คุณภาพคือชีวิต


การดำเนินชีวิตควบคู่กับหลักการจัดการคุณภาพ หากเข้าใจในหลักการจัดการคุณภาพ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตก็จะมีคุณค่า

การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การดำรงชีวิต การทำงาน  การบริการ ตลอดจนถึง การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อผู้อื่นหรือสังคม นั้น ผู้ดำเนินกิจกรรมจะต้องทราบเป้าหมายที่ต้องการ หากการดำเนินกิจกรรมต่างๆสอดคล้องกับเป้าหมายหรือตอบสนองตรงกับความต้องการของผู้รับบริการหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว การดำเนินกิจกรรมนับได้ว่ามีความสำเร็จ ยิ่งผู้เกี่ยวข้องในการให้บริการหรือสร้างผลิตภัณฑ์นั้นสามารถตอบสนองความค้องการของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และต่อเนื่องแล้ว ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การดำเนินกิจกรรมนั้นไม่เกิดความสูญเปล่า ทั้งยังก่อให้เกิดการพัฒนาการบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับคำว่า “คุณภาพ”

หมายเลขบันทึก: 448095เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

คุณภาพที่ดีจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ลูกค้าต้องการอาจจะเรียกว่ามาตรฐานหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุให้เห็นถึงคุณค่า สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจของลูกค้า ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณค่า คุณภาพจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้ผลิต ผู้ใช้ และสังคม เช่น คุณภาพในมุมมองของลูกค้า คุณภาพในมุมมองของผู้ผลิต คุณภาพในมุมมองของสังคม

คุณภาพ จึงหมายถึง คุณลักษณะและประโยชน์ของการใช้งานโดยรวมของผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองการใช้งาน และ สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ต้องการและคาดหวังของลูกค้า ซึ่งอาจจะแบ่งคุณภาพใน 2 ลักษณะ คือ

1. คุณภาพเชิงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ เป็นคุณภาพที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองการใช้งาน และ สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ต้องการและคาดหวังของลูกค้า เช่น อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอิเลคทรอนิกที่ระบุปริมาณการเก็บข้อมูลไว้ อุปกรณ์นี้ก็จะต้องเก็บข้อมูลตามที่ระบุไว้ หรือ เครื่องปรับอากาศต้องทำความเย็นได้ตรงตามที่ระบุไม่ใช่มีแต่ลม เป็นต้น

2. คุณภาพเชิงส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นคุณภาพที่ช่วยในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ดึงดูดใจลูกค้า สร้างความแตกต่าง แปลกใหม่ให้ผลิตภัณฑ์ เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การบริการที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า เช่น การติดตามผลหลังการขายผลิตภัณฑ์ การสร้างรูปแบบของปลิตภัณฑ์ในเชิงผสมผสาน เป็นต้น

วงจรเดมิ่ง เป็นวงจรของการบริหารการจัดการในการสร้างคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เกิดการปรับปรุง การทำงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยขั้นตอน 4 ขั้นตอน ได้แก่

P = Plan หมายถึง การวางแผนแก้ปัญหาต่างๆ

D =DO หมายถึง การลงมือแก้ปัญหาที่วางแผนไว้

C =Check หมายถึง การตรวจสอบหลังจากการลงมือแก้ปัญหาแล้ว

A = Act หมายถึง การปรับปรุงแผนเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ

หลักการบริหารมาประยุกต์ใช้ ซึ่ง Deming Cycle เป็นหลักการบริหารที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมสำหรับองค์กรระดับเทศบาล โดยประกอบด้วยขั้นตอนที่เรียกว่า Plan-Do-Check-Act โดยมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 เขียนแผนงาน (Plan) ซึ่งต้องพิจารณา การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายให้ชัดเจน การกำหนดวิธีการทำงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

ขั้นตอนที่ 2 ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ (Do) ซึ่งจะแบ่งเป็น ศึกษาและอบรมให้เข้าใจในวิธีการทำงานในแต่ละเรื่องแต่ละครั้ง และลงมือปฏิบัติ เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว (Check) ซี่งเป็นการตรวจสอบและติดตามความก้าวหน้าของงานและการประเมินผล เพื่อตรวจสอบว่า งานที่ได้ดำเนินการไปนั้นได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ และ เพื่อตรวจสอบว่าคุณภาพที่ได้มานั้นตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่

ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (Act) เมื่อตรวจสอบสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ และต้องแก้ไขจุดใด โดย

แก้ไขที่ต้นเหตุ ค้นหาสาเหตุ แล้วทำการป้องกัน เพื่อมิให้เกิดความบกพร่องขึ้นอีก หาทางพัฒนาระบบหรือปรับปรุงการทำงานนั้น โดยตรงต่อไป

เครื่องมือควบคุมคุณภาพทั้ง 7 ชนิดนี้ ตั้งชื่อตามนักรบในตำนานของชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ "บงเค " (Ben-ke) ผู้ซึ่งมีอาวุธอันร้ายกาจแตกต่างกัน 7 ชนิด พกอยู่ที่หลัง และสามารถเลือกดึงมาใช้สยบคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือร้ายกาจคนแล้วคนเล่า สำหรับเครื่องมือทั้ง 7 ชนิด สามารถแจกแจงได้ดังนี้

1. ผังแสดงเหตุและผล (Cause-and-Effect Diagram) หรือผังก้างปลา (Fishbone Diagram) บางครั้งเรียกว่า Ishikawa Diagram ซึ่งเรียกตามชื่อของ Dr.Kaoru Ishikawa ผู้ซึ่งเริ่มนำผังนี้มาใช้ในปี ค.ศ. 1953 เป็นผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะ ทางคุณภาพกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagram) เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุของความบกพร่องกับปริมาณความสูญเสียที่เกิดขึ้น

3. กราฟ (Graphs) คือภาพลายเส้น แท่ง วงกลม หรือจุดเพื่อใช้แสดงค่าของข้อมูลว่าความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล หรือแสดงองค์ประกอบต่าง ๆ

4. แผ่นตรวจสอบ (Checksheet) คือแบบฟอร์มที่มีการออกแบบช่องว่างต่าง ๆ ไว้เพื่อใช้บันทึกข้อมูลได้ง่าย และสะดวก

5. ฮีสโตแกรม (Histogram) เป็นกราฟแท่งที่ใช้สรุปการอนุมาน (Inference) ข้อมูลเพื่อที่จะใช้สรุปสถานภาพของกลุ่มข้อมูลนั้น

6. ผังการกระจาย (Scatter Diagram) คือ ผังที่ใช้แสดงค่าของข้อมูลที่เกิดจากความสัมพันธ์ของตัวแปรสองตัวว่ามีแนวโน้มไปในทางใด เพื่อที่จะใช้หาความสัมพันธ์ที่แท้จริง

7. แผนภูมิควบคุม (Control Chart) คือแผนภูมิที่มีการเขียนขอบเขตที่ยอมรับได้ของคุณลักษณะตามข้อกำหนดทางเทคนิค (Specification) เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการควบคุมกระบวนการผลิต โดยการติดตามและตรวจจับข้อมูลที่ออกนอกขอบเขต (Control limit)

ในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือคุณภาพใหม่มาใช้อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับวางแผน และป้องกันปัญหา เพื่อให้ได้นโยบาย และมาตรการเชิงรุกที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้แก่

1) แผนภาพการจัดกลุ่มความคิด เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรวบรวมความคิดของสมาชิกในกลุ่มมาจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่ หรือกลุ่มตามลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้นำกลุ่มความคิดเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป

2) แผนภาพความสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอย่างมีเหตุผล โดยยึดหลักการสาเหตุและผลที่ เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกัน

3) แผนภาพต้นไม้เพื่อการตัดสินใจ เป็นแผนภาพที่ใช้ต่อเนื่องจากแผนภาพความสัมพันธ์ ใช้เพื่อหาแนวทางแก้ไข/ป้องกัน ในรูปของแนวทางหรือวิธีการ เพื่อสะท้อนถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเป็นหลัก

4) แผนภาพเมตริกซ์ เป็นเครื่องมือที่สะท้อนความเกี่ยวข้องโดยรวมตั้งแต่วัตถุประสงค์/เป้าหมาย และแผนงาน/มาตรการ/วิธีการ ที่ได้จากการเสนอแนะขึ้นว่าแนวทางใดน่าจะมีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่า และส่งผลกระทบให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ก่อน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างเต็มประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล

ยังมีอีกมาก จะกล่าวต่อไป

จากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานให้เกิดคุณภาพ แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีส่วนประกอบอีกมากมายในการสร้างคุณภาพ เช่น การมีคุณธรรม จริยธรรม อันเป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมที่ดีเปรียบเสมือนน้ำมันเครื่องในรถยนต์ที่คอยหล่อลื่นเครื่องยนต์ไม่ให้สึกหรอไป ผู้เขียนเห็นบทความหนึ่งใน web site หนึ่งซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นของท่านใดต้องขออภัยด้วย เข้ากล่าวว่า “…..ผู้มีมารยาททางใจ คือผู้ที่ได้มีการปรับปรุงจิตใจให้ฝักใฝ่ในศีลธรรม คือเราทุกคนย่อมทราบว่าอะไรถูกอะไรผิดด้วยกันทั้งนั้นและย่อมใฝ่ในคุณงามความดีด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราไม่ชอบอะไรคนอื่นก็คงไม่ชอบเหมือนกันจึงควรวางตนเป็นคนช่างใช้ความคิดเสมอหลักธรรมเป็นแนวปฏิบัติดังนี้ คือ มีพรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐ หรือ ผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่กว้างขวางดุจพระพรหม 4 อย่าง ดังนี้1. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรี ต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนประสบประโยชน์และ ความสุข

            2. กรุณา ความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้องขจัดความทุกข์จากความเดือดร้อนของผู้อื่น
            3. มุทิตา ความเบิกบานยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีความสุข ก็มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน
            4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบ ไม่เอนเอียงด้วยรักหรือชัง
      เมื่อมีคุณธรรมภายในเป็นพื้นฐาน จิตใจเช่นนี้แล้วย่อมทำให้การแสดงออกภายนอกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์หนักแน่นและจริงจัง…….”  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ  ถ้าหากเราผู้เป็นกำลังหลักในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา มีคุณภาพแล้ว  แน่นอน “ลูกค้า” ของเราจะต้องมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแน่นอน

แน่นอนทุกคนย่อมต้องการประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจปรารถนาไว้ นำคุณค่าที่ดี ๆ มาสู่ตัวเรา หากเราไม่คิดวางแผนการทำงานสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เราคงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการนั้นแน่หรือก็เกือบแย่ ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าจะทำอย่างไร จึงจะวางแผนการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นๆ ได้ ก็คงจะต้องคิดให้มีประสิทธิภาพในรูปแบบเชิงรุก หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ทำอย่างไรให้มีคุณภาพเกิดคุณค่าได้

การทำอย่างมีคุณภาพและเกิดคุณค่านั้น  คงจะคิดเพียงอย่างเดียวไม่ได้  การทำแบบนี้จะต้องมีกระบวนการ  มีขั้นตอน  อาจจะอธิบายโดยใช้  3  องค์ประกอบหลัก  คือ
    องค์ประกอบที่  1  “ความรู้พื้นฐาน”  การทำเพื่อให้มีคุณภาพได้นั้นจะต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นอย่างพอเพียงเสียก่อน  นั่นคือ  เราจะต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้อย่างสม่ำเสมอไม่จำเป็นต้องเรียนเพียงแต่ขยันอ่านหนังสือหรือตำราที่มีอย่างมากมายในปัจจุบันและรู้จักแยกแยะความเหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือเนื้อเรื่องที่สนใจ กล่าวคือเราจะต้องขวนขวาย หมั่นเพียร  ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกัน  ดังนั้นถ้าเรามีความรู้พื้นฐานดีพอจะทำให้เราเห็นรากเง้าของปัญหา  มองแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น  เราจึงสามารถกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้
    องค์ประกอบที่  2  “การปฏิบัติ”  หลังจากมองเห็นแนวทางในการปฏิบัติงานแล้ว  หากเราเพียงแต่คิดว่า  อย่างนี้น่าจะ…………อย่างนี้น่าจะ……….อยู่เรื่อยไป  แน่นอนการคิดลักษณะนี้ก็จะคิดแบบแพลนนิ่งไม่เคลื่อนไหว  ไม่เกิดเป็นรูปธรรมได้  ดังนั้นจะต้องพยายามที่จะหาโอกาสปฏิบัติจริงตามแนวทางที่วางไว้  ซึ่งการปฏิบัตินับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
    เนื่องจากหากมีโอกาสในการปฏิบัติย่อมทราบถึงแนวทางการปฏิบัติว่าแนวทางใดมีผลกระทบอย่างไรบ้าง  อาจจะต้องมีส่วนประกอบย่อยในการปฏิบัติคือ  มีพลังแห่งการปฏิบัติได้แก่  มีกลุ่มหรือทีมงาน  จะมีทีมงานที่ชัดเจนได้จะต้องมีใจเอื้ออาทร  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ  ส่วนประกอบที่สองคือ  มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รู้จักบทบาทหน้าที่  การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างรู้มือรู้ใจ  ซึ่งก็เป็นผลจากส่วนประกอบแรก  หากทุกคนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองแล้ว  เชื่อได้เลยว่าปัญหาในองค์กรคงจะเกิดขึ้นน้อยมาก  

ส่วนประกอบที่สามคือ มีภูมิปัญญา ในที่นี้มิใช่ ความรู้จากตำแหน่งหน้าที่ หรือ ใบประกาศใด ๆ แต่เป็น ภูมิปัญญา ที่สามารถสร้างสรรค์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลของการดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมาย และส่วนประกอบสุดท้าย คือ มีความปิติ มีความสุขจากการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ หากเรามีส่วนประกอบเหล่านี้จะทำให้องค์ประกอบของการปฏิบัติเกิดประสิทธิผลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก กล่าวโดยรวมคือ การปฏิบัติอาจจะต้องนำสิ่งต่างๆ มาผสมผสานกันทั้งคุณธรรม จริยธรรม ความมุ่งมั่นตั้งใจ สม่ำเสมอ วิเคราะห์พิจารณาตามสภาพเป็นจริง มีการทดลองทำ ประเมิน ปรับปรุงและพิจารณา หรือที่ชอบเรียกตามภาษาอังกฤษว่า P–D–C–A นั่นเอง องค์ประกอบที่ 3 “การฝึก” เป็นส่วนที่ต่อยอดจากองค์ประกอบที่ 2 ให้เกิดความชำนาญ มีประสบการณ์ ครบวงจร เนื่องจากเรื่องบางเรื่องมีความละเอียดอ่อน การปฏิบัติอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ แต่มันมิใช่ปัญหา หากเกิดความผิดพลาดเราก็ใช้ความผิดพลาดนั้นมาพิจารณาปรับปรุงแนวทางฝึกเพิ่มเติมให้เกิดความผิดพลาดลดลง และหาแนวทางเสริมจุดอ่อนนั้นด้วยปัญญา การคิดมองไกลและความเพียร อดทน สม่ำเสมอ ประสานเข้ากับความซื่อสัตย์ สุจริต พอเหมาะพอควร หากพิจารณาองค์ประกอบทั้งสามแล้ว และลองดำเนินกิจกรรมตามที่ได้กล่าวมา ปีใหม่นี้ก็คงจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพแน่นอน

การทำกิจกรรมต่างๆ  ให้มีคุณภาพนั้น  แน่นอนการทำงานนั้นย่อมจะมีอุปสรรค  หากมีอุปสรรคต้องใจเย็น  ค่อยๆ คิด  ค่อยๆ ทำ  วิเคราะห์พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความเอื้ออาทร  ปรึกษาหารือกัน  ปัญหาดังกล่าวจะต้องหมดไปแน่นอน  จึงขอให้ท่านรักษาสุขภาพ มีความสุขกับสิ่งที่ทำ  เรียนรู้ธรรมจากตัวเอง  มองโลกในแง่ดีมีอารมณ์ขัน  ไม่แปรผันตามผู้อื่น  อย่าลืมพักผ่อนหย่อนใจ  และให้เวลาเป็นยารักษาสิ่งต่างๆ จะดีมีคุณภาพตามที่ตั้งใจไว้ และขออัญเชิญพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ท่าน ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า “….เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้กล่าวกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้ เป็นความว่า การรู้จักประมาณตน ทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่ได้พอเหมาะพอดีกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น ผู้รู้จักประมาณตน จึงสามารถทำตนทำงานได้ผลดีกว่าคนอื่น ผู้ที่แม้จะมีความรู้ความสามารถมากกว่า แต่ไม่รู้จักประมาณตน วันนี้ใคร่จะกล่าวกับท่านถึงเรื่อง การรู้จักประมาณสถานการณ์ 

การรู้จักประมาณสถานการณ์ ได้แก่การรู้จักพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เห็นชัดถึงความเป็นมา และที่เป็นอยู่ แล้วคาดว่าควรจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต อย่างเช่น เมื่อเกิดน้ำท่วม ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องศึกษาสถานการณ์ต่าง ๆ ให้รู้กระจ่างทั่วถึง เริ่มแต่น้ำท่วมนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร ในพื้นที่นั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เคยมีน้ำท่วมมาแล้วกี่ครั้ง มีระยะถี่ห่างอย่างไร แต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด และในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เมื่อรู้สถานการณ์ที่เป็นมาและที่เป็นอยู่แน่ชัด ก็ควรประมาณสถานการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด การแก้ไขป้องกัน ก็จะสามารถกำหนดวิธีการได้ถูกตรงกับปัญหา และสภาพพื้นที่ ทั้งสามารถกำหนดเวลาปฏิบัติได้ว่า การใดควรจะทำก่อนหลัง และการใดเป็นการด่วน ที่จะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จทันการณ์ทันเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดมีขึ้นอีก การรู้จักประมาณสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการปฏิบัติงาน ยิ่งประมาณสถานการณ์ได้ถูกต้องเพียงใด ก็จะทำให้งานที่ทำสำเร็จผลสมบูรณ์ และได้ประโยชน์คุ้มค่ามากขึ้นเพียงนั้น ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ประสบความสมประสงค์ ในความดีงามความรุ่งเรืองตามที่ปรารถนาทุกประการ และขอให้ทุกท่านที่มาประชุมพร้อมกันในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีจงทั่วกัน. …..” ................ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท