ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ-พะเยา ๑


พระเจ้าทองทิพย์คู่ถิ่น แหล่งทำกินหนองเล็งทราย มากมายสวนลิ้นจี่ รสดีมะพร้าวเผา

๒.ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอแม่ใจ

 

            อำเภอแม่ใจ คำว่า  “แม่ใจ”   คือชื่อของลำน้ำแม่ใจ เป็นลำน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำแม่อิง ตามประวัติมีประชาชนได้อพยพมาจากจังหวัดลำปางได้มาพบแหล่งน้ำสายนี้จึงได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินโดยยึดเอาสองฝั่งลำน้ำแม่ใจเป็นหลัก หมู่บ้านดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าแม่ใจ โดยมีคำขวัญว่า

พระเจ้าทองทิพย์คู่ถิ่น

แหล่งทำกินหนองเล็งทราย

มากมายสวนลิ้นจี่

รสดีมะพร้าวเผา

                       

๒.๑. ตำบลแม่ใจ

            คำว่า “แม่ใจ” เป็นชื่อของลำน้ำแม่ใจ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

            ตำบลแม่ใจ เป็นตำบลที่มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง    ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านเหล่า และตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลแม่ปืม   อำเภอเมือง ทิศตะวันตก ติดกับตำบลแม่สุก และตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านแม่ใจปง คำว่า โป๋ง หรือ โปง ต่อมาเพี้ยนเป็น ปง ภาษาเหนือเรียกว่า   แปอะ หมายถึงโคลน เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม  อีกทัศนะหนึ่งชาวบ้านแห่งนี้อพยพมาจากบ้านปงแสงตอง จังหวัดลำปาง จึงได้ชื่อว่าบ้านแม่ใจปง
  • บ้านต้างหนอง คำว่า ต้าง หมายถึงที่กั้นน้ำขนาดเล็ก มีขนาดใหญ่กว่าฝาย มักใช้คู่กับคำอื่น เช่น ต้างไร่  ต้างนา เป็นต้น
  • บ้านริมใจ เนื่องมาจากชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่ใจ
  • บ้านสันต้นมื่น ต้นมื่นเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ภาษาไทยกลางเรียกต้นไม้กระบก เป็นไม้เนื้อแข็ง บางทีคนที่อื่นมักเรียกเพี้ยนเป็น บ้านสันต้นหมื่นไปก็มี
  • บ้านศรีดอนแก้ว เดิมชื่อว่าบ้านสันขี้เหล็ก อยู่ใกล้กับบ้านสันป่าคา ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีดอนแก้ว
  • บ้านป่าตึงใต้ ป่าตึง คือใบตองตึงที่ชาวล้านนานิยมใช้ห่อของ เช่น ขนม หรือนำมาสานเป็นที่มุงหลังคาได้
  • บ้านป่าตึงเหนือ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า ป่าตึงใต้-ป่าตึงเหนือ ไม่ใช้ทิศใต้-ทิศเหนือ แต่เป็นเพราะว่าลักษณะการปลูกสร้างบ้านอยู่เหนือน้ำ หรืออยู่ใต้น้ำต่างหาก

                นอกจากนั้นแล้วยังมีหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่อีก ๒ หมู่บ้านคือ บ้านทุ่งรวงทอง  บ้านปงพัฒนา  บ้านโป่งห้วยลึก

 

๒.๒. ตำบลป่าแฝก

            คำว่า “ป่าแฝก” เป็นชื่อน้ำป่าแฝก ที่บริเวณดังกล่าวมีหญ้าชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

     ตำบลป่าแฝก เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ใจ ๑๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้   ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่เย็น และตำบลทานตะวัน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทิศใต้ ติดกับตำบลเจริญราษฎร์ และตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ ทิศตะวันออก ติดกับอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ทิศตะวันตก ติดกับอุทยานแห่งชาติดอยหลวง  

     ปัจจุบันมีเขตการปกครอง จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน คือ บ้านแม่เย็นใต้ บ้านป่าแฝกกลาง บ้านป่าแฝกเหนือ (เดิมชื่อ บ้านป่าแฝกตีนดอย) บ้านป่าแฝกดอย บ้านป่าแฝกใต้ บ้านใหม่สันคือ บ้านแม่เย็นนอก บ้านป่าแฝกกลางเหนือ บ้านป่าแฝกสามัคคี  บ้านสระวังทอง (เดิมชื่อบ้านหนองสระ ที่บริเวณดังกล่าวมีสระน้ำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวบ้านเข้าไปขุดดินเพื่อนำมาสร้างวิหารใกล้กับบริเวณดังกล่าว)

 

๒.๓. ตำบลศรีถ้อย     

     ตำบลศรีถ้อย เดิมเรียกว่า บ้านแม่ใจเหนือ  เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่ใจ โดยห่างออกไปประมาณ ๑.๖ กิโลเมตร และได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ ๙ มกราคม  ๒๕๓๙ คำว่า ศรีถ้อย หมายถึง ต้นศรี เป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ ความหมายก็คือต้นโพธิ์นั่นเอง เรียงกันตามถนนเป็นแถวเป็นแนวเดียวกัน จึงได้ชื่อนี้มา

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ ทิศใต้ ติดกับตำบล แม่สุก และตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ ทิศตะวันออก ติดกับตำบลบ้านเหล่า และเทศบาลตำบลแม่ใจ ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง  มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านต้นแก  เป็นชื่อของต้นแก ซึ่งเป็นภาษาถิ่น ภาษาไทยกลางเรียกต้นมะรูมซึ่งมีขนาดใหญ่ อายุกว่าร้อยปี  บ้างทัศนะก็บอกว่าหมายถึงต้นดอกแค แล้วเพี้ยนมาเป็นต้นแก ซึ่งข้อสันนิษฐานหลังนี้ไม่น่าจะถูกต้อง (ทัศนะพระโสภณพัฒโนดม)
  • บ้านแม่ใจหางบ้าน แยกมาจาก บ้านต้นตะเคียน มีเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่งคือ บริเวณที่วัดโพธารามตั้งอยู่เรียกว่า แม่ใจศรีถ้อย ที่นี้ถ้าถามคนท้องถิ่นว่าอะไรคือหัวบ้าน-หางบ้าน ต้องรู้ที่มาที่ไปก่อนถ้าไม่อย่างนั้นจะสับสน  กล่าวคือถ้าถามคนในตัวแม่ใจ (บ้านตั้งต้น) จะได้คำตอบว่า หมู่ที่ ๔ เป็น บ้านแม่ใจหางบ้าน  แต่ถ้าถามคนในตำบลศรีถ้อยจะได้รับคำตอบว่า หมู่ที่ ๔ เป็น แม่ใจหัวบ้าน
  • บ้านสันขวาง เพราะลักษณะการตั้งบ้านขวางหมู่บ้าน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นหมู่บ้านดุ คงจะหมายความว่าบ้านที่มีผีดุ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่วัดร้าง
  • บ้านป่าสัก ชื่อเดิมคือบ้านสันป่าสัก หรือทุ่งกิ่ว เหตุเพราะมีต้นสักเป็นจำนวนมาก และบ้านทุ่งกิ่วเป็นหมู่บ้านเริ่มแรก
  • บ้านทุ่งป่าข่า ในหมู่บ้านนี้มีวัดชื่อ วัดศรีบุญชุม หมายถึง ต้นศรี หรือ ต้นโพธิ์มาอยู่รวมกันหลายต้น จนคนเรียกติดปากว่า “ศรีบุญชุม”  หรือ  “ศรีบุญจุม” (จุมภาษาพื้นบ้าน หมายความว่ามารวมกัน)
  • บ้านขัวตาด  ชื่อหมู่บ้านนี้ เป็นชื่อสะพานข้ามฝายน้ำล้น คำว่า “ตาด” ในที่นี้ เป็นตาดธรรมชาติไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา แต่ปัจจุบันเพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยจึงสร้างสะพานข้ามดังกล่าว
  • บ้านต้นหาด คำว่า “ต้นหาด” เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่  บางมติบอกว่าเป็นหาดของน้ำแม่ใจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านเจริญใจ
  • บ้านผาแดง มีเรื่องเล่าว่าแต่เดิมภูเขาพังทลายลงมาทำให้เปิดหน้าดิน จนเห็นดินสีแดงที่หน้าผานั้น จึงเรียกว่าบ้านผาแดง
  • บ้านต้นผึ้ง คำว่า “ต้นผึ้ง” ไม่ใช่เป็นชื่อของต้นไม้ แต่เป็นต้นไม้ลุงขนาดใหญ่ เป็นไม้ประเภทเดียวกับไม้ไฮ แต่มีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก มีผู้บอกเล่าว่าบางต้นเป็นต้นไทร เมื่อมีผึ้งมาทำรังจำนวนมากเป็นร้อย ๆ รัง ชาวบ้านก็จะเรียกว่า ต้นผึ้ง หมู่บ้านนี้อยู่ใกล้กับท่าช้างคืออยู่ระหว่างบ้านต้นแก บ้านต้นตะเคียน
  • บ้านปางปูเลาะ เดิมบ้านแห่งนี้ เป็นปางเมี้ยงของปู่เลาะ (ชื่อคน) เมื่อมีคนมาตั้งมากขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้านจึงได้ชื่อว่าบ้านปางปูเลาะ

                นอกจากนั้นแล้วยังมีอีก ๒ หมู่บ้านคือ บ้านสันติสุข และบ้านป่าสักสามัคคี

หมายเลขบันทึก: 442804เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท