วิจัยความตระหนักและพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต


ความตระหนักและพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม นักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต

ชื่อเรื่องงานวิจัย : ความตระหนักและพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ                 

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2545

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : งานวิจัยและพัฒนา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

 บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความตระหนักและพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต   ในการศึกษาวิจัยได้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยที่ผสมผสานกับระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณลักษณะ  สำหรับเชิงปริมาณได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการใช้แบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานประกอบด้วยค่าความถี่   ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบน และการหาค่าความสัมพันธ์  2  ตัวแปร จากกลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ  ชั้นปีที่ 3  จำนวน  144 คน   และเพื่อให้ข้อมูลจากการศึกษามีความลุ่มลึกในหลายมิติจึงนำเอาหลักการวิจัยเชิงคุณลักษณะมาเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม  จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน  36 คน

            ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชาย 92 คน เพศหญิง 52 คน  ร้อยละ  88.2  มีภูมิลำเนาในเขตเทศบาล  และร้อยละ 11.7  มีภูมิลำเนานอกเขตเทศบาล ทั้งนี้นักศึกษามีพฤติกรรมในการรับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในระดับปานกลาง โดยมีแหล่งข้อมูลเรียงลำดับดังนี้  จากโทรทัศน์   ครู/อาจารย์  หนังสือ/ ตำราเรียน  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  หนังสือสารคดี  เพื่อน  การเข้ารับการอบรม สมาชิกในครอบครัว และการศึกษาดูงานนอกสถานที่  ในลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า  นักศึกษามีการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากสิ่งโดยรอบ  ซึ่งผลจากการรับรู้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องทำให้นักศึกษามีความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับปานกลาง เช่นเดียวกับพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่พบว่า   นักศึกษามีพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในระดับปานกลาง  ซึ่งเมื่อพิจารณาในส่วนของการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นลักษณะการปฏิบัติตามความเคยชิน จากการได้สัมผัส  พบเห็นจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบเริ่มจากครอบครัว  ชุมชน  และสถานที่ต่าง ๆ   ฉะนั้นลักษณะความตระหนักและพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาจึงเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ในระดับขั้นต้น  ที่เน้นความรู้ ความจำ ความเข้าใจ  และการนำไปใช้ เป็นส่วนใหญ่และยังคงมีในบางประเด็นที่นักศึกษามีลักษณะสับสนเรื่องการวิเคราะห์สังเคราะห์ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในมิติที่เชื่อมโยงระหว่างกัน อาทิ   ค่านิยมเรื่องการใช้เครื่องเรือนไม้   การใช้น้ำ  หรือการกำจัดขยะมูล

            จากการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า  มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  0.05    เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกับพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ    0.01

หมายเลขบันทึก: 446416เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท