ถึงจะเป็นคำชม ก็ต้องชมให้ถูกวิธี


ในการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องมีเทคนิคในการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกน้องของตน และเทคนิคที่หลายๆ คนว่าง่ายที่สุดในการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับลูกน้องของตนก็คือ การให้คำชม แต่จริงๆ แล้วในการให้คำชมกับพนักงานนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน ผมเคยสอบถามหัวหน้างานหลายคน ต่างก็ตอบว่า พอถึงเวลาจะชมพนักงานเข้าจริงๆ กลับพูดไม่ออก และมีความรู้สึกเขินๆ จนบางครั้งแทนที่จะทำให้พนักงานรู้่สึกดี กลับกลายเป็นพนักงานรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำชมที่ได้มาจากนาย

วันนี้ผมมีเทคนิคในการให้คำชมพนักงานมาให้ศึกษาและทดลองนำไปใช้จริงใน ชีวิตการทำงานครับ เพื่อให้คำชมที่ออกมาจากปากหัวหน้านั้นเป็นคำชมที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของ พนักงาน ทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจที่ดีในการสร้างผลงาน และทำงานอย่างเต็มใจและพอใจครับ คำชมที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยดังนี้ครับ

  • ชมให้ถูกเวลา เรื่องของเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการให้คำชม เวลาพนักงานทำผลงานได้ดี หรือแสดงพฤติกรรมที่ดีให้หัวหน้าเห็น คำชมจะต้องออกมาทันที หรือไม่ควรให้ห่างจากพฤติกรรมที่พนักงานได้ทำดีไว้ ทั้งนี้เพื่อให้คำชมมีผลกระทบต่อแรงจูงใจของพนักงาน เขาจะรู้สึกดี และรู้สึกว่าได้รับรางวัลหลังจากที่เขาทำดี ไม่ควรเก็บคำชมไว้นานเกินไป เช่นทิ้งไว้ก่อนสัก 2 วันแล้วค่อยชม แบบนี้ไม่มีผลต่อจิตใจของพนักงานเลยครับ
  • ชมด้วยความจริงใจ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน เวลาชมพนักงานนั้น สิ่งที่จะต้องแสดงให้พนักงานเห็นอย่างชัดเจนก็คือ แววตาที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความชื่นชมในผลงานหรือพฤติกรรมที่ดีของพนักงาน ดังนั้นเวลาชมจะต้องเดินไปชมด้วยตนเอง พูดด้วยคำพูดและรอยยิ้มที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเรา สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือ การเขียนชมพนักงานลงในกระดาษแล้วนำไปปะไว้ที่โต๊ะของพนักงาน ลักษณะนี้เป็นการให้คำชมก็จริงนะครับ แต่พนักงานจะรู้สึกถึงความไม่จริงใจของหัวหน้า วิธีที่ดีก็คือ ชมด้วยวาจาก่อนหลังจากที่พนักงานทำได้ดี แล้วอาจจะสำทับเพิ่มเติมด้วยบันทึกข้อความก็ได้นะครับ
  • ชมด้วยน้ำเสียงที่เหมาะสม น้ำเสียงของคนเราเวลาสื่อความนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นการแสดงถึงความมั่นใจ ความจริงใจ และเต็มใจที่จะสื่อความ การให้คำชมก็เช่นกัน เวลาชมพนักงานก็ควรจะใช้นำ้เสียงที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเราที่อยาก จะชมด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่พูดอยู่ในลำคอ เบาๆ เพราะเขินเนื่องจากไม่เคยชมใครมาก่อน หรือในทางตรงกันข้ามชมด้วยเสียงอันดังเหมือนกับขึ้นเสียง หรือบางครั้งใช้นำ้เสียงประชดประชัน ลักษณะเหล่านี้ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นในการให้คำชมแก่พนักงานครับ
  • ชมอย่างเจาะจง คำชมที่ดีต้องบอกให้พนักงานรู้ว่าชมอะไร เรื่องอะไรที่พนักงานทำดี ไม่ใช่แค่เพียงคำว่า “ดีมาก” หรือ “คุณทำงานได้ดีมาก” ซึ่งเป็นคำชมที่ไม่มีประโยชน์เลย สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ “คุณตอบข้อซักถาม และให้บริการลูกค้าได้ดีมากเลย ลูกค้าชมคุณมาใหญ่เลย” เป็นต้น ดังนั้นเวลาชมควรบอกถึงพฤติกรรมหรือผลงานที่ดีของพนักงานอย่างเจาะจง ไม่ควรชมลอยๆ หรือกว้างๆ
  • อย่าชมแบบพร่ำเพรื่อ บางคนติดคำชมเช่น “ดีมาก” “ดี” “เยี่ยมมาก” จะพูดแบบนี้ทุกครั้งไม่ว่าพนักงานจะทำอะไรก็ตาม แบบนี้จะทำให้คำชมของเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ และพนักงานจะไม่รู้สึกว่าหัวหน้ากำลังชม เพราะเป็นเพียงคำพูดที่ติดปาก พอถึงเวลาที่อยากจะชมจริงๆ พนักงานก็จะแยกไม่ออกว่า นี่คือคำชมจริงๆ หรือแค่เพียงคำพูดที่ติดปาก
  • อย่าชมแล้วต่อด้วยชมก็คือชม ไม่ควรจะต่อด้วยคำว่า “แต่….” เช่น “คุณวางแผนงานโครงการนี้ได้ดีมากเลยนะครับ รัดกุมมาก แต่สิ่งที่คุณทำได้ไม่ดีก็คือ…….” ถ้าจะชมพนักงานก็ให้ชมให้จบ แล้วก็ไม่ควรต่ออะไรอีก ให้จังหวะพนักงานได้ซึมซับคำชมนั้นก่อน แล้วถ้ามีเรื่องที่จะต้องติ ก็ให้แยกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก โดยอาจจะใช้คนละช่วงเวลา เพราะถ้าเราชมแล้วก็ติไปด้วย พนักงานจะไม่รู้สึกได้รับแรงจูงใจจากคำชมนั้น แต่เขาจะรู้สึกว่าหัวหน้ากำลังตำหนิเขามากกว่าชม

เห็นหรือไม่ครับ แค่ชม ก็ยังต้องมีเทคนิควิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย ผมเชื่อเลยว่าหัวหน้างานทุกคนจะต้องเคยมีประสบการณ์แบบว่า ทำไมชมลูกน้องไปแล้ว แต่ลูกน้องกลับไม่รู้สึกอะไร แถมยังไม่มีความรู้่สึกภาคภูมิใจเกิดขึ้นเลย นั่นแสดงว่าท่านกำลังชมไม่ถูกวิธีนั่นเองครับ

คำสำคัญ (Tags): #คำชม
หมายเลขบันทึก: 442958เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องแบบนี้ ต้องฝึก และทำด้วยความจริงใจ ผมจะเริ่มทำเลย โดยไม่มีคำว่า แต่...ครับ ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท