สมอง กับ พระพุทธศาสนา : จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว "ศีลบารมี"


การวิจัยที่ไม่รอบคอบ จากสถาบัน จากคณะ จากบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะจากต่างประเทศนั้น บางครั้งก็ส่วนชี้นำสังคมและชี้นำ "ความเชื่อ" ของบุคคลได้

อย่างเช่นงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ถ้าหากสรุปแบบง่าย ๆ เบื้องต้น ตามความเข้าใจ ของคนที่อ่านคร่าว ๆ ก็สรุปได้ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า"

คนปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนามีโอกาส "โง่" กว่าคนทั่วไป..

 

 

หรือถ้าพูดให้เป็นวิชาการหน่อย ก็บอกว่า การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (นิยามศัพท์เฉพาะ : การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาคือ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา) มีผลต่อสมองในส่วนของความจำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

คือ ถ้าไปปฏิบัติกิจกรรมทั้งศาสนาทั้งสิ้นทั้งปวง (ความหมายกว้างจริง ๆ) ทำให้สมองส่วน hippocampus ฝ่อ  ซึ่งจะมีผลอารมณ์และความทรงจำ

ถ้าคนที่เห็นพ่อเห็นแม่เป็นอัลไซเมอร์ แล้วพ่อแม่เขาไปทำบุญ ทำทาน ไหว้พระสวดมนต์บ้าง หรือบ่อย ๆ ก็จะถูกเหมารวมว่า "การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ของเขาเป็นอัลไซเมอร์"

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ น่าเชื่อถือมาก ๆ ในสายตาคนทั่วไป

แต่การสำรวจวิจัยโดยปัจจัยวิเคราะห์อย่างไม่ถี่ถ้วนนั้นส่งผลดีมากกว่าผลร้าย

ที่ข้าพเจ้านำเสนอเรื่องนี้ ก็มุ่งเล็งเห็นประโยชน์ในการที่จะมีบุคคล หรือคณะฯ บุคคลจะทำการศึกษาวิจัยต่อให้ครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านศาสนา ที่จะต้องพิจารณาเรื่อง "ทาน ศีล ภาวนา" สำหรับบุคคลทั่วไป และ ปัจจัยในเรื่องของ "ศีล สมาธิ ปัญญา" สำหรับนักบวชและผู้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ข้าพเจ้าขอสรุปสมมติฐานเพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

ในส่วนเบื้องต้น ถ้าหากจะวิเคราะห์ออกมาทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องแบ่งปัจจัยออกเป็น 2 ตัวคือ "ทาน" และ "ศีล"

ซึ่งจะต้องกำหนดสมมติฐานให้ชัดเจน

คือ 1. การให้ทานทำให้สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   

2. การรักษาศีลทำให้สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   

จากนั้นจึงทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อว่า สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   ของผู้ที่ให้ทานและรักษาศีลนั้นมีผลต่ออารมณ์และความทรงจำ

เพราะจะเชื่อมโยงถึงสมมติฐานในเบื้องปลายที่สำคัญก็คือ ความรู้ ความจำที่เกิดจากสมองแตกต่างกับความรู้ ความจำที่เกิดจาก "จิต..."

การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอยู่ในระดับของ "จิตวิญญาณ" ดังนั้น ซึ่งจะแยกกันอย่างชี้ชัดว่า ความรู้ ความจำทาง "กายภาพ" คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากสมอง (ซึ่งทางพุทธศาสนาแยกออกเป็น 2 ตัวคือ สุตตมยปัญญากับจินตนามยปัญญา) กับความรู้ ความจำทาง "จิตวิญญาณ" คือ ในขณะที่จิตว่าง (ภาวนามยปัญญา) ซึ่งจะสามารถลงลึกไปถึงขั้นของ "ญาณ" อารมณ์หรือความจำที่เกิดขึ้น เกิดมีนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง...

ซึ่งจะต้องกำหนดปัจจัยของกลุ่มตัวอย่างแต่ละตัวให้ชัดเจน โดยจะหลักใช้ 5 W 1 H มาแยกออกเลยก็ได้คือ What Where When Who Why How ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ต้องนำมาวิเคราะห์ทุกตัว

โดยเฉพาะในเรื่องของศีล ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้รักษาศีล 5 ต่อมาคือผู้รักษาศีล 8 หรือศีลอุโบสถ ศึกษาเรื่อยไปถึงสามเณรศีล 10 พระภิกษุศีล 227 จนถึงระดับของพระอริยเจ้า (ถ้าท่านเมตตาให้ศึกษาวิจัย) เพราะระดับอารมณ์ของบุคคลที่รักษาศีลในแต่ละดับต่างหากราวฟ้ากับเหว

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น บุคคลรักษาศีล 5 กับศีล 8 ในศีลข้อหนึ่งที่ผู้รักษาศีล 8 จะยกเว้นการดูหนัง ดูละคร การละเล่น ฟ้อนรำ

บุคคลผู้รักษาศีล 8 นั้น จะไม่ต้องเครียดกับข่าวสารบ้านเมือง ไม่มีอารมณ์คล้อยตามละครรัก ๆ เศร้า ๆ หรือไม่ต้องผจญกับฉากสงครามแอ๊คชั่นที่ยิงกันเลือดท่วมจอ

อาทิ จากการที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตตนเอง หากวันใดดูหนังสงคราม หรือหนังที่มีการฆ่าแกงกันในช่วงกลางคืน ก่อนนอน วันนั้นสมองจะตึงเครียดมาก ซึ่งส่งผลต่อการพักผ่อนหลับนอน ซึ่งจะมีผลต่อคนที่ดูหนังทุกวัน ดูละครทุกวัน ฟังข่าวบ้านเมืองเครียด ๆ ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยแน่นอนว่าสิ่งทั้งหมดนี้ไป "ยำ" รวมกันอยู่ใน "สมอง" 

หรือแม้กระทั่ง คนที่รักษาศีล 8 อยู่บ้าน กับคนที่มารักษาศีลอุโบสถที่วัด หรือสถานปฏิบัติ แม้เพียงชั่วข้ามคืนนึง อานิสงส์ที่ได้ก็แตกต่างกัน

จากนั้น ยังต้องดูประวัติต่อไปอีกว่า การดำรงชีพ การทำมาหากินในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมาเริ่มปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนานั้น เขาทำอะไรมาบ้าง

เคยติดยาเสพติดไหม กินเหล้า สูบบุหรี่จัดขนาดไหน เพราะยาเสพติดมีผลโดยตรงต่อสมอง

หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพ ต้องดูอาชีพที่เขาทำมาตลอดชั่วชีวิต หรืออาจจะทำอาชีพนั้นอยู่ว่าเป็น "สัมมาอาชีพ" ไหม เป็นอาชีพที่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขายเนื้อสัตว์ เป็นอาชีพที่ต้องทรัพย์ รวมถึงฉ้อโกง คอรัปชั่น เป็นอาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องการกามรมณ์ หรือต้องโกหกพกลมเป็นประจำ เป็นอาชีพที่ขายเครื่องดื่มมึนเมาไหม เปิดร้านอาหาร เปิดผับ คาเฟ่ คาราโอเกะ หรือเปล่า ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้ละเอียดอ่อนมากเพราะเป็นเรื่องของ "กรรม"

ต้องจำไว้เสมอว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว"

เราจะคิดดี คิดชั่ว พูดดี พูดชั่ว ทำดี ทำชั่ว ทุกอย่างส่งผลกับ "จิตและกาย"

การคิด อย่าประมาทว่าจะไม่ให้ผล เพราะทั้งการคิดดี คิดชั่วสมองต้องทำงาน แต่คนที่ปฏิบัติธรรมจะละเว้นการคิด การจินตนาการ จะเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน แค่นี้ก็ตัดปัญหาเรื่องการทำงานของสมองไปได้มากโข

อาทิ จากการที่ข้าพเจ้าสังเกตตนเอง ครั้งเมื่อเริ่มหลับตา เจริญสมาธิภาวนาในสองสามลมหายใจแรก ก็จะรู้สึกทันทีว่า ลักษณะของผิวหนังตั้งแต่เหนือคิ้วขึ้นไปผ่อนคลายลง

คิ้วที่ตึงหรือขมวดโดยไม่รู้ตัว ผ่อนคลาย เมื่อคิ้วคลาย เส้นที่ต่อไปถึงขมับก็คลายตาม ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังบริเวณศรีษะลดความตึงลงมาอย่างมาก

และถ้าหากทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน ทำเป็นประจำ ความเจ็บป่วยที่ข้าพเจ้าเป็นบ่อย ๆ คือ อาการปวดขมับด้านซ้าย จะไม่มารบกวน

แต่ถ้าหากช่วงใดละเว้นจากการนั่งสมาธิภาวนา ไม่นานประมาณ 3 วัน อาการไมเกรน คือ การปวดขมับข้างซ้ายอย่างรุนแรง จะเข้ามาเยี่ยมเยือน จนบางครั้งถึงกับต้องอาเจียนออกมา

แต่ก็มีวิธีการรักษาเบื้องต้นทางกายภาพ ที่คุณหมอหวล สังพรามหณ์ เคยให้ความรู้กับข้าพเจ้าไว้ คือ ให้คลายเส้นตรงต้นคอ โดยการก้มคอลงแล้วนวดเขี่ยเส้นออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นก็นวดศรีษะให้ทั่ว โดยให้หัวนิ้วโป้งนวดออกไปทั้ง 4 ทิศ 4 ทาง จากนั้นมากดที่หว่างคิ้วและบริเวณขมับ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรนเบื้องต้นได้

แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปเจริญสติภาวนาจึงจะสลัดอาการปวดหัวนั้นได้อย่างแท้จริง

ทุกอย่าง ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนานั้น มีผลต่อทั้งกายและจิต

ผู้ที่ศึกษาวิจัยจะต้องกำหนดปัจจัยให้รอบคอบ

ถ้าหากจะทำหวังแต่ปริญญาหรือหน้าตาแล้ว ก็พึงละเว้นเสีย เพราะกรรม คือ การกระทำที่ชี้นำให้ผู้อื่นนั้นละเว้น ยกเลิก การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่กรรมที่ธรรมดาเลย...


หมายเลขบันทึก: 448103เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท