วิจัยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อทักษะชีวิตด้านสารเสพติดของนักศึกษาอาชีวเกษตร


การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทักษะชีวิตด้านสารเสพติด นักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อเรื่องงานวิจัย : การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อทักษะชีวิตด้านสารเสพติดของนักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2544

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : คณะกรรมการวิจัยการศึกษา  การศาสนา และการวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ

 บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงรูปแบบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อทักษะชีวิตด้านสารเสพติดของนักศึกษาอาชีวเกษตร รูปแบบและวิธีการในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา  ผลของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  ตลอดจนศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขที่มีผลต่อการเรียนรู้   ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ นักศึกษาในโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต  ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน  20 คน จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ การศึกษาได้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งกระทำโดยการนำเอาโปรแกรมทักษะชีวิต , เทคนิค PRA , AIC , การระดมความคิดเห็น  ,การสัมภาษณ์เชิงลึก  การสนทนากลุ่ม  รวมทั้งการสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วม  

             ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมควรจะประกอบด้วยการเรียนรู้แบบเป็นทางการ โดยการจัดกิจกรรมการศึกษาอบรม   โดยกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมอย่างชัดเจน เช่น การจัดโปรแกรมทักษะชีวิต การทำกิจกรรม AIC เพื่อการกระตุ้นสำนึกรับผิดชอบและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการจากการระดมพลังสมองเพื่อสะท้อนความคิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ทั้งจากการร่วมอภิปราย การสนทนากลุ่ม และการทำกิจกรรม PRA  เพื่อวิเคราะห์และสร้างความตระหนักต่อสภาพปัญหา รวมทั้งการเติมเต็มความรู้จากการศึกษาดูงาน  ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและสิ่งรอบด้าน  ส่วนวิธีการในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  ทั้งนี้ขั้นตอนของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือการจัดประสบการณ์ซึ่งเป็นการประมวลประสบการณ์เดิมของนักศึกษาให้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ การสะท้อนความคิดเห็นและการอภิปรายข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน  เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด  รวมทั้งการทดลองหรือประยุกต์ความคิดซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการนำเอาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในลักษณะและสถานการณ์ต่าง ๆ  จนเกิดเป็นแนวปฏิบัติของนักศึกษา  นอกจากนี้ยังต้องสัมพันธ์กับองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของทักษะชีวิต คือทักษะพิสัย  จิตพิสัยและพุทธิพิสัย 

            สำหรับรูปแบบและวิธีการในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งจากภายในและภายนอกสถานศึกษา  ประกอบด้วยกระบวนการในการขัดเกลาทางสังคมในลักษณะของการขัดเกลาทางตรง  การขัดเกลาแบบบูรนาการ และการขัดเกลาทางอ้อม  รวมทั้งการจัดกิจกรรมในรูปแบบของกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์

            ผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทำให้นักศึกษาเกิดความตระหนักรู้ในตนเองสามารถวิเคราะห์ถึงสถานภาพ ข้อดี ข้อจำกัดของตนเอง  สามารถจัดการกับตนเองในภาวะกดดันได้  โดยการคิดวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเองโดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากปัญหาสารเสพติด นำไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเองและสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากการทำหน้าที่อาสาสมัครเพื่อสื่อสารความรู้เรื่องสารเสพติดให้แก่เพื่อนทั้งภายนอกและภายในสถานศึกษา ซึ่งผลของการทำหน้าที่อาสาสมัครทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะในการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร  รวมทั้งสามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตนเองได้ด้วยความคิดในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์และสร้างสรรค์  

            สำหรับปัจจัยเงื่อนไขที่มีผลต่อการเรียนรู้ประกอบด้วยคุณลักษณะส่วนบุคคลอันเกิดจากความสนใจและความสามารถทางสติปัญญาในการคิดวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง   หลอมรวมกับคุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการควบคุมตนเอง  และความสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เกิดเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรม เช่นเดียวกับความรู้สึกคาดหวังต่อการกระทำของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังได้รับกระตุ้นจากสังคม  จากการแสดงออกซึ่งการยอมรับในการแสดงพฤติกรรมจากบุคคลแวดล้อม   ประกอบกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเน้นการมีส่วนร่วม   ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดได้ทำ ได้สร้างสรรค์ และสรุปสาระของการเรียนรู้ร่วมกัน       และด้วยการเลือกใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน ทำให้ได้รับการร่วมมือในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  อีกทั้งจากบริบทของสถานศึกษาเกี่ยวกับการพักอาศัยและลักษณะกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรของสถานศึกษา รวมทั้งวัฒนธรรมย่อยของสถานศึกษา ล้วนเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย         

 

หมายเลขบันทึก: 446413เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท