๙๑. การมองเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะ : ความลึกและความสัมพันธ์เชิงมิติ


ความลึกและมิติความสัมพันธ์

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการบันทึกและถ่ายทอดปรากฏการณ์ต่างๆก็คือ การต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันในเชิงพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดูภาพสามารถรับรู้และจินตนาการจากภาพได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องก่อให้เกิดผลทางด้านสุนทรียภาพและความงาม ซึ่งจะช่วยในการประเมินคุณค่าและสร้างการมีความหมายในแง่มุมต่างๆตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม ทั้งต่อสังคมและต่อผู้ใช้ข้อมูลภาพในโอกาสต่างๆ

การถ่ายภาพและการวาดภาพนั้น เป็นข้อมูลและสภาพแวดล้อมทางความรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งบันทึก ถ่ายทอด และสื่อแสดงความเป็นจริงต่างๆ ได้ดีไม่น้อยไปกว่าหนังสือและถ้อยความภาษา อีกทั้งในบางกรณี ก็สามารถนำเสนอสิ่งต่างๆที่หนังสือและข้อความจะไม่สามารถทำได้ดีเท่าอีกด้วย แต่นักวิจัยและคนทำงานความรู้โดยมากก็มักจะคุ้นเคยการใช้ข้อมูลที่เป็นข้อความ การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม การสังเกตด้วยตนเอง ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นวิธีที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็จะนำไปสู่การถอดเทปและจดบันทึกเป็นข้อมูลและข้อความตัวหนังสือเหมือนกันหมด จากนั้นก็จะวิเคราะห์และใช้สร้างความรู้ แต่มักมีข้อจำกัดต่อการใช้ข้อมูลภาพและการเห็นสถานการณ์เชิงประจักษ์ที่มีความหมายมากกว่าข้อความและการถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ หากเราได้รู้จักและนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ได้สร้างความรู้และเข้าถึงความจริงดีๆได้มากขึ้นไปอีกหลายเท่า 

กระนั้นก็ตาม การถ่ายภาพและการวาดภาพก็จัดว่าเป็นการทำงานบนวัสดุระนาบเดียว ซึ่งจะมีเพียง ๒ มิติ คือ ความกว้างและความยาวแบนๆ แต่จะขาดมิติที่ ๓ คือความสูงและการลอยตัว กับมิติที่ ๔ คือความลึกและความสัมพันธ์กันระหว่างมิติ   

วิธีแก้ปัญหาและสร้างองค์ประกอบดังกล่าวนี้ให้มีขึ้นในภาพมีหลายวิธีการด้วยกัน วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีก็คือการนำเอาหลักของกฎ ๓ ส่วนในการจัดองค์ประกอบภาพและหลักการวางจุดสนใจ มาเป็นแนวคิดสำหรับถ่ายภาพ ซึ่งก็จะทำให้ภาพบนระนาบเดียวกันแบนๆ เกิดองค์ประกอบด้านทัศนียภาพ มีความลึก เห็นช่องว่างและมิติความสัมพันธ์กันในเชิงพื้นที่ เป็นระยะใกล้ กลาง ไกล ดังแสดงด้วยแผนภาพต่อไปนี้

ภาพที่ ๑ การแบ่งพื้นที่ของภาพออกเป็น ๓ ส่วนเพื่อออกแบบและจัดวางองค์ประกอบภาพเป็น ๓ ระยะ ใกล้ กลาง ไกล

ตัวแบบสำหรับทำงานความคิด

  • กฎ ๓ ส่วน : สร้างระยะภาพออกเป็น ๓ ระยะคือ ใกล้ กลาง ไกล การจัดวางสิ่งต่างๆบนการแบ่งระยะด้วยจินตนาการไปตามพื้นที่สมมุติดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดมิติความลึก เห็นอากาศ ช่องว่าง ที่สามารถจินตนาการการเดินเข้าไปในภาพ หรือเห็นความก่อนหลัง ตลอดจนเห็นมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในเชิงพื้นที่ของเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ
  • ตำแหน่งการวางจุดสนใจ : การจัดวางองค์ประกอบที่สำคัญไปบนตำแหน่งความสนใจ ๔ แห่ง ผสมผสานไปกับหลักการจัดระยะตามกฏ ๓ ส่วน

การจัดระยะภาพให้มีองค์ประกอบความลึก และจัดวางองค์ประกอบของเรื่องราวที่สำคัญให้สัมพันธ์กับตำแหน่งจุดสนใจ จะทำให้การบันทึกภาพและวาดภาพ สามารถถ่ายทอดมิติความลึกทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและในแง่ความงาม ซึ่งเราจะสามารถทดลองและตรวจสอบให้เห็นได้ ดังนี้

ภาพที่ ๒ ภาพขาดความลึกและความสัมพันธ์เชิงมิติ 

การจัดวาง ๓ สีแทนเรื่องราว ๓ สิ่งบน ๓ ระยะ โดยมีขนาดเท่ากันและไม่ได้มีการนำเอาหลักการจัดวางจุดสนใจเข้ามาจัดวางองค์ประกอบ ทำให้ภาพมีระนาบเดียวและไม่มี Theme ร่วมกัน ทั้งสามสีมีระนาบเดียวกัน มีความสำคัญและความเป็นเอกเทศเท่าๆกัน หากแยกแต่ละส่วนออกจากกัน ก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ได้ไม่น้อยไปกว่ากัน

ภาพที่ ๓ ภาพเกิดระยะใกล้-ไกล มีความลึก เและเกิดจุดสนใจ

ในภาพที่สาม จะเห็นว่าเมื่อจัดวางสีส้มแดงไปบนจุดสนใจ และเคลื่อนให้องค์ประกอบอื่นซึ่งแทนด้วยสีเขียวและสีฟ้าออกไปอยู่นอกตำแหน่งความสนใจบนกฎ ๓ ส่วน ทั้งหมดก็เริ่มสร้างความเป็นองค์ประกอบภาพเดียวกันและเห็นมิติความลึกของภาพเกิดขึ้น เห็นความใกล้-ไกล และเห็นสิ่งที่เป็นแกนหลักของปรากฏการณ์

ภาพที่ ๔ ภาพเกิดระยะใกล้-ไกล มีความลึก เกิดจุดสนใจ และเกิดมิติความงาม ความสมดุลด้วยสายตา

..................................................................................................................................................................

ภาพที่ ๕ การเกิดระยะและความสัมพันธ์เชิงมิติ

เมื่อนำเอาเส้นสมมุติออก ก็จะเห็นว่าภาพเกิดระยะใกล้-ไกล เกิดจุดสนใจและเกิดมิติความงาม ความสมดุลด้วยสายตา

การนำแนวคิดและหลักการไปใช้ถ่ายภาพและวาดภาพ

จากแนวคิดและหลักการที่กล่าวมาในข้างต้น เมื่อนำไปใช้เป็นหลักในการถ่ายภาพและวาดภาพ ก็จะทำให้ได้แนวการสร้างภาพและจัดองค์ประกอบภาพ สะท้อนเรื่องราวอีกแนวหนึ่ง โดยมีจุดหมายสำคัญที่ควรใช้องค์ประกอบภาพแนวนี้ คือ

  • แสดงความลึกและความสัมพันธ์เชิงมิติของชุดปรากฏการณ์บนพื้นที่และกาลเทศะเดียวกัน : เจาะจงและเลือกบางสิ่งให้อยู่ในตำแหน่ง Fore ground เพื่อมุ่งแสดงถึงความลึก การมีอาณาบริเวณ หลากหลายเรื่องราวที่เรียงรายหลายระยะ
  • จัดวางสิ่งกีดขวางและการบังซึ่งรกเกะกะให้กลายเป็นความมีศิลปะ : เหตุการณ์และปรากฏการณ์ที่ต้องการบันทึก มีรายละเอียดมาก อีกทั้งบางส่วนที่อยู่ใกล้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงออกไปจากภาพได้
  • สร้างภาพจากสายตาผู้ชม สร้างปฏิสัมพันธ์ และจัดความสัมพันธ์กับผู้ดูภาพ : หากสังเกตในภาพยนต์ ๓ มิติ จะพบว่าภาพส่วนใหญ่จะต้องมีวิธีจัดภาพด้วยหลักการจัดระยะภาพและมิติความลึกนี้มากที่สุด เพราะวิธีจัดภาพในลักษณะนี้ จะมีอิทธิพลเหมือนกับการพัฒนาจุดยืนร่วมกับชุมชนในงานวิจัยชุมชนและงานวิจัยเชิงคุณภาพ กล่าวคือ องค์ประกอบทั้งหมดจะมีสิ่งที่เป็นฉากหน้า เป็นจุดเชื่อมต่อกับผู้ชมภาพ ทำให้ผู้ชมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพเหมือนกำลังยืนมองดูสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยสายตาของตนเอง

ดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้

ภาพที่ ๖ การนำไปใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์และการบันทึกถ่ายทอดด้วยภาพ

ภาพที่ ๗ การนำไปใช้ถ่ายภาพและบันทึกข้อมูลภาพ

จากภาพที่ ๖ และภาพที่ ๗ จะเห็นได้ว่าการเกิดมิติความสัมพันธ์ใกล้-กลาง-ไกล ทำให้ภาพที่เราบันทึกและถ่ายทอดจากสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อเพิ่มองค์ประกอบการเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะเข้าไปจัดการความรู้ให้ความเป็นจริง ข้อเท็จจริง และข้อมูลภาพ แสดงตนเองเพื่อบอกเล่าและถ่ายทอดสิ่งต่างๆด้วยตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ภาพที่บันทึกและนำเสนอด้วยวิธีดังกล่าว ก็จะเป็นภาพที่ให้ข้อมูลและสามารถแสดงความสมจริง ผสมผสานไปกับการให้มิติความงามและสุนทรีภาพไปด้วยได้เป็นอย่างดี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถทำให้ความจริง ความงาม และความดี ผสมผสานไปด้วยกัน

ทุกครั้งของการถ่ายภาพในโอกาสต่อไป ลองกวาดสายตาผ่านช่องมองภาพหรือมองภาพบนจอภาพขนาดเล็กบนกล้องเร็วๆ เพื่อคำนวณสัดส่วนและจัดวางองค์ประกอบต่างๆเป็นระยะภาพ ๓ ระยะคือใกล้ กลาง ไกล หรือให้ภาพมีความครบถ้วนของฉากหน้า ระยะกลางและจุดสนใจ และส่วนที่เป็นแบคกราวด์หรือพื้นหลัง ก็จะทำให้ภาพมีความลึกและเกิดมิติสัมพันธ์หลายมิติ

สามารถบันทึกและแสดงเรื่องราวได้อย่างซับซ้อนเพื่อใช้จินตนาการและเข้าถึงความเป็นจริงได้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็เกิดองค์ประกอบด้านสุนทรียภาพและความงาม เพราะเป็นการบันทึกและผสมผสานกับการจัดวางองค์ประกอบต่างๆอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีมองเพื่อสร้างสรรค์การนำเสนอตนเองของธรรมชาติและความเป็นจริงต่างๆ อย่างมีศิลปะ.

หมายเลขบันทึก: 445391เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณค่ะ ได้หลักปฏิบัติดิๆมากมายเพื่อภาพที่สวยงามตามตัวอย่าง

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ ขอบพระคุณที่มาเยือนและทักทายเป็นกำลังใจครับพี่ครับ

สวัสดีพี่ครูคิมด้วยครับ
ขอขอบพระคุณดอกไม้และกำลังใจด้วยครับ
ตอนนี้กำลังสนุกกับชีวิตในอริยาบทใหม่ๆน่าดูเลยนะครับ

สวัสดีครับหนูรี
แวะมาดูรูปสวยๆและหาไอเดียไปถ่ายรูปนะครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • หมู่นี้คุณแสงแห่งความดีมือขึ้นนะครับ นอกจากถ่ายรูปเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจและแลกเปลี่ยนแแบ่งปันสิ่งดีๆให้ผู้อื่นแล้ว ฝีมือในการถ่ายก็ดี หลายรูปที่คุณแสงแห่งความดีช่วยบันทึกไว้และนำมาแบ่งปันกันดูนี่ พอได้ดูแล้วก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยเหมือนได้วางสายตาผละออกไปเดินอยู่ตามชนบท ริมทะเล และได้เห็นชีวิตความเคลื่อนไหวที่อยู่ใกล้กับความเป็นธรรมชาติดี
  • รูปนี้ของคุณแสงแห่งความดี : เป็นตัวอย่างให้เห็นได้อีกภาพหนึ่งอย่างดีว่า  หากมีวิธีใช้กล้องถ่ายภาพเป็นเครื่องมือทำงานทางความรู้แล้วละก็ ความคิดและความใคร่ครวญตนเองต่างๆของเรา ก็จะสามารถบันทึกและถ่ายทอดไว้ด้วยศิลปะภาพถ่ายได้อย่างชัดเจน ภาพนี้เห็นการทำงานความคิดผ่านเลนส์  รวมทั้งสื่อความคิดของการให้ทั้งความสวยงามและให้สภาวะความเป็นจริงบอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่ลึกซึ้งได้
  • ทุกอย่างหวนคืนสู่ดินเสมอกัน พร้อมกับสร้าง บ่มเพาะ และงอกงามขึ้นจากดิน ผสานผสม ภาพนี้เหมือนกับบันทึกและบอกเล่าอย่างนั้นเลยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท