ผมบอกกับพวกเขาว่า "................................."


หวังว่าพวกเขาจะมี "ทัศนคติที่ดี" และ "พลังใจ" ในการที่จะค้นหาตัวเองให้เจอในเร็ววัน...และจงอย่า "อาย" ที่จะลงมือค้นหา "ความฝัน" ของตัวเอง

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2554  เป็นอีกวันที่ชีวิตพันผูกกับภารกิจหลายอย่าง  ทั้งการเรียน กิจกรรมของนิสิต รวมถึงการเดินทางไกลไปเป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม



วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม ติดต่อให้ผมไปเป็นวิทยากรบรรยายในเรื่อง "การจัดกิจกรรมนักศึกษาที่สร้างสรรค์" ณ ตุ้มโฮมรีสอร์ท อ.นาดูน จ.มหาสารคาม  ซึ่งห่างจากมหาวิทยาลัยในราวๆ เกือบจะ 100 กิโลเมตร

 

ผมเดินทางไปถึงสถานที่บรรยายแบบจวนเจียนเอามากๆ เพราะกว่าจะหลุดพ้นจากวังวนภารกิจฬฯมหาวิทยาลัย ก็เกือบจะเที่ยงวันเศษๆ อยู่แล้ว...ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าการเดินทางของผมนั้นจึงเร็วและติดจรวดไปในตัว

 

ผมเปิดเวทีง่ายๆ >>

 

ด้วยความที่ผมไปถึงแบบชนิดด่วนดิบ  ไม่มีเวลาตระเตรียมให้ซ้อมวงบรรเลงใดๆ  จึงจำต้องงัดเอาประสบการณ์ตรงขึ้นมาพลิกเกมแบบทันทีทันด่วน  โดยเริ่มจากการเรียกสมาธินักศึกษาผ่านคลิปสร้างสรรค์ "ความสุขเล็กๆ ของชาว มมส"  ให้นักศึกษาได้ดู  ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลยสักนิด เนื่องเพราะนักศึกษาต่างให้ความสนใจ ตั้งหน้าตั้งตาดูอย่างใจจดใจจ่อ ดูไปหัวเราะไป  บางจังหวะดูดราม่านิดๆ ก็ออกอาการนิ่งเงียบชนิดประหนึ่ง "ผ้าพับไว้" ก็ไม่ผิด


คลิปชุดนี้เพิ่งได้มาสดๆ ร้อนๆ จากเวทีการประกวดที่กองกิจการนิสิตได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดที่มุ่งให้นิสิตได้แสดง"ทัศนคติเชิงบวก" ที่มีต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และเสริมสร้างวาทกรรมที่ผมนำร่องไปว่า "บอกรักมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์" นั่นเอง

 

ยอมรับครับว่า  คลิปชุดนี้ถูกเปิดขึ้นเพื่อนำเข้าสู่ประเด็น "วันเวลาแห่งความสุข"  ซึ่งผมพยายามสื่อให้รู้ว่าในชีวิตของคนเรานั้น ล้วนรายรอบไปด้วย "ความสุข" เสมอ เพียงเปิดใจ ก็ง่ายต่อการค้นพบและสัมผัสซึ่ง "ความสุข" ที่ว่านั้นอย่างไม่ยากเย็น  พร้อมๆ กับการสื่อสารให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการที่จะร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่ใน "สถาบัน" ของตัวเองให้เป็น "พื้นที่แห่งความสุข" ด้วยนิยามและวัฒนธรรมของ "ตัวเอง"  มิใช่ละเลยให้ภารกิจนั้นตกอยู่กับครูบาอาจารย์แต่เพียงฝ่ายเดียว

 

รู้จักเพื่อนผ่านภาพและเรื่องเล่าแห่งความสุข ความทุกข์ >>


ถัดจากนั้นผมก็นำพานักศึกษาได้วาดรูปในกิจกรรม "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ...
การวาดภาพครั้งนี้ ด้วยความที่เช็คแล้วว่านักศึกษายังใหม่กับกระบวนการดังกล่าว ผมจึงเปิดหัวข้อให้กว้างๆ หลวมๆ ไว้ว่า "เรื่องราวความสุขและความทุกข์ของชีวิต"

 

แน่นอนครับ,  คราวนี้มีประเด็นที่ให้ทบทวนตัวเองนั้นผสมปนเปกันทั้งความสุขและความทุกข์  แต่เบื้องต้นผมก็อธิบายชัดเจนว่าเรื่องราวเหล่านั้นต้องเป็นเรื่องที่ผลักหนุนให้แต่ละคนเข้มแข็งและหยัดยืนมาสู่วันนี้...มิใช่ยิ่งขึ้นยิ่งตอกย้ำและกดทับตัวเองจนยืนหยัดและเดินไปข้างหน้าไม่ได้

 

ครั้นเสร็จจากนั้น,  ผมก็ให้นักศึกษาจับกลุ่มกันเล็กๆ เป็นการจับกลุ่มตามความสมัครใจ เพื่อให้แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวในภาพนั้นให้เพื่อนฟัง  ซึ่งเพียงเวลาเริ่มเดินได้ไม่นานนัก ก็เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมที่ว่านั้นได้สะกิดให้นักศึกษาหลายต่อหลายคนสรวลเสเฮฮากันอย่างออกรสออกชาติ  ขณะที่อีกหลายต่อหลายกลับเริ่มหลั่งน้ำตาออกมา  และปนเปื้อนไปด้วยเสียงสะอื้นเล็กๆ...

 

กระทั่งว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ  ผมก็ชวนให้แต่ละคนได้ทำการจูงมือเพื่อนออกมาเล่าเรื่องราวเหล่านั้นร่วมกัน  ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมว่า  เมื่อเพื่อนยืนเล่าเรื่องราวเด่นตระหง่านอยู่หัวแถมนั้น  หลายคนนิ่งเงียบให้เกียรติคนเล่าอย่างเหลือเชื่อ  ทุกเรื่องสามารถตรึงการฟังของผู้คได้อย่างแน่นหนัก เพราะหลายเรื่องล้วนถูกถ่ายทอดด้วย "น้ำตา" ....

 

เจตนาดีเพื่อสอนการเปิดเปลือยใจ >>


ผมยืนยันกับนักศึกษาว่ากิจกรรมนี้  ไม่มีเจตนาหยิบเอาความรู้สึกของพวกเขามาล้อเล่น  หากแต่เป็นกิจกรรมแห่งการเปิดเปลือยตัวเองไปสู่ผู้อื่น และเปิดรับผู้อื่นเข้ามาสู่ชายคาแห่งใจของเราเอง...

 

ผมย้ำว่าเราไม่อาจรู้จักกันได้ในทุกๆ เรื่อง แต่เมื่อมีใครสักคนเปิดเปลือยเรื่องราวให้เราฟัง เราก็ควรต้องไม่ดูดายต่อเรื่องราวเหล่านั้นเหมือนกัน เพราะบางทีมันอาจจะหมายถึงการบำบัด...และเติมเต็มกันและกันนั่นเอง

 

นอกจากนั้น  ผมก็ย้ำเน้นง่ายๆ ในทำนองว่า กิจกรรมเช่นนี้มีความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมอย่างมาก เพราะความเป็นทีม อันหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจรับรู้รับฟังกันและกัน...มองเป้าหมายร่วมกัน  บนพื้นฐานของความรัก ความเข้าใจและความปรารถนาดีที่มีต่อกัน


กิจกรรมครั้งนี้  ผมแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องศิลปะบำบัด สุนทรียะแห่งการสนทนา  การฟังแบบฝังลึก ...แต่ก็มีแอบนำเรียนแบบเงียบๆ กับผู้บริหารเหมือนกันว่าครั้งนี้ขอเน้น "กระบวนการ" มากกว่าการบรรยายให้ "ความรู้"

 

 

ปลุกเร้าจินตนาการ...เสริมแรงบันดาลใจ >>

  

เมื่อกิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอยุติลง ผมก็นำเข้าสู่การเปิดประเด็นชวนคิดในเรื่องคำว่า "กิจกรรมสร้างสรรค์"  โดยพยายามจุดประเด็นให้นักศึกษามองกรอบแนวคิดที่ห่างออกมาจากการทำกิจกรรมตามแบบ "ประเพณีนิยม"  พร้อมๆ กับการชวนให้นักศึกษาตีโจทย์ของคำว่า "ชุมชมและชนบท" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ายังมี "ห้องเรียน" เหล่านั้นรออยู่- รวมถึงการนิยามว่าในสถาบันการศึกษาของตัวเองก็เป็น "ชุมชน" ด้วยเหมือนกัน

 

ครับ, ผมมีเวลาไม่มากนัก  และพยายามใช้เวลาอันจำกัดนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ  เน้นการปลุกเร้าจินตนาการ พลังความคิดและแรงบันดาลใจเชิงบวกในการทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตัวเองและสังคมควบคู่กันไป...

 

รวมถึงการฝากให้คิดว่ากิจกรรมที่ดี ก็คงไม่ได้จำกัดความต่เฉพาะว่าตอบสนองความต้องการของตัวเองเสียล้วนๆ  โดยไม่สนใจว่าคนรอบกายจะได้รับผลพวงจากความต้องการของตนเองหรือเปล่า !

 

กระทั่งท้ายที่สุดนั้น  ผมเกริ่นออกตัวว่าคงไม่ได้ให้สาระความรู้อะไรกับนักศึกษาสักเท่าไหร่ แต่ก็หวังว่าพวกเขาจะมี  "ทัศนคติที่ดี" และ "พลังใจในการที่จะค้นหาตัวเองให้เจอในเร็ววัน...

รวมถึงเฝ้าฝันว่าพวกเขาจะไม่ "อาย" ที่จะลงมือค้นหา "ความฝัน" ของตัวเอง  เพราะทุกอย่างคือการ "เรียนรู้"  และต้องเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ว่านั้น ก็คือการเรียนรู้เพื่อการ "เติบโต" นั่นเอง

 

 

 .............

 

ครับ, เวทีนี้ดูเหมือนจะเดินออกจากกรอบในกำหนดการอยู่มาก  เพราะกระบวนการที่สื่อกลับไปนั้น  ล้วนเน้นแรงบันดาลใจและชวนขบคิดมากกว่าการบรรยายเพื่อให้ความรู้อย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้น  เมื่อเวทีปิดตัวลง  ผมได้ยินเสียงปรบมือของนักศึกษาดังขึ้นอย่างไม่คาดฝัน และมีเสียงของนักศึกษาบางท่านหลุดรอดออกมาจากวงล้อมของทีมว่า "สุดยอดๆ"....

 

โดยท้ายที่สุด ผมรับปากว่าจะมาจัดกระบวนการต่อเนื่องให้อีกรอบ มาแบบไม่คิดค่าตัว (ใจนำพา..ศรัทธานำทาง) ...เพราะผมมีความสุขกับเวทีวันนี้อย่างเหลือล้น และที่สำคัญก็คือ พวกเขาก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมเหมือนกัน 

 

หมายเหตุ

นอกรอบนั้น ผมเสนอแนะกระบวนการอื่นๆ ให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น การประเมินความคาดหวังทั้งก่อนและหลังกิจกรรม  การปล่อยให้นักศึกษาได้เรียนรู้สถานที่เหล่านั้นตามอัธยาศัยเพื่อให้พวกเขาออกแบบการเรียนรู้และนำเสนอข้อมูลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ฯลฯ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 446082เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อย่าทิ้งความฝัน .. ส่งกำลังใจ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ได้เรียนรู้กระบวนการจากอาจารย์อีกแล้วค่ะ

ไม่เคยผิดหวังเลยจากการได้อ่าน

ได้แนวทางนำไปใช้เสมอค่ะ

ขอใช้คำเดียวกับน้องๆ

"สุดยอด"ค่ะ

แวะมาขอความรู้จากอาจารย์เช่นกันครับผม...ขอบคุณมากครับ

ปล. จริงใจในสิ่งที่ทำ...จริงจังในสิ่งที่ชอบ

จุฑารัตน์ ไชยสงเมือง

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่อาจารย์กล่าวถึงข้างต้น ยินดีมากค่ะที่ได้อ่านบทความที่สะท้อนในมุมมองที่อาจารย์เสนอและเข้าใจวัตถุประสงค์การบรรยายอย่างชัดเจน นี่ก็เป็นครั้งที่สองแล้วที่ได้รับฟังการบรรยายจากอาจารย์ ซึ่งครั้งแรกนั้นได้รับฟังที่ค่าย 8 สถาบันที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดมหาสารคาม รู้สึกประทับใจมากค่ะในการบรรยายหลากหลายแง่มุม นอกจากจะสร้างกำลังใจแล้วยังเปิดโลกทัศน์อีกด้วยค่ะ หวังว่าจะมีโอกาสฟังอาจารย์บรรยายอีกนะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณปู Poo

ผมไม่ทิ้งความฝันครับ แต่มีบางคราวและบางครั้งที่ต้องปล่อยวางลงสักพัก  ในยามที่ผมมีความฝัน ผมจะกำหนดตัวบ่งชี้ความฝันง่ายๆ เลยก็คือ "ลงมือทำ" ....

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

งานครั้งนี้ต้องเรียนตรงๆ ว่าโดดงานไปบรรยายเลยทีเดียว เพราะผู้บังคัญบัญชาไม่ได้อนุญาตเนื่องจากมีภารกิจซ้ำซ้อนหลายอย่าง เกรงจะไม่มีคนดูแลการจัดกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย แต่ผมก็หลีกหลบด้วยการมอบหมายเจ้าหน้าที่ในทีมงานช่วยลงแรงกันให้มากกว่าปกติ ส่วนผมก็เดินทางไปเป็นวิทยากร เพราะถือว่า "เครือข่าย" ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.หนานวัฒน์

ต้นเดือนหน้าจะเดินทางไปเชียงใหม่ ถ้ามีโอกาสจะแวะทักทายแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ

สวัสดีครับ คุณจุฑารัตน์ ไชยสงเมือง

ผมดีใจและสุขใจมากเลยทีเดียวกับความสุขของคนฟัง หรือคนที่เข้าร่วมกระบวนการที่ผมจัดขึ้น

ยอมรับครับว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง เวลาไม่มากพอ, พื้นที่แคบ, รวมถึงไม่มีข้อมูลกิจกรรมของวิทยาลัยพยาบาลฯ มาก่อน จึงวิเคราะห์ผูกโยงมาบรรยายได้ไม่มาก เลยจำต้องพลิกสถานการณ์ไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ  พร้อมๆ กับการเปิดพื้นที่ให้ขบคิดกันเอง

แต่ที่ชัดเจนเลยก็คือ ผมพยายามกระตุ้นการเรียนรู้ความเป็นเพื่อนในทีมให้มากที่สุด เพราะนั่นคือทุนชีวิตที่ดีในการที่จะช่วยให้ทุกคนเรียนรู้การทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีพลัง ...

หวังว่าคงได้แลกเปลี่ยนเรยนรู้ร่วมกันอีกครั้ง นะครับ

ไม่เรียกชื่อก็ดีนะครับ พอเรียกแล้วมันเกิดปัญหาเรื่อง "นิยาม" และในบางครั้งก็มากอย่างไม่น่าเชื่อ เคยตั้งเล่นๆประเภท "จิตตปัญญาศึกษา" (หรือจิตตปัญญาเวชศึกษา) ก็ได้ผลบางมุม คือเชิญคนหลายๆคนมาสมัครเข้า เพราะสงสัยว่าคืออะไร แต่ผลอีกด้านคือบางคนก็ "ติด" แหง็กอยู่ตรงนิยามก็มี ไม่ได้กระบวนการไปเสียยังงั้น

งานนี้ส่วนหนึ่งอยากจะคิดว่าอาจารย์ได้ทำกับทรัพยากรบุคคลที่มี "ฐานใจ" เป็นเจ้าเรือนอยู่เยอะ พอถูกขยายด้วยกระบวนการก็เลยวิ่งโลด กลุ่มพยาบาลที่เคยรู้จัก เป็นกลุ่มคนฐานใจที่ชอบปฏิบัติ (มี heart กับ hands) พอมาทำกระบวนการจะสนุกกว่านั่งฟังบรรยายซึ่งเป็นฐานคิดเสียส่วนใหญ่

ขอบคุณที่เล่าบรรยากาศเสียสุนทรีย์ (โดยไม่ต้องบอกว่าเป็นสุนทรียสนทนา!!) ครับ

ดีใจที่มีโอกาสได้เรียนรู้จากคนที่มีอุดมการณ์ดีดีส่วนตัวเองค้นหาแต่ว่าเดิน(คลาน)แสนเชื่องช้า

เห็นแต่เพื่อนร่วมอุดมการณ์.... เดินนำอยู่ข้างหน้าก็รู้สึกว่ามีกำลังใจ...........จะคลานต่อไป

จะไม่ "อาย" ที่จะลงมือค้นหา "ความฝัน" ของตัวเอง  เพราะทุกอย่างคือการ "เรียนรู้"  และต้องเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ว่านั้น ก็คือการเรียนรู้เพื่อการ "เติบโต" นั่นเอง

 

ใช้ได้ สำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ในการที่จะบอกกับตัวเอง ว่าชีวิตคือการเรียนรู้  เรียนเพื่อเติบโต แม้ว่าจะอยู่ในวัยไหน ก็เติบโตได้สมอ

 

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ คะ

 

สวัสดีค่ะ

***การนำเสนอข้อมูลการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการแสดงตัวตนที่จะทำให้สานต่อกิจกรรมได้อีกมากมาย

*** ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้กิจกรรมนี้ค่ะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • อย่างที่ทราบว่าการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเกิดได้สามส่วน คือ 1) ความรู้ 2) ทักษะ และ 3) เจตคติ
  • อ่านเรื่องนี้แล้วเห็นว่าอาจารย์เริ่มเล่นกับส่วนสุดท้ายก่อน (ซึ่งเป็นเรื่องยาก) แล้วจึงพาให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่ส่วนที่สองและหนึ่งได้อย่างเนียน ๆ และน่าชื่นชม
  • เมื่อได้ใจ ก็ง่ายที่จะพาไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม
  • งานของอาจารย์สนุกและมีคุณค่าสำหรับผู้คนเสมอ
  • ขอบคุณสำหรับการจุดประเด็นความคิด รวมถึงกำลังใจที่ปรากฏในบันทึกของหัวหน้าลำดวน เมื่อครั้งก่อนผ่าตัดจากอาจารย์นั้น ขอบคุณด้วยความซาบซึ้งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท