หลักสูตรอิงสมรรถนะในการศึกษาขั้นพื้นฐาน


เราควรเน้นที่การพัฒนาสมรรถนะควบคู่ไปกับความรู้ในด้านเนื้อหา

  

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

          ปัจจุบันการจัดการศึกษาของชาติเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 (พ.ศ. 2553-2563) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ  เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต  ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์  แต่การปฏิรูปดังกล่าวนั้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยปราศจากอุปสรรค ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการศึกษาของไทย  ยังคงมีวิกฤติการศึกษาในหลายประเด็น  ในฐานะที่เป็นนักหลักสูตรและการสอน ศูนย์กลางแห่งวิกฤติย่อมไม่อาจพ้นจากปัญหาด้านหลักสูตรและการสอนในปัจจุบัน ซึ่งเป็น “หัวใจ” ของการศึกษาไปได้  ประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรนำมาวิพากษ์เพื่อสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาและยกระดับคุณภาพได้แก่ รูปแบบและโครงสร้างของหลักสูตรที่ควรจะเป็นและเหมาะกับสภาพสังคมใหม่  กล่าวคือ แท้จริงแล้ว นักหลักสูตรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรแบบเน้นเนื้อหาวิชา (subject-matter)  หรือเน้นสมรรถนะ/ทักษะชีวิต (competencies/life skills) กันแน่

 

          หลักสูตรคือประสบการณ์ต่างๆ  ที่สถานศึกษาจัด (หรืออาจะไม่ได้ตั้งใจจัด)  ให้แก่ผู้เรียนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณลักษณะและค่านิยมที่เหมาะสมตามที่ได้กำหนด การจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนการสอนจึงไร้เสียซึ่งหลักสูตรมิได้ เพราะหลักสูตรย่อมกำหนดเป้าหมาย สาระความรู้  วิธีการจัดการเรียนการสอน  และการประเมินผลผู้เรียนไว้อย่างครบถ้วน เพื่อใช้เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา  สำหรับประเทศไทย หลักสูตรการศึกษาของชาติได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีลักษณะที่อาจต่างไปในแต่ละสมัย แต่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาชาติเท่าที่ผ่านมา ยังคงปรากฏว่าผู้สร้างหลักสูตรใช้กระบวนทัศน์เดิมในการพัฒนาหลักสูตร กล่าวคือ เป็นการพัฒนาหลักสูตรบนกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ที่ผู้เรียนควรได้รับ หรือก็คือกระบวนทัศน์การพัฒนาหลักสูตรที่          อิงปรัชญาการศึกษากลุ่มสารัตถนิยม (Essentialism) หรือการเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาสาระทางวิชาการด้านต่างๆ จำนวนมาก  ในขณะที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนอย่างสมดุล เน้นทักษะชีวิตและการสร้างประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียนให้มากที่สุด ซึ่งมีพื้นฐานจากปรัชญาการศึกษาพิพัฒนนิยม (Progressivism) ทำให้นักหลักสูตรในปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาในเรื่องการออกแบบหลักสูตรและทำให้เกิดปัญหาวิกฤติ  ซึ่งเป็นปัญหาด้านปรัชญาและทฤษฎีหลักสูตรที่สำคัญว่า “หลักสูตรสำหรับศตวรรษใหม่ของผู้เรียนและสังคมไทยควรเป็นอย่างไร” 

 

          สำหรับกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชา (focused on subject matter) นั้นเห็นว่า หลักสูตรการศึกษาควรที่จะบรรลุความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเตรียมผู้เรียนให้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมที่ถือว่าการมีความรู้คือการมีอำนาจ               คือสามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเอง  ในการใช้ความรู้พัฒนางานหรือวิชาชีพให้มีมูลค่าและระดับที่สูงขึ้น หลักสูตรการศึกษาของชาติทุกฉบับที่ได้สร้างขึ้น ล้วนแต่เกิดจากกระบวนทัศน์ที่เน้นเนื้อหาความรู้ทั้งสิ้น แม้แต่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ก็เป็นหลักสูตรแกนวิชา (core curriculum) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีลักษณะสำคัญคือ เป็นหลักสูตรพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องศึกษา  โดยโครงสร้างของเนื้อหาจะมีเนื้อหาความรู้ที่สำคัญสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งในปัจจุบันจำแนกได้ถึง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  ประโยชน์ของหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาความรู้คือ  ทำให้ผู้สร้างหลักสูตรมีความสะดวกในการเลือกเนื้อหาวิชาที่จะนำมาใช้สอน  ผู้ใช้หลักสูตรคือครูในสถานศึกษาจะรู้สึกว่าสามารถดำเนินการเรียนการสอนได้ง่ายและควบคุมเวลาได้  เนื่องจากเนื้อหาถูกจัดไว้อย่างเป็นระบบ ในรูปแบบของสาระการเรียนรู้รายปีและรายภาค ครูสามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระและความรู้ได้คราวละมาก ๆ และวัดประเมินผลการเรียนรู้ได้ง่าย  ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ของผู้เรียน  อย่างไรก็ตามหลักสูตรที่ออกแบบโดยเน้นเนื้อหาความรู้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแนวคิด           การออกแบบที่ขัดกับหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน  กล่าวคือมีความมุ่งหมายของหลักสูตรแคบเกินไป เพราะเน้นแต่ด้านพุทธิพิสัยหรือความสามารถในเชิงวิชาการ  ทำให้ไม่ครอบคลุมพฤติกรรมและพัฒนาการด้านอื่นของผู้เรียน เช่น อารมณ์  เจตคติ ค่านิยม และทักษะด้านสังคม  หรือทักษะชีวิตด้านอื่นๆ  นอกจากนี้การจัดเนื้อหาสารที่แยกเป็นแต่ละวิชาไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจภาพรวมของสิ่งที่เรียน  และเนื้อหาที่เรียนบางเรื่องไม่คำนึงถึงความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง  ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

          จากประเด็นปัญหาข้างต้น  นักหลักสูตรรุ่นใหม่จึงได้มีข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาชาติให้เน้นสมรรถนะ/ทักษะชีวิต (competencies/life skills) มากยิ่งขึ้น  แนวคิดของหลักสูตรที่อิงสมรรถนะหรือทักษะนี้ (competencies-based curriculum) เป็นแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรที่ได้รับความสนใจในระยะเวลาไม่นานมานี้  โดยในระยะแรกได้มีการนำไปใช้กับหลักสูตรวิชาชีพ ซึ่งต้องการสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญในทักษะการปฏิบัติระดับสูง เช่น วิชาชีพแพทย์ พยาบาล เป็นต้น ภายหลังจึงได้ขยายมาสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะและความสามารถในการลงมือปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในการดำเนินชีวิตจริงมากกว่าหลักสูตรที่อิงความรู้เป็นฐาน  ลักษณะที่สำคัญของหลักสูตรอิงสมรรถนะคือ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ลักษณะของเนื้อหาสาระและการจัดจะเน้นการจัดระบบข้อมูล  และมีการกำหนดความรู้เรียงลำดับจากพื้นฐานไปสู่เนื้อหาที่ลึกขึ้น  ดังนั้นในการจัดประสบการณ์  ครูจะต้องจัดประสบการณ์ตามลำดับจากความรู้พื้นฐาน กระทั่งเกิดเป็นความชำนาญและสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้  และในการประเมินผล      ครูจะเป็นผู้พิจารณาประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้เรียนเป็นสำคัญ  สำหรับสมรรถนะที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น  ความสามารถในการสื่อสารและใช้ภาษา  ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น  

 

          จากเหตุผลข้างต้น  หลักสูตรอิงสมรรถนะจึงเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริง มุ่งให้ผู้เรียนถ่ายโยงการเรียนรู้สู่การใช้ทักษะชีวิตในด้านต่างๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการรับประกันว่าความรู้ที่ได้ศึกษาสามารถนำมาใช้ได้จริง  หลักสูตรรูปแบบนี้จึงมีคุณค่ามากกว่าหลักสูตรอิงเนื้อหา ซึ่งเป็นแต่เพียงองค์ความรู้ที่อาจจะไม่ได้ใช้ในชีวิตจริงเลยก็เป็นได้  ด้วยความแตกต่างของแนวคิดรูปแบบหลักสูตรทั้ง    2 รูปแบบ  ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ยากลำบาก เกี่ยวกับการออกแบบหลักสูตรสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของสังคมไทยว่า  ควรมุ่งเน้นไปในทิศทางใด เพราะการตัดสินใจที่โน้มเอียงไปด้านใดหน้าหนึ่ง  อาจก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายกรณี เช่น การมีแต่เพียงกระบวนการหรือทักษะแต่ปราศจากความรู้เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่  หรือความรู้ที่ไม่สามารถนำไปใช้ ยังควรที่จะบรรจุไว้ในหลักสูตรหรือไม่ เป็นต้น  หลักสูตรของชาติฉบับปัจจุบันดูเหมือนว่าพยายามที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความรู้และกระบวนการด้านทักษะชีวิต แต่ในการปฏิบัติคือ  นักการศึกษายังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มากกว่าสิ่งที่ผู้เรียนปฏิบัติได้  หลักสูตรจึงยังคงเน้นเนื้อหาวิชาและไม่อาจทำให้การสร้างทักษะกระบวนการเกิดขึ้นจริง  ปัญหาการศึกษาที่ผู้เรียนเรียนแล้วไม่สามารถประยุกต์ความรู้ถ่ายโยงไปยังสถานการณ์อื่นๆ ได้  จึงยังคงดำเนินอยู่ และเป็นวิกฤติสำคัญประการหนึ่งของการศึกษาไทยปัจจุบัน ดังที่กล่าวมานี้  ในกระแสสำนึกของนักหลักสูตรรุ่นใหม่  การร่วมคิดและการร่วมสร้างหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ จึงยังไม่ล้มเลิกและยังคงเรียกร้องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน    

_______________________

 

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ ควรทำตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 437500เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วได้รับความรู้ และแนวทางที่นำไปใช้ได้ ชอบอ่านทุกเรื่องค่ะ

และจะหนำไปใช้ประโยชน์ค่ะ

ขอบพระคุณคุณครูภาษาไทยครับ

ได้กำลังใจและทราบว่าหลายท่านที่อ่านได้นำแนวคิดที่ผมศึกษาค้นคว้าไปประยุกต์และปฏิบัติก็คือว่าเป็นการทำให้วงการการสอนภาษาไทยก้าวหน้าขึ้นไปมาก ไม่มีใครจะทำให้การสอนภาษาไทยเกิดประสิทธิภาพเท่ากับครูภาษาไทยและนักหลักสูตรภาษาไทย (ซึ่งมีน้อยเต็มที) จริงไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท