แนวคิดโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Hospital)


อยากทราบแนวคิดของการดำเนินงานเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำต้องอ่านบทความนี้

                ผมได้รับเชิญจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นวิทยากรบรรยายในวันสถาปนาคณะทันตแพทยศาสตร์ (วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554) ซึ่งหัวข้อที่ทางผู้จัดงานอยากให้ผมบรรยายให้กับบุคลากรในคณะได้ฟังคือเรื่องของโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Hospital) ที่ผมได้ไปจุดประกายความคิดให้กับผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ และทางผู้บริหารก็เห็นชอบผลักดันเป็นนโยบายของคณะฯ ซึ่งผมเองก็ยินดีเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาให้ ผมเขียนบทความนี้เพื่อใช้ประกอบการบรรยายในหัวข้อดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สื่อสารแนวคิด และไขข้อข้องใจบางประการของคำว่าโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ เมื่อเขียนบทความนี้เสร็จก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากแนวคิดนี้ขยายสู่องค์กรในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากองค์กรประเภทของโรงพยาบาล ก็เลยนำมาใส่ไว้ในคอลัมน์ร้อยแปดพันเก้าเรื่องราวสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้อ่านได้ลองซึมซับแนวคิดนี้ครับ

 

 


 

โรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ Low Carbon Hospital

                                                                                                                                โดย ผศ.ดร.กิติกร  จามรดุสิต

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ทำไมต้องคาร์บอนต่ำ 

                ในความคิดของผมเองเห็นว่าการทำความเข้าใจกับประเด็นคำถามที่ว่า “ทำไมต้องคาร์บอนต่ำ”ถือเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นต่อการสื่อสารให้บุคลากรภายในองค์กร ได้เข้าใจให้ลึกซึ้งก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มิเช่นนั้นการแสวงหาความร่วมมือในเชิงปฏิบัติคงจักเป็นไปได้ยาก หากบุคลากรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติยังคงมีความคลางแคลงใจสงสัยกับคำถามดังกล่าว

                เล่าเป็นฉากอ่านกันง่ายๆให้เข้าใจ ต้องเริ่มตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเราเพียงเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นขยายตัวไปทุกภูมิภาคในโลกเราแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ.2554) สภาพอากาศของบ้านเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เอาเป็นว่าในชีวิตของผมก็เพิ่งเคยเจอ อากาศเริ่มกลับมาเย็นในช่วงของต้นฤดูร้อน ฝนมาก่อนฤดูที่ควรจะเป็นและมามากกว่าปกติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างที่หลายคนบอกว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว ฤดูของผลไม้หน้าร้อนก็ออกผลผิดช่วงเนื่องจากถูกปรากฎการณ์ของธรรมชาติหลอกลวง ทำให้ผลผลิตออกล่าช้ากว่ากำหนด (แต่กลับเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่ปีนี้ราคาของผลไม้ดีขึ้น อันนี้น่าจะนับเป็นข้อดีหรือเปล่าก็ไม่รู้) มองข้ามไปต่างแดน ความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุ มีเพิ่ม และรุนแรงมากขึ้น ทั้งหมดนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในระยะมากกว่า 100 ปีและวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ลงความเห็นร่วมกันว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนี้น่าจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราที่เพิ่มสูงขึ้น และเชื่อมโยงสู่ข้อมูลของการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกตลอดระยะเวลาที่ผ่านจากกิจกรรมของมนุษย์เราเช่นกัน

             เอาละครับตอนนี้ก็พอที่เริ่มเชื่อมโยงได้บ้างแล้วว่านักวิทยาศาสตร์เขาตั้งสมมติฐานและมีการวิจัยสรุปออกมาว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะมาจากปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก ทีนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันต่อว่าแล้วเจ้าก๊าซเรือนกระจกนี้คืออะไร ก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gas เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และ รังสีอินฟราเรดได้ดี ก๊าซเรือนกระจกจึงจัดเป็นก๊าซที่มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศของโลกเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนเวลากลางวันนั้นร้อนจัด และในเวลาตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด เนื่องจากก๊าซเหล่านี้สามารถดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลก ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จนอาจกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ และการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตภายในโลกได้ หากพิจารณาถึงก๊าซที่อยู่ในโลกนี้ จะพบว่ามีก๊าซอยู่เป็นจำนวนมากที่มีสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มของก๊าซเรือนกระจก โดยก๊าซเหล่านี้มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) โอโซน (Ozone) ก๊าซมีเทน (Methane: CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide: N2O) และ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือซีเอฟซี (Chlorofluorocarbon substances: CFCs) เป็นต้น แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol พิธีสารที่เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)) มีเพียง 6 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ (anthropogenic greenhouse gas emission) เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon: HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon: PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfurhexafluoride: SF6) ทั้งนี้ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็น และใช้ในการผลิตโฟมพลาสติก แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol พิธีสารที่ว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน)

                ดังนั้นหากกิจกรรมใดของมนุษย์ที่สามารถก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่นำมาสู่สภาวะโลกร้อน คำยอดฮิตที่นิยมพูดกันในยุคปัจจุบันนั่นเอง คราวนี้ก็ต้องมาอธิบายต่อครับว่าแล้วไปเกี่ยวอะไรกับคาร์บอน??? อธิบายให้ฟังสั้นๆได้ว่ากิจกรรมต่างๆของมนุษย์ในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน หรือไอน้ำ พลังงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เราได้มาจากปฏิกิริยาการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิส (Fossil Fuel) ที่มีองค์ประกอบภายในโครงสร้างทางเคมีเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon: พูดง่ายๆ คือมีธาตุคาร์บอน C และไฮโดรเจน H เป็นองค์ประกอบหลักนั่นเอง) ซึ่งภายในปฏิกิริยาการเผาไหม้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบสมบูรณ์หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับที่จะต้องได้ผลิตภัณฑ์เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (หากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์อาจจะได้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ เช่นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เก่าๆ เวลาเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงก็อาจทำได้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซดังกล่าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เรา แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์เราโดยตรงนะครับ แต่มีผลต่อสภาวะโลกร้อนเพราะจัดเป็นก๊าซเรือนกระจก) แน่นอนครับได้ผลิตภัณฑ์เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สามารถก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้นหากเราหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาดังกล่าวได้ด้วยการลดการใช้พลังงานดังกล่าว หรือหาพลังงานทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องผ่านปฏิกิริยาดังกล่าวก็จะช่วยลดทอนสภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้นคำว่าคาร์บอนต่ำจึงมีนัยความหมายของการพยายามลดปริมาณการเผาไหม้สารประกอบประเภทที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ที่เชื่อมโยงสู่การช่วยลดดีกรีของสภาวะโลกร้อนนั่นเอง

 

เป้าหมายสำคัญของโครงการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำ 

                เอาละหากเข้าใจแล้วว่าทำไมต้องคาร์บอนต่ำ คำถามถัดไปที่ผมแน่ใจว่าต้องเกิดขึ้นก็คือ ทำแล้วได้อะไร? ทำไปทำไม? แล้วฉันจะได้อะไรจากการพยายามลดปริมาณคาร์บอนละ? อยากเริ่มต้นตั้งแต่ลองให้นึกถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของเราเองที่ทำงานอยู่ (หรือจะจินตการถึงกิจกรรมภายในบ้านของเราก็ได้) คงพอจะนึกออกว่าวันหนึ่งๆของกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์เรา ณ ปัจจุบันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ถึงการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และน้ำมันเชื้อเพลิง คงไม่ต้องคิดมากหรือพยายามหลีกเลี่ยงหลอกตัวเองว่าทุกวันนี้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราต้องพึ่งพาพลังงานดังกล่าว หากมองย้อนกลับไปถึงต้นทางที่ได้มาซึ่งพลังงานดังกล่าว ผมเองอาจจะพอบอกให้ทราบได้ว่าพลังงานไฟฟ้าของบ้านเราที่ผลิตกันอยู่นี้ต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานจากฟอสซิสเป็นหลัก โดยการเผาไหม้ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ (สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่างแท้จริง) เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานความร้อนไปต้มน้ำให้ได้เป็นไอน้ำที่ใช้เป็นพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้พวกเราได้ใช้ จริงอยู่เราสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานน้ำในเขื่อนแต่ถ้าเปรียบเทียบกับสัดส่วนของโรงไฟฟ้าภายในประเทศเราปัจจุบันแล้วยังมีสัดส่วนน้อยกว่าโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลักอยู่มากครับ เมื่อมีการเผาไหม้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนก็แน่นอนครับว่าต้องได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากระบบซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว

                หากพยายามชักจูงให้ผู้อ่านคิดมากไปกว่าสารขาออก(Output) จากระบบการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิสเป็นหลัก ซึ่งได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ลองคิดย้อนกลับไปถึงสารขาเข้า (Input) ที่เป็นเสมือนวัตถุดิบหลักที่ป้อนสู่โรงไฟฟ้าดูครับว่าวันหนึ่งๆ หากเราต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆของเรามากยิ่งขึ้นเท่าใด สารขาเข้าซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นทรัพยากรจากธรรมชาติที่บริโภคแล้วมีวันที่จะหมดไปอย่างแน่นอนนั้น (ทรัพยากรประเภทดังกล่าวนี้ต้องใช้ระยะเวลาการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตเป็นระยะเวลานานมากเป็นพันๆปีจึงจะกลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้) ก็จะยิ่งลดลงไปตามปริมาณไฟฟ้าที่เราต้องการมากขึ้นนั่นเอง นั่นหมายความว่านอกจากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการบริโภคทรัพยากรที่ใช้แล้วมีวันหมดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อรุ่นหลาน เหลน โหลน ของเราในอนาคตแน่นอนครับว่าจะมีทรัพยากรประเภทดังกล่าวเหลือให้พวกเขาใช้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น (หากเราหาพลังงานอื่นแทนได้ทฤษฎีที่ผมกล่าวอาจจะไม่เลวร้ายก็ได้ครับ แต่เอาเป็นว่า ณ แนวความคิดปัจจุบันที่เรายังไม่สามารถหาพลังงานอื่นทดแทนที่ดีกว่าพวกนี้ได้ก็ต้องเชื่อทฤษฎีนี้ไปก่อนครับ)

                หากเชื่อมโยงถึงเหตุผลข้างต้นของทรัพยากรที่กำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว และก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมาอย่างมหาศาลจากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มทวีคูณสูงขึ้น คงจะพอได้ไอเดียแล้วนะครับว่า หากเราสามารถที่จะรู้สถานภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆภายในองค์กรของเรา ซึ่งส่วนมากมาจากกิจกรรมการใช้พลังงาน แล้วเราพยายามบริหารจัดการให้เหมาะสม ใช้ในเพดานหรือขีดจำกัดที่ต่ำสุดที่สามารถก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพได้ เราก็จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากองค์กรของเราสู่โลกใบนี้ และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปให้ลูก หลาน เหลน โหลน ของเราในอนาคตได้อีกด้วย

                นั่นเองคือเหตุผลสำคัญของโครงการนำร่องโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พยายามจะเก็บรวบรวมข้อมูลกิจกรรมต่างๆที่สามารถก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในโรงพยาบาลทันตกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้ทราบสถานภาพของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นฐาน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นแนวนโยบาย เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องของก๊าซเรือนกระจก อันจะเชื่อมโยงสู่การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรขององค์กร ที่ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ในระดับโลก (Global Issue) เลยทีเดียว

                ท้ายสุดผมเชื่อว่าบทความสั้นๆของผมบทความนี้คงตอบคำถามเบื้องต้นที่เกิดขึ้นในใจของบุคลากรหลายๆท่านที่มีต่อโครงการโรงพยาบาลคาร์บอนต่ำของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ไม่มากก็น้อย อยากให้ร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อองค์กร เพื่อประเทศชาติ เพื่อโลก และเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตครับ

ท่านสามารถอ่านบทความฉบับเต็มพร้อมรูปภาพประกอบได้ที่ www.en.mahidol.ac.th/EI

                                                                                                                               

หมายเลขบันทึก: 444968เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่อง จริง ที่ประหลาด ถึงผ้า ก่อปัญหาโลกร้อนมากกว่า ถุงพลาสติก

เพราะกระบวนการผลิต ใช้พลังงานมากกว่า แต่ถ้า มีการใช้ ถุงผ้ามากๆ

จุดคุ้มคาร์บอน คือ ใช้ถุงผ้า 52 ครั้ง แต่ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ย การใช้ถุงผ้าคือ 21 ครั้งเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท