นายก อบต.ปูด เอสอีเอเหมืองโปแตชอุดรฯไม่เป็นกลาง


เขียนโดย เดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2554 เวลา 09:05 น.

จากความขัดแย้งชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมือง โปแตซอุดรฯ กับเอเชียแปซิฟิคโปแตซคอร์ปอร์เรชั่นจำกัด และ ก.พ.ร. ล่าสุดนายกฯอบต.เปิดเวทีให้ข้อมูลแจงกระบวนการเอชอีเอข้อมูลด้านเดียว วอนชาวบ้านเข้าร่วม ด้านกลุ่มอนุรักษ์ปฏิเสธระบุผิดขั้นตอน-กรมเหมืองแร่ไม่จริงใจ สร้างความแตกแยกชุมชน

วันที่ 12 พ.ค.54 ณ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ห้วยสามพาด จ.อุดรธานี นาย ประจักษ์ อุดชาชน นายยกอบต.ห้วยสามพาด เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลที่ได้ เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์(เอชอีเอ) โครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตช ร่วมกับหน่วยงานราชการ นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และบริษัทสัมปทาน ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ชาวบ้านในพื้นที่และตำบลใกล้เคียงรับฟังและแลกเปลี่ยนถึงความคืบหน้าโดย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

ทั้งนี้ กพร.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำเอสอีเอ โดยมีนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร. เป็นประธาน ภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่ ก.ย.53– ต.ค.54 ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท

นายประจักษ์ กล่าวว่า กพร.ได้จัดประชุมเพื่อดำเนินการเอสอีเอโครงการเหมืองแร่โปแตชมาแล้วหลาย ครั้ง และตนก็มีโอกาสเข้าร่วม 2 ครั้งล่าสุดคือ 25 ก.พ. 27 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงอยากนำข้อมูลมาบอกต่อกับชาวบ้านเอกให้ไปศึกษา ทั้งนี้ตนยอมรับว่ามีข้อมูลน้อยมากที่จะไปพูดแทนชาวบ้าน และเสียดายที่ไม่มีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่คัดค้าน โครงการเข้าร่วมให้ข้อมูลอีกด้านเพื่อทัดทานข้อมูลในเวทีที่นักวิชาการและ ก.พ.ร.นำเสนอ ในครั้งต่อไปจึงอยากจะชวนชาวบ้านไปร่วมเวทีด้วยหรือฝากข้อเสนอไป

“สังเกตได้ว่า ก.พ.ร.ไม่เป็นกลาง เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทหรือผู้ประกอบการ แต่ทั้งนี้เห็นว่าเวทีดังกล่าวเป็นโอกาสดีที่หลายฝ่ายได้มาพูดคุยระดมความ คิดเห็นร่วมกันเพื่อจะได้เป็นแนวทางปฏิบัติ และทั้งหมดก็มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้” นายประจักษ์กล่าว

ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าว ว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯไม่ร่วมทำเอสอีเอของ กพร.อย่างแน่นอน เพราะไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กพร.เป็นผู้มีหน้าที่อนุญาตประทานบัตรให้กับบริษัทโปแตช และมีการลงทำการปักหมุดรังวัดในพื้นที่จนเหตุการณ์ปะทะ ขับไล่ และสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน

“กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสนอมาตลอดว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชต้องทำเอสอีเอก่อน โดยให้ตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยมีทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ บริษัท และชาวบ้านมาศึกษาร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน ส่วนเหมืองก็ต้องยุติกระบวนการประทานบัตรไว้ก่อน แต่กพร.ไม่ยอมรับฟัง จะเดินหน้าอย่างเดียวชาวบ้านจึงไม่ยอมรับ” นางมณีกล่าว .

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 439222เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท