ประสบการณ์การอยู่กับ “ความขัดแย้ง” ในหมู่นักพัฒนาชุมชนอย่างรู้เท่าทัน


หลักการเหล่านี้ ผมวิเคราะห์จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองประกอบกับการประยุกต์หลักศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า “ไอคิโด” (Aikido) และบางส่วนจากบทความเกี่ยวกับสันติวิธีหลายๆชิ้นของพระไพศาล วิสาโล รวมถึง ดร.โคทม อารียา มาเชื่อมรวมกัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง

ไม่นานมานี้ เพื่อนผมปรารภมาทางอีเมล์ถึงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างเขากับนักพัฒนาคนหนึ่ง เขาเชื้อเชิญให้ผมนำมาคิดต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง อย่างไรก็ตาม ผมก็มีข้อมูลไม่มากนักว่าต้นเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งระหว่างพวกเขาคืออะไร จึงฟันธงอะไรไม่ได้ หากแต่ถ้าจะใช้ “แว่น” ส่วนตัวของผมดูแล้ว ก็เห็นว่าความขัดแย้งส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับสิ่งต่างๆมากมายในวงกว้าง คำขวัญประจำใจของหมู่นักสตรีนิยมหรรือเฟมินิสต์ (feminist) เราเรียกว่า “personal is political”.

 

เวลาเรามีความไม่ลงรอยกับใคร ในกระแสปัจเจกชนนิยมภายใต้บริบทการพัฒนาเช่นนี้ ความไม่ลงรอยดังกล่าว มักจะถูกลดทอนให้กลายเป็นเรื่องปัจเจก อย่างน้อยก็ไม่หนักหัวนักปกครอง นักการเมือง รัฐบาล หรือข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ พวกเขาก็จะลอยตัวได้ 

 

 สื่อมวลชนก็ไม่ค่อยสนใจจะนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์มากนัก แม้ทุกวันนี้สื่อจะตูมตามเสนอให้รัฐอย่าเข้ามาแทรกแซง แต่ที่น่ากลัวกว่าคือการถูกแทรกแซงโดยทุนนิยมเสรีและทุนข้ามชาติ

 

ปัจจุบันสื่อใหญ่ๆถูกแทรกแซงโดยระบบตลาดที่ผูกขาดโดยทุนไปเรียบร้อยแล้ว อุดมการณ์ของสื่อจึงเป็นเรื่องอุดมคติที่นายทุนน้อยคนจะเข้าใจ เกินกว่าจะยอมรับให้มีการท้าทายอำนาจเศรษฐกิจของตัวเอง และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมข้ามชาติเสรีจะเติบโตได้ดีถ้าคนสนใจบริโภคข่าวที่เน้นความฟุ้งเฟ้อ ฉาบฉวย และไม่ท้าทายการปรับโครงสร้างอำนาจรัฐและชนชั้นนายทุน

 

เราจึงเห็นหนังสือพิมพ์ข่าวที่ขายได้ดี มักจะเน้นเรื่องที่เป็นปัจเจกชนอย่างฉาบฉวย ปัดความเชื่อมโยงที่จะสาวไปถึงต้นตอเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองวัฒนธรรม

 

ไม่ปฏิเสธครับว่า เวลาเรา “มีเรื่อง” กับใคร จะต้องมีปัจจัยด้านจิตวิทยา ด้านบุคลิกภาพ อยู่เบื้องหลังด้วย แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้น จะเห็นความเชื่อมโยงที่เป็นบริบทของความขัดแย้งอยู่ด้วย ผมก็เลยคิดเล่นๆว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราพบนักพัฒนาที่มีท่าที “ก้าวร้าว” ใส่เราหรือผู้บริสุทธิ์อื่นๆ

 

เวลาเกิดความขัดแย้ง ผมคิดว่าเราไม่มีวิธีการจัดการความขัดแย้งที่เป็นระบบและสันติเพียงพอ ผมอยากจะทดลองนำเสนอวิธีการจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยยกตัวเองเป็นกรณีศึกษา เพื่อไม่ให้พาดพิงใครก็แล้วกัน

.

ยกตัวอย่าง เวลามีใครสักคนในที่ประชุมตั้งท่าขัดคอผมหรือแสดงตนเป็นศัตรู ผมคิดว่า การจัดการความขัดแย้งอย่างนี้ มีอยู่สามระดับต่อเนื่องกันนะครับ

ระดับที่ 1 ต้องจัดการตัวเราเองก่อน

ขั้นนี้เป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุดครับ เพราะถ้าจัดการตัวเองไม่ได้ จะไปจัดการเรื่องอื่นๆก็คงลำบาก แรกสุด ผมจะยอมรับตัวเองก่อนว่าตัวเราไม่พอใจ เราโกรธ แต่เราต้องตามดูอารมณ์ไม่ให้เตลิดไป และเตือนตัวเองมิให้ตกอยู่ในวงจรของอารมณ์ชั่วร้าย ถ้าพอทนได้ก็อยู่ร่วมต่อ ถ้าชักทนไม่ไหว ขืนอยู่นานไปได้ต่อยหน้ากันแน่ เราต้องถอนตัวเองออกมาจากผู้คนและสภาพแวดล้อมนั้นก่อน ไปอยู่ในบรรยากาศที่สงบผ่อนคลาย เพื่อออกมายืนวงนอกแล้วมองกลับเข้าไปใหม่อย่างสุขุม พินิจพิเคราะห์ อันนี้ชนะใจตัวเองไปเปลาะหนึ่ง .

 ต่อมา ผมปรับตัวเองให้มีทัศนคติที่ดีต่อความขัดแย้ง มองความขัดแย้งในแง่ที่เราใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้และขัดเกลาตัวเองได้ และเริ่มค้นหาสาเหตุ

 ผมมักจะอาศัย “แว่นสองเลนส์” เพื่อให้มองเห็นสองมุมมองที่อยู่ซ้อนกันอย่างน่าสังเกต ดังนี้ครับ

1. เลนส์ซ้าย : ด้านจิตวิทยา

ในอดีต ผมเคยเป็นพนักงานบริษัทที่ก้าวร้าว และมักใช้ศิลปะทางโวหารเอาชนะคะคานผู้อื่นไปทั่ว จนมาวันหนึ่ง ผมถูกโดดเดี่ยวจากเพื่อนร่วมงานแทบทุกคนในบริษัท แต่ก็ไม่มีใครเอาชนะผลงานของผมได้ ผมจึงอยู่ในบริษัทต่อไป แต่ไร้ซึ่งคนที่จะเป็นมิตรอย่างจริงใจ

เมื่อมาเป็นนักวิจัย แรกๆ ผมก็ยังใช้ท่าทีทะนงตน และรู้สึกลำพองที่สามารถโต้ตอบหักหน้าคนที่เป็นอริได้อย่างเฉียบแหลม กาลเวลาเริ่มสอนให้ผมหันมาสำรวจตัวเองมากขึ้น

ผมค้นพบว่า การที่ผมชอบใช้ “ความก้าวร้าว” กับผู้อื่นนั้น เพราะการเลี้ยงดูในวัยเด็กของผม เติบโตมากับความก้าวร้าว ครอบครัวที่ระหองระแหง ทำให้ผมคุ้นชินกับการใช้กำลัง และถ้อยคำที่เชือดเฉือน 

 เช่นเดียวกับผู้คนอื่นๆไม่เฉพาะกับแวดวงนักพัฒนา ผมพบคนหลายคนที่ภายนอกดูเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองสูง อยากมีเพื่อน ต้องการการยอมรับจากสังคมมาก แต่จริงๆเป็นคนอ่อนไหวมาก หรืออาจจะเคยถูกใครทำร้ายจิตใจมาก่อนจนฝังใจ กลายเป็นปมด้อย จึงไม่กล้าจะเปิดเผยความเป็นตัวตนของตนออกมา ก็เลยใช้วิธีกดคนอื่นให้ต่ำลงเพื่อให้ตัวเองถูกมองเห็นเด่นขึ้น

ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะพวกเขาขาดความอบอุ่นทางใจ มีภูมิหลังความสัมพันธ์ที่แตกหักกับเพื่อน คนรัก หรือคนที่เคยไว้ใจ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวคงไม่ดีนัก เลยหล่อหลอมบุคลิกภาพของพวกเขาออกมาเป็นอย่างนี้ อนึ่ง บางคน มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังอยู่ด้วย บางคนเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิต โรคปวดหลัง โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ รวมไปถึง โรคทรัพย์จางฯลฯ เลยกลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวไปโดยปริยาย

เมื่อมีใครมาทำอะไรแย่ๆใส่ผม ผมก็คิดว่ามันมีปัจจัยด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องอยู่เช่นนี้เสมอ ผมเองก็มีส่วนในเหตุการณ์ขัดแย้ง และก็เคยแสดงความก้าวร้าวในหน้าที่การงานและชีวิตประจำวันมาเยอะแยะ ทีคนอื่นยังให้อภัยผมได้ เหตุไฉนผมจึงจะให้อภัยเขาไม่ได้ มองในแง่จิตวิทยาเช่นนี้ ทำให้ตัวเองใจเย็น และเชื่อมโยงความรู้สึกของตัวเองกับคู่กรณีมากขึ้น แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความไม่พอใจของตนเองฝ่ายเดียว

 2. เลนส์ขวา : ด้านสังคมวัฒนธรรม นักพัฒนาส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่แยกคนออกจากอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แยกจากดิน น้ำ ป่า ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งยังห่างไกลความซาบซึ้งในพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม หากแต่มุ่งสอนให้คนแข่งขันกันตั้งแต่สามขวบ โดยมีเงิน และความสำเร็จจอมปลอม ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ที่อุปโลกขึ้นมาเป็นเหยื่อล่อ สร้างเสริมเป็นวัฒนธรรมองค์กรสอนกันถึง MBA ปริญญาเอก เหล่านี้เป็นชั้นหินที่ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งพอกพูนหนามาก จะกระเทาะออกได้ ไม่ง่ายเลย ถ้าใครจะดีจะเด่นเกินก็เลยต้องขวาง

ผมยังถูกครอบงำจากแบบแผนและตำราเรียนวิชาต่างๆที่สร้างจากอภิมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา เจ้าแห่งลัทธิอาณานิคมนะครับ ปัจจุบัน ลัทธิล่าอาณานิคมไม่ได้หายไปไหน แต่มันแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน และอาชีพการงานของเราอย่างแนบเนียน ทางวิชาการเค้าเรียกยุคปัจจุบันนี้ว่าเป็น post-colonialism ครับ ส่วนใหญ่แปลเป็นไทยว่า “ยุคหลังอาณานิคม” แต่กินความถึงอาณานิคมรูปแบบใหม่ที่อยู่ในรูปของ “การสร้างความรู้และความจริง” สนใจหาอ่านได้

 แนวคิดเหล่านี้ถูกดูดซับโดยชนชั้นกลางไทยจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นที่สูงกว่ามองว่าตัวเองมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ “เหนือกว่า” ชาวบ้าน เช่น มาจากเชื้อชาติ วงศ์ตระกูล กลุ่มชาติพันธุ์ที่สูงกว่า หนักหน่อยก็คิดไปเลยเถิดว่าตนเองจะมาเป็นผู้ปลดปล่อยชาวบ้านออกจากความโง่ จน เจ็บ (ทำนองเดียวกับ ฝรั่งที่อ้างว่าชาวพื้นเมืองล้าหลัง จึงต้องรับเอาแบบอย่างการพัฒนาจากตะวันตก)

เวลาส่องกระจกดูตัวเองทีไร ไม่เห็นตัวเองเป็นคนไทย แต่ชอบใจที่เห็นตัวเองเป็นฝรั่งที่จะมาปลดปล่อยชาวบ้าน อันนี้เข้าทางผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจหมด เพราะระบบทุนนิยมเสรีและจักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่ขยายอำนาจผ่านวิธีคิดที่แพร่มาสู่ชนชั้นกลางในประเทศโลกที่สามเช่นนี้ ผมเองก็เคยคิดอย่างนั้น ตอนเด็กๆก็ชอบคิดว่าตัวเองเป็น “มนุษย์ไฟฟ้า” ผู้พิทักษ์โลก โตขึ้นมา บางทีก็เผลอ ลืมตัวคิดว่าตัวเองเป็น “นักพัฒนา” เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มี “ความรู้” พันธกิจและสิทธิอำนาจในการปกป้องท้องถิ่นจากความอยุติธรรมต่างๆ โดยลืมถามไปว่าชาวบ้านเขาต้องการหรือเปล่า? และใครได้ประโยชน์จาก “เค้ก” ชิ้นนี้กันแน่ ใครมาขวางผม ก็พลอยจะขัดกันไปด้วย.

อีกด้านหนึ่ง ผมเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกสร้างขึ้นและอุ้มชูโดยรัฐและกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย ชนชั้นกลางอย่างผมนี้มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมป์กับรัฐไทย ได้สิทธิประโยชน์ทางสังคมอะไรต่อมิอะไรจากรัฐมากกว่าชาวบ้านตาสีตาสาทั่วไป ทำให้ผมพอใจที่จะอยู่ในระดับชนชั้นกลางอย่างนี้ต่อไป และทะยานอยากที่จะขยับขึ้นไปเป็นชนชั้นสูง (รวมถึงไม่บังควรที่จะต่อต้านรัฐ) การจะรักษาอภิสิทธิ์ชนชั้นกลางของตนเองไว้ รวมทั้งจะเลื่อนชั้นทางสังคมในยุคสมัยนี้ สังคมวางกติกาไว้ว่าจะทำได้ก็ด้วยการแข่งขัน เบียดผู้อื่นให้ตกไป จะอ้างกฎกติกาอะไรก็ตามแต่ ล้วนเป็นการแย่งชิงกันเด่นดัง เหล่านี้ก็กลายเป็นนิสัย เป็นพฤติกรรมประจำวันไปโดยปริยาย

เรื่องเหล่านี้ โยงใยกับรัฐ ระบบทุนนิยม และจักรวรรดินิยมอย่างซับซ้อน และผมคิดว่า “นักพัฒนา” ในประเทศโลกที่สามอื่นๆ ก็คงติดกับดักของรัฐ ทุนนิยมและจักรวรรดินิยมยุคใหม่ไม่ต่างกันมากนัก เขียนไปจะกลายเป็นบทความวิชาการยาวหลายหน้า ก็เลยไม่ขอกล่าวลงลึกนะครับ 

 3. มุมมองที่อยู่นอกเลนส์ : บุญ-กรรม โชคชะตา ฟ้าลิขิต หรือ super natural มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเราโดยไม่ทราบสาเหตุ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ อาจเป็นเจ้ากรรมนายเวร บาปกรรมแต่ชาติปางก่อน อันกรรมเก่านี้แก้ไม่ได้ แต่พอทุเลาลงได้ กรณีนี้ การอโหสิให้เขา แผ่เมตตา หรือไปสะเดาะเคราะห์ก็อาจจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่นะครับ .....

 

.ระดับที่ 2 จัดการผู้จู่โจม

ขั้นแรก ต้องหาทางยุติพฤติกรรมของเขาโดยวิธีต่างๆที่ไม่รุนแรง แต่ต้องเฉียบขาด เพื่อมิให้เขาได้ใจทำร้ายเราต่อ ทั้งยังต้องหาทางป้องกันไม่ให้เขาไปทำร้ายผู้อื่น อีกด้วย

เมื่อเขาทำร้ายเราไม่ได้ จากนั้นหาทางเตือนสติให้เขารู้ถึงพฤติกรรมของเขา ผลดี ผลเสีย ตักเตือนเขาอย่างกัลยาณมิตร จนกว่าเขาจะได้ทบทวนตัวเอง กระบวนการทำให้เขาตระหนักรู้นี่ใช้เวลานะครับ บางคนกว่าจะระลึกและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ก็หลายปี หรือเขาอาจจะเปลี่ยนได้เมื่อใกล้ตายแล้วก็ไม่รู้ อันนี้ ไม่ต้องไปคาดหวังมาก ขอให้ระวังอย่าไปอยู่ในระยะหรือทิศทางที่ “เข้าทาง” ของเขาอีกเป็นสำคัญ แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปแจมกัน ก็ขอให้แจมอย่างรู้เท่าทัน ย้อนกลับไปทำการจัดการระดับที่ 1 ได้

ระดับ 3 จัดการโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม

หากโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่ชั่วร้ายยังคงอยู่ โอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยก็เป็นไปได้เสมอ การปรับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการจัดการระดับบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น องค์กรที่ย่อหย่อนต่อการถ่วงดุลอำนาจ ก็ต้องปรับให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบโดยภาคประชาชนมากขึ้น มีการจัดการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ มีมาตรการทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งสื่อที่ส่งเสริมให้คนเป็นคนดีมีศีลธรรม มากกว่าเน้นความรุนแรงของการลงโทษ อีกทั้งต้องหันมาศึกษาและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ วิจัย ตลอดจนปรับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมขององค์กรและสถาบัน รวมถึงกฏหมายให้เอื้อต่อการบ่มเพาะสันติภาพในทุกระดับ

.หลักการเหล่านี้ ผมวิเคราะห์จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองประกอบกับการประยุกต์หลักศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า “ไอคิโด” (Aikido) และบางส่วนจากบทความเกี่ยวกับสันติวิธีหลายๆชิ้นของพระไพศาล วิสาโล รวมถึง ดร.โคทม อารียา มาเชื่อมรวมกัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง 

 สุดท้าย อย่าลืมเหยาะอารมณ์ขันสักนิด ให้รสชาติการแก้ปัญหากลมกล่อมขึ้นด้วย คงดีไม่น้อยครับ

หมายเลขบันทึก: 44493เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

น้องนิวชอบบทความนี้นะคะ   มันทำให้นิวนึกถึง "ใคร" บางคนในชุมชนแห่งนี้คะ  เหอ ๆ  ขอบคุณที่ทำให้เห็นอะไรมากขึ้น และขอบคุณที่ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

อ่านแล้วก็ได้ทบทวนเห็นสิ่งที่เคยมี แต่ขาดหายไประหว่างทางของชีวิต  ขอบคุณค่ะ
ต้องขอโทษที่บทความต้องใช้จุดไข่ปลาคั่นระหว่างย่อหน้าเพราะติดปัญหาทางเทคนิค ทำให้ผมไม่สามารถพิมพ์เว้นวรรคและจัดเรียงให้ดูสวยงามได้ แต่ถึงบทความจะจัดเรียงอย่างอัปลักษณ์ แต่ก็ยังมีคนทนอ่านจนจบ แถมยังเอ่ยชมมา ก็ดีใจครับ

ตามจริงผมอ่านบันทึกนี้เมื่อแรกโพสแล้วครับ รีๆรอๆก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่พี่ช่วยมองให้อย่างละเอียด และทุกแง่มุมการพัฒนาตน

ผมคิดว่าในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ณ ตรงนั้น ใช้อารมณ์ในการตัดสิน คงต้องแตกกระจายทั้งสองฝ่าย(อารมณ์ + มิตรภาพ) ผมเลือกใช้วิธี "เงียบ" แต่ค่อยๆมอง แต่เกือบจะอดรนทนไม่ได้ พอเวลาผ่านไปสักพักก็เีขึ้นครับ มองเห็นปมที่ขัดแย้งอยู่

มันเป็นปัญหาของ"เขา" เป็นปัญหาของ "คนอื่น" ที่เราสัมผัส ดังนั้นไม่ต้องเสียแรงไปจัดการ

ผมต้องให้ความ"สมเพช เวทนา"กับคนที่ยังใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ไม่รับฟังเหตุผลใดๆ .... หากรักจะทำงานพัฒนาไม่ให้ทุกข์ก็คงต้องปรับตัวเอง ตรงนี้ไม่ใช่ปรับธรรมดา คงต้องปรับอีกเยอะ

หัวใจของเสรีชน ที่เป็นอิสระ แต่อัตตาสูงส่ง ...ช่างน่าสมเพชเสียจริง!!!  กว่าจะรู้ตัวเองน่ากลัวจะเจ็บปวดไปอีกนาน

การพัฒนาตนเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาความขั้นแย้งที่พี่เขียนในบันทึกผมชอบมากครับ

และเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ ใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาขัดเกลาตัวเอง..ผมโชคดีที่ได้เจอเหตุการณ์แบบนี้

แก้ที่คนอื่นคงยาก หากไม่ใช่ที่ตน

"คนชอบ ใครชัง ช่างเถิด

ใครชู ใครเชิด ช่างเขา

ใครด่า ใครบ่น ทนเอา

ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ"

ขอบคุณมากครับพี่ยอดดอย 

ี้

 

ขอขอบคุณอย่างสูง สำหรับวิธีการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งผมอ่านแล้วผมคิดว่า เป็นวิธีที่สามารถลดความขัดแย้งได้จริงและดีมากๆ เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา ถ้าเราปรับอารมณ์ ความคิด มุมมอง และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้นๆ ได้  ก็จะทำให้มีความขัดแย้งน้อยลงได้ด้วย  แต่ในโลกของเราตอนนี้กำลังมีผู้ซึ่งเห็นแค่ผลประโยชน์ของตนแล้วคิดสร้างความขัดแย้งให้กับผู้อื่นเพื่อตัวเองจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนเพียงเล็กน้อยแต่จะได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล หากเราคิดตามไม่ทันเราก็จะกลายเป็นทาสทางเศรษฐกิจใช่หรือเปล่าครับ  ฝากให้ช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่าจะป้องกันอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจัดการกับความขัดแย้งหลายด้าน

  • ข้ามปีแล้ว ยังมีคนสนใจติดตามอ่านบันทึกนี้ ก็ยินดีที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆนะครับคุณวุฒิชัย
  • อนึ่ง การจะห้ามมิให้คนชั่วมาก่อกระแสความขัดแย้ง เพื่อเก็บเกี่ยวกำไรจากกองกระดูกและเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์นั้นทำได้ยาก แต่มิใช่ทำไม่ได้เลย เรายังมีกฏหมาย ยังมีมาตรการทางสังคมต่างๆ ที่สามารถกีดกันคนเหล่านี้ไม่ให้ประทุษร้ายต่อคนส่วนใหญ่ได้
  • สิ่งสำคัญ ต้องเร่งสร้าง "สังคม อุดมปัญญา ใฝ่หาสันติ" คือมีความสามารถในการวินิจฉัยบนฐานของข้อเท็จจริง และยอมรับความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม มิใช่เอาความรู้สึก ความหลง หรือความเชื่อเข้าชนกัน
  •  ด้านคนดี  ต้องหนักแน่น และรวมกันเป็นเครือข่าย เพราะคนดีวันนี้ทำงานอยู่คนเดียวไม่ได้ ทานสิ่งร้ายๆไม่ไหว หนักเข้าจะโดนรุม
  • ต้องไม่ลืมนะครับว่า "สังคมเลว เพราะคนดีท้อแท้" อันนี้ ต้องช่วยกันนะครับ

 

 

 

เพื่อนกันฉันและเธอ

เป็นฉัน ฉันยอมเพื่อความพ่ายแพ้ค่ะ ไม่ต้องคิดหาวิธีในการ "จัดการความขัดแย้ง" เพราะมันไม่สามารถจัดการได้ด้วยใช้เทคนิควิธีการใด ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท