ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอเมืองพะเยา ๒


บ้านแท่นดอกไม้ มีเรื่องเล่าว่าคนโบราณเดินทางสัญจรไปมา ไม่มีเวลาขึ้นไปสักการะพระธาตุจอมทอง ต่างคนต่างรีบเร่งต้องไปทำธุระ อีกประการหนึ่งถนนหนทางที่ขึ้นไปพระธาตุจอมทองนั้นลำบากประกอบกับมีหญ้าปกคลุมเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัญจร ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสร้างแท่นบูชาเอาไว้ริมทาง เพื่อเป็นที่วางดอกไม้และธูปเทียนที่มีผู้นำมาสักการะพระธาตุจอมทอง จึงเป็นที่มาของบ้านแท่นดอกไม้

๑.๗. ตำบลต๋อม

                ตำบลต๋อม อยู่ใกล้อำเภอเมือง การที่มีผู้คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จนเป็นชุมชน คำว่า “ชุม” ภาษาถิ่นเรียกว่า “ตอม”  หรือ “ต๋อม” อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับตำบลต๊ำ และอำเภอเมือง  ทิศใต้ ติดกับตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง ทิศตะวันออก ติดกับตำบลท่าวังทองออำเภอเมือง  ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง 

คำขวัญตำบลบ้านต๋อม

ตำบลบ้านต๋อมเมืองน่าอยู่ คู่หาดอิงกว๊าน    เมืองตำนานบ่อสิบสอง

พระธาตุจอมทองเป็นศรี ประเพณีงามสง่า วังมัจฉาน่ายล

ประชาชนล้วนเป็นสุข

 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านร่องห้า ชื่อ บ้านร่องห้า มีแนวความคิด ๒ ทัศนะ คือ บริเวณดังกล่าวมีต้นมะห้า ลักษณะคล้ายต้นหว้าขึ้นเป็นจำนวนมากตามร่องน้ำที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ร่องมะห้า” แล้วเพี้ยนมาเป็น ร่องห้า ในปัจจุบัน  อีกทัศนะหนึ่งให้ความหมายว่า ลำน้ำที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยาบริเวณนั้นมีจำนวน ๕ ร่องน้ำด้วยกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านร่องน้ำห้าสาย  แล้วเพี้ยนมาเป็น บ้านร่องห้า
  • บ้านแท่นดอกไม้ มีเรื่องเล่าว่าคนโบราณเดินทางสัญจรไปมา ไม่มีเวลาขึ้นไปสักการะพระธาตุจอมทอง ต่างคนต่างรีบเร่งต้องไปทำธุระ อีกประการหนึ่งถนนหนทางที่ขึ้นไปพระธาตุจอมทองนั้นลำบากประกอบกับมีหญ้าปกคลุมเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัญจร ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสร้างแท่นบูชาเอาไว้ริมทาง เพื่อเป็นที่วางดอกไม้และธูปเทียนที่มีผู้นำมาสักการะพระธาตุจอมทอง จึงเป็นที่มาของบ้านแท่นดอกไม้

                นอกจากนั้นแล้วตำบลต๋อมยังมีหมู่บ้านอื่น ๆ อีกคือ บ้านสันต้นผึ้ง บ้านสันหนองเหนียว บ้านต๋อมกลาง บ้านต๋อมดง บ้านห้วยทรายคำ บ้านร่องไผ่ใต้ บ้านร่องไผ่เหนือ บ้านสันป่างิ้ว บ้านร่องห้าป่าสัก บ้านเกษตรพัฒนา  บ้านร่องห้าป่าฉำฉา คำว่า ฉำฉา หรือต้นฉำฉา (ต้นจามจุรี) ภาษาถิ่นเรียกต้น  “โกก” หรือ “โก่”   ใช้ได้ทั้งสองคำ (บ้านต๋อม มีอยู่ ๓ บ้านคือ บ้านต๋อมดง บ้านต๋อมกลาง บ้านต๋อมในและ(วัด)ต๋อมใต้  ตำนานเล่าว่าพ่อขุนรามฯ เมื่อแปลงกลายเป็นเสือวิ่งหนีผ่านมาทางกว๊านพะเยาโดดลงน้ำกว๊านจนเสียงดังต๋อม อันที่จริงเป็นสายน้ำแม่ต๋อมไหลผ่าน ลงกว๊านพะเยา)

 

๑.๘. ตำบลท่าจำปี

            ตำบลท่าจำปี เป็นตำบลที่น่าศึกษามากเพราะเสนอขอแยกเป็นตำบลจากตำบลบ้านต๊ำ ถึง ๓ ครั้งที่เดียว ครั้งที่ ๑ ขอแยกโดยใช้ชื่อว่า ตำบลทุ่งผาสุข แต่ทางราชการไม่อนุมัติ ในครั้งที่  ๒ ขอแยกเป็นตำบลโดยใช้ชื่อว่า ตุ้มท่าเจริญชัย ก็ไม่ได้รับอนุญาตอีกเช่นเดิม จนครั้งที่ ๓ ได้เสนอไปใหม่และได้อนุมัติเป็นตำบลในนาม ตำบลท่าจำปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ มีอาณาเขต ทิศเหนือติดกับตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง  ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง   ทิศตะวันออก    ติดกับตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ห่างจาก    ตัวอำเภอเมืองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านต๊ำนกกก       คำว่า “ต๊ำ” เป็นชื่อของน้ำขุนต๊ำนั่นเอง ส่วนคำว่า “นกกก”  คือนกชนิดหนึ่งที่มีหงอน นกชนิดนี้ชอบบินมากินปลาที่บริเวณต้นลำน้ำอิง
  • บ้านร่องห้า (ห้วยเคียน) บ้านแห่งนี้เดิมทีมีลำห้วยไหลผ่านมีต้นไม้ขึ้นตามลำห้วยซึ่งมีทั้งมะห้าและต้นตะเคียนเป็นจำนวนมาก  ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวว่าบ้านร่องห้าห้วยเคียน ต่อมาเมื่อหมู่บ้านขยายตัวมากขึ้นจึงแยกหมู่ที่ ๓ ออกเป็นหมู่ที่ ๑๐  โดยอาศัยลำห้วยฝากละด้านแล้วตั้งชื่อตามลักษณะพื้นที่ดังกล่าว
  • บ้านสัน บริเวณดังกล่าวนี้เดิมทีเป็นสัน หรือคันคูของลำน้ำอิงชาวบ้านเข้าไปบุกเบิกทำไร่สวน และที่สำคัญมีวัดร้างอยู่บริเวณนั้นด้วย ชื่อว่าวัดช้างค้ำ (จ๊างก้ำ) 
  • บ้านตุ้มไร่ บริเวณดังกล่าวนี้ ได้มีชาวบ้านไปไร่สวน และได้ตั้งวัดชื่อว่า "วัดบ้านตุ้มไร่" ต่อมาได้มีการขุดค้นพบช้างที่ทำด้วยหินบริเวณลานวัดตรงซุ้มประตูทางเข้า ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ชื่อ "วัดช้างหิน"           
  • บ้านห้วยเคียน แยกมาจากหมู่ที่ ๓ ฝากหนึ่งที่มีต้นมะห้าขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากคือบ้านร่องห้า อีกฝากหนึ่งที่มีต้นตะเคียนขึ้นอยู่คือบ้านห้วยเคียนดังได้กล่าวไว้แล้ว

                นอกจากนั้นแล้วยังมี          บ้านต๊ำเหล่า บ้านตุ้มท่าต้นศรี บ้านตุ้มท่าจำปี บ้านตุ้มเหนือ บ้านตุ้มดง บ้านสัน บ้านสายน้ำงาม

 

๑.๙. ตำบลแม่ปืม

                คำว่า “แม่ปืม”  คือขุนน้ำแม่ปืม เดิมกำนันตำบลนี้ทางราชการจะตั้งชื่อให้ว่า ขุนปืม ตำบลแม่ปืม ห่างจากตัวเมืองพะเยาไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร  อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ  ทิศใต้ ติดกับตำบลต๊ำ อำเภอเมือง  ทิศตะวันออก ติดกับตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง ทิศตะวันตก ติดกับตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านร่องคือ คำว่า ร่อง หมายความว่าร่องน้ำ เพราะหมู่บ้านดังกล่าวมีร่องน้ำล้อมรอบ ส่วนคำว่า คือ หมายถึงคูคันดิน เมื่อรวมกันจึงหมายถึงบ้านที่มีร่องน้ำติดกับคูคันดิน
  • บ้านป่าคา บ้านแห่งนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจประการหนึ่งคือในอดีตบริเวณหลังวัดจะมีหญ้าคาอยู่เต็มไปหมดและสูงมากขนาดที่ว่ามองไม่เห็นหัวกันเลยก็ว่าได้  มีคนเล่าให้ฟังว่ามีโจรขโมยควายแล้วนำไปซ่อนไว้ดงคาอยู่เป็นประจำ ในหมู่บ้านแห่งนี้มีวัดชื่อวัดศรีดอนตัน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าคนโบราณได้ตัดไม้ล่องมาตามลำน้ำแล้วตามไม้ซุงเหล่านั้นมาทัน ณ บริเวณต้นโพธิ์ หรือที่ชาวล้านนาเรียกต้นศรี เมื่อได้ไม้ซุงแล้วชาวบ้านจึงพากันสร้างวัดโดยให้ชื่อว่าศรีดอนตัน คืออาการที่มาทันไม้ซุงนั่นเอง  ต่อมาเมื่อเสนอชื่อวัดให้เป็นทางการ จึงได้มีการพิจารณากันว่าควรให้ชื่อวัดตรงกับชื่อบ้าน  จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อวัดใหม่ว่า วัดป่าคา มาจนถึงทุกวันนี้
  • บ้านสันทราย ช่วงที่ลำน้ำแม่ปืมไหลผ่านได้พัดพาทรายขึ้นมาทับถมจนเกิดเป็นดอนขึ้นมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า สันทราย ซึ่งเมื่อน้ำแม่ปืมไหลไปอีกหน่อยพอถึงบ้านป่าคาลำน้ำดังกล่าวก็แยกเป็น ๒ สาย สายหนึ่งไหลผ่านบ้านร่องคือ  อีกสายหนึ่งไหลไปผ่านบ้านสันต้นหวีด
  • บ้านสันหมื่นแก้ว บ้านสันหมื่นแก้ว มีตำนานเล่าว่า ปู่หมื่น ย่าแก้ว สองสามีภรรยาไปเลี้ยงควายได้ถูกเสือกัดตายบริเวณสันหรือที่ดอน จึงได้ชื่อว่า “สันหมื่นแก้ว
  • บ้านสันต้นหวีด คำว่า “ต้นหวีด”  เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งมีขนาดใหญ่ คนสมัยโบราณนิยมเอามาทำกลอง ที่ได้ชื่อว่าต้นหวีดก็เพราะเวลาถูกลมพัดเสียจะดังหวีด ๆ

                นอกจากนั้นแล้วยังมี บ้านป่าตุ้ม บ้านแม่ปืม บ้านสันหนองควาย บ้านสันต้นผึ้ง บ้านโป่งเกลือ บ้านห้วยบง บ้านป่ากว๋าว บ้านภูเงิน บ้านห้วยบงเหนือ บ้านโป่งเกลือใต้ บ้านโพธิ์ทอง

 

๑.๑๐.ตำบลแม่กา        

คำว่า แม่กา มีแนวคิดอยู่ ๓ ทัศนะคือ

     ประการที่ ๑ บริเวณดังกล่าวมีกาเป็นจำนวนมาก พักอาศัยอยู่

     ประการที่ ๒ กาเหล่านั้นพากันไปหลงอยู่ตรงบริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่มาของเวียงกาหลง ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกเริ่ม 

     ประการที่  ๓  มีคนเล่าในอดีตพ่อค้าได้รอนแรมเดินทางค้าขายด้วยเกวียนและหยุดพักผ่อนใต้ต้นตะเคียนใหญ่ใกล้ลำห้วย ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น พ่อค้าคนหนึ่งได้เอาหม้อแกงไปตักน้ำที่ลำห้วย พอตกกลางคืนก็เกิดเหตุอาเพศเสือมาจากไหนไม่ทราบได้คาบเอาพ่อค้าคนที่ไปตักน้ำเมื่อตอนกลางวันไปกิน และที่เป็นเหตุอัฉจรรย์ใจคือจะมีอีกามาบินรอบหมู่บ้าน ซึ่งมักจะมีคนตายตามมาทุกครั้ง เหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่าแม่กา

     ตำบลแม่กามีระยะห่างจากตัวเมืองพะเยามีระยะตั้งแต่ ๕-๓๐ กิโลเมตร เหตุเพราะลักษณะมีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เรียงรายไปตามถนนหลวงสายพะเยา-ลำปาง ตำบลแม่กามีเนื้อที่  ๑๓๑.๖๙๖ ตารางกิโลเมตร ได้ยกสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อปี ๒๕๓๙ เริ่มบริหารงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๙

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับเทศบาลเมืองพะเยา ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านเวียง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ทิศตะวันออก ติดกับตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมือง ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแม่นาเรือ และตำบลแม่ใส อำเภอเมือง

 มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านหม้อแกงทอง เดิมชื่อแม่กาหม้อแกงตอง คำว่า ตอง เป็นภาษาพื้นเมืองหมายความว่าทองเหลือง นั่นเอง เหตุที่ได้ชื่อว่าหม้อแกงตองเพราะความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน มีคนเล่าว่าเมื่อชาวบ้านจะหุงหาอาหารให้ตั้งหม้อแกงรอไว้ แล้วพากันเดินเข้าป่าแล้วก็กลับออกมาด้วยระยะเวลาไม่นานก็ได้อาหารแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกแม่กาหม้อแกงตอง ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนเป็นแม่กาหม้อแกงทอง
  • บ้านแม่กาหลวง ซึ่งเป็นบ้านดั่งเดิมที่ขยายไปเป็นบ้านอื่นๆ เชื่อว่าเดิมทีเป็นเวียงเก่าชื่อเวียงกาหลง ต่อมาเพี้ยนเป็นเวียงกาหลวง
  • บ้านบัว เป็นเวียงเก่าแก่แม้ปัจจุบันมีคูคลองเก่าและซากปรักหักพังของอิฐเก่าให้ได้ศึกษาอยู่จำนวนหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เข้าไปศึกษาค้นคว้าและจัดแสดงบางส่วน
  • บ้านแม่กาท่าข้าม สมัยสงครามโลกทหารได้ใช้สะพานข้ามลำน้ำมา บางมติว่าทหารหลวงรบกับเงี้ยวข้ามห้วยไปหลบใต้สะพานไม้
  • บ้านแม่กาไร่เดียว ที่ได้ชื่อว่า แม่กาไร่เดียว เพราะสภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นป่าเขาสลับซับซ้อนอันเป็นแนวของภูเขาผีปันน้ำที่กั้นระหว่างเมืองพะเยากับจังหวัดลำปาง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวแทบจะไม่ได้สัมผัสพื้นที่ราบเลย จึงได้ชื่อว่าแม่กาไร่เดียว เพราะพื้นที่ราบพอจะทำไร่ไถนาได้นิดเดียวนั้นเอง
  • บ้านแม่กาห้วยเคียน เดิมชื่อ บ้านห้วยบงมะก๋าย หรืออีกชื่อหนึ่งมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่อยู่บริเวณหน้าวัดจึงมีชื่อตามวัดดังกล่าว  มีคนเล่าว่าทหารญี่ปุ่นได้ใช้บริเวณวัดเป็นโรงงานผลิตเงินใช้สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้เข้าไปตั้งค่ายอยู่บริเวณดอยอีกลูกหนึ่ง จึงชื่อว่าม่อนทหาร
  • บ้านแม่กาโทกหวาก คำว่า โทก คือบริเวณหัวของลำห้วย คำว่า หวาก คือการพังทลาย คือหัวลำห้วยพังลงเพราะแรงของน้ำ
  • บ้านแม่ต๋ำน้อย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าเย้า และลีซอ

ตำบลแม่กามีคำขวัญว่า      

แม่กาเมืองน่าอยู่    แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ   เลิศล้ำฝีมือแรงงาน

งามตระการ          ศูนย์อัญมณี   

มหาวิทยาลัยดีพะเยา ผู้คนล้วนมีคุณธรรม

 

     นอกจากนั้นแล้วตำบลแม่กายังมีบ้านห้วยเคียน บ้านโทกหนองแก้ว บ้านแม่กาไร่ บ้านแม่ต๋ำบุญโยง บ้านเกษตรสุข

 

๑.๑๑. ตำบลบ้านสาง

     ตำบลบ้านสางมีตำนานเล่าว่าพ่อขุนรามฯ ได้ร่ายเวทย์มนต์แปลงกายเป็นเสือหลบหนีมาบริเวณนี้ คำพื้นเมืองโบราณเรียกเสือว่า เสือสาง หรือ สาง คำเดียว[1]  

            ตำบลบ้านสาง มีอาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง  ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง  ทิศตะวันออก ติดกับกว๊านพะเยา   ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง 

                คำขวัญประจำตำบลบ้านสาง

 แหล่งงามฝีมือ   เลื่องลือทั่วถิ่น   ปั้นหม้อน้ำดิน

ครกหินนิยม   ปลาส้มแคบหมู   ปลาบู่รสหวาน

ประชาชื่นบาน   จักรสานก่องข้าว

      ปัจจุบันมีเขตการปกครอง จำนวน ๙ หมู่บ้าน คือ บ้านสางใต้ บ้านสางเหนือ บ้านสันเวียงใหม่ บ้านป่าค่าง บ้านงิ้วใต้ บ้านงิ้วเหนือ บ้านสันบัวบก บ้านม่อนแก้ว (บ้านสาง มีอยู่ ๒ สาง คือบ้านสางเหนือ และบ้านสางใต้)

 

๑.๑๒. ตำบลสันป่าม่วง

            คำว่า สันป่าม่วง มาจากพื้นที่เดิมของตำบลแห่งนี้มีต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก และมีต้นขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่อีก ๗ ต้น ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านดังกล่าวว่า บ้านสันป่าม่วง

     ตำบลสันป่าม่วง   เป็นตำบลที่มีการยุบรวมกับตำบลอื่นและแยกเป็นตำบลขึ้นหลายครั้ง  ตามประวัติในปี ๒๔๑๕  ได้มีชาวบ้านทุ่งบ่อแป้น  อำเภอห้างฉัตร  จังหวัดลำปางชื่อว่า นายวัน  ไม่ปรากฏนามสกุล ได้มาตั้งถิ่นฐานเป็นครอบครัวแรก ต่อมาได้มีญาติพี่น้องตามมาอีกมากจนสามารถตั้งเป็นหมู่บ้านสันป่าม่วงได้ในปี ๒๔๘๐ ซึ่งมีขุนม่วง คามะณี (ขุนมอย) เป็นผู้นำ  และอยู่ในเขตปกครองของตำบลบ้านตุ่น ในอีก ๕ ปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๔๘๕  ได้แยกเขตการปกครองออกมาจากตำบลบ้านตุ่นมาเป็นตำบลสันป่าม่วง ซึ่งมีขุนม่วง คามะณีเป็นกำนันคนแรก ส่วนคนที่สองคือ นายใจ๋มา เดชใจ ต่อมาอีก ๔ ปีคือปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ยุบรวมตำบลสันป่าม่วงมาขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านต๋อม อีก ๔๗ ปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้แยกการปกครองจากตำบลต๋อมมาเป็นตำบล    สันป่าม่วงอีกครั้งหนึ่งโดยมี นายสมบัติ  นันทาทอง เป็นกำนันคนแรก ปี ๒๕๔๐ ตำบลสันป่าม่วงได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสันป่าม่วง มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านต๋อม และตำบลบ้านต๊ำ  อำเภอเมือง ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง ทิศตะวันออก ติดกับกว๊านพะเยา ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ทั้งหมด ๓๖ตารางกิโลเมตร หรือ  ๒๒,๕๐๐ ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ ๑๒ กิโลเมตร            

                คำขวัญประจำตำบลสันป่าม่วง

หัตถกรรมผักตบชวา   งามสง่าดอยบุษราคัม

เย็นฉ่ำน้ำตกขุนต๋อม   พรั่งพร้อมผักปลอดสารพิษ

 

  • บ้านผาช้างมูบ มีเรื่องเล่าว่า เดิมเป็นบ่อทองคำ ซึ่งมีลักษณะเหมือนช้างมูบใกล้หน้าผาเมื่อพระธุดงค์จาริกแสวงบุญผ่านมาคิดจะสร้างพระบรมธาตุบูชาพระพุทธเจ้าจึงใช้บาตรตักเอาทองคำไปเพื่อใช้เป็นทุนในการก่อสร้าง จากนั้นก็สร้างพระธาตุคลอบบ่อทองคำนั้น

     ปัจจุบันมีเขตปกครองอยู่ จำนวน ๘ หมู่บ้าน คือ บ้านผาช้างมูบ บ้านทุ่งต้นศรี บ้านสันปูเลย บ้านสันป่าม่วงใต้ บ้านสันป่าม่วงเหนือ บ้านแม่ต๋อมใน

 

๑.๑๓.ตำบลท่าวังทอง

            เดิมชื่อว่าบ้านศาลา (หลวง) เนื่องจากชาวบ้านท่าศาลา (หลวง) บ้านแม่ก๋ง ทุ่งม่าน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านบุญโยชน์ บ้านศรีชุม และตั้งชื่อบ้านว่า บ้านหล่ายอิง ต่อมาประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนที่ทำกินจึงได้อพยพไปตั้งที่แห่งใหม่เรียกว่า ท่าวังทอง มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านศาลาหนองหวี ชาวบ้านเล่าว่า มีตำนานคล้ายพระเจ้าหยั้งหย้อง คือมีหนองน้ำ  มีที่พัก และมีหวีใช้ตบแต่งผมของผู้คนที่สัญจรไปมาและพักก่อนเข้าเมืองพะเยา  บางตำนานบอกว่าเป็นเวียงเก่าชื่อว่าเวียงหนองหวี หรือเวียงแก้ว หรือเวียงบ้านศาลา ปัจจุบันพบแต่คูคันดิน ส่วนในตัวเวียงไม่เหลือซากโบราณสถานเอาไว้เลย พบแต่เพียงเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ เท่านั้น
  • บ้านเชียงทอง ชาวบ้านเคยไปร่อนหาทองคำและได้จำนวนมาก  เดิมมีชื่อว่า ท่าวังตอง มีเรื่องเล่าว่าเมื่อชาวบ้านกำลังบุกเบิกที่นาอยู่นั้น ไปขุนเจอทองคำขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย และเมื่อได้ทองแล้วชาวบ้านจะนำไปล้างที่บวกน้ำทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า บวกตาวตอง หรือ บวกล้างทอง นั้นเอง

            นอกจากนั้นแล้วยังมีบ้านเจดีย์งาม บ้านห้วยน้ำขาว บ้านป่าแดง บ้านหนองบึง บ้านแพะ บ้านดอกบัว บ้านร่องจ้อง บ้านท่าจำบอน บ้านน้ำขาว บ้านสันขะเจ๊าะ



[1] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๕.

หมายเลขบันทึก: 442799เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท