชาวนา จ.สุพรรณบุรี  เริ่มเห็นหนทางการแก้ปัญหาของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาหนี้สิน  ปัญหาสุขภาพที่แย่ลงเนื่องจากการใช้สารเคมี 

         ถึงวันนี้  ชาวนาที่สุพรรณบุรีวันนี้ ไม่เพียงแต่ทำนาเท่านั้น แต่ยังเป็นนักจัดการความรู้ชั้นบรมครู  ทำให้ภาพของชาวนาเปลี่ยนไป จากเดิมใส่เสื้อหม้อฮ่อม  มือจับคันไถ  หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน มาเป็นนักจัดการความรู้  มือคลิกเมาท์คอมพิวเตอร์นำเสนอวิชาการจัดการความรู้ให้กับผู้ที่มาเยือนได้อย่างยอดเยี่ยม    พลิกบทบาทจากท้องทุ่งนาสู่ภาพนักวิชาการ และที่สำคัญกว่าสิ่งใด ความรู้ที่นักเรียนชาวนานำมาถ่ายทอดนั้น เป็นความรู้ที่ได้มาจากการลงมือทำจริง  รู้ลึกรู้จริง  จึงไม่แปลกที่แต่ละวันจะมีทั้งรถตู้  รถบัส นำนักเรียนรู้จากองค์กรต่างมุ่งหน้าสู่ พื้นที่ต่างๆของโรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี    อย่างไม่ขาดสาย   แม้องค์กรที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(แก่งคอย) จำกัด  ได้ส่งพนักงานมาเรียนรู้การจัดการความรู้จากนักเรียนโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี ถึงตอนนี้ก็ผ่านไปแล้วถึง 4 รุ่น มีพนักงานที่ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากนักเรียนชาวนาไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 คน ทำให้พนักงานเหล่านั้นได้แนวคิดสำหรับการปรับปรุงงานแล้วไม่น้อยกว่า 15 โครงการ จนทำให้เราพูดได้เต็มปากว่า เราเป็นลูกศิษย์ของนักเรียนชาวนา   โรงเรียนชาวนาก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สุดยอดอีกแห่งหนึ่ง   และในครั้งต่อไปผมจะเล่าถึงรายละเอียดของกิจกรรมที่เราชาวปูนได้ร่วมเรียนรู้จากนักเรียนชาวนา ...... 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวขวัญ
หมายเลขบันทึก: 44839เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ได้อ่านบทความของคุณที่ใช้นามว่าภูคาแล้ว รู้สึกว่าจะชื่นชมกันอยู่ไม่น้อย ขอขอบคุณแทนนักเรียนชาวนาทุกคนด้วย เรายังขอย้ำว่าเราเป็นเพียงองค์กรเล็กๆ จากประสพการณ์ก็ยังมีไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง KM. เพิ่งจะเริ่มทำก็เพียง 2-3 ปี ยังมีอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ สืบค้น และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอีกไม่มีที่สิ้นสุด ที่ผ่านมาเป็นการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสพการณ์ไม่เคยคิดอาจหารที่จะเป็นครูของใคร ไม่คาดหวังว่าผลที่ได้รับจะต้องดีที่สุดแต่เราทำทุกอย่างให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นคือความคาดหวังจากผู้มาดูงานจากคำบอกเล่าที่ได้รับฟังมา ทำให้เป็นกังวลว่าเขาเหล่านั้นอาจจะผิดหวังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็เป็นได้ หากเป็นไปได้ช่วยบอกจุดอ่อนของหลักสูตรให้เรารับรู้ด้วย เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พัฒนาขีดความสามารถได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณพี่จันทนามากครับ  จากผมได้ไปร่วมมาแล้ว 3 ครั้งก็เห็นพัฒนาการของทีมงานข้าวขวัญและนักเรียนชาวนาทุกครั้ง ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมได้เรียนรู้ถึงการทำงานอย่างทุ่มเทของทีมงาน เอาใจใส่ต่องานทุกขั้นตอน นี่ก็บทเรียนบทหนึ่งที่สำคัญสำหรับพวกเราแล้วครับและก็เชื่ออย่างยิ่งครับว่าหากประเทศไทยมีองค์การอย่างมูลนิธิข้าวขวัญจังหวัดละแห่งประเทศไทยคงพัฒนาไปได้อีกเยอะเลยครับ สุดยอด สามยก(พี่น้องฝากมาครับ)

เป็นคนกรุงเทพ ไม่มีความรู้เรื่องทำนาเลย แต่สนใจอยากเข้าร่วมอบรมด้วยค่ะ แต่ไม่ทราบว่าต้องติดต่อยังไง ที่ไหน ช่วยแนะนำได้ไม๊ค่ะ

สนใจเปิดโรงเรียนชาวนาที่ จ.ชัยนาท ทำอย่างไรดีคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท