สาเหตุสำคัญของภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง
ในมุมมองของแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคของผู้ป่วยได้มองถึงโรคเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องภายหลังเกิด(Acquired Immunodeficiency Syndromes : AIDS) ซึ่งมีเชื้อไวรัสเอดส์เข้าไปทำลายเซลที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้สร้างภูมิคุ้มกันโรคในคนไม่ได้มีผลให้เซล เนื้อเยื่อและอวัยวะถูกรุกรานด้วยโรคร้าย แล้วทำให้อวัยวะต่างๆเสื่อมลงและล้มเหลวจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงในที่สุด โดยเฉพาะเชื้อโรคฉวยโอกาสที่เมื่อปกติภูมิคุ้มกันของร่างกายดีจะไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ เมื่อเจ็บป่วยแทรกซ้อนด้วยโรคหลายๆโรคก็ส่งผลให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานล้มเหลว(failure)เช่นระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว(หัวใจวาย) ระบบกำจัดของเสียในร่างกายล้มเหลว(ตับหรือไตวาย) เป็นต้น เมื่อใช้มุมมองของแพทย์มามองสังคมไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสังคมได้ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง(Social immunodeficiency syndrome)หรือSIDS ถ้าอ่านตรงตัวจะเรียกว่าโรคซิดส์ แต่ผมขอเรียกแบบไทยๆว่าโรคซีดก็แล้วกัน สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะซีด(เซียว) ทำให้สังคมขาดภูมิคุ้มกัน(Immune)ต่อสิ่งชั่วร้ายต่างๆเกิดอาการเจ็บป่วยออกมามากมายหลายอย่างที่เริ่มแสดงว่าระบบต่างๆของสังคมเริ่มล้มเหลว(failure) เช่นระบบการศึกษา ระบบการเมือง ระบบสาธารณสุข ระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ ระบบศาสนาและวัฒนธรรม ระบบคุณธรรม เราจึงได้เห็นภาพที่เป็นอาการจากระบบเหล่านี้ล้มเหลวมากมาย เช่นครอบครัวแตกแยก อบายมุข ยาเสพติด แพทย์พาณิชย์ พระประพฤติผิดวินัย พุทธพาณิชย์ มหาวิทยาลัยขายปริญญา คอรัปชั่น ปัญหาทางเพศ อาชญากรรม การยกย่องเงินมากกว่าความดี นักเรียนนักเลง วิกฤตพรรคการเมือง วิกฤติองค์กรอิสระฯลฯ นอกจากนี้ยังเกิดโรคฉกฉวยโอกาสทางสังคม(Social opportunistic diseases)ที่เริ่มลุกลามจนคุมได้ยากเกิดการหวาดระแวงกัน เช่นปัญหาไฟใต้ ที่ทำให้ไทย(พุทธ)ห่างไทย(มุสลิม) ปัญหาไข้หวัดนกที่ทำให้คนห่างจากสัตว์เลี้ยง ปัญหาโรคเอดส์ที่ทำให้คนห่างคนเพราะไม่ไว้ใจกันกลัวเป็นเอดส์ ปัญหาเหล่านี้จะขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งร้ายของสังคม(Social cancer) สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เซล(บุคคล) เนื้อเยื่อ(ครอบครัว)และอวัยวะ(ชุมชน)อ่อนแอลง และอาจส่งผลให้สังคมล่มสลาย(ตาย)ได้ ถ้าไม่ได้รับการเยียวยารักษาอย่างถูกต้องแม้จะยังมีบุคคล ครอบครัวและชุมชนที่ดีๆอยู่แต่เมื่อระบบล้มเหลวที่ยังดีๆอยู่ก็จะพลอยแย่ไปด้วย
โรคเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลที่สร้างภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายขาดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคแล้วเกิดความเจ็บป่วยล้มตายขึ้น แต่ในส่วนของสังคม ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสังคมขาดภูมิคุ้มกัน(Social immune) สำคัญ 3 ประการคือความไม่รู้(ขาดการเรียนรู้) ความไม่รัก(ขาดความรัก)และความไม่อดทน(ขาดความอดทน) นั่นคือเราขาดการเติมวัคซีนทางสังคม(Social immunization) 3 ตัวคือความรู้ ความรักและความอดทน ที่สามารถหาได้โดยไม่ต้องซื้อหาไม่ต้องลงเงินแต่ต้องลงแรงที่เราได้ละเลยกันไป
ในเรื่องความไม่รู้หรือขาดความรู้ ไม่ใช่แค่การศึกษา(Education)แต่เป็นการเรียนรู้(Learning) ความรู้ที่มีค่ายิ่งแห่งชีวิตขาดหายไปนั่นคือการเรียนรู้ในการดำรงชีวิตจากพ่อแม่คนในครอบครัว ในชุมชน เรียนรู้การมีชีวิตอย่างมีคุณค่าตามประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะเด็กถูกผลักดันออกห่างจากอ้อมอกครอบครัวออกไปฝากกับครูที่โรงเรียนตั้งแต่ยังเล็กที่มุ่งสอนแต่แบบเรียนที่ไกลตัวเอาแต่ท่องจำตำราเรียนที่ไม่สอดคล้องกับตำราชีวิต เด็กจึงมีความห่างไกลจากความเป็นจริงของชีวิต มีคนบอกว่าปัญหาของสังคมไทยมีปัญหาหลักๆอยู่ 3 ประการคือโง่ จน เจ็บ โดยทั้ง 3 อย่างนี้จะส่งผลซึ่งกันและกันกลายเป็นวัฏจักรแห่งความเชื่อร้ายในสังคม(Vicious cycle) ดังรูป
ในความเห็นผมมองคล้ายกันแต่น่าจะเรียกว่าเป็นไม่รู้ ไม่มี ไม่แข็งแรง เพราะไม่รู้ ไม่ได้แสดงว่าโง่เสมอไป คนฉลาดแต่ก็อาจไม่รู้ได้ เมื่อไม่รู้ก็จะถูกหลอกง่ายทั้งการถูกหลอกที่ไม่รู้ตัวและรู้ตัว คนที่ไม่รู้จึงมีทั้งคนที่จบปริญญาและไม่จบปริญญา จากวัฏจักรดังกล่าวเมื่อไม่รู้ ก็จะยากจน เมื่อยากจน กินอยู่ไม่ดี ไม่ดูแลตนเองก็จะเจ็บป่วยง่าย เมื่อวิเคราะห์สาเหตุจริงๆแล้วจะพบว่าความไม่รู้จะเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมอื่นๆเพราะเมื่อไม่รู้จะทำให้เกิดความยากจน เมื่อไม่รู้จะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายขึ้น เมื่อไม่รู้จะทำให้ขาดโอกาสทางสังคม ดังนั้นน่าจะสรุปได้ว่าปัญหาสังคมไทยเกิดจากความไม่รู้ สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดการเรียนรู้และขาดการจัดการความรู้ จึงทำให้เราตัดสินปัญหาด้วยความรู้สึกหรือความเห็นมากกว่าความรู้ เมื่อตัดสินด้วยความเห็นผู้ที่มีอำนาจก็มักจะใช้ความเห็นของตนเองเป็นหลักและคนอื่นๆก็จำต้องยอมรับด้วยเพราะเกรงกลัวอำนาจที่มีมากกว่าเกิดเป็นวัฒนธรรมอำนาจ นโยบายอยู่เหนือเหตุผล ปัญหาหลายๆปัญหาจึงถูกแก้อย่างไม่ตรงจุด และไม่ได้แก้ที่ตัวสาเหตุของปัญหาทำให้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขอาการของปัญหาได้บ้างแต่ส่งผลกระทบอย่างอื่นตามมา การแก้ไขปัญหาจากอาการหรือตัวปัญหาโดยไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุ ดังเช่นการเริ่มต้นแก้ที่จน(แทนที่จะแก้ที่โง่หรือไม่รู้)โดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง เงินเป็นสิ่งสมมุติที่มีค่าก็จริง แต่ไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง การเอาเงินเป็นตัวตั้ง ต่างคนต่างก็แย่งกันหาเงิน พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้มาซึ่งเงินทั้งการหลอกล่อแบบถูกกฎหมายโดยใช้การโฆษณาเป็นสื่อ หรือการใช้อภิสิทธิ์ต่างๆเพื่อดึงดูดเงินไปเข้าหาตัวเองให้มากที่สุด เมื่อไม่มีทางที่สุจริตที่กฎหมายยอมรับก็เลยต้องทำผิดกฎหมาย เมื่อต่างคนต่างก็แก่งแย่งกันหาเงิน น้ำใจที่เคยมีความเอื้ออารีที่เคยให้กัน ก็หมดหายไป เคยเอาใจเอาสมองมาลงขันร่วมแรงกันก็กลายเป็นแค่จ่ายเงินทุกอย่างก็จบ ใครไม่มีเงินจ่ายก็เหนื่อยแรงเหมือนกับคำพูดที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน เพราะคนมีเงินทำผิดก็ซื้อ(จ่ายเงิน) โดยไม่ต้องรับโทษ สามารถประกันตัวเองได้จากเงินและหลักทรัพย์ คนจนไม่มีจะกินลักซาลาเปาลูกเดียวก็ติดคุก ปัญหาโสเภณี ยาเสพติด จึงเกิดจากการใช้เงินเป็นสำคัญ ในการแก้ปัญหาสังคมที่ซับซ้อนไม่สามารถแก้ง่ายๆด้วยการใส่เงินเข้าไปยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนกว่าตามมาอีก เหมือนกับเป็นโรคแล้วให้ยารักษาผิดแทนที่จะหายอาการของโรคกลับจะทรุดหนักลงไปอีก ความล่อแหลมในการแสดงออกทางเพศ ภาพโป๊ เปลือยต่างๆ ที่มักอ้างว่าเป็นศิลปะก็เพื่อเงิน เหมือนการขายเรือนร่างให้เล้าโลมทางสายตา แล้วมาบอกว่าใจกล้า ซ่าส์ ตามสไตล์คนรุ่นใหม่ เปิดรายการยั่วยุกันอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางกระแสการแข่งขันกันหาเงินของสถานีทีวีช่องต่างๆที่นับวันจะหาสาระทางความคิดความรู้น้อยลง มุ่งเน้นที่กระตุ้นเร่งเร้าความรู้สึกหรือความอยากอย่างเดียว(กระตุ้นต่อมอยากแดก) ในแวดวงนักร้องก็เน้นเรือนร่างและท่าเต้นการแต่งกายที่ล่อแหลมยั่วยุกามารมณ์ หารู้ไม่ว่าผู้ชายจะถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากการมองเห็นเมื่อเกิดความอยากขึ้นมา ความยับยั้งชั่งใจจะหดหาย ยิ่งเมื่อดื่มเหล้าหรือเสพยาสติสัมปชัญญะยิ่งไม่มีเหลือที่จะรู้ชั่วรู้ดี ส่วนผู้หญิงเมื่อได้รับการกระตุ้นมากๆฮอร์โมนเพศจะออกมาเยอะทำให้เป็นสาวเร็วและถูกฝังอยู่ในใจให้อยากเรียนรู้ทางเพศ ปัญหาท้องไม่มีพ่อ มั่วเซ็กซ์ ข่มขืน เพศสัมพันธ์ในเครือญาติ จึงเกิดขึ้นได้ไม่เว้นแต่ละวัน ในแวดวงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็แข่งกันเปิดสารพัดหลักสูตรที่เรียนง่ายจบง่ายค่าใช้จ่ายแพง อ้างขยายวิทยาเขตเพื่อกระจายความรู้สู่ภูมิภาคแต่เบื้องหลังก็เป็นเพราะการมีรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำของสถาบันและอาจารย์ การมาสอนภาคพิเศษที่ลูกศิษย์ต้องเทคแคร์กันอย่างดีทั้งที่อาจารย์ไม่ได้บังคับแต่ลูกศิษย์ก็เต็มใจทำ(จ่าย)เมื่ออยู่ต่อหน้าแล้วค่อยด่าลับหลังเพราะกลัวไม่ผ่าน ทำให้ความเคารพนับถือกันระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์ลดลงไป ในด้านสุขภาพก็พยายามเร่งเร้าเอาเงินจากกระเป๋าคนมีเงินจากสารพัดบรรดาวิธีหรือสารพัดผลิตภัณฑ์เสริมที่อ้างอิงเพื่อสุขภาพดี ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าสุขภาพดีซื้อได้ด้วยเงิน ต้องตรวจโน่นเจาะนี่ บำรุงบำเรอตนเองด้วยยา อาหารเสริมสารพัดที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลจริงแค่ไหน แต่เชื่อตามที่เขาเล่าว่า คนจนคนรวยแห่แหนซื้อหากันยกใหญ่โดยไม่ใส่ใจการสร้างสุขภาพที่แท้จริงเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็เลยสรรหาสารพัดวิธีที่จะยื้อยุดชีวิตแต่ไม่คิดป้องกันสร้างสุขภาพด้วยตนเอง แม้แต่คนในวิชาชีพด้านสุขภาพหลายต่อหลายคนยังสามารถสร้างกำไรได้อย่างงดงามจากการเป็นตัวแทนของเหล่าผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยอาศัยความเชื่อของคนที่มีต่อวิชาชีพ ในด้านการสร้างสุขภาพก็กลายเป็นการสร้างภาพมากกว่าสร้างสุข คิดแต่จะทุ่มเทงบประมาณมากมายไปกับการรณรงค์สารพัดเรื่อง คนที่มาร่วมส่วนใหญ่ก็เกณฑ์มา ที่มาด้วยใจและเห็นความสำคัญจริงๆน้อยมาก พร้อมกับความภาคภูมิใจในตัวเลขรายงานผลงานที่ดีๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของประเทศก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องเพราะเราใช้เงินสร้างสุขภาพไม่ได้ใช้ใจหรือปัญญาสร้างเลยไม่ยั่งยืน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาความไม่รู้ ไม่รู้ทั้งสาเหตุของปัญหาและไม่รู้ทั้งวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่รู้จักการเรียนรู้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมของความเห็น ไม่ใช่สังคมแห่งความรู้ การเน้นความรู้สึกมากกว่าความรู้ ลอกเลียนรูปแบบโดยไม่ใส่ใจแนวคิด การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยให้ทำตามที่อาจารย์สอนก็พอ ไม่เน้นความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ ครูอาจารย์มีอัตตาสูง การทำวิทยานิพนธ์จะตอบสนองความต้องการของตนเองมากกว่าตอบสนองต่อสังคม อาจารย์ไม่มีเวลาให้ นักศึกษาก็ต้องการแค่จบจนต้องมีการจ้างทำวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยบางแห่งที่อ้างว่าจบยากก็ไม่ได้ยากด้วยความลุ่มลึกทางวิชาการแต่ยากด้วยขั้นตอนกระบวนการที่ไม่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ขั้นตอนยุ่งยาก กว่าจะได้พบตัวอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละครั้งยุ่งยากเพราะอาจารย์มักจะอ้างไม่มีเวลา บางคนถึงกับบอกว่าเลือดตาแทบกระเด็น พอเจออาจารย์ที่ปรึกษาแทนที่จะได้ปรึกษาบางคนก็มาบ่นๆด่าๆแถมไม่แนะนำแล้วบอกให้ไปค้นคว้าเองกว่าจะถูกใจอาจารย์ได้แทบแย่ การที่บอกว่าจบยากแล้วบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อจึงไม่แน่เสมอไป ในเด็กเล็กๆก็เจอปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเพราะบางครั้งต้องเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบและไม่ตรงกับวัยเด็ก จนขาดการเรียนรู้ชีวิตจริงในท้องถิ่นและในครอบครัว ต้องเรียนพิเศษเพื่อจะได้ท่องจำได้มากกว่าเพื่อนคนอื่นจะได้คะแนนดีเป็นที่ชื่นชอบใจของพ่อแม่ ครูก็ต้องเคี่ยวเข็ญเด็กให้ท่องได้เพราะถ้าคะแนนไม่ดีโรงเรียนก็จะถูกผู้ปกครองเด็กว่าและอาจย้ายโรงเรียน มีผู้ปกครองบางคนมาเล่าว่าลูกอยู่ชั้นป. 1 ต้องเรียนพิเศษค่ำมืดทุกวัน จะไม่เรียนก็ไม่ได้เพราะเด็กคนอื่นเขาเรียนกัน ถ้าไม่เรียนก็จะตามเพื่อนในห้องไม่ทัน ใครเรียนครูก็จะเฉลยข้อสอบบอกให้ พอทำข้อสอบในห้องเรียนก็ทำข้อสอบได้เก่ง แต่พอไปสอบนอกโรงเรียนก็สู้เขาไม่ได้กลายเป็นภาพลวงตาคิดว่าเก่งคิดว่ารู้ เดี๋ยวนี้จึงพบว่าเด็กเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารกันมากขึ้นเพราะไม่มีเวลากินอาหารและเครียด ระบบการศึกษาที่พรากเด็กออกจากอ้อมอกของครอบครัวและชุมชนอย่างตัดญาติขาดมิตรในช่วงวัยแรกของชีวิตที่เด็กควรจะได้เรียนรู้การดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างมีความสุขจากพ่อแม่สังคมดีๆรอบข้างมากกว่าการเรียนรู้จากตำรา ในส่วนของนักเรียนนักศึกษาเองก็สนใจการเรียนรู้ต่ำมาก ไม่อ่านหนังสือ เวลาจะสอบก็อ่านแต่เอกสารถอดเทปบรรยายที่เพื่อนๆถ่ายสำเนามาให้ จะเห็นว่าความยากจน ความเจ็บป่วยจึงเป็นผลจากความไม่รู้และเป็นอาการหนึ่งของภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง
ในเรื่องของขาดความรักหรือการไม่รู้จักรักก็เกิดมากขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้สายสัมพันธ์แห่งครอบครัวขยาย(Extended Family)ลดทอนลงเป็นครอบครัวเดี่ยว(Nuclear Family) ลูกหลานแทบไม่รู้จักปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง ที่บางครั้งอยู่กันคนละทิศละทาง ส่วนครอบครัวตนเองก็อยู่อีกที่หนึ่ง กลายเป็นความห่างไกลทางระยะทาง แม้การเดินทางจะสะดวกรวดเร็วหรือบางคนระยะทางก็ใกล้ การเดินทางสะดวก แต่ระยะใจกับไกลห่าง ผนวกกับภาระงานทางสังคมที่รัดตัว ทำให้โอกาสพบเจอกันลดน้อยลง จนเกิดความห่างเหินกับเครือญาติ ความผูกพันก็ลดน้อยลงไป ขาดการเรียนรู้ชีวิตสังคมของปู่ย่าตายาย กลายเป็นคนไร้ราก แม้แต่ในครอบครัวตนเอง พ่อแม่ต้องออกจากบ้านแต่เช้ากลับค่ำมืด ปล่อยลูกไว้กับพี่เลี้ยง ไม่มีเวลาพูดจาทักทายโอบกอด ขาดการเชื่อมสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูกตั้งแต่แรกเกิด เด็กบางคนแทบจะไม่ได้กินนมแม่เลยแล้วจะเกิดความรู้สึกผูกพันเกิดสายสัมพันธ์แม่ลูก(Child-Maternal Bond)ได้อย่างไร เมื่อกินนมวัวก็เลยดื้อด้านพ่อแม่ว่ากล่าวไม่ค่อยฟังกลายเป็นลูกวัว ไม่ใช่ลูกคน ครอบครัวจึงเปลี่ยนสภาพไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน ที่ปลูกฝังให้เด็กได้รับรู้ว่าเมื่อมีเงินจะแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง พ่อไปทาง แม่ไปทาง พ่อไปงานสังสรรค์ แม่ไปงานสังคม ปล่อยลูกนั่งจับเจ่าอยู่หน้าจอทีวี ลูกอยากจะเจอหน้าก็ไม่ได้เจอ ต้องพูดคุยกันทางโทรศัพท์ กลายเป็นชีวิตเสมือนจริง(Virtual Life)ไม่ใช่ชีวิตจริง(Face to face) ลูกนั่งเหงาเศร้าซึมมีปัญหาไม่รู้จะปรึกษาใครก็เลียนแบบสื่อ หนังสือ ทีวี ดังที่เห็นเด็กน้อยใจฆ่าตัวตายด้วยเรื่องเล็กๆในสายตาคนทั่วไปแต่กลับเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ทางจิตใจของเขา สำหรับเด็กเวลาจะกินจะนอนไม่ได้ต้องการแค่อิ่มหรือหลับเท่านั้น ยังต้องการความอบอุ่นใจจากการป้อนข้าวป้อนน้ำหรือจากการโอบกอดเห่กล่อมเพื่อความอบอุ่นใจจากการสัมผัสของพ่อแม่ด้วย การโอบกอดอย่างละเมียดละมัย ซึ่งต้องใช้เวลาให้ จึงจะอิ่มกายอิ่มใจได้ อ้อมแขนของพ่อแม่จึงอบอุ่นไปทั่วทั้งกายใจ แต่อ้อมกอดของเงินจะช่วยเพียงอิ่มท้องและคลายหนาวกายเท่านั้น ค่าตอบแทนทางใจจึงยิ่งใหญ่กว่าค่าตอบแทนทางเงิน เมื่อเด็กขาดความรัก เหงา ว้าเหว่ ต้องการคนโอบกอด พ่อแม่ไม่กอดก็ไปหาคนอื่นมากอดแทน เด็กก็เลยชิงสุกก่อนห่ามเพราะคนอื่นกอดไม่เหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายายกอด เพราะกอดแล้วเกิดปฏิกิริยาทางเพศตามมา หลายคนต้องไปทำแท้ง มั่วสุม ติดเอดส์ ถูกหลอกไปขายตัว ถูกหลอกไปเล่นหนังเอ๊กซ์ กลายเป็นเหยื่อของคนบางกลุ่มไป ในส่วนของพ่อแม่เมื่อทำงานกันคนละที่ผัวไปทาง เมียไปทาง พอเจอปัญหาก็หาเวลาปรับทุกข์ หาเวลาให้กำลังใจกันไม่มีเพราะเวลาไม่ค่อยตรงกัน พอเจอปัญหาจิตใจก็อ่อนไหว จะมีมือที่สามเข้ามาแทรก พอมีคนมาพูดคุยให้กำลังใจก็เลยประทับใจและเกิดการนอกใจกันได้ง่ายแม้จะรู้สึกผิดก็ตาม ผู้ชายมีเมียน้อย ผู้หญิงก็มีกิ๊กหรือมีชู้ สรุปเหงากันทั้งบ้าน ปู่ย่าตายายก็เหงาอยู่อีกบ้าน เหงากันไปหมด เพราะขาดการสังสรรค์ร่วมกันภายในครอบครัว ต้นรักที่เคยมีเมื่อขาดการรดน้ำพรวนดินก็เฉาแห้งไปทีละน้อยๆ ดอกผลแห่งความรักจึงไม่ได้ให้ลูกได้รับ เมื่อไม่ได้ความรัก ก็ขาดรัก เมื่อขาดรักก็ไม่รู้จักรัก แต่ขวนขวายหาสิ่งที่คิดว่าเป็นความรัก สุดท้ายหลงทางไปกับสิ่งยั่วยุหรืออบายมุข ได้ง่าย เช่นเสียตัว มั่วเซ๊กซ์ ติดอินเตอร์เน็ต ติดยา บ้าโทรศัพท์ จับเจ่าอยู่กับทีวี ต่อยตีเป็นอันธพาล ต่อต้านสังคม จมอยู่กับอบายมุข นี่คือผลของความไม่รัก หรือขาดความรัก เมื่อไม่รู้จักรักก็รักคนอื่นไม่เป็น เมื่อมีครอบครัวก็ไม่สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้ เกิดทั้งคนรวยคนจน พ่อรวยเล่นหุ้น แม่รวยเข้าสังคม พ่อจนติดหล้า แม่จนเข้าบ่อนเล่นหวย เล่นไพ่ ยิ่งสื่อโฆษณาเดี๋ยวนี้ยิ่งพยายามสร้างความเข้าใจผิดว่าการโทรศัพท์คุยกันสามารถทดแทนการพูดคุยกันต่อหน้าได้ การสื่อทางเสียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความอบอุ่นทางใจของเด็กๆและครอบครัว ความรักความอบอุ่นในครอบครัวจะทำให้รู้จัก ให้ ขอ ยอมรับและปฏิเสธในจุดที่พอดี ยิ่งกระแสสังคมมันแรง อย่าปล่อยให้เด็กทวนกระแสเอง พ่อแม่ต้องพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขาเลือกอย่างเหมะสม
ในเรื่องของความไม่อดทนหรือขาดความอดทน เราจะเห็นว่าคนในสังคมใจร้อนไม่รู้จักรอ หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่ได้ดังใจ แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย เช่นยิงกันตาย ฆ่ากันตายเพราะเหยียบเท้ากันหรือขับรถปาดหน้ากัน นอกจากนี้นิสัยคนไทยยังหวังผลระยะสั้นขาดความอดทนรอผลระยะยาวที่ดี รอไม่เป็นใจร้อน เช่นแทนที่จะขยันเรียนศึกษาหาความรู้ ทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ ก็มีคนสนใจน้อยลง หางานที่ง่ายๆแต่ได้เงินเยอะๆ หยิบหย่ง อยากเป็นดารานางแบบ มีชีวิตฟุ้งเฟ้อ เมื่อนักการเมืองรู้ตรงนี้ก็เลยพยายามที่จะหาเสียงเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าหรือระยะสั้นเป็นในทางประชานิยม คนก็จะพอใจนิยมชมชอบว่าดี เช่นแจกเงิน แจกของ ต่างๆ ใครมีเงินจ่ายเพื่อซื้อชื่อเสียง บริจาคโน่นนี่โดยอาจมีเบื้องหลังที่ไม่ดีก็ไม่สนใจ ดูคนที่เปลือกนอก สังคมไทยจึงไม่ค่อยมีคนดีที่ถาวร เพราะตัดสินคนดีกันแค่ช่วงสั้นๆที่ฮือฮาหรือตามกระแสหรือสื่อชี้นำ ยิ่งในสังคมความเห็นด้วยแล้วก็ยิ่งคล้อยตาม เฮตามกันไปได้ง่าย กลายเป็นสังคมมายา ที่พยายามเล่นละครในชีวิตจริงว่าเป็นคนดี พอเผลอความจริงก็หลุดออกมา เช่นบางคนโกงบ้านโกงเมือง บางคนติดยา บางคนมั่วสุมมั่วเซ๊กซ์ ซึ่งสังคมไทยก็มีบทเรียนกับคนดีจอมปลอมมามากแต่ก็ไม่เรียนรู้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การแก้ปัญหาโดยใช้เงิน จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แก้ปัญหาที่ใช้ทรัพยากรนำ ไม่ใช้การบริหารจัดการนำ เมื่อขาดเงิน ขาดคน ขาดอุปกรณ์ ก็เลยไม่ขวนขวายที่จะแก้ปัญหาแม้จะใกล้ตัวก็ตาม เพราะการใช้บริหารจัดการนำต้องใช้ปัญญา ต้องลงแรง ซึ่งคนไทยไม่ชอบมักบอกว่าไม่ทันใจ เห็นผลช้า ชอบใช้เงินซื้อทั้งที่ยากจน คิดว่าทุกอย่างจะซื้อได้ การแก้ปัญหาหลายอย่างในบ้านเราจึงไม่ยั่งยืน เด็กสมัยนี้จึงมีภูมิคุ้มกันต่ำท่ามกลางสังคมที่ไม่สมประกอบ อดใจรอไม่ได้ ชอบชีวิตเร่งด่วน เพื่อปรับตัวตามเวลาดิจิตอล ชอบอาหารแดกด่วน อาหารขยะกร๊อบๆ แกร๊บๆ ทำงานประณีต ช้าๆไม่เป็น รีบเร่งกับเวลาจนขาดความนุ่มนวลขาดความลุ่มลึกทางปัญญา เมื่อก่อนเดินทางใช้เวลานานนั่งม้า นั่งช้าง ล่องเรือ จะมีเวลาครุ่นคิดเฝ้ามองเส้นทางที่ผ่านไป มีเวลานั่งคิดทบทวนเหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง มีโอกาสได้ใช้สมองซีกขวา ได้ผ่อนคลาย แต่ปัจจุบัน เวลาที่เร่งรีบ คิดแค่จะได้มาได้อย่างไร คิดเอามากกว่าคิดให้ คิดได้มากกว่าคิดเสีย คิดแต่เอาชนะ คิดแต่กอบโกยแข่งกับเวลา ห่างไกลศาสนา ไหว้พระเข้าวัดไม่ใช่เพื่อขัดเกลาจิตใจหรือประเทืองปัญญา แต่ไปหลงพระ บางคนก็ไปขอเลขขอหวยขอให้รวยโดยวิธีง่ายๆที่ไม่ต้องทำงาน อย่างนี้ก็เรียกว่าขาดความอดทนเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าจากการขาดภูมิคุ้มกันความรู้ ความรัก ความอดทน จึงได้ก่อผลเสียต่อสังคมอย่างมหาศาล เกิดเป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน การแก้ปัญหาแบบนักธุรกิจที่มองแต่ตัวเลขกำไรขาดทุน ดูที่ตัวเงิน พยายามแค่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเลือกมาใช้บริการจะมีความซับซ้อนน้อยกว่าการบริหารจัดการภาครัฐที่มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากและวัดยาก ไม่สามารถวัดแบบกำไรขาดทุนได้ การแก้ปัญหาโดยหวังให้มีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยจึงกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันลมๆแล้งๆ สังคมเรากำลังอยู่ในสภาพป่วยหนัก ด้วยภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องที่จะต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างเร่งด่วน ถ้าเป็นคนเจ็บป่วยหนักแพทย์จะมีมาตรการในการช่วยชีวิตโดยการแยกห้อง การเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด การจำกัดอาหาร การห้ามเยี่ยมรวมทั้งการให้ยารักษาซึ่งเป็นการดูแลระยะสั้น หลังจากสภาพผู้ป่วยดีขึ้นแล้วแพทย์ก็จะให้การดูแลเพื่อเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรคหรือภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นการแก้ไขระยะยาว เช่นการฉีดวัคซีนที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ให้ยารักษาเป็นการรักษาอาการอย่างเร็วเพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยแต่ก็ต้องระวังผลข้างเคียง(Side effects)จากยาด้วยเช่นกัน ในทำนองเดียวกันการรักษาสังคมเพื่อรักษาอาการของโรคแบบเร่งด่วนก็มีความจำเป็นต้องทำโดยเฉพาะจากภาครัฐที่อาจจะจำเป็นต้องใช้เงินหรืออำนาจรัฐในการแก้ไขแต่จะไม่ได้ผลในระยะยาว เช่นการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบสังคม การยกย่องคนดีที่ทำเพื่อสังคมมากว่าการยกย่องเฉพาะคนที่ทำกำไรธุรกิจเท่านั้นที่เก่ง ชื่นชม ไม่มองคนที่ทำกำไรทางสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรีบกระตุ้นให้สังคมสร้างภูมิคุ้มกัน(Social immunization)ขึ้นมาด้วยเพื่อการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายของสังคมเพื่อมาทำหน้าที่หมอสังคม(Social Doctors)ที่จะมาเยียวยารักษาสังคม ซึ่งเป็นใครก็ได้ที่เห็นปัญหาแล้วมาร่วมแรงร่วมใจกันทำ ร่วมมือด้วยใจไม่ใช่ร่วมมือด้วยเงิน เอาปัญญามาลงขันกันแก้ไขปัญหาโดยยึดแนวคิดที่ว่า “สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน” ทั้งนี้การสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยการสั่งให้เกิดหรือการจัดตั้งจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีได้เพราะไม่ได้เกิดจากใจของคนที่เห็นปัญหาและอยากแก้ไขปัญหาร่วมกัน เปรียบเสมือนกับร่างกายไม่แข็งแรงแทนที่จะออกกำลังกายแต่กลับไปลงทุนซื้อยาอายุวัฒนะหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินซึ่งไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงจริงแล้วยังทำให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีเจ้าภาพผมมองว่าหมอสังคมสาขาหลักที่จะขาดไม่ได้ที่ต้องมาร่วมกันวางแผนดูแลรักษาสังคมอย่างใกล้ชิดคือครู(ศึกษา) หมอ(สาธารณสุข) พ่อ(ครอบครัว) พระ(ศาสนา) โดยทั้ง 4 สาขาหลักนั้นต้องมาร่วมกันกระตุ้นให้ผลิตวัคซีน 3 ชนิดคือความรู้ ความรัก ความอดทน เพื่อฉีดเข้าไปในสังคมให้สังคมเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา ความรู้ถ้าต้องการปริญญาอาจต้องใช้เงินแต่ความรู้ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากครอบครัว มากกว่าการเรียนรู้ตำราจากโรงเรียนอย่างเดียว เรียนรู้ที่จะเรียน เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนเพื่อปัญญา ไม่ใช่เพื่อปริญญา ต้องอาศัยการจัดการความรู้ที่เหมาะสมในสังคมไทย ด้านความรักก็เริ่มจากครอบครัวปรับตัวจากเลี้ยงลูกด้วยเงินมาสู่เลี้ยงลูกด้วยนมที่บ่มไปด้วยความรักความเอื้ออาทรจากคนในครอบครัว ด้านความอดทน ก็ต้องผ่านการฝึกฝนจากทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนและจากศาสนา
ครูหมอพ่อพระต้องมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยการสร้างวัคซีน 3 ชนิด ให้แก่บุคคล ครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น แต่ทั้งนี้การให้วัคซีนกว่าจะมีภูมิคุ้มกันได้จะต้องใช้เวลา ดังนั้นในช่วงวิกฤติภาครัฐจึงต้องออกมาตรการสำคัญบางอย่างออกมาเหมือนแพทย์ที่ต้องให้วิธีอื่นๆแก่คนไข้ด้วยเช่นให้อยู่ห้องแยกโรค ห้องปลอดเชื้อ ให้งดน้ำหรืออาหารบางอย่าง ให้พักผ่อนบนเตียงหรือการให้ยาฆ่าเชื้อ เป็นต้นเพื่อลดความรุนแรงของโรคและอาการที่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน ในทางสังคมก็ต้องมีมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมเช่นจัดระเบียบสังคม ห้ามจำหน่ายสุราบุหรี่แก่เด็ก ลดอบายมุข ควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อ คุ้มครองผู้บริโภค ในการรักษาภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องต้องอาศัยหมอสังคม ซึ่งหมอสังคมไม่จำเป็นต้องจบแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แต่เป็นใครก็ได้ที่มองเห็นปัญหาและร่วมช่วยกันแก้ เนื่องจากปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายจึงต้องร่วมช่วยกัน ลดการใช้เงินมาเป็นยารักษาซึ่งเหมือนกับการฉีดยาแก้ปวดให้คนไข้ไส้ติ่งอักเสบที่ยังวินิจฉัยโรคไม่ชัด ช่วยให้คนไข้หายปวดแต่จะบังอาการที่แท้จริงจนอาจทำให้วินิจฉัยผิดพลาดจนเกิดไส้ติ่งแตกและเกิดอันตรายจนถึงชีวิตได้ สังคมในหมู่บ้านเมื่อก่อนขอกันง่าย(ขอความร่วมมือ) แต่เดี๋ยวนี้มีเงินเดือนมีรายได้ มีผลประโยชน์ตอบแทนจะขอกันยากขึ้น ความร่วมมือด้วยใจลดลง แต่จะร่วมมือด้วยเงินมากขึ้น เมื่อมีเงินก็แก้ปัญหาได้ แต่เมื่อไม่มีเงินปัญหาก็ปรากฏขึ้นมาอีก จะทำอะไรต้องมีเบี้ยเลี้ยง ต้องมีสินบน ต้องมีค่าจ้าง แต่ก่อนจัดงานประเพณีในหมู่บ้านชาวบ้านจะร่วมมือร่วมแรงช่วยเหลือกันอย่างดี ไม่ต้องมีงบประมาณสนับสนุนก็สามารถจัดงานได้อย่างสามัคคีกันไม่มีแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่มีการจ้องจับผิดคอรัปชั่นกัน แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีงบประมาณให้ก็ไม่จัด ไม่ร่วมมือ เหมือนกับต้องจ้างให้มาร่วมงานประเพณี ต่อไปเมื่อไม่จ้างก็ไม่มีงานก็ไม่มีความร่วมมือ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องเป็นหมอสังคม โดยเฉพาะครูหมอพ่อพระแกนหลักของสังคมที่จะต้องบูรณาการเข้าหากันเพื่อช่วยกันนำสังคมไปสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนและชาวบ้านโดยไม่ได้เน้นการใช้เงินเป็นตัวตั้ง ลดทุนนิยม หันมาใช้ธรรมนิยมมากขึ้นเพื่อลดการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ลดการเป็นหนี้สิน ไม่ให้ประชาชนตกอยู่ในกับดักสภาพหนี้(Liability trap) เหมือนกับที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งเคยติดอยู่ในกับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap)ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนต้องมาเป็นหมอสังคมต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสร้างสุข ช่วยกันสร้างความรู้ ความรัก ความอดทนขึ้นในสังคมไทย ความสุขและความเข็มแข็งอย่างยั่งยืนของสังคมไทยจะกลับคืนมา…