เส้นทางสายเก่า : เหล็กขูดบนคันนา


มองนึกย้อนหลังกลับไปหลายปีภาพต่าง ๆ ในอดีตปรากฎขึ้น แต่มันเป็นเพียงแค่ภาพที่อยู่ในความทรงจำเท่านั้น ของจริงหายไปไม่มีแล้ว รวมทั้งเหล็กขูดบนคันนา

         วิถีชีวิตคนรุ่นเก่า กับสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่มีแต่ของจริงแท้ ทั้งจริงใจ น้ำใจใสสะอาด และเรื่องของความเป็นจริงของธรรมชาติไม่มีปรุงแต่ง บัดนี้หายไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

         ผมนึกถึงเส้นทางที่คนรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา เขาใช้เดินไปมาหาสู่กัน บรรยากาศแห่งความอบอุ่นที่เคยมีนั้นดูแล้วหายไปเยอะจริง ๆ เส้นทางสายเก่าที่ผมระลึกนึกถึงตอนนี้ ได้แรงบันดาลใจให้นึกถึงจากการเข้าไปสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติของ "คีรีวง" ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตกับธรรมชาติเดิม ๆ

          ผมได้คุยกับลุง..บ้านอยู่ใกล้ ๆ กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว "คีรีวง" เนื่องจากผมร่วมเป็นชุดครูฝึกหมู่บ้าน อพป. และจัดกิจกรรมฝึกที่ "คีรีวง" ช่วงว่างผมมีโอกาสคุยกับเจ้าของพื้นที่รุ่นลุง..ลุงเล่าถึงวิถีชีวิตของคน "คีรีวง" ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ผมนึกถึงเส้นทางเดินของคนรุ่นเก่าที่บ้านเกิดผมอีกครั้ง..

           มองนึกย้อนหลังกลับไปหลายปีภาพต่าง ๆ ในอดีตปรากฎขึ้น แต่..มันเป็นเพียงแค่ภาพที่อยู่ในความทรงจำเท่านั้น ของจริงหายไปไม่มีแล้ว สิ่งแรกหวนนึกถึงและหายไปแล้วคือ "เหล็กขูดบนคันนา"

           "เหล็กขูดบนบ่า" ของ ลุง ป้า น้า อา ที่แบกมาจากบ้านเดินผ่านคันนาในทุ่งนากว้างสีเหลืองอร่ามของรวงข้าวดูไปลิบตา เป็นผืนภาพให้เห็นภาพคนเดินตามหลังเป็นแถว ๆ ยาวบ้างสั้นบ้างแล้วแต่คณะที่เดินทางมาด้วยกันหลายคนหรือน้อยคน ข้าวเหล่านั้นรอการเก็บเกี่ยวที่จะมีขึ้นในไม่ช้า ฝนหยุดแล้ว..คันนาแห้ง

            ลมว่าวเริ่มพัดมาแล้วคันนาเป็นฝุ่นทรายขาว ฟุ่งกระจายตามกระแสลมว่าวที่พัดแรงบ้างเบาบ้าง ร่องลึกบนคันนาด้วยรอยเท้าที่ย้ำแล้วย้ำอีกมาตั้งแต่หน้าฝนจนถึงแล้งมีไปตลอดแนว  คันนาจึงเป็นเส้นทางเดินเท้าสัญจรไปมาหาสู่ของเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง

             และเมื่อมีงานในชุมชน คันนาจึงเป็นถนนสายหลักไปโดยปริยาย เพื่อไปช่วยเหลืองานบุญ งานบวช งานแต่ง บนบ่าของคนเดินทางจะมี "เหล็กขูด"มาด้วยแทบทุกคน ของจริงเหล่านั้นมาถึงบัดนี้ไม่มีอีกแล้ว เหล็กขูดที่ผมกล่าวถึงก็คือ "กระต่ายขูดมะพร้าว" เพื่อขูดมะพร้าวปั้นกะทิทำแกง ทำอาหารคาวหวานสารพัดในบ้านที่มีงาน

            สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรอะไร ไม่มีคนรับเหมาจัดงาน จะมีก็แต่น้ำใจเท่านั้น ใช้แรงคนด้วยพลังน้ำใจที่มีให้ต่อกัน เพื่อช่วยเหลือบ้านที่มีงานให้เป็นงานที่สนุกสนานสวนเสเฮฮา เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อที่มาจากต่างบ้านต่างชุมชน

            งานบุญ งานมงคล สมัยหลายปีก่อนนั้นสนุกและมีความสุขกันจริง ๆ เพราะเต็มบ่าไปด้วยน้ำใจ ความจริงใจ ความหวังดี รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เหล็กขูดที่แบกใส่บ่ามาเมื่อถึงงาน นั่งล้อมวงขูดมะพร้าวช่วยงานกันไปคุยกันไปสารพัดเรื่องและจะตั้งวงกันเป็นรุ่น ๆ รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และที่สำคัญ รุ่นหนุ่มสาว ที่มีโอกาสได้เจอทำความรู้จักกันและหลายคู่ก็แต่งงานมีครอบครัวในปีถัดไป

            ปัจจุบัน "เหล็กขูดบนคันนา" ไม่มีให้คนรุ่นหลังได้เห็นได้ใช้อีกแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #เส้นทางสายเก่า
หมายเลขบันทึก: 443227เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

น่าเสียดายนะครับไม่ได้เห็นเหล็กขูดบนคันนาอีกแล้ว

เอ หาตามพิพิธภัณฑ์น่าจะพบนะครับ


สวัสดีครับ อาจารย์โสภณ

ปัจจุบันเหล็กขูดเดินไปสู่พิพิธภัณฑแล้วจริง ๆ ครับ แต่ที่บ้านผมก็ยังใช้อยู่ กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ก็เอามะพร้าวติดมือมาด้วย ถึงเวลาต้องใช้ก็ปอกเปลือกขูดเอาไม่ต้องซื้อยิ่งตอนนี้ราคาแพงด้วยซิครับ

ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมทักทาย

เคยใช้สมัยเด็กๆ ค่ะพี่ ตอนนี้ไม่เห็นใครใช้แล้วค่ะ

เคยใช้เหมือนกันค่ะสมัยก่อน  เวลาจะทำขนมหรืออาหารแต่ละทีต้องอาศัย

กระต่ายขูดมะพร้าวนี้ล่ะ  ดูเหมือนจะเป็นกรรมวิธีที่ยุ่งยากแต่คิดอีกทีก็สอนให้เรา

อดทนและเห็นคุณค่ากับสิ่งที่ได้มานะคะ

 อ.จันทวรรณ ครับ

          เหล็กขูดผมยังใช้อยู่ และเพิ่งสร้างด้วย ชื้อส่วนปลายเหล็กขูดแล้วพ่อผมช่วยสร้างตัวมันให้ด้วยไม้ ตอนนี้ต้องใช้แล้วเพราะมะพร้าวแพงขึ้น ได้มาสักลูกก็พอได้กินแล้วครับ

 สวัสดีครับ  

 ใช้กระต่ายทำให้นึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ครับ ได้มะพร้าวมาจากสวนหลังบ้านก็ได้ออกกำลังแขนกันบ้างครับ มีรสชาติไปอีกแบบนะครับ

  • ผมยังใช้อยู่ครับ
  • ตอนเป็นเด็กบ้านผมเรียกว่า"แมวขุดมะพร้าวครับ"
  • แต่คนภาคกลางและคนส่วนใหญ่เขาเรียกว่ากระต่าย
  • ตอนเป็นเด็กได้ขูดบ่อยๆ ครับ
  • เพราะช่วยแม่ทำขนมเกือบทุกวัน

 

  คุณน้อง"สิงห์ป่าสัก"

              ในวิถีชีวิตของคนบ้านนอก  "เหล็กขูด" เป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นน้ำใจและน้ำแรงที่เอื้ออาทรต่อกัน เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของสังคมปัจจุบันกับอดีตชัดเจนมาก ปัจจุบันงานต่าง ๆ จัดด้วยน้ำเงินแล้วครับ

สวัสดีนายหัวชาญวิทย์ น้อยบ้านเต็มที ที่ยังมีเหล็กขูดอยู่ ที่เห็นก็เข้าไปอยู่ ที่ สถาบันทักษิณ ของอาจารย์สุทธิวงศ์หมดแล้ว

 สวัสดีครับ

               ก็ยังดีที่ยังมีที่ให้อยู่ 555

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท