“สอนอย่างไรให้เป็นเลิศ”


สอนอย่างไรให้เป็นเลิศ

      เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2554 สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2554 ขึ้น ณ ห้องสร้างเสริมสุขภาพและธรรมชาติบำบัด โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง เวลา 14.30-18.00 น. เรื่องสอนอย่างไรให้เป็นเลิศโดยมี รศ.ดร สายพิณ เกษมกิจวัฒนา เป็นคุณอำนวย และ อาจารย์ พรทิพย์ สารีโส เป็นคุณลิขิต ซึ่งบรรยากาศในการทำกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปอย่างผ่อนคลาย สบายและสนุกสนาน  โดยมีคณาจารย์ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ให้ความสนใจในการทำกิจกรรมครั้งนี้ จำนวน 18 คน การทำกิจกรรมเริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเล่นเกมส์เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายและพร้อมที่จะเล่าเรื่องสนุกปนสาระต่อไป ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการเรียนการสอน ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อมุ่งเน้นให้การจัดประสบการณ์เรียนรู้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

 1.      การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ภาคทฤษฎี

      คุณอำนวยได้ให้อาจารย์แต่ละท่านเล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนการสอนที่ผ่านมา โดยเริ่มจากอาจารย์วีรกิตติ์ ซึ่งได้เล่าว่า “ตนเองเป็นคนมีบุคลิกง่าย ๆ สนุกสนาน มีอารมณ์ขัน จึงทำให้นักศึกษาไม่เกิดความเบื่อหน่าย และให้ความสนใจในการเรียน เวลาสอนจะเริ่มสอนโดยการทักทายทั่วไปและเปิด Clip VDO ที่มีความตลกและสนุกสนาน เพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษา สำหรับเนื้อหาที่ใช้สอนจะเป็นการนำเสนอแบบ PowerPoint โดยจะเน้นการใช้รูปภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ก็จะใช้ VDO เป็นสื่อประกอบ ในส่วนเนื้อหาที่อธิบายยาก เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับ pathophysiology ทำให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้น ในระหว่างการสอนจะมีการซักถามนักศึกษาเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นและประเมินว่านักศึกษายังให้ความสนใจอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ก็จะมีส่วนของการสรุป จะสรุปเป็นการพยาบาลและประเด็นหัวข้อย่อย และเปิดโอกาสให้มีข้อซักถาม โดยให้ e mail หรือการติดต่อทางอื่น ตนเองจะให้ file PowerPoint กับนักศึกษาด้วย ในส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจะเน้นให้นักศึกษาตั้งใจฟังในห้องเรียน นอกจากนี้การใช้คำพูด บุคลิกท่าทางที่ทำให้เกิดความสนุกสนานก็จะทำให้นักศึกษาเกิดความสนุกสนานไม่ตึงเครียด และอาจารย์ต้องแบ่งบันประสบการณ์ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน สุดท้ายคือ อาจารย์ต้องเข้าใจในเนื้อหาที่สอนก่อน จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีขึ้น ทำให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้น โดยคิดว่าอาจารย์ควรสอนในเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญ จะทำให้มีความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้ได้ดีขึ้น”

     อาจารย์พรสวรรค์ ได้เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมว่า “อาจารย์ไม่ควรกังวลเรื่องเนื้อหามากเกินไปแบ่งเวลาสอนควรสอนให้ดูเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้บุคลิกภาพของอาจารย์จะสามารถช่วยดึงดูดความสนใจของนักศึกษาได้ รวมถึงเสื้อผ้าการแต่งกายที่  ดูดี จะช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้คำพูดของอาจารย์ควรหลีกเลี่ยงการพูดลักษณะการตำหนิ ในระหว่างการสอนควรยกตัวอย่าง case ประกอบก็จะช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น” นอกจากนี้ “อาจารย์สามารถหาเรื่องเล่าหรือเรื่องตลกจากการอ่านหนังสือ เช่น Reader Digest เป็นต้น มาประกอบการสอนก็จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอนได้มากขึ้น นอกจากนี้อาจารย์ไม่ควรใช้ศัพท์วิชาการมากเกินไป แต่ควรใช้ตัวอย่างประกอบเพื่อให้สามารถจินตนาการหรือเห็นภาพได้ อาจารย์ควรมีความเข้าใจในวัยและพฤติกรรมของนักศึกษาโดยการทำตัวหรือเล่าเรื่องที่ใกล้เคียงกับวัยของนักศึกษา ในช่วงของการสอนนั้นจะมีการให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยจะต้องรู้จุดเด่นของนักศึกษาแต่ละคนและนำมาเป็นสื่อประกอบในการสอน ก็จะทำให้เกิดบรรยากาศที่สนุกในการเรียนในห้อง และไม่น่าเบื่อด้วย”

 อาจารย์ขนิษฐา ซึ่งเป็นอาจารย์ที่อยู่สาขาวิชาการชุมชนเล่าว่า “เนื่องจากในรายวิชาที่สอนจะมีการแบ่งชั่วโมงจะไม่สอนยาวทีเดียว เช่น แทนที่จะสอนทีเดียว 3 ชั่วโมง ก็จะแบ่งออกเป็น สอน 2 รอบ เพื่อให้งานนักศึกษากลับไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมานำเสนอในชั่วโมงถัดไป โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นนามธรรม เช่น ประวัติ วิวัฒนาการ เป็นต้น โดยอาจารย์จะเป็นผู้ช่วยชี้แนะเพิ่มเติม ในหัวข้อการสอนบางเรื่อง หากนักศึกษาไม่มีประสบการณ์ตรง ให้ใช้สถานการณ์จำลองของรุ่นพี่ในการช่วยสอน โดยสร้างบรรยากาศให้เป็นการช่วยกันเรียน โดยการแบ่งกลุ่มและนำเสนอ สำหรับสื่อที่ใช้ในการสอนจะใช้สื่อทางภาษาแทนศัพท์วิชาการให้มากที่สุด” นอกจากนี้อาจารย์ธนิษฐายังกล่าวอีกว่า “เนื่องจากตนเองเป็นคนบุคลิกนิ่งๆ เงียบๆ ไม่ค่อยมีเรื่องสนุกสนานมาเล่า ก็จะสร้างความคุ้นเคยกับนักศึกษาโดยการเรียกชื่อหรือการหาจุดเด่นของนักศึกษา” อาจารย์ธนิษฐาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับห้องเรียนว่า “ห้องเรียนที่มีลักษณะเป็นพื้นราบ อาจเป็นอุปสรรคในการเรียนซึ่งอาจทำให้นักศึกษาที่อยู่ทางด้านหลังถมองไม่เห็นชัดเจน ดังนั้นในการเตรียม PowerPoint อาจารย์ควรเตรียมประมาณ 3-4 บรรทัดต่อ 1 แผ่นเพื่อให้ลดปัญหาด้านนี้”

     อาจารย์เกศมณีเล่าว่า “ในช่วงที่ตนเองมาเป็นเป็นอาจารย์ใหม่จะมีการซ้อมสอนก่อนสอนโดยใช้เวลาและเนื้อหาจริงและจะมีผู้ช่วยฟัง เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขด้วย ตนเองจะสร้างความคุ้นเคยกับนักศึกษา โดยเน้นการเรียนการสอนแบบพี่สอนน้อง มีการให้ Email แก่นักศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องวิชาการได้ สำหรับในระหว่างการสอนจะใช้เทคนิคเสริมในการสอน คือ การใช้ pointer ซึ่งคิดว่าจะช่วยให้อาจารย์สามารถเดินเข้าถึงนักศึกษาได้ทั่วห้องเรียนและคิดว่ามีประโยชน์อย่างมาก อาจารย์ไม่ควรใช้คำถามหรือบุคลิกภาพที่กดดันต่อนักศึกษาในการสอน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าหาเพื่อปรึกษาหรือซักถามปัญหาเรื่องเรียนได้ตลอดเวลา สุดท้ายคือเน้นหลัก edutainment ในการสอน หมายถึงeducation กับ entertainment

     อาจารย์จิตราภรณ์ กล่าวว่า “ในการสอนทุกครั้งจะเริ่มจากการทำความรู้จักกับนักศึกษา เพื่อทำความคุ้นเคยและประเมินนักศึกษาก่อนเริ่มการสอน   นอกจากนี้การใช้เทคนิค role play ก่อนเริ่มการสอนเพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตนเองสอนเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็อยากจะแต่งตัวเป็นผู้สูงอายุเพื่อให้นักศึกษามองเห็นภาพชัดเจน แต่ก็ยังไม่ได้ลองทำ นอกจากนี้ก็จะให้นักศึกษาดูการประเมินตนเองจากนักศึกษาปีที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงแก้ไข  สำหรับสื่อการสอนก็จะคล้ายกับอาจารย์วีรกิตติ์คือมีการนำ VDO หรือยกตัวอย่างที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับวัยนักศึกษา มาประกอบการสอน การสอนโดยใช้ PowerPoint ก็จะสอดแทรก VDO เข้าไปในการสอนด้วยเลยและมีการสรุปสุดท้ายโดยการใช้ mind mapping ให้นักศึกษา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่อาจารย์ให้ความสำคัญคือบุคลิกท่าทางและการแต่งกายของอาจารย์ เนื่องจากนักศึกษาจะเห็นอาจารย์เป็น idol ดังนั้นอาจารย์ต้องแต่งตัวให้เหมาะสมและดูดีทุกครั้งในวันสอน การใช้ภาษากายและใจในการสอนนักศึกษาแต่อาจมีการดุตักเตือนบ้างเป็นบางครั้ง ในช่วงของการสอนน้ำเสียงที่ใช้ในการสอนก็สำคัญ ควรเป็นจังหวะมีโทนเสียงสูงต่ำด้วย สุดท้ายคืออาจารย์ต้องรู้จุดอ่อนของตัวเอง เพื่อนำไปปรับปรุงในการสอนให้ดีขึ้น ในช่วงสรุปตอนท้ายตนจะมีการถามคำถามตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน เพื่อเป็นการช่วยตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษาได้”

    อาจารย์แสงเดือน กล่าวว่า “เนื่องจากตนเองเป็นอาจารย์ใหม่ยังมีประสบการณ์เกี่ยวกับการสอนน้อยมาก จึงเริ่มจากการที่ต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะสอนก่อน โดยจะมีการเตรียมการสอนในส่วนของเนื้อหาจะทำเป็น diagram สำหรับตัวเองช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาที่สอน และทำให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น สำหรับการทำสื่อการสอนจะใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ในการสรุปเนื้อหาหลังจากการอธิบายแก่นักศึกษาและใช้ VDO เป็นสื่อเพิ่มเติมในการสอน เพื่อช่วยดึงดูดและกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความสนใจ  และจากการที่เป็นอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนน้อย จึงต้องมีการสอบถามถึงเทคนิคต่างๆในการสอนจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า”

    อาจารย์ปิยะภรณ์ เสริมว่า “เนื่องจากตัวเองเป็นอาจารย์ใหม่ เวลาสอนจะมีอาจารย์ที่มีประสบการณ์มากกว่าไป Attend class และให้ข้อเสนอแนะไปปรับปรุงพัฒนาการสอนให้ดีขึ้น อาจารย์จะไป Attend class อาจารย์ท่านอื่น ก็จะช่วยให้ได้เทคนิคต่าง ๆ และมุมมองด้านใหม่ ๆ ในการสอนเพิ่มขึ้น ในส่วนของการสอนจะใช้ VDO และการยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับนักศึกษาเป็นสื่อการสอนเพิ่มเติม”

    อาจารย์จารุณี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีประสบการณ์การสอนมาแล้ว ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า “มีการทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับนักศึกษา มีการฝึกวินัยของนักศึกษา เช่น เวลาในการเข้าเรียน การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ เป็นต้น   สำหรับในการสอนนั้นจะมีการเน้นจุดสำคัญของเนื้อหาและแจกเอกสารให้นักศึกษาไปศึกษาก่อนเข้าเรียน บอกวัตถุประสงค์และ out line ของเนื้อหานั้นๆแก่นักศึกษา ในส่วนเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนหรือมีความยากต่อการเข้าใจจะต้องมีตัวอย่างประกอบการสอน หรืออธิบายช้าๆ พร้อมกับการเน้นให้เห็นถึงส่วนที่สำคัญด้วย  เน้นให้นักศึกษามี life long learning โดยจะแนะนำแหล่งศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สำหรับตัวอาจารย์เองควรต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องที่จะสอนอย่างถ่องแท้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือควรมี auditor มาฟังการสอนและมีคำแนะนำให้นำมาปรับปรุงในการสอนให้ดีขึ้นต่อไป เนื่องจากการมี auditor มาฟังเราสอนจะได้รับคำแนะนำและเห็นจุดที่ต้องนำไปปรับปรุง ซึ่งจะช่วยได้มาก”

     อาจารย์จันทร์จีรา ได้เล่าว่า “ก่อนการเข้าสู่เนื้อหาการเรียนจะใช้ VDO กระตุ้นความสนใจของนักศึกษา PowerPoint ที่ใช้ในการสอนจะไม่เหมือนเอกสารประกอบการสอน แต่จะวิเคราะห์จากเอกสารประกอบการสอนและทำเป็นขั้นตอนให้เห็นภาพชัดเจน เข้าใจง่าย ซึ่งคิดว่านักศึกษาจะเข้าใจได้ง่าย”

     อาจารย์อุษา เล่าว่า “ตนเองจะมีการเตรียมก่อนการสอนจริงทุกครั้ง สำหรับสื่อ PowerPoint จะใช้แต่หัวข้อที่สำคัญในการสอน ในส่วนของเนื้อหาจะใช้การอธิบายแทนเพื่อไม่ให้ PowerPoint มีเนื้อหามากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่น่าสนใจ ระหว่างการสอนก็จะมี eye contact กับนักศึกษา ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมและกระตุ้นนักศึกษาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน สุดท้ายคือมีการสรุปเนื้อหาซ้ำอีกรอบและเปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถามเกี่ยวกับเรื่องที่สอน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจมากขึ้นและรู้ว่าส่วนไหนคือส่วนสำคัญ”

     อาจารย์ผ่องศรี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนี้ว่า “จะศึกษาหัวข้อที่จะสอนก่อนว่าเป็นเรื่องอะไร และหาอุปกรณ์ที่เป็นของจริงมาเป็นสื่อประกอบการสอน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพชัดเจน ไม่ต้องจินตนาการ  นอกจากนี้จะใช้คำศัพท์ที่เข้ากับวัยของนักศึกษา การใช้เทคนิค role play ซึ่งบางครั้งก็ร้องเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ชอบมากระตุ้นความสนใจของนักศึกษาและให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน สำหรับในช่วงระหว่างการสอนก็จะมีการกระตุ้นความสนใจเป็นระยะ ๆ โดยการซักถามเพื่อให้นักศึกษามีความตื่นตัวตลอดเวลา ในระหว่างบรรยายจะไม่ยืนอยู่กับที่ จะเดินไปเรื่อยๆ จนรอบห้อง สิ่งหนึ่งที่คิดว่าได้ผลคือการให้รางวัลแก่นักศึกษาเมื่อมีการทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยทำให้นักศึกษาเกิดความประทับใจและมีความอยากเรียนในครั้งต่อไป

     อาจารย์วรรณาเล่าต่อว่า “ชอบไป attend class ของอาจารย์คนอื่นๆ เพราะคิดว่า จะได้เทคนิคต่าง ๆ มาปรับใช้ในการสอนของตนเองให้ดีขึ้น สำหรับเนื้อหาที่นักศึกษายังไม่เคยเรียนมาก่อนจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น มีการนำผลการประเมินจากปีที่แล้วมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง ในการสอนนั้นได้ใช้สื่อการสอนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการใช้ PowerPoint เช่น การวาดภาพ การเขียนแผ่นสไลด์ แล้วฉายที่ over head  เป็นต้น โดยจะใช้ในกรณีที่ต้องการอธิบายเนื้อหาที่เข้าใจยาก ต้องการการลำดับขั้นตอน ซึ่งช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น”

     อาจารย์ภาวดีกล่าวว่า “การให้เอกสารกับนักศึกษาก่อนเข้าเรียนครั้งต่อไปและให้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารหรือหนังสืออ้างอิงที่ให้ไว้ท้ายเล่ม และให้นำเสนอในห้องเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษามีการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีการประเมินนักศึกษาย้อนกลับตามวัตถุประสงค์ของเนื้อหาที่สอนด้วย”

     อาจารย์ทัศนีย์วรรณเล่าว่า “การทำเอกสารประกอบการสอนนั้น ในส่วนเนื้อหาจะเริ่มต้นตั้งแต่ Physiology ไปจนถึงการพยาบาลตามลำดับ เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ สำหรับการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา หากเป็นการ lecture  ก็จะอธิบายเฉพาะในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญ และเนื้อหาใน PowerPoint จะมีเฉพาะเนื้อหาในสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดความรู้และสรุปในส่วนที่ได้อธิบายไป การสอนเน้นการเชื่อมโยงความรู้และการพยาบาลเข้าด้วยกันมากกว่า คิดว่านักศึกษาจะต้องสามารถบูรณาการความรู้ๆ ได้”

     อาจารย์วรรัตน์ให้ความเห็นว่า “มีการสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาในขณะทำการสอน เช่น หากนักศึกษามีสีหน้านิ่วคิ้วขมวด แสดงว่านักศึกษาไม่เข้าใจในเนื้อหา ตนเองจะต้องถามประเมินและอธิบายซ้ำอีกครั้ง และเมื่อสอนจบในเนื้อหาแต่ละส่วนจะมีการสรุปให้  สำหรับ PowerPoint นั้น จะใช้เป็นเพียงแนวในการสอนและใช้อธิบายเป็นหัวข้อไป”

     อาจารย์วรางคณาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากตนเองเป็นอาจารย์ใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ในการสอน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเทคนิคการสอนจากอาจารย์คนอื่นๆที่มีประสบการณ์ สำหรับความคิดเห็นในฐานะที่เป็นผู้เรียนมาก่อนคิดว่าการสอนควรเน้นประเด็นที่สำคัญ ส่วนรายละเอียดนั้นมีในเอกสารประกอบการสอน สื่อ PowerPoint ที่ใช้สอนก็ควรทำเป็น mapping เพื่อทำให้นักศึกษาเห็นภาพได้ชัดเจน มีความเชื่อมโยง จะช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจมากขึ้น   คำพูดในการสอนนั้นควรพูดอย่างเป็นจังหวะ มีโทนเสียงขึ้นลง สุดท้ายก็ควรมีการสรุปเนื้อหาเป็นภาพรวมอีกครั้ง จะทำให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยง เกิดความเข้าใจมากขึ้น”

2.      การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ

      สำหรับวิธีการสอนภาคปฏิบัติ คุณอำนวยได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ทุกคนได้เล่าถึงประสบการณ์ดีๆ ที่ใช้สอนและประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจากอาจารย์พรสวรรค์เป็นคนเล่าคนแรก ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวว่า “การบริหารจัดการในสถานที่ฝึกที่ไม่คุ้นเคยนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาจารย์ที่คุมนักศึกษาที่ขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วย เพราะจะช่วยทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความราบรื่น  นอกจากนี้การวางแผนการเรียน โดยการทำ procedure  จากง่ายไปยากหรือเนื้อหาจากง่ายไปยาก ก็จะทำให้นักศึกษาเข้าใจและมั่นใจในการปฏิบัติ นอกจากนี้ในการฝึกปฏิบัติของนักศึกษานั้นประสบการณ์บนหอผู้ปป่วยต้องได้เท่ากัน ซึ่งตนใช้วิธีหาหัวหน้ากลุ่มและทำงานร่วมกับอาจารย์ การแบ่งประสบการณ์จะใช้ระบบ circle คือมีการหมุนเวียนกันเพื่อให้ได้ประสบการณ์เท่ากัน  ถ้าไม่มีประสบการณ์ในการทำหัตถการบนหอผู้ป่วยหรือลืม จะใช้การจัดทำแฟ้ม procedure โดยใช้รูปภาพประกอบ ทบทวนให้นักศึกษาก่อนไปทำจริง นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจารย์ต้องทำตัวเป็นเพื่อนเพื่อลดช่องว่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา จะช่วยให้นักศึกษาลดความกลัวลงได้ อาจารย์ต้องไม่สร้างความกดดันให้นักศึกษาและต้องทำให้นักศึกษามีความมั่นใจในการทำหัตถการในครั้งต่อไป เน้นเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมโดยต้องเน้นย้ำให้นักศึกษาทำการพยาบาลทุกอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยประทับใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในการฝึกปฏิบัติของนักศึกษา นอกจากนี้อาจารย์ต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพให้แก่นักศึกษาด้วย”

       อาจารย์วีรกิตติ์ได้เล่าถึงประสบการณ์การสอนของตนเองว่า  “อาจารย์ต้องทำตัวให้เป็นที่พึ่งของนักศึกษา เอาใจเขามาใส่ใจเราโดยคิดว่าตัวเองต้องการครูแบบไหนก็ทำแบบนั้น นอกจากนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษากล้าทำงาน การมอบหมายงานนั้นจะหลีกเลี่ยง assignment ที่เสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วย HIV  อาจารย์ต้องประเมินศักยภาพของนักศึกษาก่อนให้ทำหัตถการทุกครั้งแต่ถ้านักศึกษา fail ต้องให้กำลังใจและให้ความเชื่อมั่น อย่าดุ/ติเตียน อาจารย์ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับนักศึกษา อย่าทำให้นักศึกษากลัว ตนเองจะเน้นย้ำกับนักศึกษาเสมอในเรื่องการวางตัวของบนหอผู้ป่วย ซึ่งต้องมีสัมมาคารวะ โดยอาจารย์ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย นอกจากนี้ต้องทำข้อตกลงกับนักศึกษาก่อนทุกครั้งทั้งในเรื่องเทคนิคและกฎระเบียบต่าง สุดท้ายก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานทุกครั้งจะต้องสร้างกำลังใจร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ให้มีความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันและเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งก่อนและหลังการฝึกปฏิบัติในแต่ละวัน ซึ่งวิธีการทั้งหมดจะส่งเสริมและช่วยให้นักศึกษาอยากขึ้นฝึกปฏิบัติและมีความสุขในการทำงาน”

     อาจารย์วรรัตน์ เล่าว่า “อาจารย์เน้นการบริหารจัดการโดยให้นักศึกษาจัดการกันเองภายในกลุ่ม ส่งเสริมให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย รวมถึงอาจารย์ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาจากผู้ป่วยและนำผลการประเมินที่เป็นคำชมไปบอกนักศึกษาเพื่อสร้างกำลังใจ นอกจากนี้จะสังเกตการทำหัตถการของนักศึกษาโดยจะไม่อยู่ใกล้เกินไปเพื่อลดความกดดันต่อนักศึกษา สำหรับการประเมินผลนั้นจะให้นักศึกษาประเมินผลตนเองและให้บอกแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งให้นักศึกษาประเมินผลการเรียนการสอนของอาจารย์หลังจากทราบคะแนนแล้ว”

    อาจารย์ทัศนีย์วรรณกล่าวว่า “สำหรับตนเองคิดว่าการเรียนการสอนบนหอผู้ป่วย แบ่งวิธีการเรียนรู้

เป็น 2 ส่วน คือ Knowledge โดยจะเปรียบเทียบทฤษฎีกับผู้ป่วยที่รับผิดชอบถ้าไม่ตรงกับทฤษฎี ต้องถามต่อว่าเพราะเหตุใด เพื่อให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่วนที่ 2 คือ Practice แบ่งเป็นเทคนิคกับความมั่นใจ ซึ่งเทคนิคนั้นถ้านักศึกษาทำได้ตรงตามที่นักศึกษาความคาดหวัง แต่ถ้าทำไม่ได้ให้นักศึกษาบอกว่าครั้งต่อไปจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นการ Reflection ความคิดของนักศึกษา ส่วนความมั่นใจ นั้นก็จะไม่อยู่ไกล้นักศึกษาจนเกินไปและต้องประเมินหัตถการที่จะให้นักศึกษาทำก่อนว่าปลอดภัยหรือไม่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจนั่นเอง”

    อาจารย์ภาวดี เล่าว่า “อาจารย์จะประเมินนักศึกษาก่อนว่าเคยทำหรือไม่ ถ้าไม่เคยอาจารย์ทำให้ดู และให้นักศึกษาลองทำ แต่ถ้าเคยทำแล้วจะให้นักศึกษาเล่าให้อาจารย์ฟังก่อนแล้วให้ลงมือทำ นอกจากนี้ในการมอบหมายงานต้องให้ตรงกับวัตถุประสงค์รายวิชา ส่วนการประเมินผล จะให้นักศึกษาประเมินตัวเองก่อนแล้วให้อาจารย์ประเมินซ้ำ โดยเปรียบเทียบกับการประเมินของนักศึกษา พร้อมบอกจุดดีและจุดที่ต้องพัฒนา นอกจากนี้อาจารย์ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับนักศึกษาและแหล่งฝึกและสอนให้นักศึกษามีสัมมาคารวะ สุดท้ายคือหัตถการที่ปลอดภัยไม่เสี่ยงมาก จะไม่อยู่ไกล้นักศึกษามากเกินไป เพื่อลดความกดดันของนักศึกษา”

       อาจารย์วรรณา เล่าว่า “การมอบหมายงานจะใช้เทคนิค Duo ในระยะแรกของการฝึกปฏิบัติหรือกรณีที่มี case น้อย เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นการ Sharing of knowledge ส่วนการแบ่งมอบหมายงานจะแบ่ง Requirement ให้ชัดเจนในแต่ละหอผู้ป่วย ในกรณีที่มี Case น้อยจะเรียนรู้ร่วมกันโดยทำเป็นกรณีศึกษา โดยให้นักศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสุดท้ายจะได้ Mapping ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกปฏิบัติ โดยให้นักศึกษาดู VDO ของรุ่นพี่ในการเข้าไป Approach ผู้ป่วย เมื่อนักศึกษาขึ้นฝึกจะไม่ดุนักศึกษาต่อหน้าผู้ป่วยหรือบนหอผู้ป่วย ต้องกลับมา Feedback นักศึกษาที่สำนักวิชาฯ เพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กป่วยมีความั่นใจในการปฏิบัติ/ดูแลของนักศึกษา อาจารย์ต้องมีวิธีการให้กำลังใจนักศึกษาด้วย เช่น ใช้คำชมของผู้ปกครองเด็กป่วยมาบอกนักศึกษา สำหรับตนเองจะเน้นและส่งเสริมให้นักศึกษามีการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อไม่ได้ดูแลผู้ป่วย Case นั้นแล้ว ต้องมีการเข้าไปพูดคุยต่อ

     อาจารย์อุษาเล่าว่า “ตนเองจะมีการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนขึ้นฝึกทุกครั้งเพื่อ

เสริมสร้างความมั่นใจ และเป็น Role Model ที่ดี ซึ่งอาจารย์ต้องมี Service Mind สร้างทัศนคติที่ดี การ Approach ผู้ป่วยและญาติ ใช้เทคนิคการสัมผัส สิ่งสำคัญคืออาจารย์ต้องเป็นที่พึ่งของนักศึกษา สำหรับการมอบหมายงานนั้นอาจารย์ต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยหัตถการที่เสี่ยงสูงจะทำให้นักศึกษาดูก่อน โดยเน้นจุดที่ต้องระวัง/ข้อห้าม หลังจากนั้นก็ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติซึ่งอาจารย์ต้องคอยสังเกตและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจ ผู้ปกครองเด็กก็รู้สึกดีและไว้ใจนักศึกษาในการดูแลเด็กป่วย หัตถการที่ปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ จะให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติเลย โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่ Coaching  สำหรับปัญหาที่พบในการฝึกปฏิบัติจะนำ Feedback ให้นักศึกษาทราบในช่วง Conference”

    อาจารย์จารุณี กล่าวถึงประสบการณ์ในการสอนว่า “การเตรียมนักศึกษาก่อนขึ้นฝึกปฏิบัตินั้นครูต้องศึกษารายวิชาก่อนว่าต้องการอะไร ต้องทำ Teaching Plan ต้องมีการเตรียมนักศึกษาโดยเฉพาะหัตถการที่ Specific โดยการทำ Clinical Teaching การ Approach Ward นั้นอาจารย์ต้องให้ความช่วยเหลืองานของหอผู้ป่วยด้วยและต้องมี Relationship ที่ดีต่อ Ward ที่สำคัญครูต้องเป็น Role Model ที่ดีทั้งบทบาทของการเป็นอาจารย์และบทบาทของพยาบาล เมื่อนักศึกษาขึ้นฝึกบน Ward จะเน้นการใช้ Nursing Process ในการเข้าไป Approach ผู้ป่วย ในกรณีที่เป็น Rare Case จะใช้วิธี Group Conference เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ Case นั้นและให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน  นอกจากนี้อาจารย์ต้องให้คำชมกับนักศึกษาด้วยเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ อาจารย์ต้องมีการประเมินนักศึกษาเป็นระยะๆ โดยการ Scoring และบอกในจุดที่ต้องพัฒนา ที่สำคัญอีกอย่างคือไม่ติเตียนนักศึกษาต่อหน้าผู้ป่วยเพราะจะทำให้นักศึกษาขาดความมั่นใจ อาจารย์จะต้องปลูกฝังจริยธรรมให้นักศึกษาตลอดช่วงระยะที่มีการเรียนการสอน สำหรับการทำหัตถการต่างๆ ต้องมีการเตรียมนักศึกษาก่อน โดยการ Review หัตถการนั้นๆ รวมถึงต้องเข้าไป Approach ผู้ป่วยให้นักศึกษาดูก่อน”

     อาจารย์ปิยะภรเล่าต่อว่า “จะมีการเตรียมนักศึกษาก่อนปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย โดยใน Case แรก ต้อง Closed Supervision และไม่ติ/ดุ นักศึกษาต่อหน้าผู้ป่วย เป็นมิตรที่ดีต่อนักศึกษาก่อนลง Ward จะให้ประเมินตนเองก่อนและอาจารย์จะบอกจุดที่ต้องพัฒนาและให้กำลังใจ นอกจากนี้อาจารย์ต้องเป็น Role Model ที่ดีด้วย มี Service mind  มีน้ำใจช่วยเหลือสมาชิกในทีมและผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่ Case ของนักศึกษา สุดท้ายคืออาจารย์ต้องทำความรู้จัก/ เข้าใจในความต้องการของนักศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้นักศึกษารู้สึกมีที่พึ่ง ลดความกดดัน”

     อาจารย์แสงเดือนกล่าวว่า “ก่อนการฝึกปฏิบัติจะให้นักศึกษาเขียนบุคลิกของตัวเองและปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน และจะทำให้อาจารย์เข้าใจนักศึกษามากขึ้น สำหรับอาจารย์จะไปศึกษาก่อนที่จะจ่าย Case ให้นักศึกษาเพื่อเป็นการเตรียมตัวเอง เมื่อนักศึกษาได้รับ Case จะให้นักศึกษาสรุปโรคของผู้ป่วยที่รับผิดชอบเพื่อทบทวนและสามารถวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ได้ให้นักศึกษา Short note ในหัตถการที่พบบ่อยบนหอผู้ป่วย เพื่อเป็นคู่มือในการขึ้นฝึกปฏิบัติด้วย”

    อาจารย์จิตราภรณ์เล่าต่อว่า “จะประเมินนักศึกษาจากอาจารย์ที่นักศึกษาเคยฝึกปฏิบัติด้วยเพื่อ

 ทราบข้อมูลเบื้องต้นของนักศึกษาก่อน ถ้านักศึกษาที่ยังอ่อนในเรื่องของความรู้จะจ่าย Case ที่ง่ายไม่ซับซ้อน   นอกจากนี้จะแนะนำหนังสือที่ใช้ประกอบ อธิบายถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้ป่วยเนื่องจากบางครั้งนักศึกษาอาจยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองภาคเหนือ สำหรับเครื่องมือที่นักศึกษาไม่เคยเห็นจะ Demonstrate ให้นักศึกษาดูก่อน  ที่สำคัญอาจารย์ต้องเป็น Role Model ที่ดีในการเข้าไป Approach ผู้ป่วย  สำหรับการประเมินผลจะใช้วิธี Feedback นักศึกษาตัวต่อตัวและบอกในสิ่งที่ต้องปรับปรุง โดยการ Rating เป็นเปอร์เซนต์และเพิ่มความมั่นใจให้นักศึกษา โดยใช้หลักการเพื่อนช่วยเพื่อน สุดท้าย สิ่งสำคัญที่นักศึกษาต้องรู้คือ  Top 5 ของโรคที่นักศึกษาจะพบ สำหรับอุปกรณ์ที่นักศึกษาไม่คุ้นเคยจะให้อุปกรณ์กลับไปฝึกต่อ นอกจากนี้ก็จะมีการทำ Case conference เพื่อให้เกิด Knowledge Sharing และอาจารย์ช่วยเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดไป เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีได้มากขึ้น”

     อาจารย์เกศมณี ได้เล่าประสบการณ์เป็นคนสุดท้ายว่า “ใช้หลักเพื่อนช่วยเพื่อนโดยจัดเป็น Duo และจะเน้นให้นักศึกษามีความมั่นใจโดยอาจารย์เข้าไป Approach ผู้ปกครองเด็กก่อน ซึ่งจะให้ความมั่นใจทั้งนักศึกษาและผู้ปกครองของเด็ก โดยบอกกับผู้ปกครองว่า “นักศึกษาทำได้นะแต่ท่าไม่สวย” นอกจากนี้อาจมี Closed supervise ในกรณีที่หัตถการมีความเสี่ยงสูง และเตรียมนักศึกษาเพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจโดยการ Review procedure ก่อนให้นักศึกษาทำ”

 

 

                                                        อาจารย์พรทิพย์ สารีโส

                                                                     คุณลิขิต

หมายเลขบันทึก: 443930เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ขอแวะมาเป็นกำลังใจค่ะ

อ.พรทิพย์ จดบันทึกได้ประเด็นดีจังเลยนะค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท