วิจัย : ความสำนึกและพฤติกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของนักศึกษาอาชีวเกษตร


ความสำนึกและพฤติกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ นักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อเรื่องงานวิจัย : ความสำนึกและพฤติกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของนักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2547

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : งานวิจัยและพัฒนา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

 บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative  Research)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะความรู้  ความสำนึก และพฤติกรรมการอนุรักษ์น้ำ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างความรู้  ความสำนึกและพฤติกรรมการอนุรักษ์น้ำของนักศึกษาอาชีวเกษตร กรณีศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่     สำหรับกลุ่มประชากรที่ศึกษาได้แก่ นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ชั้นปีที่  3  จำนวน 153  คน     โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก  การใช้แบบสอบถาม  ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐานได้แก่  ค่าความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย   ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการทดสอบค่าความสัมพันธ์ด้วยสถิติ   Chi-square และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson  Product  Moment  Correlation)     ผลการศึกษาพบว่า

          นักศึกษาที่ตอบแบบสอบถามจำนวน  153  คนประกอบด้วยนักศึกษาชาย 94 คน นักศึกษาหญิง  59  คน โดยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 16 –17 ปี และเคยลงทะเบียนเรียนวิชาสิ่งแวดล้อม ทำให้นักศึกษามีความรู้ในเรื่องน้ำในระดับที่ดีมาก  และมีสำนึกต่อการใช้น้ำและการอนุรักษ์ในระดับมาก โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ 3.23  ทั้งนี้นักศึกษามีความคิดเห็นว่าบทบาทในการอนุรักษ์น้ำควรเป็นหน้าที่ของทุกคนมิใช่เพียงบทบาทของรัฐบาล ดังนั้นการฝึกนิสัยการใช้น้ำอย่างประหยัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น จึงควรจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์น้ำในสถานศึกษา  พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกต่อสถานการณ์ปัญหาน้ำ  ซึ่งกำลังถูกคุกคามด้วยการรุกล้ำ ทับถม ทำลายจากมนุษย์  และหากสายน้ำถูกทำลายก็หมายถึงการสูญเสียของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตและการเสื่อมสูญของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำและชีวิต

            สำหรับพฤติกรรมการใช้และการอนุรักษ์น้ำพบว่า  อยู่ในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยที่ 1.16 ซึ่งนักศึกษาได้มีการแสดงพฤติกรรมด้านการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำเช่น การแสวงหาข้อมูลข่าวสารเรื่องสถานการณ์ทรัพยากรน้ำจากสื่อวิทยุ  โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์  รวมทั้งการพูดคุยกับบุคคลในครอบครัว  กลุ่มเพื่อนและครู-อาจารย์ในสถานศึกษา   มีแนวคิดและพฤติกรรมในการประหยัดน้ำการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานศึกษาเพื่อการประหยัดพลังงาน  พร้อมทั้งการแนะนำคนใกล้ชิดให้ประหยัดน้ำ

            ในส่วนของความสัมพันธ์พบว่า  คุณลักษณะส่วนตัวของนักศึกษามีความสัมพันธ์กับความสำนึก และพฤติกรรมในการใช้และการอนุรักษ์น้ำ  อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  0.01  ขณะเดียวกันยังพบว่าคุณลักษณะส่วนตัวด้านระดับผลการเรียนโดยเฉลี่ยไม่มีความสัมพันธ์กับความตระนักและพฤติกรรมการใช้น้ำ

            ในขณะที่ความรู้  มีความสัมพันธ์กับความสำนึกต่อการใช้และการอนุรักษ์น้ำ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทางบวกค่อนข้างสูง   โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์  0.712  และมีนัยสำคัญทางสถิติ  ที่ระดับ  0.01    เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับพฤติกรรมการใช้และการอนุรักษ์น้ำ  ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทางบวกในระดับปานกลาง  โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.561 และมีนัยสำคัญทางสถิติที่  0.01

            สำหรับความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างความรู้   ความสำนึก และพฤติกรรมในการอนุรักษ์น้ำ  พบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทางบวกค่อนข้างสูง   โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.696  และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  เป็นความสัมพันธ์เชิงเส้นตรง

 

 

หมายเลขบันทึก: 446423เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท