มิชิแกน (๑): เหิรฟ้าท้าทายฝัน


"No pain, No gain"

ผมกลับจากสหรัฐอเมริกาได้ ๑๐ วันแล้ว หลังจากที่ได้รับทุนไปฝึกอบรมระยะสั้นมาเป็นเวลา ๑ เดือน ตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับก็ยังเขียนไม่ได้สักที และก็ห่างหายจากชาวโกทูโนไปนานพอควร

คราวก่อนได้ทุนรัฐบาลเบลเยียมไปเรียนปริญญาโท ทำให้ได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ของตนเอง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและได้ท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ที่สำคัญทำให้รู้ว่าการท่องเที่ยวในต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาทัวร์ก็ทำได้ไม่ยากนัก

เวลาได้ไปต่างประเทศ ผมมักจะคิดเปรียบเทียบประเทศต่างๆไว้เป็นคู่ๆ เช่น ญี่ปุ่นกับเยอรมัน อังกฤษกับฝรั่งเศส ออสเตรเลียกับแคนาดา จีนกับอินเดีย สหรัฐอเมริกากับรัสเซีย สวิซเซอร์แลนด์กับนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ผมเคยไปฝรั่งเศสแต่ไม่เคยไปอังกฤษ ไปเพียงสก๊อตแลนด์เท่านั้น เคยไปรัสเซียแต่ไม่เคยไปอเมริกา เคยไปออสเตรเลียแต่ไม่เคยไปแคนาดา เคยไปจีนหลายครั้งแต่ไม่เคยไปอินเดียสักครั้งเดียว ผมจึงใฝ่ฝันอยากจะไปอังกฤษ อเมริกาและก็อินเดีย

และแล้วโอกาสก็เข้าข้างผม ผมได้ทุนไปอเมริกา ผมจำได้ดีจากข่าวทางสถานีวิทยุที่ได้ฟังขณะขับรถกลับจากไปเยี่ยมแม่ที่สุโขทัยเมื่อสามปีก่อน กลับบ้านผมรีบเข้าเน็ต อ่านข้อมูลประกาศสมัครรับทุน แล้วก็สมัคร แต่มีปัญหากว่าทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนจะตอบกลับ ก็ผ่านไปสองสามสัปดาห์จนทุนเต็มไปซะก่อน ถัดมาอีก ๑ ปีผมจึงรีบสมัครแต่เนิ่นๆ คราวนี้สมัครทั้งที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนและที่ลอนดอนบิสิเนสสคูลของอังกฤษ และได้ตอบรับทั้งสองแห่ง สุดท้ายผมเลือกมิชิแกน เพราะว่า ผมยังไม่เคยไปอเมริกา และก็ได้รับทุนสมใจนึก โดยกำหนดไปฝึกอบรมช่วงเดือนกันยายน ๒๕๕๓ แต่พอเอาเข้าจริงทางมหาวิทยาลัยก็เลื่อนไปรวมกับของเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ท่านที่สนใจเข้าไปดูได้ที่ http://www.ocsc.go.th/ocsccms/frontweb/view.jsp?contentID=CNT0004763

แม้จะเป็นทุนระยะสั้นๆ แต่ทาง ก.พ.ก็ให้ทำสัญญารับทุน หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมวิตกกังวลมากพอควร ยิ่งได้ฟังคุณโน๊ต อุดม เล่าไว้ใน "เดี่ยว ๘" ก็ยิ่งกังวลไปใหญ่ การทำวีซ่าสหรัฐต้องเข้าไปกรอกข้อมูลออนไลน์ในเว็บไซต์เพื่อทำการขอนัดวัน แต่จะนัดวันได้ต้องใช้การนัดผ่านทางโทรศัพท์แบบใช้รหัสเฉพาะหรือใช้รหัสผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งต้องเสียเงินซื้อทั้งคู่

ผมนั่งกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มในเว็บไซต์ https://thailand.us-visaservices.com/Forms/default.aspx ใช้เวลาตั้ง ๖ ชั่วโมงกว่าจะสำเร็จและได้แนบรูปถ่ายไปด้วยเลย เรื่องรูปถ่ายก็ต้องได้ตามที่เขากำหนด ทางสถานทูตฯจะตอบรับพร้อมให้รหัสหมายเลขเอกสารที่เราสมัครไปทางอีเมล์ ถ้าไม่นัดภายใน ๑๐ วัน รหัสจะหมดอายุ หลังจากนั้นก็ขอนัดวันและได้กำหนดนัดวันเวลาทางอีเมล์ 

ในการซื้อรหัสเข้าใชเเฉพาะทางเพื่อนัดวันทำวีซ่าสามารถซื้อทางเน็ตราคา ๑๒ เหรียญ ส่วนประเภทใช้โทรศัพท์ซื้อได้จากไปรษณีย์ทุกแห่ง ราคา ๒๐ เหรียญ ส่วนการจ่ายเงินค่าทำวีซ่าใช้วิธีจ่ายทางไปรษณีย์ (Pay at post) เท่านั้น จำนวน ๑๔๐ เหรียญหรือ ๔,๖๒๐ บาท ไม่สามารถไปจ่ายที่สถานทูตได้

วันนัดผมไปถึงหน้าสถานทูตตั้งแต่ ๖.๓๐ น. ก็เริ่มมีคนไปเข้าแถวรอกันแล้ว ประมาณ ๗ โมงเช้าก็ได้เข้าไปข้างในสถานทูตและยื่นเรื่องราวตามที่เขากำหนด มีการพูดคุยสัมภาษณ์สั้นๆ ก็สำเร็จลงได้ด้วยดี ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ก็แปลกใจอยู่ว่า เสียเงินนัดเวลาแล้วไม่เห็นจะต้องให้มาเข้าแถวยาวเหยียดคอยกันอีก

ผมใช้พาสปอร์ตราชการในการขอวีซ่าอาจทำให้ง่าย มีหนังสือจากทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนมาประกอบ ผมไปทำพาสปอร์ตราชการที่พิษณุโลก รวดเร็วสะดวกสบายดีมาก

พี่ตู่ (หมอเกษม) ที่เคยไปเรียนเบลเยียมด้วยกัน ได้ไปหลักสูตรนี้ก่อนผม ได้ให้คำแนะนำว่า  อยู่อเมริกา ขนส่งมวลชนไม่ดีเหมือนยุโรป ถ้าขับรถได้จะเป็นประโยชน์มาก และมิชิแกนอยู่ใกล้แคนาดา สามารถขับรถไปเที่ยวน้ำตกไนแองการาฝั่งแคนาดาซึ่งสวยกว่าฝั่งอเมริกาได้ เพราะไม่ไกลนักสี่ห้าชั่วโมงก็ถึงแล้ว แต่ต้องทำวีซ่าแคนาดาด้วย

ผมจึงต้องสมัครขอวีซ่าแคนาดาด้วย ก็เข้าไปที่เว็บไซต์   www.thailand.gc.ca ทำการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มที่กำหนด แล้วพิมพ์ออกมาเพื่อถือไปที่สถานทูตแคนาดาด้วย มีสองแบบฟอร์มกรอกไม่ยากและใช้เวลาไม่มากนัก ไม่ต้องทำการนัดวัน จะไปยื่นเองหรือให้คนอื่นไปยื่นก็ได้วันจันทร์-พฤหัสเวลา ๐๗.๓๐-๑๐.๐๐ น. การจ่ายเงินค่าวีซ่าจ่ายไปแคชเชียร์เช็ค สามารถไปซื้อที่ชั้นล่างของสถานทูตได้ ใช้เวลาพิจารณา ๕ วันทำการ

ผมรีบไปสถานทูตแคนาดาตั้งแต่ ๗ โมงเช้า จึงได้ยื่นเอกสารเป็นคนที่สาม เร็วมาก และได้เงินคืนเพราะใช้พาสปอร์ตราชการ ส่วนเอกสารที่ยื่นประกอบก็มีเอกสารขอวีซ่าที่กรอกไว้ รูปตามที่กำหนด ๔ ใบ พาสปอร์ตทั้งเก่าและใหม่ที่มี สมุดบัญชีเงินฝากทุกประเภท จดหมายรับรองจากผู้บังคับบัญชา จดหมายลางานหรือให้ไปฝึกอบรม หลังจากนั้น ๕ วันผมก็ไปรับพาสปอร์ตพร้อมวีซ่าแคนาดาได้

การทำใบขับขี่สากล ก็ไม่ยุ่งยาก  ใช้ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนพร้อมใบขับขี่และค่าธรรมเนียม ๕๐๐ บาท ไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดตากเพื่อขอทำใบขับขี่สากล ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ คราวก่อนตอนไปเบลเยียมผมต้องไปทำที่กรมการขส่งทางบกที่กรุงเทพฯ แต่ตอนนี้สามารถทำได้ในทุกจังหวัด สะดวกมาก คราวก่อนทำใบขับขี่สากลไปแต่ไม่ได้ใช้เลยเพราะไม่ได้ขับรถ ใช้บริการขนส่งมวลชนตลอด สะดวกมาก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่เคยทำเลยเมื่อไปต่างประเทศ และคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นก็คือการทำประกันชีวิตการเดินทาง คุณหมอพนาที่จะไปด้วยกันได้แนะนำให้ใช้บริการของบริษัทบูพา ดูที่ www.bupa.co.th การสมัครก็ง่าย สมัครจากเว็บ ราคาไม่แพงมีให้เลือกหลายแบบ ผมเลือกแบบโกลด์ ๔๕ วัน ราคา ๒,๒๙๕ บาทเท่านั้น

ผมเลือกไปมิชิแกน แทนที่จะไปลอนดอน ส่วนหนึ่งเพราะภรรยาให้ข้อแนะนำว่า "ยุโรปเคยไปมาแล้ว น่าจะไปเรียนรู้ระบบของอเมริกาบ้าง" และอีกอย่าง มีคนไทยที่มีชื่อเสียงหลายคนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Micigan) ผมคิดว่า มิชิแกนมีทะเลสาบ น่าจะมีสถานที่เที่ยวเยอะ โดยหารู้ไม่ว่า ที่ที่จะไปเรียนนี้ถือเป็นสถานศึกษาที่ดีเด่นติด ๑ ใน ๕ ของอเมริกาเลย หลักสูตรที่ไปฝึกอบรมคือ Michigan Executive Program ของ Ross School of Business

ช่วงสองสัปดาห์ก่อนเดินทาง ผมงานยุ่งมากต้องออกพื้นที่และไปประชุมต่างจังหวัดค่อนข้างเยอะ แทบไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย ทางหลักสูตรก็ส่งเอกสารมาให้อ่านเตรียมตัวก่อนไปตั้งมากมาย แต่ก็แทบไม่ได้อ่านเช่นกัน 

๑๘ เมษายน มีการประชุมทีมService planจังหวัดตาก ที่ผมรับผิดชอบอยู่เพื่อที่จะได้ส่งแผนพัฒนาระบบบริการทั้งจังหวัดให้กระทรวงและมีการรดน้ำดำหัวท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากและผู้บริหารด้วย  ผมหลบเลี่ยงที่จะให้เจ้าหน้าที่รดน้ำดำหัวมาหลายปี แต่ปีนี้เริ่มยอมรับสภาพอาวุโสและโดยตำแหน่งก็เป็นรองนายแพทย์ สสจ.ด้วย บรรยากาศเรียบง่ายเป็นกันเองดี

๑๙ เมษายน มีการประชุมคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนตาก ในฐานะกรรมการและมีประเด็นสำคัญๆในการจัดทำหลักสูตรใหม่ ทำให้ไม่สามารถขาดประชุมได้

๒๐ เมษายน มีการประชุมทีมCFOจังหวัดตาก เพื่อพิจารณาสถานะการเงินและแนวทางการช่วยเหลือและประเมินประสทธิภาพการเงินการคลังของโรงพยาบาลในจังหวัด

๒๒ เมษายน ไปติดต่อ ก.พ. เพื่อรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ทางก.พ. ชี้แจงเรื่องการเบิกจ่าย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็พูดคุยให้คำแนะนำ อัธยาศัยดีมาก พร้อมทั้งรับตั๋วเครื่องบินด้วย

๒๓-๒๔ เมษายน มีสอบ มสธ.ที่ผมลงเรียนการแพทย์แผนไทยไว้ อ่านหนังสือไม่ทัน ต้องพยายามอ่านเฉพาะหลักการ แนวคิดและประเด็นสำคัญๆเท่านั้น

๒๖ เมษายน มีประชุมโครงการมาลาเรียตากที่ได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อติดตามโครงการที่ สสอ.แม่สอด ต่อด้วยการประชุมเตรียมความพร้อมการทำโครงการสาธารณสุขชายแดนที่ได้งบสนับสนุนจากอียู และประชุมต่อกับทีมงานโครงการชีลด์ของไออาร์ซี เพื่อจัดเตรียมข้อมูลในการจัดทำโครงการเสนอของบประมาณจากUSAIDต่อ

๒๗ เมษายน มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโครงการฝึกอบรม "พนักงานสุขภาพชุมชน" หลักสูตร ๑ ปี ที่เป็นความร่วมมือของ สสจ.ตากกับสปสช.พิษณุโลก, เอสเอ็มอาร์ยู, ไออาร์ซีและวิทยาลัยชุมชนตาก โดยนายแพทย์ สสจ.ตากเป็นประธาน และมีกิจกรรมไหว้ครูของนักศึกษา ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนอาจารย์ในการกล่าวให้โอวาท ผมกล่าวแก่นักศึกษาว่า "ปกติเราจะไหว้ครูกันวันพฤหัส แต่ด้วยความจำเป็นของหลักสูตร เราจึงมาจัดวันพุธ แต่วันคงไม่สำคัญเท่ากับ ใจ ที่เราจะมีต่อครูที่สอนเรา"

ผมฝากนักศึกษาทั้ง ๘๑ คน ที่เข้าฝึกอบรม ที่เราคัดมาจากประชาชนในพื้นที่เพื่อที่จะส่งพวกเขากลับไปปฏิบัติงานในบ้านเกิดเขาซึ่งเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล เข้าถึงลำบาก ผมขอให้เข้า "มีความรู้ ความรัก ความเชื่อมั่น ความศรัทธาและจรรยาบรรณ"

ให้รู้จริงในสิ่งที่ทำและรู้กว้างในสิ่งที่เกี่ยวข้อง รักตนเองและรักคนอื่นเป็น เชื่อมั่นในตนเองหรือมั่นใจตนเองและยอมรับหรือเชื่อมั่นในความสามารถของผู้อื่นเห็นคุณค่าคนอื่น ศรัทธาในความถูกต้องดีงาม และครองตนอย่างเหมาะสมกับสถานภาพของการเป็น "หมอ" ของชาวบ้าน

๒๘ เมษายน ไปเป็นประธานและร่วมเรียนรู้ ให้ข้อเสนอแนะแก่กลุ่มแพทย์แผนไทย ที่ได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ซึ่งจัดทุก ๓ เดือน คราวนี้จัดที่โรงพยาบาลบ้านตาก และก็ได้พาน้องขลุ่ยลูกคนเล็ก ไปทำฟันด้วย ตอนบ่ายมีประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตาก ที่ผมเป็นประธานอยู่

ภารกิจที่วุ่นวาย จึงไม่มีเวลาทั้งเตรียมตัวและเตรียมของ เตรียมกระเป๋าเดินทาง ภาระหนักจึงไปตกที่น้องเอ้ ที่คอยจัดการให้ได้อย่างเรียบร้อย ความยุ่งวุ่นวาย จึงไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า เวลาห่างไกลครอบครัวได้คืบคลานเข้ามาแล้ว อยากไปเรียนรู้ แต่ก็ไม่อยากห่างครอบครัว แต่ยังไงๆก็ต้องไป "No pain, No gain"

๒๙ เมษายน ผมออกเดินทางโดยมีพี่สมชายขับรถไปส่งในเวลา ๙.๔๙ น. ไปส่งกันทั้งครอบครัว เด็กๆยังคงดูร่าเริงอยู่ แวะทานกลางวันที่สิงห์บุรี และพอมีเวลาเหลือก็พาเด็กๆไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าที่อยุธยา ก่อนจะไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิราว ๑๖.๓๐ น. เช็คอิน โหลดกระเป๋าเรียบร้อย นัดเจอกับหมอพนา ที่จุดเช็คอิน เนื่องจาก ก.พ.ซื้อตั๋วชั้นธุรกิจให้ จึงเช็คอินได้เร็ว แล้วก็พาเด็กๆเดินเล่นในสนามบิน น้องขลุ่ยร้องไห้ ไม่อยากให้พ่อไป น้องขิมเริ่มเงียบและทำตาแดงๆ ทำเอาใจเสียไปเหมือนกัน บรรยากาศแห่งการจากมันอึดอัดทรมานจริงๆ และก็พยายามปลอบลูกว่า "แค่เดือนเดียวเอง" คิดถึงกันก็สไกป์คุยกันได้

จนเวลา ๑๗.๔๐ น. ก็ผ่านระบบความปลอดภัยและผ่านตรวจคนเข้าเมือง และขึ้นเครื่องตอน ๑๘.๔๕ น. เครื่องทะยานตัวออกจากสนามบินเวลา ๑๙.๓๐ น. ที่นั่งอยู่ตอนหน้าสุดของแถว เหยียดแข้งเหยียดขาสบาย ทันที่ที่เครื่องขึ้น ก็ใจแป้วเหมือนกัน ที่ปลอบลูกไว้ว่า "แค่เดือนเดียวเอง" แต่ตัวเองกลับคิดไปว่า "ตั้งหนึ่งเดือนเชียว" นานเหมือนกันนะ

หมายเลขบันทึก: 444070เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การใช้ชีวิตในต่างแดน ย่อมเหงา แต่ท้าทาย

ความมั่นคงของชีวิตน่าดู

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

ดีใจนะค่ะ ที่ได้เห็นบันทึกของคุณหมอที่มาแบ่งปันประสบการณ์แก่ชาว GotoKnow อีกครั้ง

ประสบการณ์ครั้งนี้ อ่านดูแล้วคุณหมอคงจะมีเรื่องเล่าอีกมากมายเลย จะรอติดตามอ่านนะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ไปไกลๆ อย่างนี้ ต้อง skype กับลูกค่ะอาจารย์ :)

สวัสดีอาจารย์โสภณ คุณมะปรางเปรี้ยว อาจารย์จันทวรรณครับ

ขอบคุณที่เข้ามาทักทายกันครับ จะค่อยๆเล่าไปเรื่อยๆครับ

คุณหมอพิเชฐเนี่ย ไม่ว่าจะเรียนรู้อะไร มีประสบการณ์ดีๆ ก็จะสละเวลามาเขียนเล่า แบ่งปันเสมอ .. พี่กิ๋วขอเอาไม่ปันต่อในวง คศน.ด้วยนะคะ สิ่งที่คุณหมอทำนี้เป็นกุศล...ขอกุศลนี้บันดาลสุขแก่คุณหมอและครอบครัวคะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ ขอบคุณมากค่ะที่คุฯหมอเขียนบทความนี้ มันมีประโยชน์กับหนูมากและคิดว่าต้องมีประโยชน์แก่ผู้อื่นเช่นกัน ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณพี่กิ๋วครับ พี่กิ๋วเป็นคนที่คิดเชิงบวกตลอดเวลา มองคนอื่นในแง่ดีตลอดเวลาเลย

ขอบคุณคุณประภาพรรณครับ ที่มาให้กำลังใจ "เรื่องเล่าของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง" ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท