10 เรื่องทำเรา "เครียด-เศร้า-เหงา-เซง"


สำนักข่าว Dailymail ตีพิมพ์เรื่องที่อาจกระตุ้นให้คนเรา "เศร้า-เหงา-เซง" โดย อ.ดร.ริค นอริส จิตแพทย์อังกฤษว่า อังกฤษซึ่งมีประชากรพอๆ กับไทย มีคนที่ (มีอาการ) ซึมเศร้าจนต้องใช้ยา 5.5 ล้านคนในปี 2553  
.
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกแย่ลง มีทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น แฟนเสีย ญาติเสีย ฯลฯ, หนี้สิน และความสัมพันธ์กับคนพิเศษ แถมยังมีปัจจัยต่อไปนี้เป็นความเสี่ยงด้วยได้แก่ 
.
(1). ซึมเศร้าหน้าร้อน
.
เดิมฝรั่งหรือคนตะวันตก (ยุโรป อเมริกา ฯลฯ) มีอาการซึมเศร้ามากในหน้าหนาว ซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับแสงแดดน้อยลง ทำให้มีการรักษาด้วยการใช้แสงบำบัด คือ ให้ไปอยู่ใกล้ตู้ที่มีแสงจ้าหน่อย 15-20 นาทีตอนเช้า
.
ปีกลายนี้คนอังกฤษมีอาการซึมเศร้าหน้าร้อนมากถึง 600,000 คน... กลไกที่เป็นไปได้ คือ ภาวะโลกร้อนทำให้ยุโรปไม่หนาวในหน้าร้อน เกิดอาการเครียด นอนไม่หลับได้ง่าย แถมสถิติการฆ่าตัวตายยังสูงขึ้นในวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 16C (องศาเซลเซียส) หรือสูงกว่านั้น
.
วิธีหนึ่งที่จะทำให้คนเราทนร้อนได้มากขึ้น คือ ดื่มน้ำให้พอ ออกแรง-ออกกำลังให้เหงื่อออกเป็นประจำ และใช้ยา "ทำใจ" เสริมไปเป็นพักๆ
.
(2). ยาคุมกำเนิด
.
การใช้ยาคุมกำเนิดทำให้ระดับฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้บางคนรู้สึกเครียดได้เช่นกัน
.
(3). ของอร่อย
.
ของอร่อย เช่น โดนัท ชอคโกแล็ต ฯลฯ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคนบางคนเพิ่มสูงขึ้นเร็ว และเครียดได้ง่าย
.
วิธีที่น่าจะดีคือ กินแต่น้อย หรือน้อยไว้ละดี, กินพร้อมอาหารที่มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ อาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีโปรตีน เช่น ถั่ว นม ไข่ เนื้อ ฯลฯ เพื่อให้การย่อยและดูดซึมน้ำตาลช้าลง
.
หรือไม่ก็เดินก่อนอาหารสัก 20-30 นาที... น้ำตาลจะได้ถูกดูดซับเข้ากล้ามเนื้อไปบ้าง
.
(4). แสงไฟตอนนอน
.
แสงไฟจ้าจากถนนหรือในบ้าน อาจทำให้ฮอร์โมนเมลาโทนินหลั่งน้อยลง ทำให้หลับไม่สนิท เครียดง่าย
.
วิธีที่ดี คือ ปิดไฟ-ใส่กลอน-เข้ามุ้งนอนพร้อมปิดม่าน ให้มือหน่อยแบบเพลงลูกทุ่งไทย
.
(5). ชา-กาแฟ
.
ชา กาแฟ หรืออาหาร-เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง น้ำอัดลม ไมโล โกโก้ ชอคโกแล็ต ฯลฯ คงจะเหมาะกับช่วงเช้า ก่อนเที่ยงหรือบ่ายต้นๆ
.
ทว่า... ถ้าหลังบ่าย 4 (16.00 น.) ไปแล้ว สารกาเฟอีน (ภาษาอังกฤษออกเสียง "แค้ฟ - ฟิ่น") อาจทำให้เครียดง่าย หลับยาก หรือหลับไม่สนิทได้
.
(6). ยาลดความดันเลือด
.
ยาลดความดันเลือดชนิดยาต้านเบต้า (beta-blockers) อาจทำให้บางคนรู้สึกเศร้าๆ เหงาๆ เพลียๆ ได้
.
ถ้าท่านกินยาต้านเบต้า และมีความรู้สึกไม่สบาย ควรปรึกษาหมอใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยา หรือหาทางออกอื่น เช่น ออกแรง-ออกกำลังคลายเครียดเสริม ฯลฯ ต่อไป
.
(7). บุหรี่
.
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลียพบว่า บุหรี่เพิ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้าจาก 6.5% ในผู้หญิงทั่วไปเป็น 15% ในคนที่สูบได้
.
(8). คอพอกเป็นพิษ
.
คอพอกเป็นพิษ หรือต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกิน อาจทำให้มีอาการใจสั่น เหนื่อย-เครียด-ตกใจง่าย ขี้ร้อน น้ำหนักลด หรือตาโปน
.
ข่าวดี คือ โรคนี้ตรวจและรักษาให้อาการทุเลาเบาบางลงได้
.
(9). อินเตอร์เน็ต
.
การศึกษาทำในวัยรุ่นจีน 1,000 รายพบว่า การใช้อินเตอร์เน็ตที่ไม่เกี่ยวกับงาน นานเกิน 2 ชั่วโมง/วัน เพิ่มเสี่ยงซึมเศร้า 2.5 เท่า
.
กลไกที่อาจเป็นไปได้ คือ อินเตอร์เน็ตทำให้คนเรานั่งนิ่งๆ นานขึ้น, ออกแรง-ออกกำลังน้อยลง, ติดต่อกับผู้คนน้อยลง หรือทำให้คนเราได้แสงจ้าตอนกลางคืนมากขึ้น แล้วทำให้เราเศร้า
.
ทางที่ดี คือ ตั้งนาฬิกาปลุกไว้... ครบ 1 ชั่วโมงแล้ว ให้ลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อย 5 นาที/ครั้ง
.
(10). มังสวิรัติ
.
การศึกษาจากสหรัฐฯ พบว่า คนที่กินน้ำมันปลาตอนตั้งครรภ์เสี่ยงโรคซึมเศร้าหลังคลอดน้อยลง ทำให้มีผู้เสนอว่า มังสวิรัติอาจจะเพิ่มเสี่ยงต่อการขาดกรดไขมันชนิดดีพิเศษแบบนี้ได้เช่นกัน (เป็นเพียงสมมติฐาน ไม่ใช่เป็นแบบนี้ทุกราย)
.
น้ำมันชนิดดีพิเศษในปลาพบในปลาที่ไม่ผ่านการทอดเป็นหลัก, การทอดปลาทำให้น้ำมันชนิดนี้เสื่อมสภาพ และซึมออกจากเนื้อปลา, แถมยังทำให้น้ำมันที่ใช้ทอดซึมเข้าเนื้อปลาด้วย
.
ทางที่ดี คือ ถ้าจะกินปลา, ควรเป็นปลาที่ไม่ผ่านการทอด... ถ้าไม่กินปลา, อาจกินน้ำมันปลา กินถั่วที่ไม่ผ่านการทอด หรือผสมน้ำมันถั่วเหลืองในน้ำมันที่ใช้ผัดตามโอกาส
.
ข้อควรระวัง คือ น้ำมันถั่วเหลืองไม่ค่อยทนความร้อนสูงจากการทอดน้ำมันท่วมเท่าน้ำมันคาโนลา เมล็ดชา รำข้าว
.
(11). ผลัดวันประกันพรุ่ง
.
เรื่องที่ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่ง เนื่องจากอาจเพิ่มเสี่ยงซึมเศร้า คือ การหาโอกาสกินข้าวร่วมกับครอบครัว หรือญาติสนิทมิตรสหายตามโอกาส
.
และอย่าเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น เช่น อย่าไปค้ำประกันหนี้คนอื่น ฯลฯ เพราะดอกเบี้ยนั้นไม่เคยผลัดวันประกันพรุ่งเหมือนใจเรา
.
(12). หมกมุ่นเรื่องกายหรือความงาม
.
การศึกษาหนึ่งพบว่า คนที่ผ่าตัดเสริมความงามเพิ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าประชากรทั่วไป 3 เท่า
.
วิธีที่น่าจะดี คือ ใส่ใจสุขภาพ ทำตัวให้ "ดูดี (good looking)" เช่น แต่งกายสะอาด ตัวไม่เหม็น ฯลฯ ด้วยการออกแรง-ออกกำลัง นอนให้พอ และกินอาหารสุขภาพให้พอดี (มากไปก็อ้วนได้)
.
ถ้าจะไปผ่าตัดเสริมความงามก็ควรศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และไม่คาดหวังกับผลการผ่าตัดมากเกินจริง เพราะนั่นอาจทำให้เศร้าได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 28 มิถุนายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
  • ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
หมายเลขบันทึก: 446633เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท