ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๕๑. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๒๓. การเรียนรู้อย่างมีพลัง (๒)


          การเรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยขณะนี้ เป็นการเรียนรู้แบบตื้นๆ ไม่มีพลัง   เพราะจัดโดยครูที่ไม่ได้เอาใจใส่ศิษย์   และเพราะเน้นที่การสอนเป็นหลัก   ยังเป็นการสอนในศตวรรษที่ ๒๐ หรือ ๑๙   ไม่ได้ใช้รูปแบบการเรียนรู้เพื่อให้เกิด 21st Century Skills

          ข้อความข้างบนนั้นผมเชื่อว่าเป็นจริงต่อนักเรียนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๐  โดยมีข้อยกเว้นบางโรงเรียน และครูบางคน

          จะเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมดยง นักเรียนต้องได้เรียนแบบ Project-Based   และครูก็ต้องจัดการเรียนรู้แบบนี้เป็น

          การเรียนรู้แบบ PBL มีผลให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก เด็กเกิดแรงจูงใจ (motivation) ในการเรียน และจดจ่ออยู่กับการเรียน ที่เรียกว่า student engagement   ในการที่จะเรียนให้เกิดทักษะ 21st Century Skills   โดยผลการวิจัยผลสัมฤทธิ์ของ PBL ต่อการเรียนรู้ของเด็กสรุปได้ดังนี้

•   เด็กนักเรียนเรียนได้ลึกขึ้นเมื่อเขามีโอกาสประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียน เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตจริง และเมื่อเขาได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมระยะยาวที่ให้โอกาสได้จดจ่อกับเรื่องนั้น และได้ร่วมมือกับทีมงาน


•   ตัวแปรที่ให้ผลต่อการเรียนรู้สูงสุดคือการได้ลงมือปฏิบัติ และได้ร่วมทีมเรียนรู้   เป็นตัวแปรที่มีผลมากกว่าพื้นฐานของนักเรียน และสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ในอดีต   ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าผลการวิจัยข้อนี้คงจะไม่ตรงกับความเชื่อของครู และผู้บริหารการศึกษาจำนวนมาก

•   นักเรียนจะเรียนได้ดีหากได้รับการสอนเรื่อง how to learn และ what to learn

          ข้อสรุปทั้ง ๓ ข้อข้างบน ได้มาจากผลงานวิจัยต่อเนื่องกว่า๕๐ ปี ของกลุ่มวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ Linda Darling-Hammond แห่งมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด และพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ Powerful Learning : What We Know About Teaching for Understanding

          ขอสรุปวิธีจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีพลังจากหนังสือเล่มนี้ ดังต่อไป นี้

 

Collaborative Small-Group Learning

          มีการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนกลุ่มย่อย เรียนแบบร่วมมือกันนับร้อยๆ โครงการ และได้ผลตรงกันหมด ว่า PBL แบบนักเรียนทำคนเดียว ให้ผลต่อการเรียนรู้สู้ PBL แบบกลุ่มไม่ได้   ทั้งในด้านการเพิ่มพูนความรู้ของนักเรียนเป็นรายคน และเป็นภาพรวม   ระดับแรงจูงใจและความมั่นใจ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนนักเรียน   

          ผลการเรียนเป็นกลุ่มดีกว่าเรียนเดี่ยวในปัญหาทุกชนิด และในทุกระดับชั้น
Project Learning Methods

          การเรียนเป็นโปรเจ็กต์ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ซับซ้อนหลากหลายมิติ และอาจมีความสับสนอยู่ด้วย   ให้ผลสุดท้ายเป็นผลผลิตของโครงการเป็นรูปธรรม  และอาจนำมาจัดเป็น event หรือการนำเสนอต่อเพื่อนร่วมชั้น ร่วมโรงเรียน

          การเรียนแบบ โปรเจ็กต์ ที่ได้ผลสูงมีลักษณะสำคัญ ๕ ประการ

1.   ผลของโครงการตอบสนองหรือผูกพันอยู่กับหลักสูตรและเป้าหมายการเรียนรู้


2.   คำถามหลักและปัญหาหลักนำไปสู่การเรียนรู้หลักการสำคัญของเรื่องนั้น หรือของสาระวิชา


3.   การค้นคว้าของนักเรียนเกี่ยวข้องกับความสงสัยใฝ่รู้ (inquiry) และการสร้างความรู้


4.   นักเรียนทำหน้าที่รับผิดชอบการออกแบบ และการจัดการการเรียนรู้ของตนเป็นส่วนใหญ่

 
5.   โครงการอยู่บนฐานของคำถามและปัญหาในชีวิตจริง เป็นของจริง  นักเรียนไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องหลอกๆ

          การเรียนแบบ โปรเจ็กต์ นี้ ให้ผลการเรียนรู้สาระวิชา ดีกว่าหรือเท่ากับวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กันทั่วไป   แต่เมื่อวัดการเรียนรู้ 21st Century Skills จะพบว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนแบบ โปรเจ็กต์ จะเรียนรู้สูงกว่ามาก   โดยมีผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

•   ผลการวิจัยหลายโครงการเปรียบเทียบผลการเรียนของโรงเรียนที่ใช้ PBL ทั้งโรงเรียน  คือทุกชั้นเรียน ครูทุกคน ผู้บริหาร และนักเรียน   กับโรงเรียนที่ยังสอนแบบเดิมๆ   ให้ผลการทดสอบความรู้วิชาของนักเรียนสูงกว่าในโรงเรียน PBL


•   ในการทดสอบนักเรียนชั้น ป. ๔ และ ๕ ของนักเรียนโรงเรียน PBL เปรียบเทียบกับนักเรียนของโรงเรียนที่สอนแบบเดิม   ให้ทำโครงการแก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยในหลากหลายประเทศ   ได้ผลว่านักเรียน PBL ได้คะแนนสูงกว่าในการทดสอบ critical thinking  และการทดสอบระดับความมั่นใจต่อการเรียนรู้


•   มีการวิจัยติดตามผล ๓ ปี ใน ๒ โรงเรียนในอังกฤษ  เปรียบเทียบตามรายได้และผลการเรียนเดิมที่เท่าเทียมกัน   พบว่า นักเรียนที่เรียนแบบ PBL สอบผ่าน National Test ของวิชาคณิตศาสตร์ สูงกว่านักเรียนในโรงเรียนที่สอนแบบเดิม คือสอนตามตำรา และเอกสารประกอบการสอน   นักเรียนที่เรียนแบบ PBL นำความรู้คณิตศาสตร์ไปใช้งานได้ดีกว่าด้วย


•  มีผลการวิจัยจำนวนหนึ่ง พบว่านักเรียนได้รับประโยชน์จาก PBL ในการเพิ่มความสามารถด้านการทำความชัดเจนต่อปัญหา  ความสามารถในการให้เหตุผลดีขึ้น สามารถโต้แย้งเก่งขึ้น  วางแผนโครงการที่ซับซ้อนเก่งขึ้น     มีแรงจูงใจต่อการเรียนสูงขึ้น  รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อการทำงานดีขึ้น


•   มีผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่เรียนตกๆ หล่นๆ โดยวิธีการใช้ตำรา และการบรรยาย   เมื่อเปลี่ยนมาเรียนแบบ PBL ผลการเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน   เนื่องจากเป็นวิธีการเรียนที่ตรงจริต หรืออาจเป็นเพราะชอบเรียนเป็นทีม 

Problem-Based Learning

          Problem-Based Learning เป็นรูปแบบหนึ่งของ Project-Based Learning ที่เน้นโปรเจ็กต์ที่ดำเนินการแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน จากกรณีที่เป็นเรื่องจริง

 

 

 

วิจารณ์ พานิช 

 

หมายเลขบันทึก: 440999เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท