ทบทวนธรรมเนื่องเพราะเวทีเสวนา " การศึกษาบนรากฐานความรู้สึกตัว"


วันนี้มีโอกาสได้ไปร่วมรับความรู้จากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในงาน 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อ เทียน จิตฺตสุโภ จึงได้ทราบวิธีการเคลือนไหว 14 จังหวะ ที่หลวงพ่อเทียนคิดค้นขึ้น อันการฝึกการเจริญสติอีกวิธีหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อให้รู้ทันเวทนาที่เกิดเพื่อให้รู้อยู่เสมอถึง "ธรรม" ที่มาประกอบกับจิตเป็นต้น

ตามความเห็นดิฉันแล้ว ดูราวกับว่าท่านได้นำธรรมคือ สติ ,สัมปชัญญะ,ธรรมวิจยะ,สมตา,โยนิโสมนสิการ,วิราคะ มารวมไว้ให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจด้วยคำง่ายๆเพียงคำเดียวคือ"รู้สึกตัว"

และได้ซึมซับบรรยากาศการเสวนา ในหัวข้อ การศึกษาบนรากฐานความรู้สึกตัว ซึ่งวิทยากรก็ล้วนแล้วแต่ผู้มีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ เช่น อ.วิรัตน์ คำศรัจันทร์, อ.รัฐพล ฤทธิธรรม,อ.ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ และอาจารย์หญิงอีกท่าน

อ. ชัชวาลย์ ทองดีเลิศนั้น ท่านเป็นเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ท่านได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษามากค่ะ

(อ.ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ)

ท่านว่าการศึกษาอาจไม่ใช่การนั่งเรียนในห้องและการได้รับปริญญาเท่านั้น แต่หมายถึงการศึกษาที่ถ่ายทอดในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือไปจากการศึกษาในระบบที่รัฐจัดให้ เช่น

1 โดยครอบครัว เช่น โรงเรียนบ้าน

2 โดยภูมิปัญญา ดังที่เรามักเรียกกันว่า ปราชญ์ชาวบ้าน

3 โดยสถาบันศาสนา (เช่นการศึกษาของพระ เณร ในวัด)

4 โดยสถานศึกษาที่แนวทางการสอนแตกต่างจากการสอนในระบบอย่างสิ้นเชิง ดังเช่นหน่วยงานการศึกษาทางเลือกที่ท่านทำอยู่

5 โดยสถานศึกษาที่จัดการสอนแบบอิงระบบ เช่น โรงเรียนที่จัดการศึกษาเช่นเดียวกับการศึกษาในระบบของรัฐ แต่เสริมด้วยหลักสูตร หรือแนวทางการสอนที่เป็นแบบแผนเฉพาะตน เช่น โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ที่นำหลักธรรมในศาสนาพุทธ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ละคร เพลง

6 โดยกลุ่มมวลชนต่างๆ เช่น กลุ่มปฏิบัติธรรม (หรือกลุ่มแม่บ้านดังที่ดิฉันเคยได้ถ่ายทอดประสบการณ์มา)

7 โดยสื่อต่างๆ

(อ.ณัฐพัชร์ ทองคำ)

ขณะที่ท่านบรรยายนั้น ดิฉันนึกถึงการศึกษาศิลปะของตนเอง ที่เริ่มด้วยการแนะนำจากเพื่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ดิฉันหาประสบการณ์การทำงานด้วยการฝึกฝนเองตลอดมาโดยอาศัยสื่อคือหนังสือตลอดมา โดยเฉพาะการวาดรูปด้วยสีน้ำนั้น ดิฉันใช้หนังสือหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ของ Siriol Sherlox เป็นแบบแผน จึงทำให้มีสื่อคือหนังสือเป็นครูผู้สอน

(อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์)

การศึกษาศิลปะของดิฉันจึงเข้าข่ายการศึกษาในแบบที่ 7 ตามที่ท่านบรรยาย

ดิฉันมองการศึกษานอกระบบด้วยสื่อคือหนังสือ ตามที่ดิฉันได้ใช้เป็นครูนี้ ว่าต้องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากบุคคลรอบข้าง ความใส่ใจผู้ศึกษาเอง และหลักธรรมที่ผู้ศึกษาต้องนำมาปฏิบัติเป็นธรรมชีวี เพื่อให้การศึกษาที่บุคคลทั่วไปไม่คุ้นเคยนี้ เป็นผลสำเร็จ

โดยขอนำประสบการณ์ของตนเองมาเล่านะคะ นั่นคือ

1 การสนับสนุนจากครอบครัว เนื่องจากผู้สอนคือสื่อที่ไม่สามารถสื่อสารแบบสองทางได้ ผู้เรียนจึงต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จึงทำให้ระยะเวลาในการศึกษาค่อนข้างนาน ในระหว่างที่กำลังศึกษากำลังดำเนินไปอยู่นั้น กำลังใจ ความเข้าใจ และการสนับสนุนจากครอบครัวนับว่าสำคัญมาก เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความท้อถอย การหันเหออกจากการศึกษาทางเลือก

2 การเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ และตั้งใจทำอย่างไม่ท้อถอย อธิษฐานธรรม จึงเป็นธรรมที่ควรนำมาใช้ การตั้งจิตอธิษฐานนี้ในความหมายเดิม ไม่ได้หมายถึงการอธิษฐานขอพรใดๆจากสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างที่เราทำกันในปัจจุบัน หากหมายถึงการตั้งจิตมั่น ว่าจะพยายามทำในสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ แล้วพากเพียรทำ เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามความตั้งใจ

3 การยอมรับพัฒนาการโดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบัน (หรือ ปัจจุบันธรรมในพุทธศาสนา) ช่วยให้การศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความสุขกับการศึกษา ดังเช่นในช่วงที่ดิฉันเปลี่ยนการทำงานจากการวาดภาพด้วยสีอะคริลิค มาเป็นสีน้ำ ด้วยวิธีการทำงานที่แตกต่างกันมาก จึงทำให้เกิดความเครียดในระยะแรก เนื่องจากเคยทำงานหนึ่งได้ดี แต่พอเปลี่ยนวัสดุคือสี และชิ้นงาน เท่านั้น ก็กลับกลายไปเหมือนคนไม่เคยทำงานศิลปะมาก่อน เพราะสีอะคริลิคนั้น หากทำผิด เพียงป้ายสีขาวทับ ทิ้งให้แห้ง แล้วทาสีทับลงไปใหม่ก็แก้ไขที่พลาดไปได้แล้ว แต่สีน้ำไม่ใช่ จึงทุกข์ (จะบอกว่า "ไม่รู้สึกตัว" ก็ได้ค่ะ)

ต่อมา ได้นำความทุกข์ขึ้นมาพิจารณาในยามที่จิตเป็นสมาธิ พบว่าเหตุต่างๆ เช่น ภวตัณหา การไม่ตั้งอยู่บนปัจจุบันธรรม

ภวตัณหา คือความอยากในความมี ความเป็น เพราะอยากได้ผลงานดีๆ แต่ยังไม่สามารถทำได้ จึงทุกข์

การไม่ตั้งอยู่บนปัจจุบันธรรม คือพื้นฐานความเป็นจริงในขณะนั้น เนื่องจากการที่ประสบการณ์ยังไม่มากพอ จึงไม่สามารถสร้างผลงานได้ตามที่ต้องการ เช่น ลงสีซ้ำๆจนสีขุ่น หรือการทำงานที่ช้ามากจนนางแบบเหี่ยวเฉาไปก่อนที่จะวาดเสร็จ แต่เพราะความปรารถนาไม่อยู่บนพื้นฐานความจริงเหล่านี้ จึงนำไปสู่ทุกข์

เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของทุกข์ จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนนางแบบ โดยเลือกดอกไม้ที่บานอยู่ได้นาน ชนิดที่ว่าต่อให้วาดนานเป็นเดือนก็ยังเบ่งบานเป็นนางแบบให้ได้อยู่ ดังนั้น งานสีน้ำในช่วงแรกๆของดิฉันจึงเป็นภาพวาดของดอกกล้วยไม้

พิจารณาถึงคุณ โทษ ของความ อยากดี เมื่อเห็นทั้งคุณ (คือทำให้อยากพัฒนาผลงานต่อไป) และโทษ (คือทุกข์เพราะความอยากที่มากเกินไป จนไม่สัมพันธ์กับปัจจุบันธรรม) จึงทั้งไม่ดึง เพราะคุณ และไม่ผลักเพราะโทษ จิตจึงเป็นกลางต่อความอยากนั้นได้ เมื่อจิตมีสภาพเป็นกลางต่อธรรม ก็ไม่เครียดกับผลงานที่ได้ และยอมรับผลจากการทำงานที่สัมพันธ์กับเหตุปัจจัยในแต่ละชิ้น

เมื่อไม่มีความเครียดทั้งในขณะทำงาน และหลังจากการทำงานกลับกลายเป็นว่าสามารถทำงานได้ดีขึ้น จนผลงานได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปในที่สุด

4 การสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดการพัฒนา แม้การยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันจะช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข ยอมรับผลงานที่เป้นไปตามเหตุปัจจัย แต่หากไม่มีการสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดการพัฒนา งานก็อาจไม่ก้าวหน้าได้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน หรือหาความรู้เพิ่มเติมด้วย

เช่น พยายามทำงานให้เร็วขึ้น และเมื่อจะเปลี่ยนนางแบบที่บานไม่ทนเหมือนกล้วยไม้ ก็มีการวางแผนก่อนลงมือวาด ว่าจะวางตำแหน่งแสงเงาที่ไหน เมื่อลดเวลาในการ คิดระหว่างทำ ลง หรือวาดภาพลายเส้นแล้วแรเงาเพื่อว่าหากนางแบบเหี่ยวไปแล้ว ก็ยังมีแนวทางให้ลงสีเป็นแสงและเงาได้ หรือการเข้าอบรมการวาดภาพสีน้ำในแนวพฤกษศาสตร์จากมหวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้จากการพิจารณาในวันนี้ จากการที่ได้เข้าร่วมฟังคำบรรยายในงาน 100 ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน

ดูราวกับไม่เกี่ยวข้องกันเลย หากเนื้อแท้แล้ว ที่เป็นไปด้วยกัน คือ ธรรม ล้วน

หมายเลขบันทึก: 448316เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะพี่ณัฐ

ว้าว วาว ยินดีด้วยนะคะพี่ณัฐ ได้พบปะทั้งท่านอ. วิรัตน์ เซียนศิลป์ และพี่ณัฐพัชร์

พี่ณัฐ สบายดีนะคะ ยังเรียนภาษาบาหลีอยู่ไหมคะ เวลาผ่านหน้าห้องเรียนวัดพระแก้ว เจียงฮาย คิดถึงพี่ณัฐ นะคะ

สวัสดีค่ะคุณปู

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

แม้จะคุยกับทั้งสองท่านได้ไม่นาน เพราะท่านยุ่งกับการจัดงาน แต่ก็ประทับใจในทั้งสองท่านมากค่ะ

วันนี้เห็นเต็มตา เต็มใจ กับ..ธรรมที่คุณณัฐรดา เขียนไว้เลย ครับ

ขอบคุณ ครับ

สวัสดีค่ะคุณแสงแห่งความดี

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

ไว้นำสิ่งที่เห็นมาเล่าสู่กันบ้างซีคะ

สาธุ สาธุ ครับท่าน

*ขอบคุณสำหรับแนวคิดดีๆค่ะ..ศรัทธา.. ความเพียร.. โอกาส.. ปัจจัยสนับสนุน และแรงบันดาลใจเป็นองค์ประกอบสำคัญในความสำเร็จกิจทุกๆด้านทั้งทางโลกธรรมและโลกุตรธรรม ..ขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง..อาจทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวนะคะ..

*พี่เพิ่งได้เห็นรูปงามๆของ คุณณัฐพัชร์ ด้านหน้าชัดเต็มตาเลยค่ะ..เคยแต่เห็นด้านหลังมุ่นผมเก๋ๆ..ส่วนภาพ ผศ.ดร.วิรัตน์ ในท่านั่งแบบสบายๆผ่อนคลายค่ะ..

*ขอบคุณที่ไปฝากความเห็นดีๆที่บันทึกค่ะ..

สรุปมาเล่าได้ชัดเจนดีจังเลยละครับ เป็นมือบันทึกเรื่องราวและเป็นสื่อการเรียนรู้ทางสังคมที่เป็นกำลังทางข่าวสารความรู้ที่ไม่ค่อยมีในสังคมทั่วๆไป

                                       

                                      

                                      

                                      

เลยเอารูปบรรยากาศของงานมาฝากอีกเสียเลย ดีใจที่ได้เจอและได้ร่วมกิจกรรมด้วยกันครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ JJ

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

ทราบว่าตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่ชลบุรีแล้ว พอดีช่วงนี้พระอาจารย์จะทดสอบว่าบาลีที่สอนไปลูกศิษย์ได้อะไรกันบ้าง ไว้สอบย่อยเสร็จแล้ว คงต้องหาโอกาสต้อนรับชาวชลบุรีคนใหม่แล้วล่ะค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา มาเยี่ยมครั้งนี้ตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับท่านอาจารย์ทางศิลปะ และขอชื่นชมในการร่วมกิจกรรมที่มีบรรยากาศธรรมมะ และ หากเนื้อแท้แล้ว คือที่เป็นไปด้วยกัน คือ “ธรรม” ล้วน...ชอบมากเลยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา

              

  • อ้าว เกิดอะไรขึ้นกับบันทึกคะนั้น ทำบันทึกแตกเลย ^^"

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่ นงนาท

ชื่นชมการทำงานเพื่อสังคมที่พี่ทำอยู่เหมือนกันค่ะ

คงมีโอกาสได้พบปะกันนะคะ

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์ และ อ.เหมียว

คงมีโอกาสได้พบปะกันอีกนะคะ

ตามไปชื่นชมความงาม เบื้องหลัง การจัดงานมาแล้วค่ะ

ขอบคุณคุณ Rinda ด้วยค่ะที่แวะมา

*-*

มาชม

ฟังด้วยดีย่อมก่อเกิดปัญญานะครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท