“หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด”(เป็นอย่างน้อย) ที่ จ.นครปฐม


                               

งาม ทุ่งทิวบางเลนงาม... ยามต้องระวี มีสีเขียวงาม
ธาร ท่าจีนใสเย็น ยลเห็น...หมู่ปลา
อ่อน ดูอ่อนไหว แหวกว่ายไป ในสายธารา
เย็น ระรื่นอุรา ยินเสียงนกกา ร่าร้องก้องฝั่ง
รัก เรารักทิวไม้ เรารักดอกใบ ที่ไหวเอน
ธรรมชาติ ที่เห็น ดลใจให้เป็น...บทเพลงนี้ขึ้นมา

จากบทเพลง “บางเลนงาม”

เนื้อร้องและทำนองโดย อาจารย์ ประเสริฐ สุโขธนัง

                                      
........
แนวคิดในการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องหนึ่งที่ถูกขานรับจากทุกฝ่ายคือ การมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ด้วยความคาดหวังว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ในระดับสูงของประเทศที่จะนำพาและชี้นำสังคมให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ดีขึ้น  ดังนั้นแนวทางการดำเนินการโครงการ “หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด”(เป็นอย่างน้อย) จึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะเชื่อมต่อกับสังคมอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการปรับเพิ่มบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสังคม (Engaged Higher Education) เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าถึง เข้าใจ และสัมผัสกับความเป็นจริงของสังคมชุมชนในระดับพื้นที่ได้มากขึ้น

                   

         มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมมีวิสัยทัศน์  เป็น “อุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน” และมีพันธกิจ ใน 4 ด้านคือ การผลิตบัณฑิต การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และการบริการวิชาการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน   จากวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เน้นการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืนนั้น

         มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทในการหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่น เช่น การพัฒนาศักยภาพผู้นำท้องถิ่น การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นห้องเรียนแก่นักศึกษา สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของอาจารย์ นักศึกษา และคนในชุมชน การพัฒนาองค์กรชุมชน  การพัฒนานโยบายสาธารณะ   สนับสนุนเครือข่ายการเรียนรู้ในการพัฒนาชุมชน  กระบวนการสร้างพลังชุมชน   การทำวิจัยร่วมกับชุมชน  การให้ความรู้การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง  เป็นต้น

                             
วันที่ 12-13 พฤษภาคม 2554 ผมมาที่รักษ์นที บางเลนรีสอร์ท อ.บางเลน จ.นครปฐม ร่วมกับคณาจารย์ ม.ราชภัฏนครปฐม สัมมนา "ถอดบทเรียนระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนเพื่อตำบลแห่งการเรียนรู้"   มีคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สน.3 สสส. นำการสัมมนา ครับ

                 

ในการสัมมนา มีการระดมความคิดเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการ “การสร้างสุขภาวะในพื้นที่ระดับตำบล” โดยมีทีมนักวิชาการจาก สสส. มาร่วมให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำแนวความคิดที่ตกผลึก ให้มีตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่ชัดเจนในแต่ละเฟส เป็นโครงการระยะ 3 ปีครับ  
                                  

โครงการฯที่จัดทำขึ้นและพัฒนาร่วมกันครั้งนี้สอดคล้องกับโครงการ “หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด”(เป็นอย่างน้อย) โดยเป็นการจับมือระหว่างสถาบันวิชาการ ชุมชน-ท้องถิ่น  ทั้งนี้ยังเป็นการมุ่งเน้นให้อาจารย์ของม.ราชภัฎนครปฐม สามารถบูรณาการการสอน การวิจัยและการบริการชุมชนเข้าด้วยกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาแต่ละหลักสูตรจะได้รู้จักชุมชน รู้ปัญหา  รู้ศักยภาพและใช้ปัญหา  ศักยภาพนั้น เป็นฐานของการเรียนการสอนด้วย

             

                

......................

ในการสัมมนาผมเข้าประชุมกลุ่มย่อย เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าด้วยหัวข้อ “การค้นหาและเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล” โจทย์หลักของการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยกลุ่มนี้คือ Model การค้นหาและเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล ควรเป็นอย่างไร มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร  ราชภัฏนครปฐมจะริเริ่มเข้าทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร

                

         

ข้อเสนอของที่ประชุม ส่วนใหญ่ก็จะคุ้นเคยกับกระบวนวิจัยแบบPAR  ส่วนผมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มไปว่า  ผมคุ้นเคยที่ใช้กระบวนการ AI(สุนทรียสาธก)ในการวิเคราะห์ทุนทางสังคมควบคู่กับกระบวนการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุข เป็นเครื่องมือครับ

              

               

ฝีมือในการใช้เครื่องมือเป็นแค่องค์ประกอบย่อยหนึ่งเท่านั้นเองหละครับ  สาระสำคัญอยู่ที่ฝีใจในความมุ่งมั่น ความจริงใจที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยเป็นมิตรภาพ ต่างหาก คือสาระของความร่วมมือที่นำพาความสำเร็จแท้จริงครับ

                 

อย่างน้อย ณ จุดเริ่มต้นผมได้เห็นการทุ่มเทกับการสร้างฝีใจในความมุ่งมั่น ความจริงใจที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยเป็นมิตรภาพในหมู่คณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้เกิดขึ้นแล้ววันนี้ ณ รักษ์นที บางเลนรีสอร์ท อ.บางเลน จ.นครปฐม แห่งนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 439100เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

มาติดตามอ่านค่ะ  ได้ความรู้เกี่ยวกับการไปถอดบทเรียน และการทำวิจัยชุมชนค่ะ  กำลังหาแนวทางจะไปทำงานเพื่อส่วนร่วมสักเรื่องหนึ่ง

พบปัญหาจากการ AAR  งานของการทำงานในโรงเรียน  ที่แก้ไขไม่ได้สักที ถึงได้ก็ไม่ถาวรค่ะ

ขอขอบคุณค่ะ

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีกลุ่มภารกิจวิจัยชุนชน เป็นการรวบตัวแบบสหวิทยาการ จากครู อาจารย์ นักวิชาการจากหลายคณะในมหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการวิจัยชุมชนเพื่ออยากจะให้ อำเภอพุทธมณฑล และอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดนครปฐม เป็นห้องทดลองทางสังคมให้กับนิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ชุมชนในหลาย ๆ มิติครับ

หนึ่งจังหวัดหลายมหาวิทยาลัยหนึ่งประเด็น น่าจะเหมาะสมกับนครปฐมครับ เพราะว่านครปฐมมีมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก อาทิ ม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ ม.ราชภัฏนครปฐม ม.ศิลปากร ม.มหามกุฏฯ ม.มหาจุฬา (วิทยาเขต) ม.คริสเตียน ม.ราชภัฏสวนสุนันทา (วิทยาเขต) รร.นายร้อย อยากให้แต่ละมหาวิทยาลัยนำความเก่งแต่ละด้าน มาร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ด้านที่ชุมชนต้องการ และประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา (PAR) ให้มากที่สุดครับ

Ico48

ขอบคุณครับครูคิม

  • ผมสนใจการใช้หลังAI(สุนทรีสาธก)ในการถอดบทเรียนครับ
  • อ.ดร.ภิญโญ รัตนพันธ์ท่านเชี่ยวชาญด้านนี้
  • AIสนใจเริ่มที่การค้นหาความสำเร็จเล็กๆครับ ซึ่งความดีงาม ความสำเร็จมีอยู่ในตัวคนทั้งหมดทั้งสิ้น เพียงเราเพ่งพินิจค้นให้เจอ เมื่อค้นพบแล้วเราก็บ่มเพาะที่ความสำเร็จนั้น
  • ไม่ใช่ว่าAIไม่สนใจปัญหา เพียงแต่เราจะใช้พลังเชิงบวกที่ค้นพบนั้นไปแก้ปัญหา
  • ผมเองกำลังเป็นนักเรียนน้อยเรียนรู้จากท่านกูรู  ยังต้องฝึกฝนตัวเองครับ วันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย.54 นี้เราเชิญอ.ดร.ภิญโญมาบรรยายทั้งวันครับ
Ico48

เรียน อ.กานต์ครับ

ขอบคุณครับ  ผมเห็นด้วยครับ

  • หนึ่งจังหวัดหลายมหาวิทยาลัยหลายประเด็นก็ได้ครับอาจารย์
  • ผมเติมความในวงเล็บแล้วครับ "หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย(เป็นอย่างน้อย)"
  • เพียงแต่ราชภัฏอาจให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง "การบูรณาการงานพัฒนาชุมชนกับพื้นที่" ในบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ สุเทพ

หนึ่งจังหวัดหนี่งมหาวิทยาลัย

เป็นการส่งเสริมการเรียนไกล้บ้าน

แต่พ่อแม่หลายคน ยังนิยมการเรียนแบบ"บ้าใบ ไกลบ้านอยู่"

พักนี้ดูคุณ ด้วง(ดวงพร)สมบูรณ์ไปน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท