การเชื่อมโยงกลไกสาธารณะและเคลื่อนไหวสังคม : จุดเด่นการวิจัยและทำงานเชิงสังคมแบบ PAR ของ ดร.เสรี พงศ์พิศ


ทางทีมวิชาการจัดสัมมนาและประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๕๓ ของหมอช้าง : แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวนิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็เป็นน้องๆของผมด้วย มาเลียบๆเคียงๆผมหลายครั้งว่าอยากได้รูปวาดลายเส้นของผมไปทำภาพหน้าปกหนังสือตีพิมพ์ปาฐกถาณัฐ ภมรประวัติ ประจำปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเชิญปาฐกถาโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ เหตุผลของเขาก็คือ ต้องการใช้รูปวาดที่สามารถสื่อเรื่องราวของปาฐกถาในเล่มและให้สะท้อนความเป็นเรื่องชุมชนท้องถิ่นกับการทำงานในแนวของท่าน ดร.เสรี พงศ์พิศ

แล้วก็อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งราวกับเป็นเหตุผลแบบมัดมือชกก็คือเขาบอกว่าผมทำงานชุมชนในแนวที่เขาเชื่อว่าจะสรุปแนวการทำงานชุมชนของอาจารย์ดร.เสรี พงศ์พิศเป็นรูปวาดได้ ซึ่งฟังดูแล้วก็เข้าท่า อีกทั้งไม่เลวทีเดียวที่จะได้มีงานไปช่วยเติมแต่งความงดงามให้กับการตีพิมพ์ปาฐกถาของท่านขึ้นมาเผยแพร่ เพราะแนวการทำงานของท่านผมก็ถือว่าเป็นครูอาจารย์ในเชิงวิชาการของผมด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ต้องถือว่าน้องๆได้นำเอาความดีงามมาให้ ให้ผมได้ทำสิ่งเล็กๆน้อยๆเป็นปฏิบัติบูชาวิชาครู

ผมเคยได้นั่งวิเคราะห์เล่าให้ลูกศิษย์และน้องๆ ตลอดจนเพื่อนร่วมงานฟังไประหว่างทำงาน ให้เป็นเกร็ดความรู้และข้อสังเกตแบบครูพักลักจำว่า ในวงวิชาการของคนทำงานวิจัยแบบ PAR และคนทำงานชุมชนในประเทศไทยที่เด่นๆ นั้น มีใครบ้าง และเพลงกระบี่หรือความเด่นเฉพาะตนของแต่ละท่านในทรรศนะผมนั้น เป็นอย่างไร ผมมีข้อสังเกตอย่างนี้ก็เนื่องจากชอบอ่านและต้องใช้ความรู้เหล่านี้ทำงาน รวมทั้งในการจัดประชุมวิชาการและทำกิจกรรมวิชาการต่างๆ กว่า ๒๐ ปีนั้นผมต้องเป็นทั้งคนจัดและเป็นแหล่งข้อมูลให้กับคณะทำงานต่างๆในการหาวิทยากรและประสานความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ จึงคุ้นเคยอยู่ในวิถีปฏิบัติ

การอยู่ในองค์กรวิชาการระดับประเทศดังเช่นหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เมื่อจัดกิจกรรมวิชาการก็มักจะมีปัญหาตรงที่แหล่งวิทยาการเกือบทั้งสิ้นจะเป็นศูนย์กลางความสนใจ มีบทบาทอยู่แถวหน้าในวงการนั้นๆในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งมีอยู่ไม่น้อยที่อาจจะต้องเป็นผู้นำในสังคม บางครั้ง ก่อนถึงบรรยายไม่กี่นาทีก็อาจมีเหตุให้มาไม่ได้หรือขณะดำเนินการกันอยู่ จู่ๆก็ต้องยุติกลางครัน ทุกอย่างก็จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ต้องทำให้ออกมาดีที่สุดเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติและต้องไม่ถือว่าเป็นปัญหา หากมีปัญหาอย่างนี้ บ่อยครั้งที่ผมมักได้เป็นคนให้ข้อมูล กุมสถานการณ์ให้เป็นปรกติ ไม่ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องเกิดความตกใจและขยายความกังวลให้บานปลายเป็นปัญหา เสนอตัวเลือก หรือไม่ก็จัดการแก้ปัญหาให้ ข้อมูลเหล่านี้จึงต้องมีอยู่ในหัว ดึงออกมาใช้พิจารณาเป็นเบื้องต้นหรือใช้ตัดสินใจได้ทันที ไม่ใช่รู้จักเพราะชอบคนเด่นดัง แต่เป็นสิ่งที่ต้องตั้งใจขวนขวายเรียนรู้และเห็นแง่มุมที่มีความสำคัญต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

หากเป็นท่าน ดร.บัณฑร อ่อนดำ ก็จะเด่นในทางเป็นปฏิบัติการเชิงสังคมแนว Community Empowerment และ New Social Movement, ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ก็จะเด่นในเรื่อง Discourse Analysis และ Power-Relation Reconceptualized ซึ่งเชื่อมโยงไปหางานในแนวนี้ของเปาโลแฟร์ (Paolo Friere,1920s-1990s) เจ้าพ่อนักการศึกษาและนักวิชาการภาคประชาชนและผู้บุกเบิกการศึกษาเพื่อสร้างพลังอำนาจแก่กลุ่มทาสผู้ถูกกดขี่และคนไร้โอกาสของลาตินอเมริกา และงานของนักวิชาการแนวเคลื่อนไหวสังคมผ่านงานความรู้อย่างฟูโกต์กับกลุ่มนักวิชาการแนวโพสต์โมเดิร์นของยุโรป เครื่องมือที่คนทำงานแนวนี้จะรู้กันดีว่าหากเป็นเรื่องนี้ก็ต้องไปดูงานอาจารย์ดร.บัณฑร อ่อนดำก็เช่น RRA : Rapid Rural Appraisal และการพัฒนาการรวมตัวกันของเกษตรกร

แนวของท่านศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิศ ก็จะเด่นในแนวผสมผสานวิธีการทางมานุษยวิทยาเข้ากับปฏิบัติการเชิงสังคมแบบรื้อและประกอบสร้างทรรศนะพื้นฐานต่อเรื่องต่างๆ (เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าเมื่อ ๒-๓ ปีก่อนนี้ ผมเคยซื้อหนังสือท่านแล้วก็เห่อหนังสือใหม่เลยเอาไปนั่งอ่านในเครื่องบิน เสร็จแล้วก็ทิ้งไว้ในเครื่องบินด้วย ดูเหมือนจะเป็นการบินไทย) ดร.นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ก็จะออกไปทางแนว Science and Social Science Integration Anthropology ที่สร้างความรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมไปบนชุดตัวแปร Bio-Medical and Socio-Cultural Determinants in Health 

ท่านศาสตราจารย์ศรีศักดื์ วัลลิโภดม ก็จะต้องแนวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนที่สามารถเข้าไปสู่พรมแดนทางศิลปะและวัฒนธรรม, ท่านรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครูท่านหนึ่งของผม ก็ต้องประวัติศาสตร์ล้านนากับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านแนว Oral History หรือการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า, ดร.อุทัย ดุลยเกษม เพื่อนของ ครูโกมล คีมทอง และครูของผม ก็ต้องเป็น Community-Based Approach แนว Critical Theory และ Structural System Analysis โดยเฉพาะวิธีคิดและปฏิบัติการเชิงวิธีวิทยาหรือความเป็น Process Design and Methodologist

ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน ก็ต้องแนว Alternative Socio-Cultural and Economic และเศรษฐกิจพอเพียง, ศาสตราจารย์ ดร.มรว.อคิน ระพีพัฒน์ ก็ต้อง Community-Based Approach กับ Urban Community, กลุ่มนักวิชาการของสำนักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ต้องแนว Green and Humanized Critical Theory, Post-Modern และความเคลื่อนไหวในกระแสทางเลือก, แนวที่ปฏิบัติการสื่อ ชุมชน อีกทั้งเชื่อมโยงและบูรณาการกับทฤษฎีทางสังคมด้วย มือหนึ่งของประเทศเลยก็ต้องแนวของศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา แก้วเทพ

แนวขับเคลื่อน Civil Society และพัฒนาบทบาทของภาคพลเมือง หากเคลื่อนไหวการจัดการความเป็นสาธารณะแบบเป็นเครือข่ายก็ต้อง รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี, เคลื่อนไหวประเด็นพื้นที่สาธารณะและเมืองเก่าแนวสถาปัตยกรรมชุมชนแบบผสมผสานก็ต้องอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ์ แนว Civic Learning Forum ก็ต้อง อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แห่ง Civicnet, แนว Community Strengthening and Sustainable Development, Community Organization Development, People Politics และ New Social Movement ก็ต้องนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป และเครือข่ายภาคประชาสังคม

แนว Education Intervention ที่บูรณาการมิติการศึกษาและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Social Resrach and Social Action สะท้อนสู่การวิจัยแบบ PAR บนปฏิบัติการ Empowerment Evaluation ที่เป็นการ Re-Entry Planing และ Re-Inventation เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และจัดการความเปลี่ยนแปลงในบริบทของการปฏิรูปการศึกษากับการเผชิญวิกฤติสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ก็ต้องครูของผมอีกท่านหนึ่งคือ รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย และทีมของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ผมกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น และอีกหลายแนวในสังคมวิชาการแนวนี้ทั้งในและต่างประเทศ

รวมทั้งผมได้ประมวลภาพให้ดูด้วยว่า แนวที่ยังเป็นช่องว่างและมหิดลต้องเป็นเวทีนี้ของประเทศก็คือ Community Health และต้องเป็นที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนอีกด้วย แล้วผมก็มักจะสืบทอดแนวคิดของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลก่อนยุคท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไว้ให้ขบเพื่อตีให้แตกอยู่เสมอภายใต้วิธีคิดที่ว่า ชุมชนในความหมายหนึ่งก็คือโมเลกุลของสังคม ซึ่งสำหรับผมแล้ว นี่คือวรรคทองและสมการแม่บทในการที่จะเป็นแกนบูรณาการความรู้ขึ้นจากมุมมองมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม กับ Biomedical Science เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างสังคมสุขภาวะ ที่ผุดขึ้นจากการตกผลึกความคิดโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลหลุยปลาสเตอร์ ที่ในประเทศไทยนี้ ต้องนำโดยมหาวิทยาลัยมหิดลเลยทีเดียว ผมเคยได้ฟังท่านขยายความว่า ในการสร้างความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ต้องมุ่งลงไปถึงหน่วยพื้นฐานที่สุดของชีวิตและสสาร แต่ความรู้ที่จะนำไปใช้ในสังคมก็ต้องใช้ความรู้ในศาสตร์อื่นทางสังคม ดังนั้น วิทยาศาสตร์สังคมก็ต้องมุ่งสร้างความรู้และทำงานความรู้ให้ถึงระดับพื้นฐานที่ดีที่สุด พร้อมกับต้องมุ่งเชื่อมโยงและบูรณาการข้ามศาสตร์สาขา ความเป็นสหวิทยาการและความเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์จึงจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ซึ่งความเป็นสังคมระดับหน่วยพื้นฐานที่สุดก็คือ ชุมชนและความเป็นชุมชน ดังนั้น ชุมชนจึงเปรียบเสมือนโมเลกุลของสังคม ซึ่งนับว่าเป็นทรรศนะต่อวิทยาศาสตร์สังคมที่มีความบูรณาการกับชีววิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สื่อสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลได้อยู่ในตัวเองโดยแทบจะไม่ต้องอธิบายเลยทีเดียว

แนวของสถาบันสุขภาพอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นต้นฉบับของประเทศในหลายเรื่อง ที่สำคัญและถือเป็นโอกาสทำหมายเหตุสืบทอดไว้ไปด้วยเสียเลยก็คือ แนว Community Intervention กับ Voluntary Action and Participation และ Impact Assessment รวมทั้ง Professional Community Research และ Routine to Research ด้วยการวิจัยแบบ PAR กับ Grounded Research ในงานต่างๆของรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงอรพินท์ สิงหเดช รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเยี่ยม ตระกูลวงษ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อริศรา ชูชาติ คุณวิไลวรรณ โกยแก้วพริ้ง และศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.สมอาจ วงษ์ขมทอง 

แนว Community Mobilization Module ในงานของ ดร.ทวีศักดิ์ เศวตเศรณี กระทั่งมาถึงในแนวของผม ในรุ่นผม รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยง เกี่ยวการค้าและ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์ ก็เป็นแนว Integration,Multidisciplinary และ Interdisciplinary กับ Community-Based Development and Community Research Practice และการวิจัยถอดบทเรียนแนว Empowerment Monitoring and Evaluation ด้วยการปรับรูปวิจัยแบบ PAR ที่บูรณาการกับการปฏิบัติการทางสื่อ ศิลปะ เทคโนโลยีการจัดความรู้และสื่อสารการเรียนรู้ กับปฏิบัติการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองในระดับชุมชน ซึ่งต่อยอดวิธีทำงาน IEC Program เพื่อทำงานชุมชนแนวบูรณาการของประเด็นสุขภาพ การสาธารณสุขมูลฐาน และสาธารณสุขท้องถิ่น กับมิติอื่นๆในบริบทใหม่ๆของสังคม

ในแนวของท่าน ดร.เสรี พงศ์พิศนั้น ท่านมีบทบาททั้งในเชิงวิชาการและการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเรียนรู้หลายเรื่องที่มุ่งเน้นความเป็นชุมชนและความเป็นสังคมหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบท แต่กล่าวจำเพาะในเรื่องการวิจัยกับการทำงานชุมชน รวมไปจนถึงการเคลื่อนไหวชุมชนท้องถิ่นนั้น ในทรรศนะผม ผมก็จะนึกถึงความเป็นนักวิจัยแบบ PAR ที่ปฏิบัติการเชิงสังคมและเคลื่อนไหวสังคมในแนว Policy Advocacy และ Social Learning Practice

อาจารย์จะเก่งในการระดมความร่วมมือกันของคนชั้นกลางและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องขององค์กรในสาขาต่างๆในประเด็นที่หยิบยกมาเคลื่อนไหวปฏิบัติการชุมชน โดยใช้เวทีวิชาการและการลงไปทำงานชุมชนให้เป็นโอกาสประสานความร่วมมือของผู้คนให้ได้มีโอกาสคิด เรียนรู้ และตัดสินใจทำสิ่งต่างๆให้เชื่อมโยงและประสานสอดคล้องไปด้วยกันอย่างบูรณาการหลายมิติและหลายระดับ ซึ่งการใช้กระบวนการเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นระบบที่ชาวบ้านกับคนต่างสาขาทำด้วยกันได้อย่างนี้ การเกิดความรู้และการมองไปในอนาคตร่วมกันก็เกิดขึ้นและพร้อมจะริเริ่มแปรไปสู่การดำเนินการต่างๆให้เชื่อมโยงกันไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ต้องสรุปเป็นผลการวิจัยในรูปของตัวหนังสือแล้วไปนำเสนอในห้องประชุมซึ่งมักกลายเป็นเวทีจำเพาะกลุ่มคนทำกิจกรรมวิชาการและแยกส่วนไปตามหน่วยงาน ส่วนชาวบ้านก็จะเข้าไม่ถึง ในที่สุดก็ไม่มีกำลังพอที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆในทางปฏิบัติ แนวของอาจารย์จึงสะท้อนปรัชญาการวิจัยแบบ PAR เชิงเคลื่อนไหวสังคม ที่มีกระบวนการทางการศึกษาภาคประชาชนและเป็นกระบวนการจัดการความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ที่ชัดเจนมากวิธีหนึ่ง

เป็นต้นว่า แทนที่จะเก็บข้อมูลเพื่อได้ข้อมูลเฉยๆอย่างไม่มีความหมาย อาจารย์ก็จะทำให้การเก็บข้อมูลกลายเป็นการระดมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องที่สำคัญไปเดินดูชุมชนด้วยกัน จัดเวทีเรียนรู้และพูดคุยปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเขียนและสื่อสารกับสาธารณะเพื่อเป็นวิถีวิชาการที่จะเป็นแรงขยายเสียงภาคประชาชน พร้อมกับใช้วิธีการทางความรู้และพลังของการสื่อสารทางวิชาการ ดึงประสบการณ์ภาคปฏิบัติของปัจเจกและชุมชน สื่ออกไปวงกว้างเพื่อสร้างความตื่นตัวและมีกำลังการเรียนรู้ความริเริ่มใหม่ๆของสังคม ซึ่งก็จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวตนเองของสังคมอีกต่อหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น วิธีการของอาจารย์ ดร.เสรี พงศ์พิศอย่างนี้ จึงเด่นมากในการผสมผสานมิติ Social Learning ไปกับงานความรู้และการวิจัยแบบ PAR ในกรณีต่างๆ 

เพื่อสื่อสะท้อนวิถีวิชาการของท่าน พร้อมกับสอดคล้องกับหัวข้อการปาฐกถาและหัวข้อการประชุมสัมมนาประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพกับการส่งเสริมบทบาทของชุมชนและท้องถิ่น ผมจึงวาดภาพเพื่อเป็นภาพหน้าปกพร้อมกับให้คำบรรยายภาพให้ตามที่ทีมวิชาการจัดปาฐกถาต้องการ ดังนี้

นอกจากนี้ ก็ให้ชื่อภาพและคำบรรยายภาพสำหรับทำเป็นหลังปกด้วย ดังนี้

..............................................................................................................................................................................

ภาพ :  การร่วมกันเดินสำรวจและเรียนรู้ชุมชนของชาวบ้านในท้องถิ่นกับนักวิชาการและคนภายนอก

ท้องถิ่นมีบทบาทและความสำคัญต่อระบบสุขภาพและสาขาการพัฒนาทางด้านต่างๆของประเทศ ทั้งในแง่ที่เป็นเป้าหมายในการบรรลุผล และการเป็นยุทธศาสตร์ปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อสร้างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างผสมผสาน โดยมีงานสุขภาพชุมชน สาธารณสุขท้องถิ่น งานพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเป็นจุดเชื่อมโยง

การร่วมกันเดินสำรวจและเรียนรู้ชุมชนของชาวบ้านในท้องถิ่นกับนักวิชาการจากภายนอก ตลอดจนการปฏิรูปบทบาทของภาคราชการจากการรวมศูนย์อำนาจไปสู่การเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางวิชาการ สร้างกระบวนการคิดและตัดสินใจบนฐานการได้ร่วมกันเรียนรู้และริเริ่มทำสิ่งต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยกัน จัดว่าเป็นกลวิธีพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือแบบสหสาขา (Multi-Sectorals Collaboration) ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมโครงการที่ดำเนินงานของท้องถิ่นและในท้องถิ่น ให้เป็นกระบวนริเริ่มและเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ รวมทั้งทำให้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เป็นโอกาสในการสร้างสังคมเข้มแข็งขึ้นจากฐารรากในท้องถิ่น

                                                                 วาดภาพและบรรยาย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์   คำศรีจันทร์
                                                                 มิถุนายน ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 445736เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 02:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • เป็นการ mapping กลุ่มคนทำงานชุมชนที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ มองเห็นภาพการเลื่อนไหนไปของแนวการทำงานชุมชน ทั้งกลุ่มคนและเครื่องมือ เป็นส่วนเสริมและสนับสนุนคนทำงานแนวนี้มากๆ ค่ะ
  • ขอบพระคุณแทนชาว'อาเซียน ที่อาจารย์อย่างน้อยทำแนวไว้ หรือทิ้งร่องรอยไว้ให้น้องๆ ที่มารับลูกการทำงานต่อไปค่ะ ...
  • หนังสือ ปาฐกถา ณัฐ ภมรประวัติ ครั้งที่ ๒๔ เรื่อง "การจัดการสุขภาพโดยชุมชน" โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เล่มนี้ต้องออกมาสวยแน่นอนค่ะ .. (พี่ตุ๋ย พิชสินี ได้ขอให้ช่วยทำศิลปกรรมให้กับหนังสือเล่มนี้ช่วยค่ะ)
  • มีความสุขในวันหยุดค่ะ ...
  • เป็นการส่งไม้ต่อให้อาจารย์ณัฐพัชร์และน้องๆด้วยเลยนะเนี่ย
  • แต่ในความเป็นจริงแล้วผมกำลังเรียนรู้วิธีเตรียมตัวเองใหม่แล้วก็ให้ได้ประโยชน์อย่างอื่นไปด้วยน่ะครับ
  • คือวันนี้ครึ่งเช้าผมต้องไปบรรยายเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพให้กับเวทีสัมมนาการวิจัยของกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกสาขาการศึกษากับการพัฒนาและการศึกษาตลอดชีวิต ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และตอนบ่ายก็จะไปนั่งเสวนากับกลุ่มนักวิจัยแนววิจัยแบบ PAR ของแผนงานวิจัยและประเมินผลของกองทุน สสส.
  • ปรกติแล้ว งานอย่างนี้ผมมักจะเน้นเรื่องเตรียมพาวเวอร์พ๊อยต์และเอกสาร เสร็จแล้วก็มักไม่เคยคุยได้หมดอย่างที่เตรียม
  • คราวนี้เลยไม่เตรียมแล้ว จะผสมผสานกับเท่าที่มีอยู่และเผื่อไว้ว่าประเด็นการคุยเหวี่ยงไปทางไหนก็มีสื่อในมือสำรองไว้หมด หากต้องการใช้ก็ค่อยดึงออกมาดีกว่า
  • แล้วก็ใช้วิธีนั่งทบทวนโดยใช้วิธีเขียนบันทึกนี่แหละครับ เลยได้เรียนรู้วิธีทำบันทึกแบบนั่งทำงานความคิด ทบทวนความรู้ เตรียมเนื้อหาในตนเอง เสร็จแล้วก็เลยได้บันทึกไปด้วยอีกเรื่องหนึ่ง....เข้าท่าดีเหมือนกันล่ะครับ

ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การเข้ามาใช้บริการเว็บบล๊อกของ gotoknow.org และได้เขียนบันทึกชุดดังลมหายใจ กับการร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล จนเกิดผลต่อเนื่องหลายอย่าง ทำให้ผมมีบทเรียนไปศึกษาค้นคว้า กระทั่งพบเรื่องที่ผมสนใจมากอีก ๓ เรื่องคือ

  • การวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเพื่อปฏิบัติการชุมชนแบบ Autoethnograph
  • เวทีคนหนองบัวทำให้ผมกลับไปค้นคว้างานวรรณกรรมที่จะพัฒนการวิจัยในแนวนี้และพบ ๒ เรื่องที่ผมสนใจมากคือ (๑) การวิจัยแบบ Case Study ซึ่งได้รู้อีกว่าเคยเป็นประเด็นการถกเถียงทางระเบียบวิธีอย่างเข้มข้นเมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ผมเลยศึกษาเรื่องนี้เพื่อขยายผลการวิจัยพุทธมณฑลกับภาควิชาศึกษาศาสตร์และจะพัฒนาการวิจัยเวทีคนหนองบัว และ (๒) ได้บทเรียนที่เห็นแนวพัฒนาเครือข่ายการวิจัยและปฏิบัติการความรู้เชิงสังคมโดยการวิจัยแบบ PAR ทางเว็บบล๊อก ที่เชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างสังคมความรู้ในโลกออนไลน์กับชุมชนเชิงพื้นที่

เรียน อาจารย์

  • ขอบพระคุณสำหรับ "ปัญญาสาธารณะ" อีกครั้งครับ
  • อาจารย์ให้ "ลายแทง" สำคัญสำหรับการวิจัยแนวนี้ครับ อาจารย์หลายท่านที่ปรากฎนามเป็น "ทุนปัญญาร่วมสมัย" ที่นักศึกษา นักวิชาการแนวนี้คงต้องติดตาม และศึกษา
  • เป็นข้อสรุปคร่าวๆแต่ก็เชื่อว่าพอจะเป็นแนวคิดสำหรับทำงานในแนวนี้ได้พอสมควรนะครับ
  • ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจคุณ Poo, คุณช้างน้อยมอมแมม และอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยนะครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ ดร.วิรัตน์มากค่ะสำหรับปก ปาฐกถาในครัี้้ี้้งนี้่

ทั้งที่ก็ทราบอยู่แล้วว่างานล้นมือจริง ๆ แต่ก็ยังได้รับความเมตตาอีกเช่นเคย....กราบคารวะค่ะ

ระหว่างที่ edit คำบรรยายก็ทำให้นึำกถึงบรรยากาศเดิม ๆ สมัยคุณหมอกระแส ดร.เสรี ช่วงที่อาเซียนเพิ่งจะเริ่มต้น

ก็เลยนึำกถึง อ.ดร.วิรัตน์ ศิษย์ก้นกุฎิ (ตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน) เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะออกแบบปกครั้งนี้

ส่วนศิลปกรรม ก็น่าจะเป็นคุณเหมียว (อดีต บอก. ทำงานชุมชนตั้งแต่รู้จักกันจนถึงวันนี้)

ซึ่งก็ได้รับคำตอบรับแล้วเช่นกัน

คิดว่าปาฐกถาเล่มนี้จะทรงคุณค่าและงดงามด้วยจิตวิญญาณของผู้ที่มีอุดมการณ์ทำงานเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

และขอบคุณคุณโม่งที่ช่วยประสานจนสำเร็จด้วยดีค่ะ

อันที่จริงท่านอาจารย์ ดร.เสรี พงศ์พิศนี้ เป็นหนึ่งในกลุ่ม Think Tank ที่ระดมความคิดก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียนเมื่อปี ๒๕๒๕ ที่พัฒนามาเป็นสถาบันสุขภาพอาเซียนในอีกกว่า ๓๐ ปีต่อมาดังปัจจุบันนี้ด้วยแน่ะครับ ผมมาทันตอนที่อาจารย์ต้องเป็นวิทยากรอบรมนักวิจัยและวิทยากรทำงานด้านต่างๆของสถาบันหลายครั้ง อีกทั้งต้องเป็นคนศึกษาเอกสารเพื่อทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเขียนรายงานต่างๆของสถาบันอยู่เป็นประจำ เลยจำได้ครับ

  • ชอบงานที่ผสมของอาจารย์เสรี
  • Social Learning ไปกับงานความรู้และการวิจัยแบบ PAR
  • คิดอยู่แล้วเชียวว่าต้องเอาไปสอน
  • เรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพให้กับเวทีสัมมนาการวิจัยของกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกสาขาการศึกษากับการพัฒนาและการศึกษาตลอดชีวิต ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และตอนบ่ายก็จะไปนั่งเสวนากับกลุ่มนักวิจัยแนววิจัยแบบ PAR ของแผนงานวิจัยและประเมินผลของกองทุน สสส.
  • 555
  • ทำไมผมทายถูกก็ไม่ทราบ
  • ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสามตัว 555
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ คิดถึงอยู่นะครับว่าหายหน้าหายตาไปไหน
  • นอกจากได้เอาไปสอนแล้วก็เป็นการเตรียมตัวไปนั่งเสวนาตอนบ่ายที่สำนักวิจัยและติดตามผลเชิงนโยบายของสสส.อีกนะครับ
  • ที่สำคัญคือได้ให้บทเรียนอีกแบบหนึ่งให้กับตนเองได้ดีมากครับอาจารย์ เป็นเรื่องเดียวกับที่อาจารย์หมอสกลเขียนและกำลังออนไลน์เป็นบันทึกแนะนำอยู่เลยนะครับ คือ ผมใช้วิธีนั่งเขียนบันทึก คิด และทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องจนเห็นภาพในใจ แทนที่จะนั่งเตรียมเนื้อหาและสื่อเฉพาะเรื่องและเฉพาะกลุ่มที่ผมจะต้องไปบรรยายเหมือนอย่างที่เคยทำ
  • ความแตกต่างที่ผมได้รับและได้การเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของตนเองได้ดีมากอย่างยิ่งเลยก็คือ หาต้องเตรียมตัวแล้ว ผมก็จะต้องใช้เวลาเยอะ เพราะนอกจากจะเตรียมเนื้อหาแล้วย่อยออกมาดีๆแล้ว ธาตุของคนทำสื่อมันก็ติดแน่นอยู่กับตัวเอง คือ สื่อต้องสวยและดีด้วย และเกือบจะทุกครั้งผมทั้งเหนื่อยและมักหงุดหงิดหากไม่ได้อย่างใจ เพราะพอทุ่มเทเยอะ แถมต้องวางมือจากงานอื่นๆ ไปด้วย หากเห็นนักศึกษาและคนอื่นที่เขาฟังบรรยายไม่จริงจังแล้วละก็ ผมก็จะรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบและโกรธตัวเองที่ไปรับบรรยายหรือไปสอน
  • มาคราวนี้ผมเลยกลับทำไปอีกแบบ โดยได้แต่รวบรวมสื่อที่มีอยู่แล้วมากองรวมกันให้พร้อมดึงออกมาใช้เมื่อจำเป็นเฉยๆ แล้วก็นั่งเขียนบันทึกแบบเขียนฝากให้น้องๆและคนที่อยู่ข้างหลังด้วย ใช้เป็นจังหวะนั่งทบทวนในใจให้ตัวเองด้วย เสร็จแล้วก็เลยทั้งได้บันทึก ๑ เรื่องและได้เจริญสติ ทำจิตใจนิ่ง เห็นเรื่องราวต่างๆหมดว่ากองเอาไว้ในความคิดตรงไหนบ้าง เสร็จแล้วก็เดินไปเหมือนไหม่ได้เตรียมอะไรตายตัวไปเลย นักศึกษาคุยตรงไหนก็ชวนกันอภิปราย เจาะประเด็นและเปิดเรื่องเข้าหาแง่มุมต่างๆไปกันอย่างสบายๆ
  • เลยนอกจากไม่หงุดหงิดแล้วก็กลับได้หลายอย่างไปด้วยเลยละครับ
  • ผมดีใจจังที่ได้ทำแบบอาจารย์หมอสกลและอาจารย์วิรัตน์
  • ที่สำคัญได้เรียนรู้ตัวเองด้วยครับ
  • ตอนนี้ไม่ได้หายไปไหนครับ
  • งานยุ่งมากๆๆ
  • ไปเรียนรู้กับเด็กๆๆมาสนุกมากๆๆ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/445761
  • ดูๆแล้ว ตัวกระบวนการนี่ ก็จะเหมือนอย่างที่อาจารย์ก็กำลังดำเนินไปเหมือนกันครับ
  • คือ...เดินเรียนรู้ไปกับการทำ เผชิญสถานการณ์ตรงๆ แล้วก็แก้ปัญหาไปบนของจริงระหว่างทำงานจริงๆ
  • พอสักระยะหนึ่ง พอได้นำเอาประสบการณ์และบทเรียนที่แน่นพอสมควร ไปศึกษาค้นคว้า ตรวจสอบให้รอบด้าน และสร้างความเชื่อมโยงให้กว้างขวาง ก็เห็นความเป็นตัวของตัวเองชัดขึ้น แล้วก็เห็นความเชื่อมโยงไปสู่พรมแดนต่างๆที่เป็นสากล ที่อิงอยู่กับกรณีที่เป็นจริงซึ่งได้จากการปฏิบัติ
  • พอได้นั่งเขียนเพื่อคิดตกผลึก ก็เลยเหมือนได้เดินทางเข้าสู่ภายใน ได้เรียนรู้และค่อยค้นพบความแยบคายต่อสิ่งโน้นสิ่งนี้จากข้อมูลประสบการณ์ภายในได้อย่างดี

โอ้ !!!! อาจารย์ขา

ระดับ....ทบทวนวรรณกรรมชีวิตตัวเอง...เลยนะคะเนี่ย

สุดยอด

ขอบพระคุณ...ทั้งข้อเขียนและความคิดเห็นดี ๆ ที่ทุกท่าน....สื่อสารสู่สาธารณะ

  • เรียกได้อย่างรู้สึกในใจเลยครับคุณหมอครับ...ทบทวนวรรณกรรมชีวิตตัวเอง 
  • จะขอนำไปใช้ในโอกาสต่อไปนะครับ เหมาะที่จะใช้เรียกการอ่่านและเรียนรู้ Tacit Knowledge มากเลยครับ
  • เพิ่งได้เห็นผ่านตาจากงานต่างประเทศ เขาเรียกความรู้ในประสบการณ์ว่า Bio-Literature ซึ่งการจัดประชุมและการจัดวางปฏิสัมพันธ์ที่ดี พิถีพิถัน เพื่อมุ่งเข้าถึงความรู้ที่ลึกซึ้ง เขาว่าเป็นการทบทวนความรู้ในประสบการณ์อย่างหนึ่ง
  • ผมเคยบอกคนทำวิจัยชุมชนว่า ฝึกเดินไปหาชาวบ้าน พัฒนาวิธีเรียนรู้และหาวิธีที่ดีขึ้นเรื่อยๆในการสัมผัสความเป็นจริงของสังคม ก็เป็นวิธีเดินเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้าและทบทวนวรรณกรรมการวิจัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน
  • อย่างในนี้ก็เป็นการเดินเข้าไปข้างในตนเองแล้วก็อ่านข้อมูลชีวิต เลยเป็นการทบทวนวรรณกรรมชีวิตตนเองไปด้วยจริงๆครับ ได้ประโยชน์หลายสถานดีครับ
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท