๘๕. เด็กๆที่เห็นในห้องสมุดประชาชนและโรงเรียน กศน.นั้น พวกเขาอาจเป็นองคมนตรีและนักการศึกษาของประเทศ


วาดรูปเล่าเรื่อง : ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลสวนดอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องการรวบรวมข้อมูลและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เพื่อจัดเก็บและรวบรวมผลงานความริเริ่มที่สำคัญในวงการแพทย์และในวงวิชาการ ไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะครูอาจารย์แพทย์ บุคลากรและนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งจะจัดแสดงนิทรรศการและเรียนเชิญท่านให้ไปเสวนาเรื่องราวต่างๆที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งท่านเป็นศิษย์เก่าและได้ทำงานในหลายฐานะ เป็นครูแพทย์ เป็นทีมผู้บริหาร ตลอดจนวางรากฐานและสร้างคุณูปการต่อการพัฒนาหลายด้านให้กับคณะแพทย์สวนดอกต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี และปัจจุบันท่านเป็นแพทย์คนเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรีประจำราชสำนักในรัชกาลปัจจุบัน ชีวิตการงานของท่านจึงราวกับเป็นตำนาน ซึ่งท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เปรียบเปรยเส้นทางชีวิตของท่านนับแต่ก่อเกิดกระทั่งปัจจุบันด้วยบทสรุปว่า ‘จากคอกหมูสู่องคมนตรี

เสริมพลังการเรียนรู้ของสังคม ด้วยวาดรูปเล่าเรื่อง  

ทางคณะทำงานซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.บุษบง จำเริญดารารัศมี อดีตรองคณบดี พี่สุทธิลักษณ์ วุฒิเสน คณะทำงานกองทุนหมอเจ้าฟ้า และหม่อมหลวงวันนิวัต เกียรติสาร หัวหน้างานโสตทัศนศึกษา ต้องการมีมุมหนึ่งที่จะเล่าเรื่องด้วยภาพวาดลายเส้นและท่านเคยเห็นงานของผม ก็เลยมาชวนให้ผมไปร่วมสัมภาษณ์เพื่อที่จะได้นำมาเขียนภาพให้สัก ๔-๕ ภาพและนำไปจัดนิทรรศการดังที่เตรียมการกันไว้ ผมไม่ลังเล เพราะนอกจากผมเองนั้น จะเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภรรยาผมก็อยู่ที่คณะแพทย์สวนดอกแล้ว ผมเคยบอกแก่น้องๆและทีมทำงานของผมว่า งานของพระในทุกพระศาสนา, ครู, แพทย์, และคนทำงานให้กับชุมชน เหล่านี้ ผมถือว่าเป็นงานของโพธิสัตว์และงานของผู้ให้แก่ผู้อื่น หากช่วยเป็นกำลังดูแลทำกิจต่างๆให้ตามอัตภาพของตนได้ ก็เหมือนการได้ช่วยกันร่วมดูแลระบบสังคมเพื่อบำรุงสุขภาวะสำหรับการอยู่ร่วมกัน ผมจึงยินดีที่จะได้ร่วมดำเนินการด้วย

เก็บข้อมูลและสัมผัสชีวิตจิตใจเพื่อเป็นแนวเข้าถึงความหมายของข้อมูลให้ดีที่สุด

คณะของเรา นัดไปขอสัมภาษณ์ท่านที่ทำเนียบองคมนตรี ตรงที่เคยเป็นกระทรวงการต่างประเทศเก่า ตรงข้ามประตูเทวาพิทักษ์ของพระบรมมหาราชวังและติดกับวัดประจำรัชกาลที่ ๔ คือวัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม ซึ่งผมเองนั้นเมื่อครั้งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ นอกจากจะเคยเป็นเด็กวัดวัดสระเกศแล้วก็ย้ายมาเป็นเด็กวัดที่วัดราชประดิษฐ์นี้ด้วยกว่า ๓ ปี เมื่อกลับไปแถวนั้นอีกหลังจากไม่ได้ไปเสียหลายปีก็แทบจะจำบริเวณโดยรอบไม่ได้ รวมทั้งตึกกระทรวงการต่างประเทศเก่าซึ่งได้ปรับปรุงและทำเป็นทำเนียบองคมนตรี เป็นอาคารซ่อนตัวอยู่หลังทิวไม้เขียวร่มรื่นต่อเนื่องไปกับกระทรวงกลาโหมเก่านั้น ก็แทบจะไม่มีเค้าเดิมอยู่เลย

หลังจากที่ท่านได้มาพบกับคณะของเราและก่อนจะเริ่มนั่งสนทนากัน ทางทีมก็ขอถ่ายภาพนิ่ง ระหว่างเดินออกไปนอกอาคาร ท่านก็ให้ความเมตตาแก่ทีมให้ได้มีเวลาทำความคุ้นเคยกับบรรยากาศโดยรอบเพื่อที่จะได้ทำงานกันสบายๆด้วยการแนะนำสถานที่โดยรอบและเล่าเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ให้ได้รู้จักความสำคัญในอดีตของสถานที่และพัฒนาการต่างๆของสังคมไทย โดยเฉพาะเกี่ยวกับราชสำนักและองค์พระประมุขในรัชกาลต่างๆนับแต่รัชกาลที่ ๔ กระทั่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

จากนั้น ก็ใช้เวลาสัมภาษณ์และให้ท่านนั่งสนทนาในบรรยากาศสบายๆเหมือนกับนั่งคุยให้กับลูกศิษย์ลูกหาและคนของคณะแพทย์สวนดอกฟัง พร้อมกับบันทึกวิดีทัศน์ จากประมาณ ๑๐ โมงไปจนถึงเที่ยง แล้วก็ต่อเนื่องไปอีกในระหว่างรับประทานอาหารมื้อเที่ยง ก่อนที่ท่านจะต้องเดินทางไปยังสนามบินเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ต่างจังหวัดในอีกไม่ถึง ๑ ชั่วโมงของช่วงบ่าย

บันทึกภาพสะท้อนสังคมบนเรื่องราวบุคคลครอบคลุมกว่า ๖ ช่วงทศวรรษ

พี่สุทธิลักษณ์ วุฒิเสน เป็นผู้สัมภาษณ์และเดินเรื่องให้ท่านสนทนาไปตามอัธยาศัยโดยมีรองศาสตราจารย์ดร.บุษบง จำเริญดารารัศมีคอยเสริม ผมเองนั้นก็เตรียมคำถามไปเพื่อถามท่านอยู่พอสมควร ทว่า ดูเรื่องราวต่างๆซึ่งจะต้องให้น้ำหนักต่อเนื้อหาที่จะบันทึกไว้เป็นสื่อการเรียนรู้ในวิดีทัศน์แล้ว แนวคำถามของผมซึ่งจะต้องเน้นการลงลึกในรายละเอียดสำหรับการเขียนรูปก็แทบจะไม่จำเป็นเลย เพราะท่านองคมนตรีนั้นผ่านการใช้ชีวิตในทุกขั้นตอนอย่างเข้มข้น จะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในชีวิตและความทรงจำในช่วงไหนก็ล้วนน่าสนใจ อีกทั้งท่านเป็นทั้งยอดครูและนักเล่าเรื่องอีกด้วย จึงทำให้เรื่องราวของท่านเป็นงาน Autoethnographic และเป็นบทบันทึกความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรอบ โดยมีชีวิตการงานของท่านช่วยเปิดเข้าสู่ปรากฏการณ์ในท้องเรื่องที่สำคัญแต่ละชุด และเดินเรื่องให้เราเดินเข้าไปสัมผัสได้อย่างน่าประทับใจทุกเรื่อง

ได้เห็นรายละเอียดของของสังคมและสภาพแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกันหลายระดับนับแต่ในครอบครัว ชุมชนในชนบท และความสัมพันธ์กันของสังคมวัฒนธรรมไทยและจีน ผ่านชีวิตครอบครัวชาวไทยจีน สภาพแวดล้อม เงื่อนไขชีวิต แรงกดดันของสังคม สานเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้สังคมและสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวางอย่างยิ่ง

ที่น่าประทับใจมากเข้าไปอีกสำหรับผมเองก็คือ บางแง่มุมนั้น ผมได้เห็นบางส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของชุมชนและถิ่นฐานบ้านช่องของผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของผมด้วยเช่นกันหลายเรื่องใน ๒-๓ ห้วงชีวิตของท่าน คือ เขาช้าง ชุมชนในชนบทราชบุรีที่ท่านได้ถือกำเนิดนั้น เมื่อท่านเล่าให้ฟังถึงสภาพความกันดารและความยากลำบากในชีวิตของท่านเมื่อยุคกว่า ๖๐ ปีก่อนที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องของท่านได้ท้าวความให้ฟังนั้น ผมก็พอจะนึกภาพออกเพราะเขาช้างนั้นเป็นบ้านเพื่อนรักของผมคนหนึ่ง ผมเคยไปและพอจะรู้สภาพชุมชนอันเป็นถิ่นกำเนิดดังที่ท่านได้กล่าวถึงแถวนั้น

เชื่อมโยงและเติมเต็มข้อมูลให้กับชุมชนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ด้วย

ต่อมาก็ที่ชุมชนอันเป็นแหล่งใช้ชีวิตและศึกษาเล่าเรียนในวัยเด็กของท่านที่บ้านบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งชุมชนอำเภอหนองบัวอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของผมและผมเองก็กำลังร่วมกับชาวบ้านหนองบัวหลายท่าน ทำการศึกษารวบรวมเรื่องราวต่างๆ พร้อมทั้งทำกิจกรรมด้วยกันเพื่อฟื้นฟูและเคลื่อนไหวชีวิตชุมชนให้มีพลังในการพัฒนาตนเองมาหลายปีนั้น ก่อนที่จะแยกมาเป็นอำเภอดังปัจจุบัน ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางมูลนากนี้มาก่อน เหตุนั้น สภาพชุมชนบางมูลนากและเรื่องราวโดยรอบที่ท่านได้เล่าถ่ายทอดไว้ จึงกลายเป็นภาพเติมเต็มให้กับเรื่องราวพัฒนาการความเป็นชุมชนหนองบัวในอดีต ที่ผมกับชาวบ้านหนองบัวเองก็กำลังศึกษารวบรวมกันอยู่พอดีอีกด้วย

แผ่นดินเกิดที่ราชบุรี, เติบโตและเรียนขั้นต้นที่บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
เป็นครูแพทย์ตลอดชีวิตการทำงานที่เชียงใหม่, และสู่เมืองหลวงเป็นองคมนตรี

โดยพื้นฐานแล้ว ท่านองคมนตรีสะท้อนบทเรียนในชีวิตที่ดำเนินมาถึงปัจจุบันนี้ว่าเป็นสิ่งที่เกินจะคาดคิด เพราะในความเป็นจริงแล้วท่านไม่น่าจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่ยากจนมาก พ่อทำงานเป็นจับกังรับจ้างแบกข้าวสารในโรงสีและทั้งพ่อแม่ก็ไม่ได้รับการศึกษา หลังท่านเกิดที่เขาช้าง ราชบุรี และมีอายุได้เพียง ๑ ขวบ ครอบครัวพ่อแม่ก็ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่บ้านบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีครอบครัวของปู่ย่าเป็นหมอแผนจีนและรับจ้างสอนหนังสือจีนอยู่ที่นั่น

เกือบไม่ได้เรียนและไม่มีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัยอย่างทุกวันนี้
กับสำนึกกตัญญูและความตระหนักต่อพลังจิตอาสา

เมื่อเริ่มเรียนอยู่ประถม ๑ โรงเรียนที่ท่านได้เรียนอยู่แต่แรกก็ถูกไฟไหม้ และต่อมาบ้านของท่านเองก็ถูกไฟไหม้จนไม่เหลือแม้เสื้อผ้าและสิ่งของใช้สอยในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านและอาสาสมัครมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง ได้นำเอาหม้อ กะทะ และถ้วยชามมาให้ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พอมีสำหรับเริ่มต้นชีวิตนับจากศูนย์อีกครั้งของพ่อแม่ เมื่อต้องหาที่เรียนไกลจากบ้านและต้องประสบอุบัติภัยอย่างนี้ ท่านจึงจำเป็นต้องหยุดเรียนกลางครัน

วันหนึ่ง แม่ได้ไปติดต่อขอเอกสารที่อำเภอ ทางเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นว่าท่านเป็นเด็กยังอยู่ในวัยเรียน น่าจะหนีเรียนและไม่ได้เรียนหนังสือตามเกณฑ์ จึงเข้ามาสอบถามและจับปรับแม่ตามกฏหมายการศึกษาภาคบังคับ แม่จึงต้องนำท่านไปเข้าเรียนอีกในโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ปู่สอนอยู่ระยะหนึ่ง น้องๆของท่านก็เช่นกัน ในระยะแรกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ

วิกฤติชีวิตของทั้งบ้าน ที่มีผู้คนเข้ามาดูแลกันในห้วงที่ราวกับพลัดตกสู่ขีดต่ำสุดของชีวิต ให้พอมีโอกาสเริ่มต้นและตั้งหลักได้อีกบ้าง ดังที่ได้ประสบแก่ตนเองอย่างนี้ ทำให้พ่อแม่กำชับและปลูกฝังท่านอยู่เสมอว่า หากทำการงานและพอดูแลตนเองได้ในอนาคต อย่าลืมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและบริจาคให้กับมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง ซึ่งต่อมาท่านก็ไม่ลืมที่จะถือปฏิบัติตามนั้น โดยทั้งบริจาคและตั้งกองทุนให้กับมูลนิธิเป็นกองทุนย่อยในชื่อของพ่อแม่ อีกทั้งท่านกับภรรยา ก็ช่วยกันส่งเงินดูแลพ่อแม่ไม่เคยขาดเลยมากว่า ๓๐ ปี การมีส่วนร่วมที่จะดูแลผู้อื่นเมื่อมีโอกาส ความมีจิตอาสา และการมีความกตัญญู จึงเป็นหลักชีวิตอย่างหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญมากอยู่เสมอ ความทุกข์ที่ได้ประสบกับตนเองและวิถีปฏิบัติต่อกันของผู้คนรอบข้างนั่นเอง ที่เป็นครูชีวิตบ่มสร้างคุณธรรมต่อส่วนรวมเหล่านี้ให้แก่ท่าน

หนังสือ,การอ่าน,กลุ่มเพื่อน,ห้องสมุดประชาชน,และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
จุดก่อเกิดชีวิตและจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้อย่างไม่มีสิ้นสุด

แต่ต่อมาก็สามารถได้เข้าเรียนตามปรกติ ซึ่งทำให้ท่านรักการเรียนและรักการอ่านหนังสืออย่างเป็นชีวิตจิตใจ อำเภอบางมูลนากในเวลานั้น ยังเป็นชนบทมาก ไฟฟ้าจะเปิดเพียงตอนหัวค่ำไปถึงสามทุ่ม ท่านได้เล่าว่า การได้รักการอ่านหนังสือ สนุกกับการศึกษาค้นคว้าและได้เล่าเรียนผ่านการอ่านนั้น ส่งผลให้ท่านเป็นมาดังปัจจุบัน เมื่อเล่ามาถึงเหตุการณ์ในชีวิตด้านนี้ ท่านเล่าอย่างเต็มไปด้วยความประทับใจและมีรายละเอียดอยู่ในภาพความทรงจำมากมาย ท่านกล่าวว่ายุคนั้นไม่มีหนังสืออ่าน หนังสือที่โรงเรียนก็ไม่พอให้อ่าน แต่ท่านมีกลุ่มเพื่อนๆและพี่ๆที่รักการอ่านหนังสืออยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีบทบาทมากต่อพัฒนาการด้านชีวิตการเรียนรู้ของท่าน

กลุ่มเพื่อนๆและพี่ๆสองกลุ่มดังกล่าว กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะชวนกันไปอยู่ในห้องสมุดประชาชนของอำเภอบางมูลนาก และอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เมื่อจบการศึกษาขั้นต้นแล้วก็เข้ากรุงเทพฯและไปศึกษาเล่าเรียน ซึ่งมักจะหาหนังสือส่งไปให้ท่านและเพื่อนๆที่บางมูลนากได้อ่าน ทำให้ชุมชนการอ่านและแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มีแหล่งการเรียนรู้ที่กว้างขวางเกินกว่าจะหาได้ในชนบทอย่างบางมูลนากยุคนั้น

ห้องสมุดประชาชนกับน้าบรรณารักษ์ผู้เป็นครูสร้างชีวิตการอ่านและศึกษาค้นคว้า 

ส่วนที่ห้องสมุดประชาชนนั้น ท่านกล่าวถึงด้วยความประทับใจและผูกพันมากว่า ได้มีบรรณารักษ์อยู่คนเดียวแต่ดูแลห้องสมุดอย่างดี ท่านและเพื่อนๆชอบเข้าไปอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา กระทั่งสนิทสนม เมื่อมีโอกาส ก็จะขออาสาช่วยงานอยู่ในห้องสมุดและอ่านหนังสือด้วยกัน ผลของการอ่านและศึกษาค้นคว้าในช่วงนั้น ทำให้ท่านชอบวิชาประวัติศาสตร์และความรู้ทางด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง จึงใฝ่ฝันที่จะเรียนทางรัฐศาสตร์หรือด้านการฑูต ก่อนที่ต่อมาอีกหลายปี เมื่อน้องชายที่ท่านรักมากต้องมาเสียชีวิตพลัดพรากกันไปด้วยโรคหัวใจแต่เด็ก ก็ทำให้ท่านตัดสินใจและบอกกับแม่ว่าจะมุ่งเรียนต่อเพื่อเป็นหมอให้ได้ ซึ่งในลำดับต่อมาท่านก็สามารถบรรลุเจตนารมย์ดังกล่าว ทำให้ไม่ได้เป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์และนักการฑูตอย่างที่ท่านใฝ่ฝันไว้แต่เดิม กระนั้นก็ตาม พื้นฐานดังกล่าวก็ทำให้เห็นถึงความเป็นผู้มีความรอบรู้และสามารถทำงานในหลายสาขาได้อย่างเป็นเลิศของท่านว่ามีที่มาอย่างไร

ต่อมา เมื่อเป็นแพทย์และครูแพทย์ ได้ออกคลุกคลีกับชาวบ้านยากจนในชุมชน ท่านเห็นเด็กๆเจ็บไข้และร้องให้ ก็ตระหนักแก่ตนเองว่าเป็นคนไม่มีความสุขเมื่อได้เห็นเด็กร้องไห้ อยากให้เด็กๆมีความสุข ไม่เจ็บไข้และไม่ร้องไห้ ซึ่งทำให้ท่านตัดสินใจไปเรียนเฉพาะทางเป็นแพทย์ครอบครัวในเวลาต่อมาอีก

ท่านได้สรุปบทเรียนและสะท้อนคิดต่อสิ่งที่ได้รับในขั้นตอนนี้ของชีวิตให้ฟังว่า การได้อ่านหนังสือในวัยเด็กและการมีกลุ่มเพื่อนที่เป็นชุมชนส่งเสริมการเรียนรู้กัน ทำให้มีกำลังคำศัพท์และเข้าถึงการสื่อสารความหมาย ก่อเกิดพลังความใฝ่รู้และขวนขวายศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา ต่อมา เมื่อได้ทำงานสุขภาพที่มุ่งชุมชนและได้เรียนเฉพาะทางเป็นหมอเด็ก ทำงานเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นที่มาของแนวคิดโครงการหนังสือเล่มแรกเพื่อลูก ที่ท่านได้มีส่วนริเริ่มและดำเนินการขึ้นในสังคมไทย

สะท้อนสู่วิธีคิดและวิถีการงานแห่งชีวิต

ด้วยพื้นฐานความเป็นมาดังกล่าว ส่งเสริมให้โครงการความริเริ่มจำนวนไม่น้อยของท่าน มักจะได้เกี่ยวข้องกับชุมชนและกลุ่มประชาชนที่ยากจน เด็กๆและครอบครัว เช่น วิทยาลัยชุมชน, โครงการค่ายการเรียนรู้สหสาขาเพื่อพัฒนาแพทย์และหมออนามัยชุมชน, การพัฒนาการอ่านและการศึกษาเรียนรู้ เช่น โครงการหนังสือเล่มแรกของลูก, รวมไปจนถึงการศึกษาประวัติศาสตร์และการฟื้นฟูงานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปหัตถกรรมของวัดและชุมชนล้านนา รวมทั้งเมื่อเป็นองคมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลและถวายงานที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริและงานทางด้านพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

น้องชายของท่านอีกคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือก็เช่นกัน ก็เป็นคนรักการอ่านและการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองมาก เมื่อเริ่มเติบโตและได้เข้ากรุงเทพฯ ท่านจึงช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ สนับสนุนให้น้องชายได้เรียนในหลักสูตรของการศึกษานอกโรงเรียน และด้วยความที่มีพื้นฐานดีมาก่อน จึงสามารถข้ามชั้นและสอบเทียบได้หลายครั้ง กระทั่งจากที่ไม่คิดว่าจะได้เรียนหนังสือ ก็กลายเป็นสามารถศึกษาไปจนถึงเข้ามหาวิทยาลัยและจบการศึกษาระดับปริญญา กระทั่งต่อมาก็ได้เป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๑ ของจังหวัดเชียงใหม่ และสร้างผลงานหลายอย่างให้เป็นที่ได้รับความชื่นชมของกระทรวงศึกษาธิการ

พลังชีวิตและพลังแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อครั้งเรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ท่านเป็นรุ่นที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานสู่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ซึ่งจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งท่านได้รับรางวัลเกียรตินิยมและรางวัลอันดับ ๑ ด้านผลการเรียนทุกประเภท ได้ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์ ให้ผู้ที่อ่านประกาศรางวัลนำความกราบบังคมทูลเบิกตัวและยืนรอรับพระราชทานเหรียญรางวัลทีละรางวัลทั้งหมดคนเดียว จนครบ ๗ เหรียญรางวัล ซึ่งในประเทศไทยนั้น เท่าที่ทราบก็เพิ่งจะเคยมีกรณีอย่างนี้อยู่เพียง ๒ ท่านเท่านั้น คือท่านและอีกท่านหนึ่งเป็นแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ตลอดชีวิตการศึกษาเล่าเรียน นอกจากจะมีผลการเรียนเป็นเลิศแล้ว ท่านก็เป็นนักกิจกรรมและเป็นผู้นำนักศึกษาบุกเบิกทำกิจกรรมร่วมกับครูอาจารย์ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกหลักสูตรและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ตลอดเวลา เรื่อยมาแม้กระทั่งตลอดชีวิตการทำงานและจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาวิถีการเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่านแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ทุกสิ่งในความเป็นท่านนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะก่อเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายจากความเก่งของท่านหรือเพราะท่านอยู่ในฐานะที่จะคิดริเริ่มได้อย่างมากมายอยู่ตลอดเวลา ทว่า ล้วนเป็นผลของกระบวนการสั่งสมของท่านซึ่งมีพลังชีวิตและมีพลังแห่งการเรียนรู้อย่างยิ่ง หากมองย้อนกลับไปเมื่อเกือบ ๖๐ ปีก่อนของชุมชนบางมูลนากซึ่งขาดแคลนสถานศึกษาและแหล่งการเรียนรู้ ใครเลยจะสามารถจินตนาการได้ว่าท่านและเด็กๆที่ไปช่วยบรรณารักษ์เก็บหนังสือและอาศัยอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นชนบทมากเมื่อครั้งกระโน้นนั้น ในกาลต่อมา เด็กคนหนึ่งจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นครูแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และองคมนตรี บางคนในกลุ่มเป็นผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย และแม้แต่น้องของท่านเองก็เป็นผู้บริหารการศึกษา 

รวมทั้งน้าบรรณารักษ์ที่ท่านรำลึกถึงด้วยความเคารพผูกพันนั้น ก็ไหนเลยจะรู้ว่าได้มีส่วนสร้างคนจำนวนหนึ่งให้ได้ต้นทุนอันเป็นพลังการเรียนรู้อย่างตลอดชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยห้องสมุดประชาชนเล็กๆแห่งหนึ่ง รวมทั้งสื่อและหนังสือ ที่ตนเองซึ่งเป็นบรรณารักษ์และบุคลากรเพียงคนเดียว ได้ใส่ใจดูแลให้กับเด็กๆและชาวบ้านได้เรียนรู้ในชนบทอันกันดารที่บางมูลนาก เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน.



ความเห็น (19)

ไม่เคยทราบประวัติท่านมาก่อนเลย น่าทึ่งมาก ทึ่งถึงอัศจรรย์เลย ประทับใจที่ท่านต่อสู้โดยไม่ย้อท้อเลย

พูดได้เลยหรือเปล่าว่าท่านนั้น เป็นคนบ้านนอกบ้านป่า คนจน คนเล็กๆในชุมชน จากชนบทลูกชาวบ้าน เพียงคนเดียวที่ได้เป็นปุโรหิตที่ปรึกษาองค์พระมหากษัตริย์

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

สภาพถิ่นฐานที่อาศัยในวัยเด็กของท่านที่อำเภอบางมูลนากจังหวัดพิจิตรนั้น เป็นข้อมูลมาเชื่อมต่อกับความเป็นมาดั้งเดิมของอำเภอหนองบัว ก่อนที่จะรวมเอาพื้นที่บางส่วนของบางมูลนากกับท่าตะโก มายกระดับเป็นกิ่งอำเภอและอำเภอ ได้เป็นอย่างดีมากเลยละครับ

  • ดีใจจังนะคะที่ได้...เรียนรู้ประวัติบุคลสำคัญ ที่น่าสนใจ...
  • อ่านแล้วทำให้ระลึกถึงคุณพ่อ..ของ ✿อุ้มบุญ ✿ เอง.เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นลูกชาวนาจน ๆ ดั้นด้นช่วยเหลือตัวเองเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ อาศัยข้าวก้นบาตร  บวชเรียน  เข้ากรุงเทพฯ ที่วัดบรมฯ   จนจบ...ได้รับราชการเป็นครู  ใฝ่เรียนรู้  จบปริญญาตรี พัฒนาตนเอง เสมอ ไต่เต้า จนได้เป็นหัวหน้าการประถมศึกษา  ในสมัยนั้น...
  • เราเป็นลูก.....ยังรู้สึกภาคภูมิในในอุดมการณ์การทำงานของท่าน....ใจซื่อ มือสะอาด   เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง.... 

สวัสดีค่ะอาจารย์'วิรัตน์ ศรีคำจันทร์'

ขอชื่นชมบันทึก...การถ่ายทอดเรื่องราวที่ยอดเยี่ยม...

และขอแสดงความชื่นชม ยกย่องท่าน'ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี '

'โลกแห่งการศึกษาเป็นโลกที่มีคุณค่ายิ่ง ทุกคนให้การยอมรับ การศึกษาสามารถยกระดับจิตใจ และฐานะของคนในสังคม '

 

เป็นบันทึกอย่างมีคุณค่าในเรื่องบุคคลที่มีคุณค่ามากๆ ท่านหนึ่ง

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากคุณอุ้มบุญ ท่านพระอาจารย์มหาแล ดร.พจนา แย้มนัยนา และคุณครูนกทะเล มากอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
มีความสุขไปด้วยกับการน้อมรำลึกถึงแบบอย่างจากคุณพ่อของคุณอุ้มบุญ
และท่านก็ยิ่งดีใจนะครับที่มีชีวิตเป็นครู ให้ลูกเป็นนักเรียนรู้
และที่ทุ่มเทกายใจเป็นคนทำงานดูแลผู้คน มีชีวิตของผู้ให้แก่ผู้อื่นเป็นความดีงาม

สวัสดีครับ ดร.พจนา แย้มนัยนาครับ

แทบทุกด้านเกี่ยวกับชีวิตและการงานของท่านน่าสนใจมากจริงๆครับ ในบันทึกนี้ผมได้ดึงมาเล่าเพียงด้านที่เกี่ยวกับอุปนิสัยการอ่านและการเรียนรู้ที่รอบด้าน ซึ่งตรงนี้นี่เองที่เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่เชื่อว่ามีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้บทบาททางด้านความเป็นครู ความเป็นนักบริหารด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนภาวะผู้นำและวิถีปฏิบัติในวาระต่างๆบนเส้นทางชีวิตของท่านนับแต่เป็นนักศึกษาและนักกิจกรรม ครูแพทย์ กระทั่งเป็นองคมนตรี มีความเป็นบูรณาการสหสาขา สามารถทำงานที่ใช้พหุปัญญา เข้าถึงศาสตร์และความเป็นศิลปวิทยาของหลายแขนง ถึงพร้อมในการพัฒนาทุกด้าน สะท้อนไปสู่การดำเนินชีวิตและการงานที่มีความสมบูรณ์ พร้อมกับเปิดกว้างและให้ความสำคัญกับรายละเอียดในชีวิตของผู้คนได้อย่างลึกซึ้งมาก

สวัสดีครับคุณครูนกทะเลครับ
แง่มุมนี้ในชีวิตการงานของท่าน คงจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนทำงานทางด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆกับชุมชนนะครับ 

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

ได้ฟังนพ.เกษม วัฒนชัยหลายเวทีของชุมชน

ได้ร่วมงานกับท่าน เป็นความสุขของคนทำงาน

สวัสดีครับวอญ่าครับ ผมก็มีข้อสังเกตว่าวอญ่าก็เป็นคนทำทุกอย่างให้เป็นโอกาสเรียนรู้และหยิบฉวยสิ่งดีๆมีคุณค่าได้อยู่เสมอ ดูจะเป็นลักษณะร่วมอีกอย่างหนึ่งของคนที่ทำงานเดินเข้าหาคน ทำงานชุมชน และมีความสามารถเปิดรับสิ่งที่แตกต่างด้วยวิถีเรียนรู้ให้ได้ปัญญาอะไรสักอย่างเลยนะครับ

ท่าน'ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ' เป็นคนน่าทึ่งมากครับ

ผมเคยเจอท่านแล้วครับ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตามากครับ

และเมื่ออาจารย์นำเรื่องราวมาเรียบเรียงและถ่ายทอดยิ่งงดงามครับ

สวัสดีครับทิมดาบครับ

ท่านเป็นคนคุยและเล่าถ่ายทอดเรื่องราวต่างได้สนุกมากครับ มีหลายเรื่องที่เป็นรายละเอียดของชีวิตและเป็นเบื้องหลังของการทำงานหลายอย่างที่สังคมทั่วไปได้รับรู้ ที่น่าสนใจมากอย่างยิ่งครับ และหลายเรื่องน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าผลในขั้นสุดท้ายที่เกิดขึ้นให้เห็นในภายหลังเสียอีก รวมทั้งหลายเรื่องก็ไม่ค่อยได้ทราบกันเพราะความที่ท่านเป็นคนให้ความสนใจรอบด้าน มีกำลังปัญญาปฏิบัติแบบพหุปัญญาหรือ Multi-Intelligence และหากได้ทำก็สามารถลงลึกอย่างผสมผสาน ซึ่งน่าจะทำให้หลายเรื่องเกินที่จะคิด เกินสายตาที่จะมองเห็นและเกินความสามารถที่จะเข้าถึงของคนทั่วไป

หากจัดวงคุยเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของท่านให้สนุกและได้ความรอบด้านไปด้วย ต้องทำวงสนทนาให้มีคนหลากหลายสาขามานั่งคุยกันแบบกลุ่มที่ไม่ใหญ่เกินไป แล้วก็ทำให้เป็นเวทีพูดคุยแบบสบายๆใครผุดความคิดขึ้นตรงไหนและเห็นประเด็นตรงไหนได้ ก็แลกเปลี่ยนทรรศนะ ตั้งประเด็น หรือถามท่านได้อย่างลื่นไหล แล้วก็บันทึกทำสื่อไปด้วย ถึงจะเหมาะกับลักษณะประสบการณ์และบทเรียนที่มีอยู่ในตนเองของท่านนะครับ ขอบคุณที่แวะมาเยือนและแบ่งปันความคิดกันครับ

กราบเรียน อาจารย์ ครับ

ผมเข้ามาอีกครั้งครับ มีความรู้สึกตัวเองว่าคล้ายลูกโป่งสวรรค์แล้วครับ

จริง ๆ แล้ว ผมกับอาจารย์เคยมีช่วงชีวิตที่รู้จักกัน

ประมาณ 5-6 ปี ก่อน ผมได้ไปอบรมคอร์สสั้น ๆ ที่สถาบันอาเซียน ม.มหิดล

แล้วก็มีอาจารย์เป็นอาจารย์บรรยายด้วยครับ

พวกเรารู้สึกทึ่งกับผลงานและการใช้ชีวิตของอาจารย์

ซึ่งตอนนั้น อาจารย์ทำโครงการวิถีชีวิตชุมชนนาบัว

เป็นเรื่องราวมหัศจรรย์และคลาสิกของผมและเพื่อน ๆ มาก

ประทับใจกับเรื่องราว งานวิจัย ลายมือของตัวอักษร

รูปวาด และลายเส้นของอาจารย์

จนพวกเราได้ไปถ่ายเอกสารกลับบ้าน

นับเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานที่มีคุณภาพของผม

อาจารย์อยู่ในใจผมตลอด

ผมเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ประจำครับ

ถึงแม้ไม่ได้ทิ้งร่อยรอยไว้

ถ้าสิ่งใดที่ดีงามและเกิดขึ้นกับชีวิตผม

มีอาจารย์อยู่ในนั้นเสมอครับ

ดีใจที่มีอาจารย์อยู่ในชีวิตของผมครับ

ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีครับทิมดาบครับ

ดีใจนะครับเนี่ยที่ได้เจอหมู่เฮา เลยก็ต้องเป็นลูกโป่งสวรรค์ไปด้วยละสิเนี่ย ตอนนั้นคงจะเป็นอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการวิจัยแบบ PAR และการวิจัยแบบ CO-PAR กับเทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการเพื่อทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมในระดับชุมชน สนุกดีเนาะ เหน็ดเหนื่อยกันดี แต่ก็มักได้ทราบข่าวคราวกันอยู่เสมอครับว่าผู้คนคนทำงานที่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆด้วยกัน ได้ไปมีบทบาททำสิ่งต่างๆดีๆกันเยอะ

ตอนนี้ผมไปอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ฯแน่ะครับ ไม่ไกลหรอกแค่เดินข้ามฟากถนนที่พวกเราได้ไปเวิร์คช็อปกันที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนเท่านั้นเองครับ งานต่างๆก็ยังได้ทำเชื่อมโยงกัน เครือข่ายการทำงานแต่ก่อนเก่าก็ยังคงได้เจอและทำงานด้วยกันอยู่เสมอๆครับ

แนวคิดและรูปแบบการทำงานหลายเรื่องของอาจารย์หมอเกษมนี้ เหมาะมากเลยนะครับที่จะเชื่อมโยงกับงานสุขภาพชุมชนและหมออนามัย การนำบางเรื่องที่เกี่ยวกับท่านมาถ่ายทอดไว้อย่างในบันทึกนี้ ก็ใช้วิธีคิดเหมือนกับเรื่องชาวนาบัวเหมือนกันครับ คือ เชื่อมโยงเกร็ดชีวิตอันเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆบางเรื่องที่อาจจะไม่ค่อยโดดเด่นเมื่อมองร่วมกับเรื่องที่น่าสนใจแบบทั่วๆไปในสังคม ทว่า เป็นแง่มุมที่มีความหมายต่อพื้นฐานชีวิตจิตใจ และเป็นจุดก่อเกิดของเงื่อนไขเบื้องต้น ที่ส่งผลต่ออีกหลายอย่างในลำดับต่อมา อย่างนี้ ก็คงจะเป็นวิธีเรียนรู้และเข้าถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆในเรื่องที่เล็กๆน้อยๆแต่มีความยิ่งใหญ่มาก ได้เป็นอย่างดีอีกแนวหนึ่งนะครับ

ก็เหมือนกับเรื่องชาวนาบัวที่ผมชอบยกตัวอย่างเพื่อฝึกนักวิจัยให้สามารถบุกเบิกสร้างความรู้จากความเป็นจริงที่มีอยู่ว่า งานวิจัยและสร้างความรู้ที่เริ่มต้นจากเรื่องที่คนสนใจอยู่แล้วให้ได้ความรู้ที่ดีออกมาได้นั้น ก็นับว่าดี ทว่า ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องทั่วๆไปมาก เพราะเรื่องมันน่าสนใจอยู่ในตนเองอยู่แล้ว

แต่เรื่องนาบัวตอนนั้น ก็เหมือนของที่มีอยู่ตามข้างถนนหนทางและแหล่งน้ำทั่วไป ดังนั้น จึงมีความท้าทายที่เราควรจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า งานวิจัยและสร้างความรู้ที่ดีนั้น จะต้องสามารถทำให้สิ่งที่ไม่มีความหมาย ให้มีคุณค่าและความหมาย รวมทั้งด้วยพลังความรู้และพลังแห่งการเรียนรู้ที่ดี ก็ควรทำให้เกิดที่ทางในสังคมได้ด้วย ซึ่งต่อมา จากสิ่งที่ผู้คนไม่เคยได้รับรู้มากไปกว่าเห็นแต่ดอกบัวที่ใช้แต่เงินซื้อไปไหว้พระแต่ไม่เห็นผู้คนและสังคมอีกหลายมิติ นาบัวก็กลับได้เป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของคนพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ตนเองที่ดี ทำให้สังคมสามารถกลับบ้านถูกและสามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆบนความเดิมๆของตนเองได้จริงๆ

ดีใจครับ ขอให้มีความสำเร็จ และหากได้ผ่านไปทางนั้นก็เลี้ยงข้าวจี่บ้างนะครับ

ขอชื่นชมในความฉับไว เก็บบรรยากาศ เนื้อความได้ครบถ้วน แทรกด้วยมุมมองของอาจารย์วิรัตน์ ลงตัวเลยค่ะ เป็นอาหารจานเด็ดจริง ๆ เน่อเจ้า

สวัสดีครับพี่ต้อยครับ

  • เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าบันทึกถ่ายทอดไว้มากเลยครับ มีพลังชีวิตดีครับ  
  • ต้องยกให้เป็นคุณูปการของพี่ต้อยและท่านอาจารย์ดร.บงกชนะครับที่ได้ตั้งคำถามสัมภาษณ์ท่านองคมนตรี ที่ทำให้ท่านสามารถเล่าถ่ายทอดโดยใช้เวลาอันจำกัดมาก แต่สามารถเดินตามเส้นทางชีวิตของท่านจนพอจะเห็นภาพและเลือกเล่าในเรื่องต่างๆที่น่าสนใจไปหมดได้อีกตั้งหลายเรื่อง
  • ประทับใจมากเช่นกันครับ

อ่านแล้วประทับใจมากค่ะ คนดีศรีแผ่นดิน

การศึกษาบทเรียนจากชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะกรณีศึกษาจากเรื่องราวของท่านอาจารย์องคมนตรีนี่ เป็นเรื่องราวที่ได้ความเป็นชีวิต เห็นพลังมนุษย์ และได้ความประทับใจ เกิดกำลังการคิดและเป็นพลังใจต่อการใช้ชีวิตและทำการงานได้มากเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท