หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : น้องใหม่เอาใจไปชุมชน


สำรวจตัวเองว่ามี “สิ่งใด” อยู่กับ “ตัวเอง” บ้าง และสิ่งที่มีอยู่นั้นจะให้บริการ หรือใช้เป็น “สื่อกลาง” สู่การเรียนรู้ได้อย่างไร

การนำนิสิตใหม่ (น้องใหม่) มุ่งหน้าสู่ชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” (หนึ่งคณะ..หนึ่งหมู่บ้าน) ภายใต้แก่นคิดหลักคือการฝากตัวเป็นลูกฮัก เรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการบริการสังคม

 

Large_dsc_0276

Large_dsc_0557

 


น้องใหม่ใส่ใจชุมชน >

 

เมื่อไม่นานมานี้เอง สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ ก็ได้นำนิสิตใหม่ลงสู่ชุมชนอีกครั้ง คราวนี้มีวาทกรรมสำคัญโผล่มาเป็นหมุดหมายคือ “น้องใหม่ใส่ใจชุมชน”  โดยมีบ้านดอนหน่อง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็น “สถานีชีวิต” ให้นิสิตใหม่และชาวบ้านได้เรียนรู้ร่วมกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีเพื่อ “พ่อหลวง”  เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างการเรียนรู้ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของนิสิตตามปรัชญา “ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

 

Large_dsc_0357

Large_dsc_0284

 

 

เธอมีสิ่งใดในตัวเอง >

 

กิจกรรมครั้งนี้ ไม่ได้หยั่งรากลึกซับซ้อนอันใดมาก  หากแต่พยายามกระตุ้นให้นิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ได้สำรวจตัวเองว่ามี
“สิ่งใด” อยู่กับ “ตัวเอง” บ้าง และสิ่งที่มีอยู่นั้นจะให้บริการ หรือใช้เป็น “สื่อกลาง”  สู่การเรียนรู้ได้อย่างไร ?


และก็ไม่แปลกอะไรที่นิสิตจะตอบอย่างฉะฉานว่า “ตรวจสุขภาพและให้ความรู้เรื่องสุขภาพ”


ครับ,คำตอบที่ได้มานั้น ถึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะผิดหวัง เพราะการที่นิสิตจะนำเอา “ความรู้” ใน “วิชาชีพ” ไปให้บริการแก่ชาวบ้านนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่อง “ถูกทิศ ถูกทาง” แล้ว...

 

มิหนำซ้ำ  เพื่อให้กระบวนการดูเป็นรูปธรรมและครบวงจรมากขึ้น  ผมจึงได้เสนอแนะให้มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปในตัว แทนที่จะตรวจวัดความดัน หรือตรวจสุขภาพทั่วไป ก็แถมพ่วงด้วยการตรวจโรคและจ่ายยาเสร็จสรรพไปเลย  ซึ่งก็นับว่าโชคดีมากที่คณะแพทยศาสตร์ได้เทใจมาช่วยเป็นแม่ทัพในเรื่องนี้อย่างไม่อิดออด

 

Large_dsc_0424

 

การมาของคณะแพทย์นั้น ผมได้ประสานงานด้วยการร้องขอให้ “ผศ.ดร.ลัดดา แสนสีหา” (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต)  เป็นผู้ประสานงานขอความอนุเคราะห์ไปยังคณะแพทย์ศาสตร์  ซึ่งได้แม่ทัพอย่าง “ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย” และพยาบาลวิชาชีพอีกหลายท่านมาร่วมเติมเต็มกิจกรรมให้มีค่าและความหมายมากยิ่งขึ้น

 

Large_dsc_0286

 

 

บูรณาการสร้างสรรค์ปัญญา >

 

ไม่เพียงเท่านั้น นิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ยังจัดกิจกรรมแบบบูรณาการให้หลากหลาย  เน้นการกระจายงานลงสู่น้องใหม่และนิสิตรุ่นพี่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทั้งสองส่วนได้ทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน

เป็นการทำกิจกรรมแบบ “พี่ดูแลน้อง”

  

Large_dsc_0258

 

กิจกรรมที่ว่านั้นประกอบด้วยกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพฟัน การล้างมืออย่างถูกวิธี  ผ่านกระบวนการของเพลง ดนตรีและท่าเต้นที่สนุกสนาน  รวมถึงการวาดรูปตามจินตนาการของเด็กๆ  โดยเมื่อวาดเสร็จจะให้เด็กๆ แต่ละคนเขียนคำเชิญชวนผู้ปกครองออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

 

Large_dsc_0304

Large_dsc_0480

Large_dsc_0541

 

เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น  นิสิตกลุ่มหนึ่งก็ตบเท้าเข้าหมู่บ้านเพื่อรณรงค์การออกไปใช้สิทธิ์ โดยจัดแต่งขบวนกลองยาวเล็กๆ ไม่เน้นพิธีการ มีแกนนำนิสิตปราศรัยเชิญชวนไปทุกตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน  ขณะที่บางกลุ่มก็เดินเท้าเข้าสู่ครัวเรือนแจกเอกสารให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างคึกคัก  และถือโอกาสพูดคุยถึงเรื่องปากเรื่องท้องไปในตัว

ส่วนอีกกลุ่มก็เดินเท้าเก็บขยะไปพร้อมๆ กัน

 

Large_dsc_0274

 

การงานเหล่านี้ อันหมายถึงการรณรงค์การใช้สิทธิเลือกตั้งทำกันแบบ “ปูพรม” ถึงแม้จะไม่ใช่งานเชิงลึกมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลอยู่ไม่ใช่ย่อย  เพราะไม่เพียงชาวบ้านจะตื่นตัวเท่านั้น  นิสิตเองก็ยังต้องเรียนรู้และตระหนักในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน  อย่างน้อยก็เตือนความจำว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”

 

ครั้นกลับเข้าสู่ศาลาการเปรียญ นิสิตทั้งหมดร่วมกับชาวบ้านก็มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น  นั่นคือเวทีการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติอย่างมากๆ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ หรือแม้แต่แววตาแห่งความอาทรฉายชัดอย่างน่ายกย่อง

 

Large_dsc_0564

 

เมื่อเวลาผ่านพ้นไปสักระยะ แต่ละคนพักคลายเหนื่อยเสร็จแล้ว  นิสิตจากสโมสรนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็ร้องหมอลำเชิญชวนให้ผู้คนไปเลือกตั้งอีกรอบ  ครั้งนี้ได้ครบรสทั้งบันเทิงเริงปัญญา  เรียกเสียงเฮฮาเป็นระยะๆ ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนถึงขั้นลุกมาบริจาคเงินทองให้กับ “หมอลำน้อย”  และหมอลำน้อยก็นำเงินทั้งหมดที่ได้บริจาคเข้าวัดเสร็จสรรพ

นั่นคือ ความดีงามที่เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างมีชีวิต

 

Large_dsc_0255

 

 

ความสุขของการใช้ชีวิต >

 

การงานครั้งนี้  ผมและทีมงานประกบนิสิตแกนนำของคณะอย่างใกล้ชิด  เพราะรู้ดีว่าพวกเขายังขาดทักษะในการจัดกิจกรรมในชุมชนอยู่มาก  แต่ต้องยอมรับว่านิสิตกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่น่ารัก จิตใจดีงาม อ่อนน้อมและเปิดใจที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างมหัศจรรย์

 

Large_dsc_0306

Large_dsc_0291


ภายหลังกิจกรรมผ่อนซาลง  ผมถามทักแกนนำหลายคนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น  ทุกคนยืนยันว่าเป็น “ความสุข” ที่แปลกใหม่และหลากรสชาติมาก ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเปลวแดดลามเลียอยู่ตลอดเวลา ถึงจะไม่เย็นสบายเหมือนห้องเรียนและโรงพยาบาล  แต่ความสุขที่ได้มานั้นก็มีมิติที่งดงามไม่แพ้กัน  และที่สำคัญก็คือการได้สัมผัสกับความเป็นท้องถิ่นทั้งคนและภูมิทัศน์ ซึ่งทำให้เห็นความเป็น “วิถี-ชะตากรรม” ที่ยังต้องเรียนรู้และปรับแต่งกันอีกหลายยก

 

และสิ่งนั่นก็คือการปรับแต่งในเรื่องของแหล่งน้ำเสีย  การขุดลอกท่อระบายน้ำในหมู่บ้าน  สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังสโมสรนิสิตคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ที่เป็น “ลูกฮัก” อีกกลุ่มของชุมชนนี้

 

และที่ประทับใจที่สุดก็คือเขายืนยันกับผมว่า “เขาเริ่มเห็นคุณค่าของการทำกิจกรรมในชุมชน” อย่างชัดเจน  และคงได้หารือทิศทางของการจัดกิจกรรมกันใหม่ ซึ่งนอกจากประเพณีหลักๆ ในคณะแล้ว  คงจัดวางแผนเชิงรุกลงชุมชนให้มากขึ้น  เพราะในสโมสรนิสิตคณะก็มีชมรมจิตอาสาและชมรมส่งเสริมสุขภาพอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะยุ่งยากและเกินแรงใจที่เบนเข็มออกสู่ชุมชนให้มากขึ้น

 

Large_dsc_0313

 

ท้ายที่สุดนิสิตท่านนั้นก็กล่าวปิดท้ายอย่างกระชับว่า “นี่คือความสุขของการใช้ชีวิต ความสุขที่เห็นพลังเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่ไม่ดูดายต่อชุมชน และดีใจที่เห็นน้องใหม่สุขใจกับการเรียนรู้ชุมชน....”

ครับ  ผมเองก็สุขใจไม่แพ้กัน 

 

 

.....
๑๒ มิถุนายน ๕๔
บ้านดอนหน่อง
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

 

 

หมายเลขบันทึก: 445637เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2011 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้อย่างมีคุณค่ามากๆ เลยนะค่ะ

ดีใจที่น้องๆ ได้มีส่วนร่วมในชุมชน

คนทำ คนเชียร์ และคนอ่านก็มีความสุขค่ะ ^_^

ส่งกำลังใจเสมอค่ะคุณเพื่อแผ่นดิน :)

การได้ลงไปสัมผัสด้วยกาย ได้ปฏิบัติจริง ส่งผลลึกลงไปถึงใจนะคะ

ความสุขเช่นนี้หล่อเลี้ยงชีวิตให้มีพลังอย่างเหลือเชื่อ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

ขอบคุณครับ มะปรางเปรี้ยว

วันนี้อีกหลายคณะก็กำลังพาน้องใหม่ลงสู่ชุมชนเหมือนกัน
การออกไปเรียนรู้ชุมชนแบบนี้ เป็นกระบวนการหนึ่งของการกล่อมเกลานิสิตไปในตัว
และที่สำคัญเป็นเหมือนการไปเติมพลังใจให้ชาวบ้านไปในตัว

ขอบคุณนะครับที่ให้กำลังใจ และมีความสุขกับการอ่านบันทึกนี้

 

ครับคุณปู

 

ตอนนี้เป็นยังไงบ้างครับ - สำหรับผมก็ยังเหมือนเดิม แต่มีภารกิจเพิ่มคือการนำเอาเรื่องราวกิจกรรมเข้าสู่วิชาเรียน  จึงพลอยต้องทำอะไรๆ หนักไปกว่าเดิม

แต่ทั้งปวงก็มีความสุขนั่นแหละครับ สุขบ้าง ทุกข์บ้างตามวิถี...

น้องแผ่นดินครับ ชอบกิจกรรมของคณะพยาบาลมาที่ลงไปดูเรื่องสุขภาพของชุมชน

ขอบคุณสำหรับกิจกรรมดีๆๆครับ...

สวัสดีครับ พี่นุช คุณนายดอกเตอร์

วิธีเรียนแบบนี้เป็นเหมือนการพาตัวเองเป็น "ฝังตัว" ในชุมชน  ถึงแม้เป็นระยะสั้น แต่ก็จะพยายามสร้างกระบวนการและแรงบันดาลใจให้เกิดความต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด ผมและทีมงานมีหน้าที่ในการจุดประเด็น ผลักพาไปสู่การเริ่มต้น ส่วนที่เหลือนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนิสิตและช่วยชนแหละครับว่าจะสรรค์สร้างการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร...

ส่วนเรื่องสุขภาพนั้น  ผมยังคงเป็นไปอย่างที่เห็นครับ...
แต่เมื่อชั่งวัดแล้ว  ผมก็ยังอุ่นใจที่ความสุข หลงเหลืออยู่มากกว่าความเหนื่อยหนัก

...เช่นกันนะครับ ...ขอให้สุขภาพแข็งแรงๆ...

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ตกลงชอบ "กิจกรรม" นะครับ (55)

เหมือนที่เขียนครับว่าไม่เน้นกระบวนการที่ลึกเร้นอะไรกับกิจกรรมนี้ แต่พยายามให้นิสิตพยาบาลได้ทำกิจกรรมที่ตนเองถนัดให้มากที่สุด จะได้เป็นธรรมชาติ ไหลลื่น และมีผลลัพธ์เป็น "ความสุข" ไปในตัว

บันทึกนี้ ถึงแม้ผมไม่ได้สื่อสารเน้นหนักไปในเรื่องเครือข่ายนัก แต่ก็ยัอยากสรุปไว้ในช่วงนี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวสะท้อนภาพของเครือข่ายได้ดี เพราะมีหลายส่วนเข้าไปผนึกกำลังช่วยกันอย่างน่าชื่นใจ

รักษาสุขภาพนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท