เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน


สร้างสัมพันธ์ชุมชน

โดย   นางกชพรรณ  จริยธรรม

 ตำแหน่ง          นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ 

                   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขาคิชฌกูฎ  จังหวัดจันทบุรี

 

แก้ปัญหาเรื่องการประสานงานหรือขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนสำหรับพัฒนากร (มือใหม่)

 

          การทำงานพัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชนนับเป็นด่านแรกที่พัฒนากรจะต้องทำความรู้จัก เพราะการลงพื้นที่เพื่อเข้าไปทำงานในหมู่บ้าน/ชุมชน จะต้องมีผู้ประสานงาน ให้ข้อมูลต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกับพัฒนากรเพื่อให้งานสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

          จากประสบการณ์การเป็นพัฒนากรมือใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2551 นั้น เป็นครั้งแรกที่มาทำงานที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่  ประเพณีวัฒนธรรม  ภาษาถิ่น  ซึ่งแตกต่างจากภูมิลำเนาเดิมของข้าพเจ้าอย่างสิ้นเชิง  เมื่อมารายงานตัวที่อำเภอ และพัฒนาการอำเภอได้ให้ศึกษาพื้นที่ทั้งหมดจำนวน  5  ตำบล อยู่ประมาณหนึ่งเดือน ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่จำนวน 1 ตำบล 9 หมู่บ้าน ซึ่งในขณะนั้นมีพัฒนากรอยู่ 3 คน รุ่นพี่สองคนรับคนละ 2 ตำบล  ครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกกังวลว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่ใช่คนในพื้นที่  ไม่มีความคุ้นเคย  ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีเชิงลึกของพื้นที่สักเท่าไร  ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เลย แต่เมื่อเดินหน้าแล้วชีวิตต้องดำเนินต่อไป จึงคิดวิธีว่าทำอย่างไรที่เราจะรู้ข้อมูลของพื้นที่และคนที่เราจะต้องติดต่อให้มากที่สุดเร็วที่สุด 

อันดับแรกในตอนนั้น  คือ พูดคุยศึกษาข้อมูลต่าง ๆ  จากพัฒนากรรุ่นพี่ซึ่งเป็นเจ้าของตำบลเก่า ก็ได้ข้อมูลมาหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หรือผู้นำชุมชนที่เราจะต้องติดต่อประสานงาน และได้มาเขียนบันทึกเก็บไว้  ลำดับต่อมาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารที่มีอยู่ในสำนักงาน ได้แก่ ประวัติอำเภอ  เอกสารที่จัดทำในการประเมิน ผลงานการประกวดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำบลที่เรารับผิดชอบ ก็ได้ข้อมูลมาบางส่วน พยายามนำมาเขียนเรียบเรียงของแต่ละหมู่ไว้  เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ตนเองในการทำงาน  ส่วนสำคัญอีกอย่างก็คือ เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่ ซึ่งสำคัญมาก เพราะผู้ใหญ่บ้านจะเป็นกลุ่มแรกที่เราจะต้องติดต่อทำความคุ้นเคย และทำงานร่วมกับผู้นำกลุ่มนี้ ด้วยเป็นกลุ่มผู้นำอย่างเป็นทางการที่ชาวบ้านยอมรับและให้ความสำคัญ ดังนั้น ต้องมีข้อมูลกลุ่มนี้ให้มากที่สุด ซึ่งเบอร์โทรศัพท์สามารถขอได้จากเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอเพราะจะมีการจัดทำทำเนียบกำนันผู้ใหญ่บ้านไว้อยู่แล้ว  

เมื่อมีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ทำอย่างไรให้เรารู้จักและคุ้นเคยกับผู้นำชุมชนเหล่านี้ให้มากที่สุด  เพราะผู้นำชุมชน มีอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มฯ ) กับผู้นำทางธรรมชาติ  แต่ผู้นำอย่างเป็นทางการจะเป็นเส้นทางแรกที่เราต้องติดต่อประสานงาน เมื่อเราเข้าไปคลุกคลีอยู่ในชุมชนแล้ว ก็สามารถสังเกตได้ว่าผู้นำทางธรรมชาติคือบุคคลใด เราก็สามารถทำความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นลำดับถัดไปได้  โดยในครั้งแรกนั้นกับผู้นำที่เป็นทางการ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงได้ หากไม่มีโอกาสเราก็ต้องสร้างโอกาสนั้นเอง  สำหรับข้าพเจ้านั้นช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่นั้น ได้อาศัยการส่งหนังสือเชิญประชุม ซึ่งในช่วงนั้นทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอได้จัดประชุมโครงการ กข.คจ. ขึ้น ข้าพเจ้ารับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่มีโครงการ กข.คจ. อยู่จำนวน 6 หมู่บ้าน  และกำนันผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านเหล่านี้ก็เป็นประธานโครงการโดยตำแหน่ง  จึงได้นำหนังสือเชิญประชุมไปแจ้งให้ทราบถึงที่บ้าน โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ คือ แจ้งล่วงหน้าว่าเราจะหนังสือเชิญประชุมไปให้แก่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่บ้าน  และถามเส้นทางการเดินทางให้ชัดเจน  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเมื่อเจอกันตัวเป็น ๆ เราก็พยายามชวนพูดคุยเพื่อจะได้ทราบทัศนคติ  แนวคิด ว่าเป็นอย่างไร เราจะได้ปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มผู้นำเหล่านี้ให้ได้  และได้ขอคำแนะนำขอความร่วมมือ และข้อมูลต่าง ๆ ในการทำงานในพื้นทีร่วมกับผู้นำ  เมื่อกลับมาข้าพเจ้าจะบันทึกช่วยจำไว้ว่า ผู้นำชุมชนที่ไปเจอหมู่นี้ มีใครบ้าง ชื่อนามสกุลเต็มว่าอย่างไร  และชื่อเล่นที่คนทั่วไปในหมูบ้านเรียกชื่ออะไรซึ่งในการทักทายเราจะต้องจำชื่อเสียงเรียงนามของเขาให้แม่นยำ โดยพยายามหาลักษณะพิเศษของแต่ละคนที่จะจดจำได้ง่าย  เส้นทางการเดินทางไปยังบ้านผู้นำไปอย่างไร  และมีข้อห้ามพิเศษอย่างไรที่จะไม่ไปทักหรือเปิดประเด็นเป็นอันขาด  ซึ่งข้อมูลนี้อาจจะได้มาจากผู้นำคนอื่น ๆ  แต่ก็จะจดบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางว่าเราจะทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนคนนี้ จะต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้างที่จะไม่ขัดแย้งกัน

ในช่วงแรก ๆ นั้น หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายยังไม่มากนัก ทำให้มีเวลาในการลงพื้นที่ ช่วงนั้นจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี คือ กศน. ลงไปสอนฝึกอาชีพในพื้นที่ เนื่องจาก กศน. มีโครงการและงบประมาณในการฝึกสอนอาชีพ มีวิทยากร  แต่ไม่มีผู้จัดการและประสานงาน  จึงได้ประสานครูประจำกลุ่มของตำบล ไปร่วมจัดกิจกรรมกับวิทยากรของ กศน. โดยนัดหมายกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เตรียมกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเรียน หมู่ละ 30 คน  ทำให้ตอนนั้นไม่ได้รู้จักแต่ผู้ใหญ่บ้านอย่างเดียว แต่ได้รู้จักผู้นำคนอื่น ๆ และชาวบ้าน เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ในหลาย ๆ หมู่บ้าน

เมื่อรู้จักคนมากขึ้น ทำให้ทราบว่าตำบลที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ มีกลุ่มผู้นำทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ วัฒนธรรมชอง โดยได้มีการเปิดสอนให้เรียนภาษาชองที่เป็นภาษาเขียนซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยเรียนที่วัดตะเคียนทองทุกวันเสาร์ ก็เลยไปสมัครเรียนโดยยอมขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปยังวัดตะเคียนทอง ไปกลับประมาณ  28  กิโลเมตร เพื่อไปเรียนรู้ แต่สิ่งที่ได้ตามมาและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในปัจจุบัน คือ มีกลุ่มผู้นำชุมชนในตำบลมาเรียนกันหลายคนมากทั้งผู้นำที่เป็นทางการและผู้นำทางธรรมชาติ เด็กเยาวชนในตำบล  ทำให้ได้รู้จักกันมากหลากหลาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาคีในการทำงานในปัจจุบัน

สำหรับพัฒนากรมือใหม่  ไม่แนะนำให้ประสานงานทางโทรศัพท์ ตั้งแต่แรก ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย สะดวก ประหยัด แต่ขอบอกว่า “ ไม่ได้ใจ”  เนื่องจากการเป็นคนใหม่ในพื้นที่ ยิ่งหากรุ่นพี่คนเก่าเขาทำไว้ดีจะเป็นการเปรียบเทียบเป็นอย่างมากว่าเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน  เพราะจากประสบการณ์บอกได้เลยว่าการได้พูดคุยที่ได้เห็นหน้าค่าตากันนั้น จะสร้างความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยกันได้รวดเร็วกว่า และเมื่อเขากับเรามีความสนิทสนม ไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว จึงค่อยใช้การประสานงานทางโทรศัพท์ซึ่งกว่าข้าพเจ้าจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ สามารถโทรศัพท์มาประสานงานได้กรณีเร่งด่วน ก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกัน เพราะเมื่อไว้ใจกันแล้วมีอะไรกลุ่มผู้นำชุมชนเขาจะประสานมาหาเราทางโทรศัพท์ได้เช่นกัน

การประสานงานทางโทรศัพท์  มีข้อควรพึงระวังหลายประการเช่นกัน เช่น น้ำเสียงที่ใช้พูดคุย ควรให้สุภาพ ไม่ขึ้นเสียงหรือพูดห้วน ๆเพราะคนรับโทรศัพท์เขาไม่ได้เห็นหน้าตาของเรา ไม่รู้ว่าเราอยู่ในอารมณ์ไหน และควรให้เกียรติแก่ผู้ฟังด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำชุมชน แม้บางครั้งจะถูกต่อว่ากลับมาก็ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ   การทักทายในครั้งแรกควรแจ้งชื่อของเราก่อนว่าเราเป็นใคร และวันนี้โทรมาหาจะติดต่อเรื่องอะไร และทางผู้ฟังสะดวกที่จะรับสายหรือไม่  เพราะต้องคำนึงอยู่อย่างว่า ผู้นำชุมชนก็มีกิจธุระของเขาเหมือนกัน หากเขาไม่สะดวก เราจะติดต่อกลับมาหาเขาได้ประมาณในช่วงไหน ซึ่งส่วนใหญ่หากเขาไม่สะดวกรับสายในช่วงนั้นเขาก็จะแจ้งว่าจะโทรกลับมาหาเราเมื่อสะดวก และเมื่อผู้นำชุมชนโทรศัพท์ติดต่อมาหาเราไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ควรรับโทรศัพท์ หากไม่สะดวกควรแจ้งให้ทราบว่าเราจะโทรกลับไป หรือหากไม่ได้รับสายควรโทรกลับเมื่อเห็นข้อความแจ้งสายที่ไม่ได้รับ และควรบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของผู้นำชุมชนที่จะต้องติดต่ออยู่เป็นประจำลงในเครื่องเพื่อความสะดวก  และในการติดต่อสื่อสารต้องให้เบอร์โทรศัพท์ที่ผู้นำชุมชนสามารถติดต่อกลับมาหาเราได้สะดวกที่สุด  ไม่ควรปิดโทรศัพท์ หรือไม่รับโทรศัพท์บ่อย ๆ เพราะจะทำให้เกิดการเบื่อหน่ายในความไม่สะดวก ทำให้การได้รับความร่วมมือต่าง ๆ จากผู้นำชุมชนเป็นไปอย่างไม่เต็มที่หรือไม่เต็มใจ  ควรให้ความสำคัญใส่ใจธุระของคนที่เราต้องเกี่ยวข้องเพราะเราต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มคนเหล่านี้ จึงควรระมัดระวังและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน  เมื่อเราเห็นความสำคัญของเขา เขาจะให้ความสำคัญกับเราเช่นกัน 

น้ำใจการแสดงความมีน้ำใจต่อผู้นำชุมชน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะเท่ากับเป็นการให้เกียรติและให้ความสำคัญต่อผู้นำชุมชน  จะทำให้เขาประทับใจและให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือกับเราได้เป็นอย่างดี อีกทั้งควรเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวหรือคนรอบข้างของผู้นำเหล่านี้ด้วย สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติก็คือ ในวันขึ้นปีใหม่ จะแจกปากกา เป็นของขวัญให้แก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ และผู้นำคนอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกัน อาจจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่เกินงบประมาณส่วนตัวของพัฒนากรเอง (ให้เขาแล้วเราไม่เดือดร้อน) เป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับกลับมานั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นผลไม้ตามฤดูกาล  อาหาร ขนมต่าง ๆ ที่ผู้นำชุมชนได้กรุณาเสียสละเวลาและเงินทองซื้อหรือทำมาฝากให้กับข้าพเจ้าและครอบครัว  ทำให้รู้สึกดีต่อกันและกันเป็นอย่างยิ่ง และมีโอกาสก็จะพยายามดูแลกลับคืนเช่นกัน เช่น มีผู้นำชุมชนท่านหนึ่ง ชอบทานกาแฟเย็นทั้งบ้าน เมื่อข้าพเจ้าจะต้องเข้าไปประสานงานในชุมชนนี้  ก็จะซื้อกาแฟไปฝากโดยแยกกาแฟไม่ใส่น้ำแข็งไป (เพราะหมู่บ้านอยู่ไกล) ซื้อขนม หนังสือ ไปฝากครอบครัวของผู้นำชุมชน เป็นการแสดงน้ำใจ  ในส่วนของชุมชนข้าพเจ้าก็จะเอาหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ที่ซื้อมาอ่านแล้วรวบรวมส่งต่อให้ผู้นำชุมชนไปไว้ที่ศาลาหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้อ่านต่อเป็นวิทยาทานต่อไป

การลงพื้นที่ ข้าพเจ้าเห็นว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งกรมการพัฒนาชุมชน คือ มีบุคลากรทำงานอยู่ในพื้นที่ และการเข้าไปคลุกคลี ประสานงาน ทำงานอยู่ในพื้นที่ เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของคนกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อใดที่ต้องทำงานอยู่แต่สำนักงานนั่นคือภาวะวิกฤต เนื่องจากเอกลักษณ์เริ่มจะหายไป ไม่มีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่นที่ทำงานประจำแต่อย่างใด  เพราะการจะทำงานมวลชนให้ได้ผลนั้นจะต้องได้รับการยอมรับ แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจะต้องมีการคลุกคลี ใกล้ชิด ทำงานร่วมกัน ผ่านทุกข์สุขแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนหรือคนในชุมชน จึงจะได้รับการยอมรับจากชุมชนอย่างแท้จริง จากประสบการณ์การลงไปทำงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภารกิจหลักของกรมเราเอง เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  การประกวดหมู่บ้านตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำชุมชน กิจกรรมพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ นั้น หรือการเข้าไปช่วยเหลืองานอื่น ๆ ของหมู่บ้าน เช่น การประกวดกำนันผู้ใหญ่บ้านดีเด่น  การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยงบประมาณจากหน่วยงานอื่น ๆ หลายครั้งที่มีโอกาสได้ค่ำพักค้างในหมู่บ้าน  ทำให้ทราบว่าสังคมชนบทยังต้องการเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปคลุกคลีอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากปฏิกิริยาของผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเราเข้าไปทำงาน/ช่วยงานต่าง ๆ โดยต้องพักค้างในหมู่บ้าน ว่ารู้สึกยินดี ดีใจ เหมือนเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพวกเขา มาทำอาหารกินกัน ทำงานช่วยกันอยู่จนดึกดื่น คนโน้นก็ชวนไปนอนบ้าน คนนี้ก็ชวนไปนอนบ้าน หรือเอาของมาฝาก มากินด้วยกัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัว ในชุมชน จนเกิดความรู้สึกทุกครั้งเมื่อไปทำงานในหมู่บ้านว่าเหมือนตัวเราเองไม่ได้มาทำงาน แต่กลับมาบ้าน มาทำสิ่งดี ๆ ให้แก่บ้านเราเอง รู้สึกอบอุ่น และสุขใจทุกครั้งเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น สิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือ ความสนิทสนมเหล่านี้ไม่ได้มีให้แต่เราคนเดียวยังเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัว และสำนักงานของเราอีกด้วย เมื่อประสานงานขอความร่วมมือใด ๆ จากหมู่บ้านก็จะได้รับการช่วยเหลือและตอบสนองเป็นอย่างดีเสมอมา ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปด้วยความตั้งใจ ด้วยความเต็มใจ ไม่ได้คาดหวังอะไร มีแต่ความสุขใจเมื่อได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วง กลับมีสิ่งดี ๆ คืนมาให้เราอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด ซึ่งหากไม่ได้มาเป็นพัฒนากรอาจไม่ได้เจอสิ่งดี ๆ เหล่านี้ก็ได้

ธรรมะ  เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพัฒนากร เพราะพัฒนากรก็คือ คน แล้วการทำงานก็ต้องทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนหรือชาวบ้าน ซึ่งก็คือ คน เช่นกัน  การกระทบกระทั่งหรือมีความไม่พอใจเมื่อไม่ได้ดังใจอยู่บ้างจึงจำเป็นต้องมีธรรมะประจำใจสำหรับการทำงาน การปฏิบัติตน  เพื่อให้สามารถประคองตนอยู่ได้ เนื่องจากการทำงานบางครั้งก็มีความเห็นที่แตกต่าง การจัดการความเหมือนที่แตกต่างให้เดินทางไปด้วยกันได้บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากหรือลำบากใจพอสมควร  ธรรมะจะช่วยเป็นสิ่งที่ขัดเกลาความคิด สนิมอารมณ์ ของเราได้มาก อาชีพพัฒนากรต้องมากด้วยเมตตา และอุเบกขา ในการทำงานจึงใช้หลายหลักธรรมเข้ามาช่วยประคับประคองจิตใจไม่ให้มีอารมณ์หรือเกิดอาการจิตตก โดยใช้วิธีการว่าพยายามอ่านหนังสือธรรมะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตซึ่งปัจจุบันหาอ่านได้ง่ายมีหลากหลายรูปแบบ พยายามอ่านอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อคิดและ

 

ลงมือปฏิบัติตามแนวทางในการที่ต้องดูแลตนเองและผู้อื่น สิ่งที่ได้จากธรรมะและนำไปปฏิบัติได้ผลเป็นอย่างดี ก็คือ การยกมือไหว้  ผู้นำชุมชนบางคนอายุน้อยกว่าพัฒนากรด้วยซ้ำไป แต่เราก็ยกมือไหว้ ไม่เคยถือตัวว่าเป็นข้าราชการ เพราะเราต้องทำงานร่วมกับเขา ต้องอ่อนน้อม ถึงเขาจะอายุน้อยกว่าเราแต่เราก็ไหว้ได้ เพราะเราไม่ได้ไหว้คนที่อายุอย่างเดียว เราไหว้ในคุณงามความดีของเขา เขาต้องมีดีอยู่ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำชุมชนได้ 

ข้อคิดประการหนึ่งที่ได้จากการทำงานก็คือ  งานของเราต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงจะสำเร็จ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอว่า ถ้าหากว่าผู้นำชุมชนเขาไม่ทำหรือช่วยเหลือเรา เขาเดือดร้อนหรือไม่ แต่เราถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน งานเราสำเร็จหรือไม่ แล้วถ้างานไม่สำเร็จเราเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าตอบว่าเราเดือดร้อนเมื่อไร ก็ต้องคิดว่าเมื่อเราต้องพึ่งพาเขา อะไรที่ทำเองได้ก็ควรต้องทำเป็นอย่างยิ่ง  อะไรที่ต้องขอความช่วยเหลือก็ต้องประสานงานพูดคุยให้เขาเข้าใจ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ อ่อนน้อม เป็นกันเอง เพื่อให้งานของเราสามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ ดังคำกล่าวที่ว่าพัฒนากรทำได้ทุกอย่าง ให้นับต้นไม้ในป่า นับปลาในหนอง เราก็ทำได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็มีเทคนิคเป็นของตนเอง สิ่งที่ได้กล่าวมามิใช่ทฤษฎีแต่อย่างใด แต่เป็นแนวทางปฏิบัติจากประสบการณ์จริง  ซึ่งผู้นำชุมชนก็มีหลากหลายประเภทเพราะฉะนั้นนอกเหนือจากวิธีการที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีเงื่อนไขหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะในหลายพื้นที่อาจมีความแตกต่าง เช่น ศาสนา  ประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ  อาจต้องนำไปประยุกต์หรือปรับใช้ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้พัฒนากรทำงานประสบความสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 444974เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท