เรื่องเล่า เรียนรู้ ประทับใจ นำมาใช้ การศึกษาดูงาน เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย


การศึกษาดูงาน เมืองเพิร์ท  ประเทศออสเตรเลีย

๒๐ – ๒๕ พ.ค. ๒๕๕๔
------------------------------------------------------------


    การไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ความตั้งใจแรกไม่ใช่เมืองเพิร์ทประเทศออสเตรเลีย แต่เป็นประเทศญี่ปุ่น แต่ก่อนเดินทางสิบห้าวัน สึนามิก็เข้าถาโถมใส่เมือง  ของประเทศญี่ปุ่น ภาพทางโทรทัศน์ดูน่ากลัว แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบมากกว่ากลับเป็นเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งทำให้กำหนดการศึกษาดูงานต้องเลื่อนไปก่อน ในการไปครั้งนี้ คณบดีเปิดโอกาสให้หัวหน้างานต่างๆ ในระดับปฏิบัติได้มีส่วนร่วมในการศึกษาดูงานครั้งนั้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่การนำแนวคิดจาการที่ผู้บริหารไปศึกษามา สามารถนำมาถ่ายทอดสู่การปฏิบัติสามารถเข้าใจได้ตรงกัน

สามารถดาวโหลดไฟล์เอกสารได้ที่นี่

 
 


    การไปศึกษาดูงานครั้งนี้มีการวางแผนการศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ไปศึกษาดูงานอย่างดี มีการวางจัดกลุ่มตัวบุคคลว่าใครจะเรียนรู้ด้านอะไร ซึ่งในที่ประชุมกรรมการบริหารคณะศึกษาศาสตร์ คณบดีได้นำประเด็นแนวทางที่กรรมการบริหารคณะ เสนอในเรื่องของการพัฒนาเทคนิควิธีการสอนครู และการพัฒนาด้านไอทีสำหรับการเรียนการสอนมาเป็นเป้าหมายในการเดินทางไปครั้งนี้ ผมได้รับมอบหมายให้ศึกษาเกี่ยวกับด้าน หลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และทางด้านไอที
    ก่อนการเดินทาง ผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ไม่เคยเดินทางไปมาก่อน และมักจะได้รับข่าวสารว่าประเทศออสเตรเลียนั้นมีประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวพายุถล่ม เดี๋ยวไฟไหม้ป่า และช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก นึกในใจว่าถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นในต่างประเทศเราจะทำอย่างไร และแม้หลังจากเก็บกระเป๋าเตรียมขึ้นรถก่อนเดินทางไม่กี่นาที ก็มีข่าวว่าพายุเข้าที่เมืองเพิร์ท ทำให้อากาศเปลี่ยน ฝนตกหนัก อุณหภูมิตอนนี้ลดลงมาเหลือเลขตัวเดียว ทำอย่างไรดีล่ะ เสื้อกันหนาวก็ไม่ได้เตรียมมา มีแต่เสื้อสูทสำหรับใส่ดูงานเท่านั้นเอง เอาละนะเป็นไงเป็นกัน ไปตายเอาดาบหน้า แต่ไม่วายระหว่างเดินทางไปสนามบินขณะแวะร้านสะดวกซื้อพวกเราก็ยังซื้อร่มติดมือกันไปทุกคน


 
 

    การเดินทางครั้งนี้ เรานัดหมายกันออกจากคณะตอนเที่ยงวัน ไปขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิตอนสองทุ่ม ปรากฏว่าห้าโมงเย็นเราก็ถึงสนามบินกันแล้ว เครื่องบินโดยสายการบินสิงคโปร์ เครื่องออก(Depart)ตอนสามทุ่มไปเปลี่ยนเครื่อง(Transit)ที่สนามบินชางจี ประเทศสิงคโปร์ตอนเที่ยงคืนสิบห้านาที เราไปถึงชางจีตอนห้าทุ่มตรง กะว่าสบายๆ มีเวลาอีกหนึ่งชั่วโมง ที่ไหนได้ต้องวิ่งกระหืดกระหอบจากเทอร์มินอลหนึ่งไปเทอร์มินอล(Terminal)สาม เพราะมีเวลาเพียงสิบห้านาทีเนื่องจากสิงคโปร์เวลาเร็วกว่าเมืองไทย หนี่งชั่วโมง รวมทั้งที่เพิร์ทด้วย แป๋ง หัวหน้างานการเงินถามผมว่าเราบินไปเพิร์ทไกลกว่าสิงคโปร์ตั้งห้าชั่วโมงทำไมเวลาจึงต่างจากประเทศไทยแค่ชั่วโมงเดียว ผมก็เลยต้องกางแผนที่ในหนังสือของสายการบินให้ดูว่า เราบินไปเพิร์ทไกลก็จริง แต่ไปทางใต้ของโลก เราไม่ได้บินขวางไปทางซ้าย ซึ่งโลกเราแบ่งเขตเวลาตามการหมุนรอบตนเองของโลก ดังนั้น เราบินลงไปทางใต้ไกลก็จริง แต่โซนเวลาไม่ต่างกันมาก ยังอธิบายกันไมทันจบ แอร์สาวสวยของสิงคโปร์ในชุดประจำชาติลวดลายก็นำอาหารมาเสริฟให้เรา ซึ่งในวันนี้ต้องทานอาหารเย็นตอนสี่ทุ่ม และทานอาหารเช้าตอนตีสี่ ถึงไม่หิวก็ต้องทานและปรับตัว
เรามาถึงสนามบินนานาชาติ ที่เมืองเพิร์ทซึ่งเป็นสนามบินแบบชั้นเดียว ในตอนหกโมงเช้า อากาศเย็นจริงๆ ทุกคนรีบเปิดกระเป๋าเดินทางเพื่อหยิงเสื้อกันหนาวออกมาใส่กัน จากนั้นน้องนัฐ ไกด์หนุ่มรูปหล่อ ซึ่งสามารถสื่อสารภาษาออสซี่ได้ดีเนื่องจากมาเรียนที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่ไฮสคูล ก็พาออกมาขึ้นรถตู้ขนาดใหญ่ที่มีรถขนสัมภาระพ่วงท้ายสำหรับใส่กระเป๋าเดินทาง เราเดินทางออกจากสนามบินเพื่อไปล้างหน้า รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมสบาย (Comfort Hotel)

 
 

             เริ่มต้นด้วยการแวะทำความรู้จักเมืองเพิร์ทโดยขึ้นไปบนยอดเขาที่สามารถเห็นทัศนียภาพตัวเมืองได้โดยรอบ บรรยากาศท้องฟ้าสีฟ้าเข้มตัดกับปุยเมฆสีขาวลอยอ้อยอิ่ง สนามหญ้าที่ คิงพาร์คเขียวชอุ่ม ดูปลอดโปร่งสายตา ทำให้บรรดาตัวแล้ง (หมายถึงพวกเราที่ไปที่ไหนฝนไม่ตกที่นั่น) ขนาดก่อนหน้าที่พวกเราจะมาที่นี่เราไป สัมมนาพัฒนาบุคลากร กันที่เกาะกูดจังหวัดตาก ก่อนจะไปฝนตกไม่ลืมหูลืมตา แต่พอพวกเราเหยียบขึ้นเกาะ ฟ้าก็โปร่งฝนหยุดตกทันที  ส่วนที่นี่ก็เหมือนกันฝนฟ้าหยุดตกตั้งแต่เราเหยีบเมืองเพิร์ท
จากคิงพาร์ค เราเลือกที่จะไปเรียนรู้วิธีการจัดการแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ของเมืองเพิร์ทที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับความรู้ของพลเมืองของเค้าตั้งแต่วัยเด็ก โดยจัดแสดงศิลปและวิทยาการความก้าวหน้า รวมเข้าไว้ด้วยกันในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่นี่ตั้งแต่ก้าวย่างเข้าไป พิพิธภัณฑ์จัดพื้นที่แสดงสื่อผสมที่มีจอคอมพิวเตอร์ร่วมกับกลองไฟฟ้าให้เด็กๆ ได้กระหน่ำไม้กลองตามจังหวะดนตรีอย่างสนุกสนาน เรียกความสนใจให้กับเด็ก หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างพวกเรา ส่วนด้านประตูทางออกพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงภาพถ่ายสวยๆ อัดขยายขนาดใหญ่ ใส่กรอบสีพื้นๆ อย่างสีดำ รองพื้นกรอบรูปให้เด่นขึ้นด้วยสีดำ เล่าเรื่องชีวิตธรรมชาติของสัตว์ ต้นไม้พื้นเมืองของเพิร์ทผ่านภาพถ่ายอันสวยงาม ทำให้คอถ่ายภาพอย่างผมอดไม่ได้ที่จะต้องมนต์สะกดนั่งชื่นชมอย่างมีความสุข

 
 

               ส่วนอีกห้องหนึ่งเป็นที่เก็บสัตว์สต๊าฟ และโครงกระดูกของสัตว์หายากของท้องถิ่นนี้ กวางเลนเดียร์เขาสวยงาม คูปรีย์ ปลาดาวรูปทรงแปลกๆ หรือแม้กระทั่งหอยมุกตัวเบ้อเริ่ม ส่วนด้านนอกห้องที่จัดฝาผนังให้เด็กๆ ได้แสดงฝีมือศิลปะอย่างสวยงาม จนพวกเราอดไม่ได้ที่จะต้องชักภาพไว้เป็นที่ระลึก    จากพิพิทธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พวกเราไปเรียนรู้กันต่อกับวิถีชีวิตของคนเมืองติดทะเล อย่างพิพิธภัณฑ์มารีน ที่รวบรวมเรือต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณ มีแม้กระทั่งเรือดำน้ำ และตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ตั้งอยู่ติดริมทะเลสวยงาม ซึ่ง ณ ที่นี่เอง ที่คณบดี นัดพบกับอดีตเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์วิทยบริการเพชรบูรณ์ อิฐ ซึ่งพบรักกับหนุ่มออสซี่และย้ายถิ่นฐานมาพำนักอยู่ที่นี่เป็นการถาวร

 

ส่วนช่วงเย็นเราแวะชมวิถีชีวิตของชาวเมืองในตลาดผัก ผลไม้ ซึ่งทำให้เราได้หวานอร่อยลิ้นกับรสชาดของ ลูกพลับสดๆ แอปเปิ้ล เขียว แอปเปิ้ลแดง ส้มฟรีม๊อง รวมทั้ง แวะลงไปชมสวนผลไม้ ต้นพลับเริ่มทิ้งใบสีส้มสดเต็มพื้นสร้างบรรยากาศโรแมนติกให้พวกเราชักภาพกันคนละรูปสองรูป ทำให้นึกถึงว่าประเทศนี้ช่างเหมือนกันสหรัฐอเมริกา ทั้งผลไม้ การจัดตลาด บ้านเมือง ร้านรวงคล้ายกันมาก เพียงแต่รู้สึกว่าจะมีความปลอดภัยกว่า ตลอดการเดินทางเราไม่เห็นคนจรจัดเลย หนุ่มสาวที่นี่แต่งตัวกันด้วยโทนสีขาวและดำคล้ายประเทศอังกฤษเหมือนไว้ทุกข์ให้ใครทั้งเมือง โดยเฉพาะ เมื่อเราไปทานอาหารเย็น แล้วร้านตรงข้ามมีงานแต่งงานของบ่าวสาวชาวจีน บรรดาเพื่อนๆของเจ้าสาวที่เป็นฝรั่ง ต่างแต่งกายด้วยสีดำทั้งสิ้น จะมีสักคนสองคนที่เป็นอาหมวยที่แต่งกายด้วยสีแดง ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีนที่ จะถูกจะแพงต้องขอให้แดงไว้ก่อน

 
 

               อาจารย์ที่มาต้อนรับการดูงานของพวกเราก็บอกกับพวกเรา ว่าร้อยละหกสิบของนักศึกษาที่มีเรียนที่นี่เป็นคนเอเชีย ซึ่งหนึ่งในชาวเอเซียที่มาเรียนมากที่สุด คือชาวจีน ส่วนชาวไทยอย่างเราน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับชาวเอเชียทั้งหม,

 
 

              หลังจากเข้าที่พักที่โรงแรม ผมลองออกไปเดินสำรวจรอบๆ โรงแรม ปรากฏว่า ที่นี่หลังห้าโมงเย็นไปแล้วร้านค้าขายต่างๆ เริ่มปิด เค้าบอกว่าที่นี่ค่าแรงแพงมาก ซึ่งสังเกตุได้ว่า การเดินทางมาประเทศนี้ ไม่มีไกด์ท้องถิ่นมานำเราเดินทางเหมือน จีน หรือเกาหลี เมื่อเราเข้าที่พักก็ไม่มีพนักงานขนกระเป๋า คนขับรถที่มารับพวกเราทำหน้าที่ทั้งขับรถ ขนกระเป๋าลง และเป็นมคคุเทศก์ แนะนำไปด้วยในคนคนเดียว   ดังนั้นการไปเดินสำรวจรอบโรงแรมยามค่ำคืนจึงพบแต่บรรยากาศเงียบเหงา ไร้ผู้คน

 
 

            พอวันรุ่งขึ้นคน พนักงานขับรถบอกพวกเราว่าวันนี้เป็นวัน “รันฟัน” (run fun) ซึ่งพวกเราก็ยังงงๆ ว่ามันคืออะไร พอรถเคลื่อนที่ไป ถนนหลายสายมีป้ายบอกว่าถนนปิด แต่สิ่งที่เห็นในถนนฝั่งริมแม่น้ำ คือ ชาวเมือง นับหมื่นคน แต่งกายด้วยสีโทนน้ำเงินเป็นส่วนใหญ่ วิ่งตามกันเป็นทิวแถว เพื่อร่วมงาน รันฟัน หลายคนในกลุ่มพวกเรา บอกว่าหายสงสัย ว่าทำไมเมื่อคืนจึงไม่มีผู้คน เค้าพักผ่อนเตรียมตัวไว้สำหรับวันวิ่งวันนี้นี่เอง ประชากรที่นี่ หนึ่งล้านหกแสนคน เมื่อเทียบกับพื้นที่ต่อประชากรแล้วถือว่าหนาแน่นน้อยมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพเมืองฟ้าราตรี ที่ไม่เคยหลับไหล คนขับรถขับพาพวกเราไปตามเส้นทางหุบเขามองไปสองข้างทาง ต้นไม้ทำไมดูเตี้ยๆ เหมือนบอนไซ แต่ใหญ่กว่า ต้นสน ต้นไม้ดูแล้วคล้ายทะเลทราย ขณะที่เราเพลินกับต้นไม้สองข้างทาง เรามองเห็นสัตว์หน้าตาแปลกๆ ไม่เหมือนบ้านเรา มองไกลๆ คล้ายๆวัว แต่ทำไมวัวเดินสองขา มีใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่าใช่จิงโจ้หรือเปล่า เราเพ่งพิจารณา ก็พอดีที่รถก็เข้ามายังสวนสัตว์ของเอกชน ซึ่ง ณ ที่นี่เองพวกเราทุกคนตื่นเต้นสนุกสนานกับการได้ให้อาหารจิงโจ้ตัวเป็นๆ กับมือเรา ซึ่งพวกมันน่ารักมาก เชื่อง และไม่กลัวคน รุมล้อมกินอาหารเม็ดจากมือพวกเรา อย่างรู้งาน

 
 

               จากสวนจิงโจ้ ไกด์สวนสัตว์สาวสวยที่มีลีลาเดินถอยหลังในขณะอธิบาย ให้ข้อมูลความรู้ สร้างความสุขให้กับคณะเรา จนคณบดีอดที่จะหยอกล้อในลีลาการเดินถอยหลังของเธอว่า “หลังจากเลิกงานแล้วเธอเดินถอยหลังกับบ้านหรือเปล่า” สร้างเสียงหัวเราะให้กับพวกเรา

 
 

                หลังจากให้อาหารจิงโจ้มัคคุเทศก์สาวน้อยชาวออสซี่ที่รู้จักสัตว์พื้นเมืองประเภทต่างๆ ก็พาพวกเราเข้าไปชมการสาธิต สุนัขแสนรู้ที่ต้อนแกะเข้าคอก และการสาธิตการตัดขนแกะ ซึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทำมาจากคนแกะ และผมได้มีโอกาสลองไปสาธิตก็คือแส้แบบคาบอย ที่ให้เราหมุนวนแล้วจะมีเสียงดังเหมือนฟ้าผ่าถ้าเราตวัดกลับ แต่ลองอยู่สามรอบผมก็ไม่สามารถทำให้มันมีเสียงได้

 
 

              เป้าหมายหลักของการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ อยู่ที่มหาวิทยาลัยอีดิทโคแวน (Edith Cowan University) เพิร์ทตะวันตก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าที่ก่อกำเนิดจากการเป็นวิทยาลัยครูมาก่อนคล้ายกับมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ที่เพิร์ท และเลขาธิการกระทรวงศึกษาธิการของที่เพิร์ทให้การต้อนรับเรา มีอาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งสามารถพูดไทยได้คล่องถามดูปรากฏว่าเป็นลูกครึ่งไทยออสเตรเลีย ทางผู้ต้อนรับนำเสนอให้เราเห็นว่าเพิร์ทเป็นเมืองที่น่ามาเรียน มีค่าครองชีพต่ำเมื่อเทีบกับเมืองหลักๆ ของโลก อย่างลอนดอน นิวยอร์ค และซิดนี่ แต่ในใจผมลองคำนวณเทียบค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยแล้วถือว่ายังแพงมาก

 
 

              อีดิทโคแวนผลิตครูในหลักสูตร ๔ ปี ในขณะที่บ้านเราเปลี่ยนเป็น ๕ ปี และกำลังขยับเป็นครูวุฒิปริญญาโทแบบ ๖ ปี การรับเข้ารับนักเรียนอายุ ๑๘ ปี ที่ได้รับการตรวจสอบประวัติทางอาญาแห่งชาติ (Criminal Record Check (CRC) ) ก่อนที่เข้าเรียนในวิชาชีพครู โอ้โห เค้าเอาจริง แฮะ มีสถาบันตรวจสอบประวัติทางอาญาแห่งชาติ ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเราจะต่างกันที่ ที่นี่จะตรวจสอบก่อนเข้าเรียน แต่ที่บ้านเราจะตรวจสอบก่อนเข้าทำงาน เพราะจำได้ตอนที่ผมไปบรรจุเป็นครูก็จะมีการทำประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจ

 
 

              ผมเปิดดูหลักสูตรในระดับปริญญาตรี (Undergraduate) เพื่อดูว่าที่นี่เค้ามีเปิดสอนสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเหมือนบ้านเราไหม  ก็พบว่าอีดิทโคแวนจัดเทคโนไว้ในสาขา ศิลปศาสตร์ (Bachelor of Art) โดยใช้ชื่อว่า “Bachelor of Arts [Education] Bachelor of Creative Arts (Design & Technology or visual Arts or Information Technology or Drama & Performance)” ผมนึกในใจนี่เค้าจะผสมพันธ์ดัดแปลงสปีชี่ใหม่หรือยังไง ถึงจับรวมเทคโนไปไว้ใน การออกแบบและเทคโนโลยี หรือ ทัศนศิลป์ หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ การละคร หรือการแสดง

 
 

                   ในรายละเอียดกลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไป แปลกตรงที่อีดิทโคแวน ไม่มีวิชาการศึกษาทั่วไป การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ปรัชญา หรือ สารนิเทศเหมือนมหาวิทยาลัยนเรศวร  แต่ อีดิทโคแวน จัดวิชาชีพครู วิธีสอน การจัดการห้องเรียน เป็นวิชาการศึกษาทั่วไป ส่วนวิชาเอกจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ คือ กลุ่มทัศนศิลป์ ก็จะเรียนทางด้าน ศิลปะ เช่น ศิบปร่วมสมัย สตูดิโอ เซอรามิก สิ่งพิมพ์ เพนต์ติ้ง กลุ่มการละครและการแสดง ก็จะเรียนเกี่ยวกับ ทักษะ การแสดง การละคร กลุ่ม การออกแบบและเทคโนโลยี จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบการสื่อสาร การออกแบบสื่อและเทคโนโลยี การออกแบบระบบ สื่อโสตทัศน์ การออกแบบโครงการ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียนเกี่ยวกับ เทคโนโลยีดิจิตอลและการสื่อสาร หลักการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ระบบ การถ่ายภาพดิจิตอล โทรทัศน์ดิจิตอล การสร้างเว็บ มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ เว็บแอบพลิเคชั่นระดับสูง ดาต้าเบส และโครงงาน ส่วนวิชาโท จะเป็น รายวิชาเกี่ยวกับศิลปะการศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษา เต้นรำ การละครและการแสดง ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษา งานบ้าน ฟิสิกส์ เพลง วิทยาศาตร์ศึกษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา

 
 

                พวกเราสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการศึกษากันอย่างออกรส และหนึ่งในประเด็นคือเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู ในเอกสารมาตรฐานของวิชาชีพครูของสถาบันออสเตรเลียเพื่อความเป็นผู้นำการเรียนการสอนและโรงเรียน (Australian Institute for Teaching and School Leadership) หรือเรียกย่อๆว่า AITSL กล่าวถึงมาตรฐานครูของออสเตรเลียไว้ เจ็ดประเด็น ประเด็นที่หนึ่งว่าด้วยคนเป็นครูต้องรู้ความต้องการของผู้เรียนว่าผู้เรียนอยากจะเรียนรู้อะไร และจะเรียนรู้อย่างไร  ประเด็นที่สองรู้เนื้อหาและวิธีการสอน ประเด็นที่สามมีการวางแผนและดำเนินการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ประเด็นที่สี่ สร้างและจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ประเด็นที่ห้า ประเมินผล ให้คำแนะนำ และรายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน ประเด็นที่หก การสั่งสมเป็นมืออาชีพด้านการเรียนรู้ ส่วนประเด็นที่เจ็ด คนเป็นครูต้องรู้ ทั้งเรื่องครอบครัว ของนักเรียน ชุมชนรวมทั้ง สั่งสมความเป็นมืออาชีพร่วมกับเพื่อนร่วมงาน

 เปรียบเทียบมาตรฐานครูของประเทศไทยกับออสเตรเลีย
 
ออสเตรเลีย
ประเทศไทย
๑.เรียนรู้นักเรียนและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
1. Know students and how they learn
 มาตรฐานที่ ๑ ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
๒. รู้เนื้อหาและวิธีการสอน
2. Know the content and how to teach it
มาตรฐานที่ ๒ การพัฒนาหลักสูตร
๓.แผนและดำเนินการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
3. Plan for and implement effective teaching and
learning  
มาตรฐานที่ ๓ การจัดการเรียนรู้
๔.สร้างและจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัย
4. Create and maintain supportive and safe
learning environments   
มาตรฐานที่ ๔ จิตวิทยาสำหรับครู
๕. ประเมินผล ให้คำแนะนำ และรายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน
5. Assess, provide feedback and report on
student learning  
มาตรฐานที่ ๕ การวัดและการประเมินผล
๖. สั่งสมเป็นมืออาชีพด้านการเรียนรู้
6. Engage in professional learning   
มาตรฐานที่ ๖ การบริหารจัดการในห้องเรียน
๗. สั่งสมความเป็นมืออาชีพร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว ผู้ปกครอง และชุมชน
7. Engage professionally with colleagues,
parents/careers and the community 
มาตรฐานที่ ๗ การวิจัยทางการศึกษา
  มาตรฐานที่ ๘ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
  มาตรฐานที่ ๙ ความเป็นครู



    การไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนเมาท์ ลอลี่ ซีเนี่ย (Mount lawley senior high school) ซี่งอยู่ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยการจัดห้องเรียน เมื่อเดินเข้าไปในอาคารเรียน ห้องเรียนจะถูกจัดเป็นสี่มุม ห้องเรียนแต่ละห้องจะกั้นไว้ด้วยกระจกใสแบบบานเลื่อนที่สามารถมองเข้าไปเห็นห้องเรียนทั้งสี่ห้อง ส่วนพื้นที่ตรงกลางห้องจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันของนักเรียนทุกห้อง ซึ่งจะเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับนักเรียนทำกิจกรรมที่ครูสั่ง หรือเป็นพื้นที่กิจกรรมยามพักว่างระหว่างชั่วโมง ซึ่งเวลาว่างพักระหว่างชั่วโมงเรียนที่นี่จะให้พักถึง ๒๕ นาที

 

 


Figure 1 การออกแบบห้องเรียนของ Mount LawLey Seneior High School


             ที่นี่จัดการศึกษาแบ่งเป็นสี่ภาคเรียน ภาคเรียนละ ๑๐ สัปดาห์ ภาคเรียนต้นเริ่ม ตั้งแต่ ต้นกุมภาพันธ์ ไปจบ กลางเมษายน ภาคเรียนที่สอง เริ่ม ต้น พฤษภาคม ไปจบ ต้น กรกฎาคม ภาคเรียนที่สาม เริ่ม ปลาย กรกฎาคม ไปจนถึง สิ้นเดือนกันยายน และเริ่มภาคเรียนที่สี่ กลางเดือนตุลาไปจบตอนกลางเดือนธันวาคม ก่อนคริสมาตร์ คาบเรียนแบ่งเป็น หกช่วง เริ่มตั้งแต่ ๘.๓๐ -๘.๔๕ เริ่มเรียนคาบแรกตอน ๘.๔๕ สองคาบ คาบละ ๕๐ นาที พัก ๒๕ นาที เรียนต่ออีกสองคาบ พักตอนเที่ยงครึ่ง  พักกินข้าวกลางวันแค่ ๓๕ นาทีเอง น้อยจัง เรียนต่ออีกสองคาบ เลิกเรียนตอนบ่ายสองห้าสิบ ทำไมเค้าเรียนกันน้อยจัง เลิกเรียนตั้งแต่บ่ายสอง แล้วอย่างนี้นักเรียนไม่หนีไปอยู่ตามห้าง ตามร้านเกมแบบบ้านเรารึ

 

    ที่นี่ตึกเรียนจะมีสีสันสดใสสวยงาม ทางด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเรียนทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทั้งเครื่องฉาย การเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์ค ดูแล้วไม่ต่างจากบ้านเรา แต่การเรียนการสอน นักเรียนจะได้รับแจกเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในการเรียน แต่ไม่สามารถนำกลับบ้านได้ โดยทางโรงเรียนจะทำตู้เก็บ พร้อมที่ชาร์จ สังเกต ที่โรงเรียนจะเลือกคอมพิวเตอร์ แมคอินทอชให้กับนักเรียน โดยเป็นแบบโน้ตบุ๊ค ส่วนอาจารย์จะใช้โน้ตบุ๊คแบบวินโดวส์

 



ข้อมูลอ้างอิง
1.    Edith Cowan University website http://www.ecu.edu.au/
2.    National Professional Standards for Teachers February 2011 http://www.aitsl.edu.au
3.    Edith Cowan University Interactive Map http://www.ecu.edu.au/fas/map/view.php?map=josite
4.    Mount lawley senior high school http://www.lawley.wa.edu.au/
5.    Video Field Trip http://www.youtube.com/watch?v=RD-FikCfkr0
6.    ศึกษาดูงาน Edith Cowan University http://www.youtube.com/watch?v=asagAIdpUXQ
7.    National Criminal History Record Check http://www.det.wa.edu.au/
8.   

หมายเลขบันทึก: 442766เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กิจกรรมดีๆแบบนี้ไม่ชวนเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท